ธปท.เผยเอ็นพีแอลไตรมาส 2 ปีนี้พุ่งปรี๊ดกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะแบงก์กรุงศรีฯ-กรุงไทย-ไทยพาณิชย์ ขณะเดียวกันแจงข่าวสั่งให้แบงก์จัดชั้นหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทขนาดใหญ่บางรายว่าเป็นความเห็นชอบร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ธปท.-แบงก์เจ้าของหนี้ หวั่นฐานะการเงินและสภาพคล่อง แย้มยังมีอีกหลายบริษัทที่ธปท.จับตาดูอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจทรุด
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.ได้รายงานยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของสถาบันการเงินในระบบล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน หรือไตรมาสสองของปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 254,510 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.41%ของสินเชื่อรวม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีนี้ถึง 14,192 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.91% โดยเป็นเอ็นพีแอลที่เกิดจากธนาคารพาณิชย์ทั้งสิ้น 249,473 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.80% สาขาธนาคารต่างประเทศ 2,881 ล้านบาท คิดเป็น 0.53% บริษัทเงินทุน 1,867 ล้านบาท คิดเป็น 5.82% และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 289 ล้านบาท คิดเป็น 66.88%
ทั้งนี้ ในไตรมาสสองของปีนี้ธนาคารพาณิชย์มียอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมากที่สุดระบบสถาบันการเงินถึง 14,263 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.06%ของสินเชื่อรวม บริษัทเงินทุนเพิ่มขึ้น 16 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.88% ขณะที่สาขาธนาคารต่างประเทศและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์กลับลดลงถึง 81 ล้านบาท หรือลดลง 2.75% และ 7 ล้านบาท หรือลดลง 2.22% ตามลำดับ
โดยธนาคารพาณิชย์ที่มีปริมาณเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบถึง 9,248 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 32.98% จากปัจจุบันที่มีเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 37,292 ล้านบาท รองลงมาธนาคารกรุงไทยเพิ่มขึ้น 6,444 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.03% จากยอดเอ็นพีแอล 70,685 ล้านบาท และไทยพาณิชย์ 3,673 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.68% จากยอดเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 27,101 ล้านบาท
นอกจากนี้ทหารไทยยังมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 3,094 ล้านบาท จากยอดเอ็นพีแอลที่มีอยู่ทั้งสิ้นในปัจจุบัน 33,984 ล้านบาท เกียรตินาคินเพิ่มขึ้น 603 ล้านบาท จากยอดเอ็นพีแอลที่มีอยู่ 5,554 ล้านบาท ไทยธนาคารเพิ่มขึ้น 194 ล้านบาท จากยอด 2,821 ล้านบาท สินเอเชียเพิ่มขึ้น 123 ล้านบาท จากยอด 1,547 ล้านบาท สากลพาณิชย์แห่งประเทศจีนเพิ่มขึ้น 46 ล้านบาท จากยอด 184 ล้านบาท และไทยเครดิตเพื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น 17 ล้านบาท จากยอด 44 ล้านบาท ทำให้ในไตรมาสนี้ธนาคารพาณิชย์มีปริมาณเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นถึง 23,442 ล้านบาท จากธนาคารพาณิชย์จำนวน 9 แห่งในระบบ
ขณะเดียวกันยังมีธนาคารพาณิชย์บางส่วนที่มีปริมาณเอ็นพีแอลลดลง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพลดลง 3,122 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มียอดเอ็นพีแอล 37,298 ล้านบาท ธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์(ไทย) ลดลง 2,967 ล้านบาท จากยอดที่มีอยู่ 3,693 ล้านบาท กสิกรไทยลดลง 1,182 ล้านบาท จากยอดที่มีทั้งสิ้น 20,816 ล้านบาท นครหลวงไทยลดลง 1,126 ล้านบาท จากยอดที่มีอยู่ 4,823 ล้านบาท
อีกทั้งสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธนก็มียอดเอ็นพีแอลลดลง 536 ล้านบาท จากยอดที่มีอยู่ปัจจุบัน 142 ล้านบาท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อยลดลง 119 ล้านบาท จากยอดที่มีอยู่ 185 ล้านบาท ทิสโก้ลดลง 86 ล้านบาท จากยอดที่มีอยู่ 1,181 ล้านบาท และธนาคารธนชาตลดลง 13 ล้านบาท จากยอดที่มีอยู่ 1,719 ล้านบาท ทำให้ในไตรมาสแรกของปีนี้ธนาคารพาณิชย์มีเอ็นพีแอลลดลงถึง 9,151 ล้านบาท จากจำนวนธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งในระบบ
โดยก่อนหน้านี้ นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงินในขณะนี้ เป็นเรื่องปกติที่เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวก็มีธุรกิจจำนวนหนึ่งที่ฐานะด้อยลง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าไส้ในของเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นเริ่มเห็นเป็นแนวโน้มมาจากกลุ่มหนี้เอ็นพีแอลที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วกลับมาเป็นเอ็นพีแอลใหม่ (รีเอ็นทรี เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อน เพราะเมื่อเศรษฐกิจทรุดภาคธุรกิจที่ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วในหลายธุรกิจไม่สามารถทำกำไรได้ในระดับที่ประเมินไว้ในช่วงการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้บางแห่งชำระหนี้ไม่ได้กลับมาเป็นหนี้เอ็นพีแอลใหม่อีกครั้ง ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลใหม่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมถึงอีกส่วนหนึ่งเกิดจากที่ธนาคารเร่งกันสำรองหนี้ตามมาตรฐานการบัญชีใหม่ระหว่างประเทศ ฉบับ 39 (ไอเอเอส 39)
ผู้สื่อข่าวรายงาน เพิ่มเติมว่า สำหรับหนี้เอ็นพีแอลใหม่ที่เพิ่มขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากฝ่ายตรวจสอบสถาบันการเงิน ธปท.ได้เข้าไปเข้มงวดการประเมินคุณภาพลูกหนี้ตามเกณฑ์การพิจารณาคุณภาพลูกหนี้ใหม่ที่เริ่มใช้ในช่วง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธปท.โดยให้พิจารณาความสามารถชำระหนี้ในอนาคต และสัญญาณที่กระทบการชำระหนี้ เช่น กระแสเงินสดของลูกหนี้มากกว่าจะดูแค่ระยะเวลาของการค้างชำระหนี้เพียงอย่างเดียว คือ เมื่อค้างชำระ 3 เดือน ถือเป็นหนี้เอ็นพีแอล
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าได้สั่งให้ธนาคารพาณิชย์จัดชั้นหนี้ด้อยคุณภาพแก่กลุ่มบริษัทเพรสซิเด้นท์ อะกริ เทรดดิ้ง กลุ่มบริษัทคิงส์พาวเวอร์ จำกัด บริษัทแคปปิตอล โอเค จำกัด และบริษัท ชินแซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) นั้น ฝ่ายตรวจสอบสถาบันการเงินของ ธปท.ระบุว่า แต่ละบริษัทเริ่มมีความน่าเป็นห่วงในเรื่องฐานะการเงิน และสภาพคล่องแตกต่างกัน และการจัดชั้นบริษัทเหล่านี้เป็นหนี้ด้อยคุณภาพในงวดสิ้น มิ.ย.นี้ ก็ไม่ได้เป็นการสั่งของ ธปท. แต่เป็นความเห็นร่วมกันของเจ้าหน้าที่ ธปท. และธนาคารพาณิชย์เจ้าของหนี้ที่ต้องการจับตาหนี้เหล่านี้เป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่ว่าลูกหนี้กลุ่มนี้จะเป็นหนี้เสีย หรือ ธปท.ต้องการให้กันสำรองหนี้เต็มจำนวน และนอกเหนือจากบริษัทเหล่านี้แล้ว ยังมีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่ธปท. และธนาคารพาณิชย์จับตาอยู่
|