|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2550
|
|
เมื่อผักยังปลอดสารพิษได้ แล้วทำไมเนื้อสัตว์จะปลอดสารพิษไม่ได้ เพียงแต่กระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ปลอดสารพิษนั้นยุ่งยากกว่าและใช้เวลานานกว่า
พ่อบ้านแม่บ้านที่ชอบจับจ่ายเนื้อ หมู ปลา ผัก ไข่จากซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำอย่างวิลล่า หรือเฟรชมาร์ท หรือซูเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าดังอย่างดิ เอ็มโพเรี่ยม สยามพารากอน หรืออิเซตัน คงเริ่มเคยชินกับชั้นวางสินค้าเนื้อหมูแบรนด์ S-Pure ที่เริ่มวางจำหน่ายมาแล้วเกือบ 3 ปี
อาจมีเพียงไม่กี่คนที่ทราบว่าจุดเด่น ที่แท้จริงของสินค้าแบรนด์นี้คืออะไร แตกต่างจากเนื้อหมูที่อยู่ในตู้แช่ของซูเปอร์มาร์เก็ต ทั่วไปตรงไหน ทั้งๆ ที่ราคาก็แพงกว่า
ยิ่งพ่อบ้านแม่บ้านที่เคยจับจ่ายสินค้า ตามตลาดสด อาจยิ่งต้องสงสัย เพราะราคาของเนื้อหมู S-Pure เมื่อเทียบกับราคาเนื้อหมู ที่อยู่บนเขียงทั่วไปแล้ว สูงกว่าโดยเฉลี่ยถึงประมาณ 70% เลยทีเดียว
คำตอบแบบง่ายๆ ก็คือเนื้อหมู S-Pure เป็น "หมูปลอดสารพิษ" ซึ่งผลิตโดยเครือเบทาโกร
ความหมายของคำว่า "ปลอดสารพิษ" ในเนื้อหมู S-Pure ไม่แตกต่างจากความหมาย ของคำว่า "ปลอดสารพิษ" ใน "ผักอินทรีย์" ซึ่งเป็นการปลอดสารพิษที่บริสุทธิ์กว่าผักปลอดสารพิษโดยทั่วไป ซึ่งจริงๆ แล้วควรเรียกว่า "ผักปลอดภัยจากสารพิษ" มากกว่า เพราะในกระบวนการผลิตยังมีการใช้ยาและสารเคมีอยู่บ้าง แต่ในปริมาณที่จำกัด
ขณะที่การผลิตผักอินทรีย์กระบวน การผลิตจะต้องปลอดจากการใช้ยา หรือสารเคมี 100% จึงมีความเข้มงวดมากกว่า ยุ่งยาก มากกว่า ใช้เวลานานกว่า แม้ในการลงทุนเบื้องต้นอาจใช้เงินทุนสูงกว่า แต่ว่าในระยะยาวแล้ว การผลิตผักประเภทนี้จะมีต้นทุนต่ำกว่า เพราะไม่มีการใช้ยา หรือสารเคมีใดๆ เข้ามาอยู่ในกระบวนการผลิต
เช่นเดียวกับกระบวนการผลิตเนื้อหมู S-Pure
หากเปรียบเทียบกับกระบวนการผลิตผักอินทรีย์ ก่อนที่เกษตรกร จะเริ่มหว่านเมล็ดผักลงแปลง จะต้องใช้เวลาพักแปลงผักไว้ก่อนไม่ต่ำกว่า 1 ปี เพื่อให้สารเคมีเดิมที่เคยปนเปื้อนอยู่ในดินได้ย่อยสลายออกไปให้หมด ก่อน จึงค่อยเริ่มต้นกระบวนการผลิต
เนื้อหมู S-Pure ก็เช่นกัน แต่เบทาโกรต้องใช้เวลาในการเตรียมสร้างแม่พันธุ์สำหรับผลิตหมูขุนที่จะนำมาผลิตต่อเป็นเนื้อหมู S-Pure ถึง 10 ปีเต็ม
เทคโนโลยีสำหรับการเลี้ยงหมูชนิดนี้ เรียกว่า SPF : Specific Pathogen Free
ความจริงแล้ว SPF ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรปและญี่ปุ่น รู้จักกระบวนการเลี้ยงสัตว์แบบ SPF มาแล้วนับสิบปี และเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากกระบวนการนี้เป็นที่นิยมในการบริโภคมากกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป
แต่สำหรับในประเทศไทย กระบวนการเลี้ยงสัตว์แบบ SPF ยังคง รู้กันอยู่ในวงแคบๆ เฉพาะในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับแวดวงปศุสัตว์ ยังไม่แพร่หลายกว้างขวางออกมาสู่ระดับผู้บริโภค
หลักการคร่าวๆ ของ SPF คือการเลี้ยงสัตว์ให้ปลอดจากเชื้อโรค เพื่อมิให้สัตว์นั้นต้องได้รับสารเคมี หรือยาปฏิชีวนะ ซึ่งก็เป็นหลักการ หรือเทคโนโลยีเดียวกับการเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำไปใช้เป็นสัตว์ทดลอง เพื่อให้สัตว์นั้นมีความบริสุทธิ์ที่สุด ก่อนจะนำเข้าห้องทดลองเพื่อทดสอบถึงผลลัพธ์ เมื่อสัตว์นั้นได้รับยา หรือสารเคมีชนิดต่างๆ
แต่ในเชิงพาณิชย์ กระบวนการเลี้ยงสัตว์แบบ SPF นำมาใช้ เพื่อให้เนื้อสัตว์ที่จะนำออกมาขายสู่ผู้บริโภค เป็นเนื้อสัตว์ที่บริสุทธิ์ ปลอดจากการปนเปื้อน ของยาปฏิชีวนะทุกชนิด เพื่อไม่ให้ยาดังกล่าว เข้าไปสะสมอยู่ในตัวของผู้บริโภคอีกต่อหนึ่ง
"เราเริ่มต้นนำเทคโนโลยี SPF เข้ามาใช้ตั้งแต่เมื่อปี 2536" วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจ เครือเบทาโกร บอกกับ "ผู้จัดการ"
บริษัทซูมิโตโมจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้ากับเบทาโกรในขณะนั้น และรู้จักเทคโนโลยีชนิดนี้มาก่อนแล้วเป็นอย่างดี เป็นผู้ชักชวนให้เบทาโกรนำเทคโนยีนี้มาใช้
กระบวนการ SPF ของเบทาโกร เริ่มจากขั้นตอนการคัดเลือกแม่พันธุ์ชุดแรก รวมถึงการหาสถานที่สำหรับเลี้ยงแม่พันธุ์กลุ่มนี้ เพื่อใช้เป็นการผลิตแม่พันธุ์รุ่นต่อๆ ไป ซึ่งจะเป็นแม่พันธุ์ของหมูขุน SPF ที่แท้จริง
โดยธรรมชาติของหมูจะมีโรคประจำซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าไปเพื่อเป็นการป้องกันอยู่หลักๆ ประมาณ 4 โรค ได้แก่ โรคบิดมูกเลือด ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคโพรงจมูกอักเสบซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคพิษสุนัขบ้าเทียม และโรคพยาธิในเลือด ซึ่งทั้ง 4 โรคนี้จะพบเป็นประจำในหมูทั่วไป โดยการถ่ายทอดเชื้อจะผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ในช่วงที่ลูกหมูคลอด โดยเชื้อจะเข้าไปสู่ตัวลูกหมู ผ่านทางช่องคลอดของตัวแม่
เมื่อเบทาโกรสามารถคัดเลือกแม่พันธุ์ ชุดแรกได้แล้ว ก็ต้องนำไปเลี้ยงยังสถานที่ใหม่ ซึ่งจะต้องสำรวจอย่างละเอียดแล้วว่าในรัศมีหลายสิบกิโลเมตรรอบๆ นั้น ไม่เคยมีการเลี้ยงหมูมาก่อน เพื่อป้องการกันติดเชื้อในภายหลัง โดยพื้นที่ที่ถูกคัดเลือกเอาไว้ คือที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
ฟาร์มที่สร้างใหม่จะถูกสร้างระบบป้องกันเอาไว้อย่างดี เพื่อไม่ให้มีการปนเปื้อน ของเชื้อโรคและสารเคมี เป็นระบบฟาร์มปิด มีกฎระเบียบที่เข้มงวดทั้งการเข้าออกของคน อาหาร และรถรับส่ง
เมื่อนำหมูแม่พันธุ์ชุดแรกเข้าไปเลี้ยงในฟาร์มจนแม่หมูตั้งท้องพร้อมจะคลอด เพื่อ ป้องกันการติดเชื้อจากการคลอดดังกล่าว การ ทำคลอดแม่พันธุ์หมู SPF ชุดแรก จึงใช้วิธีผ่าตัดเพื่อนำลูกหมูออกมาโดยไม่ผ่านช่องคลอด
ลูกหมูชุดแรกที่ได้จากการผ่าตัด คือแม่พันธุ์ของหมู SPF ที่แท้จริง เพราะในตัวจะไม่ได้รับเชื้อโรคดังกล่าวจากตัวแม่
"เมื่อในตัวหมูไม่มีเชื้อโรคก็ไม่จำเป็น ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ" เกรียงมาศ พันธุ์ชัย ผู้ช่วย กรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส เครือเบทาโกร อธิบายสั้นๆ
เกรียงมาศจบสัตวแพทย์จากมหา วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มงานกับเครือเบทาโกรในปี 2536 "ผมมาอยู่นี่ก็เพื่อมาทำโครงการ SPF"
ก่อนหน้าเกรียงมาศจะย้ายมาอยู่เบทาโกร เขาเคยอยู่ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) มาแล้วประมาณ 10 ปี โดยอยู่ในกลุ่ม ธุรกิจหมูมาตลอด
เขาสนใจศึกษาเรื่อง SPF อย่างต่อเนื่อง เคยนำโครงการไปเสนอกับผู้บริหารซี.พี.แต่บังเอิญจังหวะนั้นเป็นช่วงที่เครือซี.พี.เพิ่งชนะประมูลโครงการโทรศัพท์พื้นฐาน 3 ล้านเลขหมายมาได้พอดีจึงต้องหันไปทุ่มเทกับโครงการ ดังกล่าวก่อน
เมื่อได้แม่พันธุ์หมู SPF ชุดแรกมาแล้ว ในกระบวนการเลี้ยงต่อจากนั้น เบทาโกรจำเป็นต้องเข้มงวด มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดให้หมูกลุ่มนี้มีสุขภาพที่แข็งแรง เพื่อที่จะใช้เป็นแม่พันธุ์ผลิตหมู SPF ในรุ่นถัดๆ ไป
จนถึงปี 2546 เมื่อได้ปริมาณแม่พันธุ์หมู SPF เพียงพอ จนสามารถผลิตเป็นหมูขุน SPF ออกมาขายในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว เครือเบทาโกรจึงได้ก่อสร้างโรงชำแหละเนื้อหมูที่ได้มาตรฐานสำหรับการส่งออกขึ้น ในนามบริษัทเบทาโกร เซฟตี้ มีท แพคกิ้ง (BSM) เพื่อผลิตเนื้อหมู SPF ออกสู่ตลาด โดยการร่วม ทุนกับซูมิโตโมเช่นเดิม
นอกจากนี้เบทาโกรยังได้ร่วมทุนกับบริษัทอายิโนะโมโตะจากญี่ปุ่นเช่นกัน เพื่อก่อสร้างโรงงานแปรรูปเนื้อหมูสำหรับการส่งออก โดยมีตลาดอยู่ที่ญี่ปุ่น โดยตลาดในญี่ปุ่น ได้ตั้งเงื่อนไขไว้เลยว่า ผลิตภัณฑ์จากที่นี่ ใช้วัตถุดิบจากเนื้อหมู SPF ทั้ง 100%
ปัจจุบันเบทาโกรสามารถผลิตหมู SPF ออกสู่ตลาดได้วันละ 1,000 ตัว ในจำนวนนี้ 600 ตัว จะถูกแปรรูปในลักษณะปรุงสุขเพื่อส่งออก โดยมีอายิโนะโมโตะ เป็นผู้ทำตลาดให้ ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไป อาทิ ทงคัตสึ (เนื้อสัน นอก) คาคูนิ (เนื้อหมูติดมัน) ชาชู (เนื้อสันคอ) ฯลฯ
ส่วนที่เหลืออีก 400 ตัว จำหน่ายภายในประเทศ ภายใต้แบรนด์ S-Pure รวมถึงส่งเป็นวัตถุดิบให้กับร้านอาหาร อาทิ ฟูจิ บาบีคิว พลาซ่า ฯลฯ
หมูทั้ง 400 ตัว เมื่อชำแหละตัดแต่งชิ้นเนื้อแล้ว จะได้เป็นเนื้อหมูประมาณวันละ 16 ตัน
จากตัวเลขดูเหมือนมาก แต่หากเทียบ กับอัตราการบริโภคเนื้อหมูของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันที่ตกวันละ 12,000 ตัว สัดส่วนเนื้อหมู SPF ที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้มีเพียง 3.3% ของการบริโภคทั้งหมด
"เนื่องจากซัปพลายมีจำกัด เราจึงเริ่ม จากตลาดระดับบนก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งเขารู้จัก SPF อยู่แล้ว ปัจจุบันผลิตภัณฑ์นี้ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นตลอด" วสิษฐกล่าว
เกรียงมาศบอกว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปทุกวันนี้ ไม่สามารถรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเรื่อง SPF ได้ในวงกว้าง คือกำลังการผลิต ซึ่งมีอยู่น้อยมาก เพราะกระบวนการเลี้ยงต้องใช้เวลาที่นานกว่าในการเตรียมแม่พันธุ์ ทำให้การลงทุนในเบื้องต้นสูงกว่ากระบวนการผลิต เนื้อหมูโดยทั่วไป
"แต่ในระยะยาวแล้ว การเลี้ยงหมูโดยกระบวนการ SPF จะมีต้นทุนที่ต่ำมาก เพราะไม่ต้องเสียเงินไปกับการใช้ยาปฏิชีวนะ"
"ทุกวันนี้คนไทยไม่ค่อยรู้ แต่ต่างประเทศเขาตระหนักมากเรื่องเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะที่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้อสัตว์" สุรศักดิ์ วิโรจนกูฎ ผู้จัดการทั่วไป BSM บอก
เขายกตัวอย่างผลจากการที่ผู้บริโภค ต้องรับประทานเนื้อหมูที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะว่า เมื่อยาดังกล่าวมีการสะสมอยู่ในร่างกายไปนานๆ อาจจะทำให้คนคนนั้นมีอาการดื้อยาที่ใช้กับโรคบางโรค
"ทุกวันนี้ ยาปฏิชีวนะที่หมอสั่งจ่ายให้กับคน กับยาที่นำมาใช้กับ หมู บางโรคก็ใช้ตัวยาเดียวกัน อย่างยาซัลฟาที่ใช้แก้อาการท้องเสีย หรือยาแอมม๊อกซี่ ซิริน ที่ใช้แก้อาการเจ็บคอ หรือเป็นหวัด ก็ถูกใช้อยู่ในทั้งหมูและคน คราวนี้ถ้าหมูถูกฉีดแอมม๊อกซี่ ก่อนที่จะถูกส่งเข้ามาที่โรงเชือด ก็เท่ากับปนเปื้อน ยาตกค้างอยู่ในเนื้อ ในเครื่องใน คนบริโภคเข้าไปก็ตกค้างอยู่ในตัวคนระดับเล็กน้อย แต่ถ้าคนคนนั้นเป็นหวัดอยู่ และได้รับแอมม๊อกซี่มาแล้วจากเนื้อหมู เชื้อโรคก็จะรู้จักแล้วว่าแอมม๊อกซี่หน้าตาเป็นยังไง มันก็ปรับตัว ก็คือดื้อยาแล้วเมื่อคนคนนั้นไปหาหมอ หมอสั่งยาแอม ม๊อกซี่มาให้กิน บอกให้กินให้หมด แต่กินเข้าไปกี่เม็ด กี่เม็ด ก็ไม่หาย เพราะเชื้อโรคมันดื้อยาไปแล้ว"
ปัจจุบันกำลังการผลิตของโรงงาน BSM สามารถชำแหละหมูได้วันละ 1,140 ตัว แต่ได้มีการขยายสายการผลิตไว้แล้ว เพื่อรอง รับกับการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2,000 ตัว ในปลายปีนี้
ในจำนวนนี้จะเป็นหมู SPF ประมาณ วันละ 1,200 ตัว
วสิษฐแสดงความเชื่อมั่นว่า ปัจจุบันในประเทศไทย เครือเบทาโกรเป็นรายเดียว ที่นำกระบวนการ SPF เข้ามาใช้ในกระบวน การเลี้ยงหมู
และเชื่อว่าเขาคงไม่ยินดียินร้ายอะไร หากบริษัทคู่แข่งจะนำกระบวนการ SPF เข้ามาใช้บ้าง เพราะเบทาโกรย่อมได้เปรียบที่ทำมาก่อนแล้วถึง 14 ปี
ที่สำคัญคือ ถึงที่สุดแล้ว ผลดีก็ตกอยู่ กับผู้บริโภค
เพียงแต่วันนี้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ตระหนักกันหรือยัง เกี่ยวกับความสะอาดของอาหารที่รับประทานกันไปในแต่ละมื้อ
|
|
|
|
|