|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2550
|
|
โรงแรมบูติกคงไม่ใช่ของหายากอีกต่อไปสำหรับมหานครที่มีนามว่า "กรุงเทพฯ" แต่หากจะตระเวนหาโรงแรมสักแห่งที่อบอวลด้วยความสุนทรีย์แห่งการประสานศิลป์จากฟากฝั่งตะวันตกและตะวันออกตามสไตล์โคโลเนียลอย่างจัดจ้าน "The Eugenia" น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ลงตัวมาก
ในซอยสุขุมวิท 31 ที่เต็มไปด้วยตึกแถวแห่งร้านรวง ออฟฟิศ และบ้านพักอาศัย แต่ยังมีอาคาร 3 ชั้นสีนวลหลังหนึ่งที่ดูโดดเด่นด้วยต้นปาล์ม 2 ต้นตั้งตระหง่านหน้าบ้าน ดูแตกต่างด้วยจั่วหลังคาและตึกสไตล์ยุโรปโบราณ ที่ดูแปลกตา ให้อารมณ์ราวกับบ้านพักตากอากาศของคหบดีชาติตะวันตก ในยุคอาณานิคม
ทว่า เป็นที่ตั้งของโรงแรมบูติกที่มีชื่อว่า "The Eugenia" เพิ่งเปิดให้ บริการเมื่อต้นปี 2006
หลายคนมักเรียกขานศิลปะสไตล์นี้ว่า โคโลเนียล (Colonial style)
ในศตวรรษที่ 18-19 "ดินแดนไกลโพ้น" อย่างแอฟริกาและเอเชียกลายเป็นอาณาจักรเป้าหมายของฝรั่งตาน้ำข้าวหลากหลายเชื้อชาติ รวมถึง ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้
ยุคล่าอาณานิคม ชาวตะวันตกในชาติเอเชียอาคเนย์ถูกมองเป็นผู้บุกรุก แต่สำหรับสถาปัตยกรรมสไตล์ตะวันตกที่แฝงด้วยกลิ่นอายอารยธรรมแห่งชาติ ท้องถิ่นกลายเป็นความงดงามทางศิลปะที่เป็นมรดกตกทอดมาจนทุกวันนี้ และกลับเพิ่มมูลค่าให้กับตึกอาคารและสถานที่แห่งนั้นได้อย่างน่าอัศจรรย์
ยิ่งโลกหมดยุคล่าอาณานิคม เสน่ห์แห่งสไตล์โคโลเนียลยิ่งกลายเป็นความโหยหา หลายประเทศอดีตเมืองขึ้น จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวมหาศาลให้หลั่งไหลมาชมตึกเก่า เช่น ในประเทศเวียดนาม
ถึงจะไม่ใช่อาคารเก่าดั้งเดิมที่ตกทอดมานับร้อยปี ทว่าตึกสไตล์โคโลเนียลอายุปีกว่าของโรงแรมแห่งนี้ก็มีมนต์ขลังได้ไม่ต่างกัน เพราะล่าสุด นิตยสารท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง Conde Nast Traveller ยังยกให้โรงแรมแห่งนี้ เป็น 1 ใน Hot List ประจำปี 2007
ชื่อโรงแรมที่ฟังดูราวกับภาษาฝรั่งเศสอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า เจ้าของโรงแรมเป็นฝรั่งตาน้ำข้าว ผู้ที่อาจนิยมหลงใหลอยู่กับความยิ่งใหญ่ในอดีตของชนชาติตน แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นดีไซเนอร์ชาวไต้หวันที่ชื่อ Yu-Ching Yeh หรือ Eugene
"ผมชอบสไตล์โคโลเนียล เพราะมันทำให้ผมรู้สึกเหมือนว่า ผมเคยอาศัยอยู่ในบ้านสไตล์นี้มาก่อนเมื่อชาติที่แล้ว" ยูจีนให้เหตุผลความเชื่ออันเป็นความสุขส่วนตัว
เสน่ห์ของ The Eugenia ไม่ได้อยู่แค่เพียงตัวตึกที่มีกลิ่นอาย "ความโบราณ" ที่ตระหง่านท่ามกลาง "โมเดิร์น-ลิซึ่ม" แห่งสุขุมวิทและแห่งยุคสมัย
แต่เสน่ห์ยังอยู่ที่เฟอร์นิเจอร์วินเทจ (Vintage) ในยุคโคโลเนียลที่เกือบทุกชิ้นล้วนเป็นของเก่าของสะสม ซึ่งยูจิน เพียรเสาะแสวงหามาสะสมจากหลากหลายประเทศตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี
โซฟาหนังจากเบลเยียม ตู้เย็นไม้จากบราซิล เตียงสไตล์บริติชโคโลเนียลจากเบลเยียม ผ้าทอพื้นเมืองสไตล์แอฟริกัน ประตูไม้เก่าจากอินเดีย กรอบประตูจากซานฟราน ซิสโก เก้าอี้โบราณจากกัมพูชา โต๊ะเก่าจากนิวยอร์ก บันทึกโบราณจากพม่า โคมไฟจากอินเดีย เก้าอี้เก่าจากจีนที่ตกทอด มาจากพ่อของเขา ฯลฯ
เฟอร์นิเจอร์เก่าร่วม 300 ชิ้นในโรงแรมแห่งนี้เป็นเพียง บางส่วน ยูจีนบอกว่า ที่บ้านในไต้หวันยังมีอีกหลายร้อยชิ้น ทั้งนี้เพราะเขาเคยเป็นผู้นำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากยุโรปและเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่จะขายกิจการมาอยู่เมืองไทยเมื่อปี 1998
"สไตล์โคโลเนียล โดยตัวมันเองก็เป็นการผสมความต่างระหว่างชาติตะวันตกกับท้องถิ่นอยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่แถบนี้ ยังมีแอฟริกา จีน และอินเดีย ผมพยายามผสมสไตล์ที่เป็นโคโลเนียลทั้งหมดในยุคนั้นมาไว้ที่นี่" ยูจีนอธิบายถึงที่มาที่บางคนนิยามสไตล์ของโรงแรมแห่งว่า Colonial Fusion
นอกจากเฟอร์นิเจอร์เก่า ยูจีนยังบรรจงบรรจุ "ความโบราณ" ลงรายละเอียดต่างๆ
สวิตช์ไฟเก่าแบบที่มักเห็นตามพระที่นั่งในยุครัชกาลที่ 5-6 ร่วม 300 ชิ้นที่ใช้ในโรงแรม เขาต้องลงแรงไปรื้อสต็อกและเก็บสะสมมาจากโรงงานหลายแห่งในเยาวราช หรืออ่าง อาบน้ำอะลูมิเนียมสไตล์วิกตอเรียนก็ต้องลงทุนไปจ้างช่างฝีมือชาวอินโดนีเซียสร้างเลียนแบบของเก่า หรือพื้นไม้ก็ไปซื้อไม้ที่เป็นบ้านเก่าของชาวนาทางภาคเหนือของไทย เป็นต้น
เหล่านี้ล้วนเป็นความพยายามเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับโรงแรมผ่านมนต์ขลัง "ความเก่าแก่"
กระทั่งรถที่ใช้รับ-ส่งแขกของโรงแรม เขายังเลือกใช้รถคลาสสิกอย่าง Mercedes Ponton 220S ปี 1958 และ Mercedes postwar 220 ปี 1964 หรือ Jaguar MK VII ปี 1953 และ Jaguar S-type ปี 1964 หรือจะเป็น Daimler Limousine รุ่น DS 420 ปี 1971 เป็นต้น
"สไตล์โมเดิร์น พอเวลาผ่านไป 5 ปี มันก็จะดูไม่ใหม่ ไม่ทันสมัยอีกต่อไป แต่สไตล์คลาสสิกอย่างนี้มันเป็นอมตะ ต่อให้อีก 10 ปี มันก็คลาสสิกไม่เปลี่ยน ไม่มีวัน ล้าสมัย ยิ่งดูเก่ากลับยิ่งดูดี" ยูจีนให้ความเห็น
The Eugenia มีห้องพักเพียง 12 ห้อง สนนราคาอยู่ระหว่าง 5,800-7,200 บาท ซึ่งรวม ทุกอย่างไว้แล้ว เช่น มินิบาร์ อินเทอร์เน็ต Wi-Fi และค่าบริการบัตเลอร์ 24 ชั่วโมง รวมทั้งค่าโทรศัพท์ ไม่ว่าจะโทรในหรือต่างประเทศ เพื่อที่ลูกค้าจะไม่ต้องเสียเวลาเช็กรายการตอนเช็กเอาต์
แม้จะเล็ก แต่ที่นี่ก็มีห้องสมุดที่อุดมด้วยหนังสือราคาแพง ทั้งหนังสือออกแบบตกแต่ง หนังสือท่องเที่ยว หนังสือทำอาหาร และหนังสือรถคลาสสิก รวมเกือบพันเล่มจัดวางไว้เพื่อจุดพลังความคิดสร้างสรรค์ให้กับแขก เฉกเช่นหนังสือเหล่านี้เคยสร้างให้เกิดขึ้นในตัวเจ้าของโรงแรมแห่งนี้มาแล้ว
นอกจากนี้ยังมีห้องอาหารถึง 2 แห่งภายในโรงแรมเล็กๆ แห่งนี้ ได้แก่ D.D. Bradley ซึ่งตั้งชื่อตามมิชชันนารีอเมริกันที่ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาเผยแพร่การแพทย์ตะวันตก และวางรากฐานกิจการหนังสือพิมพ์ในประเทศสยาม และเลาจน์ที่ตั้งชื่อว่า Zheng He ซึ่งเป็นชาวจีน ผู้เดินทางมากว่าครึ่งโลก และเชื่อกันว่าเขาอาจเป็นผู้ค้นพบประเทศอเมริกาก่อนโคลัมบัสเสียอีก
"ทั้ง 2 คนเป็นฮีโร่ของผม เพราะพวกเขาเดินทางได้ตั้งไกล ทั้งที่การเดินทางยังไม่สะดวกเหมือนยุคนี้ และผมก็ยังเชื่อว่า ผมอาจจะเคยร่วมเดินทางกับพวกเขามาแล้ว" อีกครั้งที่เขาพูดถึงความเชื่อเยี่ยงวิถีพุทธ
สำหรับชายวัย 46 ปีคนนี้ การเดินทาง มีความสำคัญกับชีวิตเขามาก เพราะการเดิน ทางให้ไอเดียสดใหม่สำหรับอาชีพนักออกแบบ ทำให้เขามีความสุขกับจำนวนของสะสมที่เพิ่มขึ้น และทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างโรงแรมแห่งนี้ หรืออาจยังหมายถึงแหล่งต่อๆ ไป
และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทุกวันนี้เขายังไม่ยอมหยุดเดินทาง
ส่วนคนที่ไม่มีโอกาสเดินทางบ่อย การ แวะมาพักและชื่นชมศิลปวัฒนธรรมในงานเฟอร์นิเจอร์ยุคโคโลเนียลภายในโรงแรมแห่งนี้ ก็อาจจะช่วยสร้างไอเดียและแรงบันดาลใจได้บ้างไม่มากก็น้อย สมความตั้งใจเจ้าของโรงแรมนักออกแบบนักเดินทางผู้นี้
|
|
|
|
|