เศรษฐกิจอินเดียกำลังโตวันโตคืน แต่อินเดียก็เหมือนประเทศไทยตรงที่ยังมีสภาพเป็นสองนัครา ระหว่างเมืองและชนบท คนจนเมืองและคนชั้นกลางในเมืองใหญ่ เช่น หนังสือพิมพ์เตเฮลกาของอินเดียเรียกว่าเป็น India vs Bharat ขณะที่บรรษัทยักษ์ใหญ่ของอินเดียอย่างตาต้า กรุ๊ป เป็นธุรกิจมูลค่าราว 1.3 ล้านล้านบาท แต่อินเดียก็ยังมีขอทานเต็มเมือง คนไร้บ้านเกลื่อนถนน มีชาวนาฆ่าตัวตายระหว่างปี 1993-2003 กว่าหนึ่งแสนคน แม้ในช่วงปีก่อนอัตราการฆ่าตัวตายก็ยังคงอยู่ระหว่าง 1-12 คนต่อวัน
แต่ระหว่างสองนัคราที่ได้และเสียประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจต่างกันราวฟ้ากับดินนี้ กลับมีอาณาจักรย่อมๆ ที่หยัดยืนอยู่ได้อย่างสวยหรู ทั้งหากดูเผินๆ เหมือนว่าจะเป็นตัวร้อยเชื่อมสองนัคราที่ว่าเข้าด้วยกัน นั่นคืออาณาจักรแห่งจิตวิญญาณ อันมีเหล่าบาบา มาตา และกูรูทั้งหลายเป็นดั่งซีอีโอ
หากพูดด้วยภาษานักเศรษฐศาสตร์ กล่าวได้ว่าอาณาจักรเหล่านี้ นอกจากจะได้ ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจ กระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเงินทุนในประเทศ ยังถือเป็นสินค้าส่งออก หรือภาคผลิตที่ชักให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้าอินเดียได้อย่างน่าทึ่ง
ลองมาสำรวจดูว่าอาณาจักรเหล่านี้มีใครกันบ้าง ร่ำรวยเท่าไร และรวยด้วยเหตุผลใด
Baba Ramdev : ผู้ก่อตั้งอาศรมสอนโยคะและรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรที่เมืองฮาริดวาร์ มีรายได้และสินทรัพย์ ที่เป็นร้านขายยาและที่ดินสำหรับก่อตั้งมหาวิทยาลัยสองแห่ง รวมมูลค่า 400 โครว์ รูปี หรือราว 3,500 ล้านบาท นอกจากเปิด สอนโยคะที่อาศรม บาบารามเทพยังมีรายการสอนโยคะทางโทรทัศน์ถึง 9 รายการ ทาง 6 สถานีใหญ่ของอินเดีย รายได้ของอาศรมที่เห็นได้ชัดคือการขายวีซีดีสอนโยคะ และยาสมุนไพรสำหรับรักษาโรคต่างๆ นับ จากรักษาสิว โรคอ้วน โรคหัวใจ จนถึงมะเร็ง รวมถึงค่าสมาชิกสำหรับเรียนโยคะและรับการรักษาซึ่งมีหลายระดับ จากสมาชิกสามัญ 9,600 บาทต่อปี จนถึงสมาชิกตลอดชีพ 87,500 บาท และสมาชิกอภิสิทธิ์กิตติมศักดิ์ระหว่าง 2.2-4.4 แสนบาท ตัวเลขล่าสุดพบว่ามีคนไข้มารับการรักษาตามศูนย์ที่มีอยู่หลายแห่งกว่า 3,000 คนต่อวัน
Sri Sri Ravi Shankar : ผู้ก่อตั้ง Art of Living Foundation (AOL) ใช้โยคะ อายุรเวท และสมาธิภาวนาเป็นแนวทางในการเยียวยาจิตกายและสร้างเสริมบุคลิกภาพ มีศูนย์กว่า 100 แห่งในอินเดียและเปิดสอน ใน 140 ประเทศทั่วโลก มีรายได้และสินทรัพย์รวมมูลค่า 3,500 ล้านบาท อาศรม ศูนย์กลางในเบงกาลอร์เป็นอาคารทรงดอกบัวสูง 5 ชั้น พื้นปูหินอ่อน ในบริเวณมีทะเลสาบ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ไซเบอร์ คาเฟ่ ร้านขายหนังสือและผลิตภัณฑ์อายุรเวท นอกจากเงินบริจาคแล้ว อาศรมยังมีรายได้จากหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ ทั้งสำหรับบุคคลทั่วไป เยาวชน และบรรษัท หรือองค์กรที่สนใจ ที่เรียกว่า APEX Programme (Achieving Personal Excellence)
Mata Amritanandamayi Devi Amma : รู้จักกันในนาม Amma (แม่) กว่า 30 ปีที่ผ่านมา เธอเยียวยาจิตใจผู้คนด้วยการสวมกอด จนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Em-bracing Mother กล่าวกันว่าตลอดสามทศวรรษเธอมอบความรักแก่ผู้คนด้วยการสวมกอดมาแล้วกว่า 21 ล้านคน อาศรมอมฤตบุรีของเธอที่รัฐเคราล่า มีสถานีโทรทัศน์ของตัวเองชื่อ Amrita มีโรงเรียนที่ก่อตั้งรวม 33 แห่ง อาราม 12 แห่ง โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัยด้านการแพทย์อีกหนึ่งแห่ง ตัวเลขที่เป็นทางการนั้น อาศรมของเธอมีรายได้และสินทรัพย์ราว 3,500 ล้านบาท ขณะที่บางแหล่งข่าวเชื่อว่าทั้งหมดน่าจะถึง 15,000 ล้านบาท ส่วนตัวเลขจากกระทรวงมหาดไทย พบว่า อัมมาเป็นผู้ที่มีรายได้เป็นเงินบริจาคจากต่างประเทศสูงเป็นอันดับสองของประเทศ เฉพาะปี 1998-1999 มีมูลค่าถึง 11.5 ล้าน เหรียญสหรัฐ
สำหรับอาณาจักรทางจิตวิญญาณที่มีมูลค่ารวมตามมาติดๆ ได้แก่ Asaram Bapu เจ้าของอาศรมในเดลีที่มีรายได้และทรัพย์สินราว 3,060 ล้านบาท และ Sudhanshu Maharaj ผู้มีศูนย์ปฏิบัติสมาธิภาวนาทั่วอินเดีย มูลค่าราว 2,620 ล้านบาท
นอกจากนี้อาศรมอีกแห่งที่น่าจับตา มองคือ Osho International Meditation Resort (OIMR) ซึ่งขยายตัวเติบโตขึ้นจากอาศรมของโอโช หรือภควานศรีรัชนี ผู้ที่ได้รับการขนานนามหลากหลาย เช่น ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งศตวรรษที่ 20 เซ็กซ์กูรู กูรูของเศรษฐี ฯลฯ แม้ตัวเลขรายได้และสินทรัพย์ของ OIMR ไม่ปรากฏชัด แต่ประมาณการว่าขยายตัวขึ้น 300 เปอร์เซ็นต์ นับจากโอโชเสียชีวิตเมื่อ 17 ปีก่อน หนังสือ ของเขามีการแปลและตีพิมพ์ในภาษาต่างประเทศถึง 55 ภาษา เป็นรองก็แต่แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ (64 ภาษา) ศูนย์ปฏิบัติสมาธิกึ่งรีสอร์ตนี้ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 40 เอเคอร์ ในเมืองปูเน่ บรรยากาศภายในเรียกได้ว่าเป็น รีทรีตรีสอร์ตระดับห้าดาว มีสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิก ร้านอาหารริมสระน้ำชื่อ Zorba the Buddha พร้อมด้วยห้องพักหรูเก๋ติดแอร์ในสไตล์บูติกโฮเตลรวม 60 ห้อง คอร์สสมาธิภาวนามีให้เลือกหลายสไตล์ อาทิ Dynamic, Whirling (การเต้นรำแบบซูฟี), Kundalini, Gourishshankar เป็นต้น สนนราคาห้องพักราว 3,000-3,600 บาทต่อคืน นอกจากนี้ยังมีแพ็กเกจที่เรียกว่า Amazing Week-end สองคืนสามวันในราคาราว 8,500 บาท และ 13,000 บาท ขึ้นกับว่ามาเดี่ยวหรือคู่ ไม่รวมภาษีบริการอีก 10 เปอร์เซ็นต์
ทีนี้เหตุผลที่ว่าทำไมกูรูนิวเอจเหล่านี้จึงมีสานุศิษย์ล้นหลาม มีอาณาจักรที่เติบโตเป็นกราฟผันตรงกับเศรษฐกิจของประเทศ ปวัน เค. วาร์มา นักเขียนเจ้าของ หนังสือ Great Indian Middle Class วิเคราะห์ว่า หนึ่งอินเดียเป็นประเทศที่ผู้คนฝักใฝ่ในเรื่องศาสนาและลัทธิความเชื่อ สังเกตว่ามีวิหารโบสถ์อารามรวมแล้วมากกว่าโรงเรียน สองชนชั้นกลางของอินเดียกำลังขยายจำนวนและอำนาจทางเศรษฐกิจ มากขึ้นก็จริง แต่ต่างต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางจิตใจ
จากวิถีชีวิตที่ก้ำกึ่งระหว่างสังคมเมืองและชนบท ครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย รวมถึงโรคภัยที่พ่วงมากับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ ขณะเดียวกันคนอินเดีย ก็คุ้นชินและปรับตัวเก่งกับความลักลั่นและหลากหลายในทุกมิติของชีวิต คนอินเดียมีชีวิตในโลกดิจิตอลพร้อมๆ กับนั่งสามล้อ ถีบได้ คนหนุ่มสาวแม้จะสังสรรค์ไฮไฟในผับบาร์เก๋ไก๋แต่ก็พร้อมจะสยบกับระบบคลุมถุงชนที่พ่อแม่จัดให้ ชนชั้นกลางอินเดียจึงไม่เห็นแปลกที่จะเข้าวัดให้พราหมณ์เจิมหน้าผาก แล้วไปเข้าคอร์สโยคะ ฝึกสมาธิ เล่นยิมพร้อมกินยาสมุนไพร เพราะมองว่าแนวทางของกูรูนิวเอจเหล่านี้ เป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ทางเลือกที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา
ขณะเดียวกันเหล่ากูรูนิวเอจต่างก็ชี้ชวนให้เห็นเป็นเช่นนั้น แทนที่จะขานนามพระเจ้าที่มีชื่อตายตัว ก็เรียกว่าเป็นความรัก และทำให้โยคะ อายุรเวท สมาธิภาวนา เป็นเรื่องของสุขภาพกายและจิต เป็นการพัฒนากายและปัญญาเพื่อชีวิตที่ดีในภพชาตินี้ ซึ่งก็ตรงกับจริตของคนรุ่นใหม่ในโลกวัตถุนิยม ที่ชอบสิ่งที่เห็นผลทันตา ความสำเร็จก้าวหน้าที่จับต้องได้
ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญอีกประการ คืออิทธิฤทธิ์สื่อ กูรูนิวเอจเหล่านี้ล้วนใช้สื่อเป็นและใช้อย่างครบวงจร นับจากสื่อโบราณ อย่างจดหมายข่าว เขยิบมาเป็นจดหมายข่าวอิเล็กทรอนิกส์ เว็บแคสต์ รายการวิทยุ ผ่านดาวเทียม รายการโทรทัศน์ จนถึงกับมีสถานีโทรทัศน์ของตัวเอง นั่นยังไม่นับรวม สื่อสาธารณะซึ่งทุกวันนี้ต่างแข่งกันหาสีสันแปลกใหม่มายึดคนดูให้อยู่ติดจอ สื่อและบรรดากูรูจึงถือเป็นคู่แฝดความสำเร็จแบบวิน วินขนานแท้
จากข้อสังเกตข้างต้นที่ว่า หากดูเผินๆ เหมือนว่าอาณาจักรจิตวิญญาณเหล่านี้เป็นตัวเชื่อมร้อยสองนัครา ในแง่ที่นำเงินบริจาคและค่าบริการต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้ามา ไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และช่วยเหลือคนยากจน เช่นที่อัมมาบริจาค เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิถึงพันล้านรูปี ส่งเงินไปช่วยเหยื่อจากเฮอร์ริเคนแคทรินา ถึง 1 ล้านเหรียญ และสัญญาว่าจะตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวนาแห่งวิดาร์บาที่เป็นเจ้าของตัวเลขการฆ่าตัวตายที่น่าหดหู่ถึง 2 พันล้านรูปี
ขณะที่ศรีศรี ระวี แชงการ์ ก็บริจาค และมีโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั่วโลก จากโคโซโว ศรีลังกา แคชเมียร์ ฯลฯ นับโครงการไม่ถ้วน แต่ในเวลาเดียวกันก็มีข้อมูลบางด้านที่ชวนให้สะดุดใจ เช่นความจริงที่ว่าอาณาจักรเหล่านี้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ จึงได้รับสิทธิลดหย่อนการเสียภาษี และมีสิทธิซื้อหรือเช่าที่ดินของรัฐในราคาถูกเป็นพิเศษ ขณะที่ข้อมูลจากกรมสรรพากรของอินเดียผุดขึ้นว่า มูลนิธิของอัสรัมบาบายังค้างชำระภาษีถึง 21.5 ล้านรูปี ส่วนคริสต์จักรโรมันคาทอลิกของอินเดียยังค้างภาษีอยู่ร่วม 10 ล้านรูปี ซ้ำด้วยข่าวที่กรมสรรพากรพบว่ามีมูลนิธิและองค์กรทางศาสนาหลายแห่งในเขตเดลี ถือครองที่ดินด้วยกระบวนการที่ผิดกฎหมายรวมมูลค่าถึง 19,000 ล้านรูปี หรือราว 16,600 ล้านบาท ส่วนมหาวิทยาลัยการแพทย์ที่อัมมาสร้างนั้น เก็บค่าเล่าเรียนเพียง 3-4 ล้านเท่านั้น และจะมีการลดหย่อนพิเศษสำหรับลูกหลานสมาชิกวีไอพีของอาศรม
สุดท้าย ขอฝากวาทะทางจิตวิญญาณที่น่าสนใจไว้เป็นตัวต่อภาพความจริงในเรื่องนี้สัก 2 วาทะ
วาทะแรกเป็นของผู้จัดการอาศรมใหญ่แห่งหนึ่งที่ว่าเมื่อถามถึงสมาชิกของอาศรม "เราต้องการหัวกะทิ ไม่ใช่หางกะทิ" (cream not crowd)
วาทะที่สองเป็นของกูรูชื่อดังคนหนึ่ง เมื่อนักข่าวถามว่าดูเหมือนท่านจะเป็นกูรูของคนดังและเศรษฐี เขาตอบคมคายว่า "ฉันห้ามคนดังกับคนรวยมาเข้าคอร์สไม่ได้หรอก แล้วคนรวยก็มีสิทธิ์พบกับสิ่งที่ประเสริฐกว่าในชีวิตมิใช่หรือ เพราะเงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง"
ฟังแล้วอาจพอได้คำตอบ ว่าอะไรคือเหตุผลและตรรกะของความรวยในอาณาจักรเหล่านี้
|