สบน.โชว์ฝีมือปรับโครงสร้างหนี้เดือน มิ.ย.50 จ่ายหนี้คืนเจบิกก่อนกำหนดกว่าหมื่นล้านบาท ลดภาระดอกเบี้ยได้กว่า 1.8 พันล้านบาท ขณะที่ 9 เดือนแรกของปีงบฯ สามารถลดยอดหนี้คงค้าง 2.8 หมื่นล้านบาท ลดภาระดอกเบี้ย 2.3 พันล้านบาท เผยภาครัฐก่อหนี้รวม 1.9 แสนล้านบาท ดันหนี้สาธารณะเพิ่มเล็กน้อยมาอยู่ที่ 38.24% ของจีดีพี
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า การดำเนินการบริหารจัดการหนี้ของภาครัฐประจำเดือนมิถุนายน 2550 และในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2550 โดยการปรับโครงสร้างหนี้ของภาครัฐในเดือนมิถุนายน 2550 ด้านต่างประเทศกระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation : JBIC) โดยการชำระคืนก่อนครบกำหนด วงเงิน 35,762 ล้านเยน หรือเทียบเท่า 10,183 ล้านบาท ทำให้สามารถลดยอดหนี้คงค้างได้ 10,183 ล้านบาท และลดภาระดอกเบี้ยในอนาคตได้ 1,805 ล้านบาท
ส่วนในประเทศ กระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้โดยการแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตร 10,000 ล้านบาท สำหรับรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ Roll over หนี้เดิมรวม 1,000 ล้านบาท
ขณะที่ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2550 ด้านต่างประเทศ กระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ต่างประเทศโดยชำระคืนก่อนครบกำหนด 28,890 ล้านบาท และ Refinance เงินกู้ต่างประเทศด้วยเงินบาท 17,200 ล้านบาท ผลจากการดำเนินการดังกล่าวทำให้สามารถลดยอดหนี้คงค้างได้รวม 28,890 ล้านบาท และลดภาระดอกเบี้ยได้รวม 2,370 ล้านบาท
นอกจากนี้ได้บริหารความเสี่ยงหนี้เงินกู้ FRNs และหนี้เงินกู้ Samurai Bond โดยการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า วงเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 48,000 ล้านเยน ตามลำดับ สำหรับ รัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ต่างประเทศวงเงินรวม 14,920 ล้านบาท ด้านในประเทศกระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศโดยการแปลงตั๋วเงินคลังที่ออกเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 73,000 ล้านบาท เป็นพันธบัตร และปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรและตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ FIDF1 วงเงิน 45,000 ล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจได้ Roll overหนี้เดิม 17,601 ล้านบาท
ส่วนการกู้เงินของภาครัฐในเดือนมิถุนายน 2550 กระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศโดยการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง (FIDF3) 500 ล้านบาท สำหรับรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้กู้เงินในประเทศเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการชำระค่าน้ำมัน 11,556 ล้านบาท
และในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2550 ภาครัฐได้กู้เงินในประเทศรวม 193,234 ล้านบาท เป็นการกู้ของกระทรวงการคลัง 162,160 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 31,074 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจได้กู้เงินจากต่างประเทศ 31,803 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้นอกแผนการก่อหนี้ต่างประเทศ
ขณะที่การชำระหนี้ของภาครัฐในเดือนมิถุนายน 2550 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการชำระหนี้จากงบประมาณ 14,586 ล้านบาท เป็นการชำระคืนเงินต้น 10,555 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 4,031 ล้านบาท และในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2550 กระทรวงการคลังได้ชำระคืนต้นเงินกู้ ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากงบประมาณรวม 109,019 ล้านบาท
สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2550 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2550 มีจำนวน 3,211,592 ล้านบาท หรือ 38.24% ของ GDP เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,065,656 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 883,613 ล้านบาท หนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 216,607 ล้านบาท และหนี้องค์กรของรัฐอื่น 45,716 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 10,093 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้น 19,525 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 3,863 ล้านบาท และ 5,569 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนหนี้องค์กรของรัฐอื่นไม่มีการเปลี่ยนแปลง
หนี้สาธารณะจำแนกได้เป็นหนี้ต่างประเทศ 415,773 ล้านบาท หรือ 12.95% และหนี้ในประเทศ2,795,819 ล้านบาท หรือ 87.05% และเป็นหนี้ระยะยาว 2,790,332 ล้านบาท หรือ 86.88% และหนี้ระยะสั้น 421,260 ล้านบาท หรือ 13.12% ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
|