|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2550
|
|
"นโยบาย Eco-car คลอดออกมาแล้ว สร้างความฮือฮามิใช่น้อยให้กับวงการรถยนต์บ้านเรา กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งข้อกำหนดให้ Eco-car มีคุณสมบัติในการใช้น้ำมันไม่เกิน 5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร (หรือ 20 กม. ต่อลิตร) มีการปล่อยไอเสียให้ได้ตามข้อกำหนดของ Euro 4 และมีมาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐานของ EU นอกจากนั้นบริษัทผู้ผลิต Eco-car ยังจะต้องผ่านเงื่อนไขของ BOI ให้มีกำลังการผลิตถึง 1 แสนคันภายในปีที่ 5 และลงทุนในการผลิตอย่างน้อย 5 พันล้านบาท จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีสรรพสามิต 17% จากเดิมที่เสียสำหรับรถยนต์เก๋งขนาดกลางประมาณ 30% รวมทั้งได้รับข้อยกเว้นต่างๆ ของ BOI"
เงื่อนไขดังกล่าวนี้มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ ให้เมืองไทยเป็นแหล่งผลิตรถยนต์รูปแบบใหม่เพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน
เป้าหมายอยู่ที่การส่งออก หรืออยู่ที่การอนุรักษ์กันแน่
เห็นได้ชัดว่า เป้าหมายสูงสุดก็คือ ความหวังที่จะสร้างเมืองไทยให้เป็น "regional hub" ของอุตสาหกรรมรถยนต์ หรือเป็น Detroit แห่ง Asia ซึ่งเป็นการดำเนินรอยตาม ที่รัฐบาลทักษิณได้พยายามผลักดันเอาไว้ และถ้าประสบผลสำเร็จ ผลประโยชน์อย่างมหาศาลก็จะตกอยู่กับค่ายผลิตรถยนต์นั่นเอง หากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ คือ การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ดูจะถูกละเลยกลายเป็นเป้าหมายรองลงมา เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ถ้าจะมองกันในแง่ผู้ผลิต ผู้บริหารของ โตโยต้าได้ออกมาเปิดเผยว่า "จากข้อกำหนด และเงื่อนไขที่ออกมา บริษัทโตโยต้าก็มิได้เห็นด้วยกับกระทรวงฯ ไปทั้งหมด เพราะการ ลงทุนเพื่อขายให้ได้ปีละ 1 แสนคันนั้นทำสำเร็จได้ยาก ปัจจุบันยอดขายรุ่น YARIS และ VIOS รวมกันก็ยังทำยอดได้ไม่ถึง 1 แสนคันเลย จึงเห็นว่าน่าจะเอาต้นแบบของ YARIS และ VIOS มาปรับโฉมให้ได้รถ Eco-car ตามที่กำหนด"
ในแง่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ประชากรส่วนใหญ่จะได้อะไรจาก Eco-car? แม้ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนาเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพขึ้นมา แต่ประชากรส่วนใหญ่ที่ทำมาหากินในภาคเกษตรกรรมอันเป็นหลักของประเทศ ก็ยังคงต้องใช้รถปิกอัพกันต่อไป มีแต่ประชากรส่วนหนึ่งในเมืองเท่านั้นที่จะได้รับอานิสงส์จาก Eco-car ด้วยราคาซื้อที่ถูกลงและการใช้งานที่ประหยัดน้ำมัน แต่การที่รัฐตั้งเงื่อนไขให้มีการผลิตจำนวนมากเพื่อส่งออก ย่อมจะก่อผลกำไรส่วนใหญ่ให้กับนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้น
ในแง่ของสิ่งแวดล้อม การผลิตออกมาขายในราคาต่ำย่อมจะสร้างแนวโน้มให้คนไทยซื้อรถยนต์ประเภทนี้มาใช้กันเต็มบ้านเต็มเมือง ซึ่งโดยรวมแล้วก็จะเป็นการเพิ่มการใช้น้ำมัน (ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้า) เพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น (โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์) สวนทางกับกระแสโลกที่รณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยิ่งกว่านั้นก็ยังเป็นการเพิ่มปัญหาจราจร มลพิษทางอากาศ เข้าไปอีก ทั้งหมดนี้เป็นความขัดแย้งกับการอนุรักษ์พลังงาน สิ่งแวดล้อม และค้านกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยสิ้นเชิง
ทำไมจึงไม่ส่งเสริมนวัตกรรม
ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมา
ในโลกปัจจุบัน Eco-car ยังมีรูปแบบ นวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาอีก ได้แก่
- รถ hybrid ลูกผสมที่ขับเคลื่อนด้วยระบบน้ำมันร่วมกับไฟฟ้าแบตเตอรี่ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐฯ และยุโรปอยู่ในขณะนี้ ทั้งๆ ที่มีราคาสูงก็มีรายชื่อผู้สั่งซื้อยาวเหยียดจนผลิตออกมาขาย ไม่ทัน มีคนดังและดาราหลายคน เช่น คามิรอน ดิแอซ เป็นลูกค้า รุ่นที่กำลังดังอยู่ในเวลานี้คือ Toyota Prius
- รถที่ใช้พลัง hydrogen จาก fuel-cells ซึ่งจัดว่าเป็น zero-emission car เพราะไม่ปล่อยไอเสียออกมาเลย ส่วนที่ปล่อยออกมาคือน้ำบริสุทธิ์ แม้จะยังห่างไกลจากการใช้งานจริง ค่ายต่างๆ เช่น GM, Ford, Honda ก็ผลิตรถประเภทนี้ออกมาเป็นต้นแบบแล้ว โดยมีแผนงาน ที่จะขยายผลออกมาสู่ตลาดในอีก 4-5 ปีข้างหน้า
- รถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกอย่างอื่นๆ ได้แก่ รถยนต์ที่ออก แบบเครื่องยนต์มาให้ใช้ biofuels ต่างๆ (เช่น biodiesel, gasohol, ethanol, methanol) และรถที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์จาก solar cells
รถรูปแบบใหม่ๆ เหล่านี้ก็ควรรวมอยู่ในข่ายของ Eco-car ที่รัฐจะต้องส่งเสริมอย่างจริงจังด้วยเช่นเดียวกัน แม้ว่าขณะนี้ยังดูเหมือนว่ายังไม่มีโครงสร้างอะไรรองรับ แต่กระแสตอบรับของสังคมก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาในอนาคตอันใกล้ นอกจากนั้นยังเป็น การเปิดวิสัยทัศน์ เปิดโอกาสและสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับทั้งผู้บริโภคและผู้ลงทุน นี่แหละคือแนวทางของรถ Eco-car ที่บ้านเราไม่ควรละเลยมองข้ามไป
มุ่งสู่การแข่งขันเพื่อยืนผงาดทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ถ้ารัฐจะมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพให้ยืนผงาดอยู่ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ได้อย่างสง่างามแล้ว ก็ควรจะมุ่งส่งเสริมด้วยการ ศึกษา การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มิใช่จะทุ่มทางด้านปริมาณการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว นโยบาย Eco-car ที่เป็นอยู่ขณะนี้เหมือนกับว่าเรายืนอยู่ครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างการใช้เทคโนโลยีแบบเดิมๆ กับการรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ถ้าเราต้องการจะก้าวพัฒนาขึ้นมา ได้ด้วยตัวเองแล้ว เราต้องมองให้ไกลไปข้างหน้าและกล้าลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ๆ แม้ว่าทางเลือก ใหม่ๆ อาจจะเป็นข้อเสนอที่ล้ำหน้าแพงเกินไป แต่ในระยะยาว มันจะให้ผลคุ้มค่าแน่นอน ทั้งยังเป็นการกระจายแหล่งพลังงานให้หลากหลายมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับน้ำมัน และพลังงานรูปแบบเดิมๆ กันอีกต่อไป ดังนั้นข้อกำหนด Eco-car ควรจะเปิดให้กว้างกว่านี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นมาอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันก็สร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้ใช้เพิ่มความสามารถกับผู้ผลิตในการแข่งขันให้สูงขึ้น
แนวทางที่รัฐควรพิจารณา วางแผนและเตรียมการ
สุดท้ายนี้ ถ้ารัฐมีความจริงใจในการอนุรักษ์พลังงานรักษาสิ่งแวดล้อม และลดก๊าซเรือนกระจก กันจริงๆ แล้ว นอกจากจะมีนโยบายรถ Eco-car ออกมาแล้ว ยังต้อง หาทางแก้ปัญหาจราจร ปัญหามลพิษ ผลกระทบจากราคาน้ำมันผันผวนให้ได้อย่างจริงจัง แนวทางที่ควรจะดำเนินการเป็นหลัก คือ สร้างระบบขนส่งมวลชนให้เป็นระบบและเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังต้องมีการวางผังเมืองและแผนการใช้ที่ดินที่เข้มงวด สร้างจิตสำนึกเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับคนในเมืองและคนในชนบท และที่จะละเลยไปไม่ได้คือ สร้างสังคมที่ใช้ปัญญา (มิใช่ สังคมอุดมปัญญาแต่เพียงอย่างเดียว) สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา
|
|
|
|
|