|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2550
|
|
ภายใต้บุคลิกร่าเริงที่ลึกๆ ต้องรับผิดชอบสูง พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร เจ้าของผลงานหนังสือน่าทึ่งเรื่อง "กระเบื้องถ้วย กะลาแตก" ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ได้เปิดพื้นที่ประวัติศาสตร์จีนสยาม ด้วยทุนทางวัฒนธรรมที่มองผ่านเครื่องกระเบื้องกังไสและปั้นชาจีนยี่ห้อโปจูลี่กี่ บอกเล่าคุณค่าวิถีชีวิตความสำเร็จและล้มเหลวของบรรพชนเจ้าสัวตระกูล "พิศาลบุตร" ในช่วง 200 ปี
"หนังสือเล่มนี้อ้อยเขียนให้คุณพ่อโดยเฉพาะ เพราะเราได้ดีมาทุกวันนี้ คุณพ่อเป็นคนเปิดกว้างและสนับสนุนให้กำลังใจเคียงข้างเสมอ แม้ในช่วงวิกฤติที่ต้องเครียดระหว่างประนอมหนี้ของสาธรธานีนับพันๆ ล้าน คุณพ่อ ก็ให้กำลังใจชื่นชม appreciate กับงานเขียนหนังสือของเรา ทำให้สภาพจิตใจของอ้อยฟื้นตัวเร็ว วันนี้กลุ่มสาธรธานีเป็นอิสระ สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ อ้อยได้เขียนเล่มนี้ตอบแทน ให้พ่อ" ปัจจุบันพิมพ์ประไพดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการจัดการบริษัท สาธรธานี และประธาน กรรมการบริษัท STMS ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็น ทางการในงานเสวนา "กระเบื้องถ้วย กะลาแตก : เรื่องเล่า กรุงสยามผ่านงานศิลป์" ที่ผ่านมา
เป็นที่รู้กันว่า งานสะสมกระเบื้องถ้วยลายครามโบราณยี่ห้อ "โปจูลี่กี่" นั้นเป็นชีวิตจิตใจของธะนิต พิศาลบุตร อดีตนายแบงก์ใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ที่มักใช้เวลาและทุนทรัพย์ไปเดินหาซื้อของเก่านี้ที่เวิ้งนาครเขษม เหมือนตามรอยอดีตชิ้นส่วนที่หายไปแต่ทรงคุณค่าของ ตระกูลพิศาลบุตร ซึ่งโบราณกาลมีพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ต้นตระกูลค้าสำเภาสยามและนำเข้าเครื่องถ้วยกระเบื้องจีนยี่ห้อ "โปจูลี่กี่" ที่ผลิตช่วงแผ่นดินเต้ากวงถึงแผ่นดินกวงซู่ (พ.ศ.2364-2461) เข้ามาแต่ครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยเส้นทางขนส่งเครื่องกังไสจากจิ่งเต๋อเจิ้นสู่เมืองท่าของไทย รับใช้คนหลายชั่วอายุ
"คุณพ่อจะผูกพันกับเครื่องกระเบื้องโปจูลี่กี่มากๆ เสาร์อาทิตย์จะไปเดินที่เวิ้งนาครเขษม ถ้าเป็นลายหงส์ ส่วนใหญ่จะเป็นของโปจูลี่กี่ คุณพ่อก็จะไปเดินซื้อคืนมา บางทีคุณพ่อก็ไปขอซื้อลายเขาวังคืนจากร้านเถ้าเฮงไถ่ ซึ่งดังมากที่ราชบุรีก็มี แต่ตอนนี้บางลายขายในร้านที่เพนนินซูล่า ถ้วยชาราคา 160,000 บาทแล้ว มันแพงแล้ว" พิมพ์ประไพเล่าให้ฟัง
พิมพ์ประไพเป็นลูกสาวคนโตในบุตร 4 คนของธะนิตกับประไพ หวั่งหลี และใช้ชีวิต ผูกพันกับบ้านริมน้ำเจ้าพระยา เธอเป็นศิษย์เก่า มาแตร์เดอีวิทยาลัย ก่อนไปเรียนต่อ Chelten-ham Ladies' College ที่เป็นโรงเรียนสตรีดัง ของประเทศอังกฤษ คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ก็จบที่นี่ เพราะนักเรียนที่นี่ส่วนใหญ่จะเข้า Oxford และ Cambridge ได้ แต่พิมพ์ประไพ เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ London School of Economics & Political Science และปริญญาโทจาก Cornell University สหรัฐอเมริกา และปัจจุบันเธอเป็นกรรมการจัดการบริษัท สาธรธานี และประธานกรรมการบริษัท เอส ที เอ็ม เอส โดยเป็นนักเขียนด้วย
ผลงานเขียนหนังสือสี่เล่มที่เกิดขึ้นช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ตั้งแต่สำเภาสยาม : ตำนานเจ๊กบางกอก (2544), นายแม่ (2546), ลูกจีนหลานมอญในกรุงสยาม (2547) และกระเบื้องถ้วย กะลาแตก (2550) ล้วนบอกตัวตนความรู้สึกภายในของพิมพ์ประไพ ดังปรากฏในคำนำหนังสือเล่มแรก "สำเภาสยามฯ" ว่า
"หนังสือเล่มนี้เริ่มมาจากการเดินถ่ายภาพวัดและศาลเจ้าจีนในยามว่าง กลิ่นธูป แสงเทียน และเสียงระฆังช่วยประทังความเครียดจากธุรกิจยุคโลกาภิวัตน์ที่แสนจะสับสน" หกปีของพิมพ์ประไพที่สร้างสมดุลชีวิต ด้วยงานเขียนที่พัฒนาคุณค่าจากสมบัติเก่าและปัญญาของรุ่นพ่อรุ่นปู่ ได้สร้างพื้นที่สำหรับประวัติศาสตร์จีนสยามให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับเล่มล่าสุด "กระเบื้องถ้วย กะลาแตก" ซึ่งกว่าจะวิจัยค้นคว้าและเขียนต้นฉบับเสร็จ พิมพ์ประไพต้องใช้เวลานานถึง 4 ปีกับการเคี่ยวกรำ เขียนแล้วฉีกต้นฉบับนับไม่ถ้วน ขณะเดียว กันก็ใช้ทุนทรัพย์ไม่ต่ำกว่าสองแสนบาท ทำงานกับข้อมูลจำนวนมากซึ่งเห็นได้จากบรรณานุกรมท้ายเล่ม กว่าจะสามารถต่อยอดจากข้อมูลหลัก "ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะแลถ้วยปั้น" ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และนำเสาะแสวงหาถ้วยกระเบื้องของจริงมาเป็นรูปประกอบ รวมทั้งยังค้นคว้าศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศ เพื่ออ้างอิงค้นคว้าอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกัน ปกหนังสือ ก็เป็นภาพเครื่องลายครามสมัยอยุธยา ต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นสมบัติของประไพสิทธิ์ ตัณฑ์เกยูร ด้วย
"ตอนแรก ศ.กิตติคุณ คุณดวงเดือน พิศาลบุตร (อดีตประธานสภาสตรีแห่งชาติ) คิดจะจัดทำหนังสือประวัติสายสกุลพิศาลบุตรที่มีหลายๆ ส่วน โดยอ้อยอาสาจะเขียนส่วนหนึ่ง เกี่ยวกับเครื่องถ้วยกับเครื่องลายครามโปจูลี่กี่ ที่กระจายตามบ้านนักสะสม วัด พิพิธภัณฑ์ รวมกับของลูกหลานมาบันทึกภาพพิมพ์ไว้เพื่อแจกกันแค่ 100-200 คนในตระกูล แต่พอค้นไปเจอเรื่องเยอะแยะและสนุกสนาน ก็เลยแยกมาทำเรื่องนี้เต็มตัว อ้อยซื้อหนังสือเป็นมูลค่าแสนบาท เพราะหนังสือเกี่ยวกับกระเบื้องถือว่าเป็น specialitst book ที่เหมือนหนังสือรถ และตอนที่เขียนหนังสือ อ้อยจะสื่อได้ว่าเครื่องถ้วยกระเบื้องชามเก่าจะมาหาเราเรื่อยๆ ส่วนชามกระเบื้องใบนี้ พี่ยกให้เป็น"อาจารย์ใหญ่" ที่พี่รักมาก ตัวชามเขียนลายนกสวย เนื้อบางเบา ประณีตระดับเกรด imperial" พิมพ์ประไพเล่าถึงเบื้องหลังทำงานประวัติศาสตร์ผ่านเครื่องถ้วยชามโบราณนี้
ความแตกต่างของเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ที่ต่างจากหนังสือศิลปะวัตถุทั่วไป คือจบลงที่ "คน" ไม่ใช่ "ศิลปะวัตถุ" ด้วยเสน่ห์การนำเสนอที่สามารถสร้างสะพานความรู้ไปสู่พื้นที่ในประวัติศาสตร์ สังคมและเศรษฐกิจของ จีนสยามได้มีที่ยืน ตั้งแต่บทแรกถึงบทสุดท้าย ควบคู่ความรู้ที่อ่านเพลิดเพลินกับเรื่องราวของเครื่องถ้วยล้ำค่าคู่ควรเก็บรักษา ให้ความรู้ลึกถึงเครื่องกังไสตั้งแต่ พ.ศ.1822-2454 (ราชวงศ์หยวน-หมิง-ราชวงศ์ชิง) เช่น ราคาถ้วยไก่ราชวงศ์หมิง ฝีมือช่างหลวงแผ่นดินเซ่งห่วย ซึ่งตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีมูลค่าใบละ 160 ล้านบาท โดยจุดเด่นอยู่ที่เรื่องราวและรูปของโปจูลี่กี่ : ราวกับแก้วอันวิเศษ ซึ่งถ้าไม่ใช่พิมพ์ประไพทำเอง คนทั่วไปคงจะยากได้ชม เนื่องจากสมบัติเก่าเหล่านี้ล้วนเป็นสมบัติ ส่วนตัวที่เจ้าของเก็บรักษาไว้อย่างดี
เสน่ห์ของหนังสือ "กระเบื้องถ้วย กะลาแตก" เล่มนี้ในวงเสวนาที่สุวดี จงสถิตย์วัฒนาแห่งนานมีบุ๊คส์ ได้เชิญคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์, ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ มาพูดคุยกัน ฉันญาติมิตร
ในฐานะที่คุณหญิงจำนงศรีที่กำเนิดในตระกูลหวั่งหลีและมีศักดิ์เป็นน้าของพิมพ์ประไพ ได้เสริมความเข้าใจวิถีวัฒนธรรมคนตระกูลพิศาลบุตรว่า
"พอได้อ่านเล่มนี้ของอ้อย รู้สึกว่างานเขาในแง่ประวัติศาสตร์มีวรรณศิลป์ในสายเลือด ถึงแม้ว่าสองเล่มแรกคือ เรื่องสำเภาสยามและเรื่องนายแม่ จะเขียนเกร็งกว่านี้ แต่เล่มนี้สำนวนน่าอ่าน บางครั้งเมื่ออ้อยเขียนก็จะเห็นภาพ เช่น "รอยชีวิตก็ลบเลือนไปคล้ายเงาตึกเพดานสูง"... เพราะอ้อยโตมากับบ้านหวั่งหลีซึ่งมีกำแพงสูงหนา หรือบางสำนวนก็งดงามละเมียดละไมซ้อนภาพเครื่องถ้วยอย่างมีนัยน่าสนใจถึงชีวิตเบื้องหลังสมบัติผู้ดีของพิศาลบุตรเอง ดิฉันได้ความสุข ในการอ่าน ทำให้เห็นศิลปะและการเป็นมนุษย์ มีอารมณ์ความรู้สึกที่ฉลาดลึกขึ้นในมนุษยชาติ เมตตาธรรมและการสร้างงานออกมา มันไม่ใช่สินค้าแต่เป็นหัวใจ" คุณหญิงจำนงศรีเปิดเผยความพอใจกับผลงานเล่มนี้ ซึ่งรูปเล่มพิมพ์สี่สีทั้งเล่มและจัดวางรูปสัมพันธ์กับเรื่องได้ลงตัว
ขณะที่ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้ตีความผลงานเล่มนี้ได้อย่างสนใจว่า ข้อเด่นของ การใช้ข้อมูลเรื่องเครื่องถ้วยกระเบื้องกับบทบาท ของตระกูลพิศาลบุตร เป็นงานถักทอที่เอาข้อมูล ที่กระจัดกระจายมาทำเป็นผืนผ้าได้ ผู้เขียนต้อง ประณีตในการอ่านหนังสือและเก็บข้อมูล เช่นของ กรมพระยาดำรงฯ, พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์, ก.ศ.ร.กุหลาบ แม้แต่วรรณกรรม ไกรทอง และ มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมารที่ดึงเอาตอนเทคโนโลยีผูกสำเภามาให้ผู้อ่านรู้ว่า การต่อเรือ สำเภาตั้งแต่โบราณกาลส่วนใหญ่ต่อจากเมืองไทยซึ่งเป็นแหล่งไม้สัก
"ประโยชน์ที่คนอ่านจะได้คือความรู้สมบูรณ์เรื่องเครื่องกระเบื้องถ้วยชาม ตั้งแต่ยุคสมัยกรุงธนบุรีถึงรัชกาลที่ห้า มันมีคุณค่าใน ฐานะงานประวัติศาสตร์สำคัญ ที่เราถูกครอบงำ จากประวัติศาสตร์กระแสหลักของผู้ปกครองสูงสุด แต่เวลาอ่านงานนี้จะเข้าใจว่าสังคมมันคลี่คลายได้โดยอาศัยเลือดเนื้อแรงงานคนมหาศาลในการสร้างรัฐ หนึ่งในนั้นคือคหบดีจีนจากการค้าสำเภา การส่งออกข้าวและอื่นๆ คนพวกนี้มีบทบาทที่ไม่ถูกกล่าวถึง ดังนั้น การเปิดมิติเรื่องราวครอบครัวโดยอาศัยเครื่องกระเบื้องเป็นสะพานนำคนได้สัมผัสประวัติ ศาสตร์ทางเลือก ก่อให้เกิดคุณูปการในการเสนอโลกทัศน์ที่กว้างไกลกว่าที่เคยท่องจำกันมา
แต่มีจุดหนึ่งที่ผมให้ข้อสังเกตคือ ผู้เขียนให้น้ำหนักกับสนธิสัญญาบาวริ่งสูง ผมเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงที่นำมาสู่สยามไม่ต้องรอเซ็นสัญญาบาวริ่ง เพราะว่าคหบดีพ่อค้าจีนได้ผลักกงล้อการค้านำสยามสู่ความเปลี่ยนแปลงไปก่อนบาวริ่งแล้ว" ดร.สุเนตรให้ข้อสังเกตทิ้งท้าย
หากกระเบื้องถ้วย กะลาแตก ซึ่งเป็นสำนวนเก่าที่ผู้ดีสยามใช้ถ่อมตัว ยามพูดถึงสมบัติพัสถาน ประมาณตนดุจเครื่องกระเบื้องที่ถือเป็นมรดกล้ำค่าในตระกูลเก่า ดังเช่นที่พิมพ์ประไพเป็นอยู่ เธอได้ใช้ทุนวัฒนธรรมเฉพาะ ของตระกูลพิศาลบุตรมาเขียนให้เห็นเบื้องหลัง สมบัติเก่าของผู้ดีที่มีขึ้นมีลงแปรเปลี่ยนไปได้ตามโลกธรรม แต่ถึงกระนั้นคุณค่าภายในตัวตน ของผู้เขียนเองก็บอกผู้อ่านว่า "เป็นกระเบื้องถ้วยโปจูลี่กี่ที่แตก ย่อมดีกว่าเป็นกะลาฝังเพชร ที่สมบูรณ์" มิใช่หรือ?
|
|
|
|
|