Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2550
"ซินไฉฮั้ว" รากเหง้า และตำนานกิจการซักแห้ง             
โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
 


   
www resources

โฮมเพจ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานซักฟอกซินไฉฮั้ว
โฮมเพจ บริษัท แม็ค จำกัด - กางเกงยีนส์แม็ค

   
search resources

Clothings
กิจจา กัญจนาภรณ์
โรงงานซักฟอกซินไฉฮั้ว, หจก.
พิพัฒน์ กัญจนาภรณ์
แม็ค, บจก.
ยูนิคการ์เม้นท์




คำว่า "ซินไฉฮั้ว" มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว (ซิน แปลว่า ใหม่ ไฉ แปลว่า สีสัน และฮั้ว แปลว่า ความเจริญรุ่งเรือง) แรกเริ่มเดิมที กิจจา กัญจนาภรณ์ ผู้เริ่มก่อตั้งได้เลือกใช้คำนี้เป็นชื่อยี่ห้อของกิจการรับซักแห้งของตนเอง

กิจจาเกิดในครอบครัวชาวจีนที่อาศัยอยู่ในอำเภอทับทัน จังหวัดอุทัยธานี กิจจาเป็นลูกชายเพียงคนเดียวของครอบครัวในบรรดาพี่น้องร่วมท้องกว่า 7 คนเมื่ออายุไม่กี่ขวบ ก็ถูกส่งให้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปอยู่กับญาติอีกฝั่งหนึ่งในประเทศจีน เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ จนกระทั่งย่างเข้าวัยหนุ่ม กิจจามีโอกาสเข้าทำงานในร้านรับซักแห้งที่ชื่อ "ไฉฮั้ว" ในเซี่ยงไฮ้

ภาพของชุดทักซิโด้ หมวกปีกกว้าง และชุดสุภาพสตรีแบบหรูหรา ซึ่งปรากฏในภาพยนตร์จีนเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ไม่เพียงแต่เป็นภาพคุ้นตาถึงยุคหนึ่งของการแต่งกายในเซี่ยงไฮ้เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้อย่างหนึ่งว่า ชุดเสื้อผ้าเหล่านั้นส่วนหนึ่งต้องส่งซักที่ร้านซักแห้งแทบทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นผ้าราคาแพงและกรรมวิธีในการซักรีดก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษยิ่งกว่าเสื้อผ้าปกติธรรมดาทั่วไป ร้านซักแห้งจึงเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับผู้คนในยุคนั้น

เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยอันเป็นบ้านเกิด พร้อมสร้างครอบครัวใหม่ของตนเอง กิจจาใช้เวลาหลายปีไปกับการประกอบอาชีพพ่อค้าขายของชำด้วยการล่องเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนตัดสินใจเปิดร้านซักแห้งเป็นของตนเองโดยใช้ชื่อ "ซินไฉฮั้ว" เลียนแบบร้านซักผ้าที่เคยเข้าทำงานที่เซี่ยงไฮ้ โดยเลือกใส่คำว่า "ซิน" ที่แปลว่าใหม่เข้าไปที่ด้านหน้าของคำว่า "ไฉฮั้ว" หมายความรวมได้ว่าเป็นร้านไฉฮั้วร้านใหม่นั่นเอง

ตึกแถวขนาดหนึ่งคูหา ปากซอยตรอกเต้า ย่านเจริญกรุง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่ทำการสาขาธนาคารกรุงศรีอยุธยาตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่ ถือเป็นที่มั่นแรกของร้านซักแห้งซินไฉฮั้ว ที่แม้ไม่มีใครเก็บจารึกหรือทำประวัติว่าเป็นเจ้าแรกของเมืองไทยหรือไม่ แต่ก็เป็นที่ยอมรับว่าเป็นร้านที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมายาวนานมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย

กิจการรับซักผ้าด้วยการใช้ตัวทำละลาย (Solvent) แทนการใช้น้ำในการซักแบบดั้งเดิมที่คนรู้จักกันมาตั้งแต่ดั้งเดิม แต่สามารถกำจัดคราบที่ติดอยู่กับเสื้อผ้า และช่วยรักษาสภาพของเสื้อผ้าบางประเภทได้ดีกว่าการซักน้ำ โดยใช้เครื่องซักแห้ง ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศเยอรมนีช่วงแรกผ่านไปด้วยดี

จนกระทั่งเหตุไฟไหม้โรงเรียนธีรพัฒน์ ซึ่งอยู่ติดกับคูหาที่ทำการของซินไฉฮั้ว และลามเข้ามาเผาร้านซินไฉฮั้วด้วย ในเวลาต่อมาร้านซินไฉฮั้วจึงได้ย้ายกิจการมาที่ตึกฝั่งสี่พระยา ซึ่งได้เปลี่ยนมาเป็นสาขารับผ้าให้กับซินไฉฮั้วมาจนถึงทุกวันนี้

ตึกคูหาเดียว แต่มีบ้านหลังใหญ่และพื้นที่กว้างอยู่บริเวณด้านหลังเป็นทั้งบ้าน โรงงานซักแห้ง และที่พักของคนงานอีกเกือบ 40 ชีวิต ซึ่งอพยพมาจากตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา แบบยกครัวเรือน ได้เปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจรับซักแห้งของซินไฉฮั้วมาจนถึงปัจจุบัน อย่างน้อยก็ช่วยทำให้แต่ละปีของซินไฉฮั้วทำรายได้กว่าหนึ่งพันล้านบาท

"บริการต้องโชว์ได้" ตามแนวความคิดของกิจจา ทำให้เขายินดีลงทุนติดกระจกด้านหน้าตึกเสียใหม่ ตัดชุดยูนิฟอร์มสีขาวสะอาดให้พนักงานหญิงชายใส่ เพื่อให้ผู้คนที่ผ่านไปมา และเข้ามาใช้บริการของร้านได้เห็นถึงความหรูหรา ทันสมัย และเห็นกระบวนการทำงานทั้งหมดของทางร้าน เป็นดังการโฆษณาร้านค้าของตนไปในตัว

รถตู้โดยสารโฟล์กสวาเก้น มีชื่อซินไฉฮั้วตัวใหญ่อยู่กลางตัวรถ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์กว่า 20 คัน จอดเรียงรายเพื่อเตรียมให้บริการรับส่งผ้าไปยังสาขา กระดาษแข็งพร้อมลายสวยงาม ไม่ต่างอะไรกับลายบนกระดาษเซ็นเช็คดังเช่นทุกวันนี้ ถูกจัดพิมพ์ขึ้นมาเป็นกระดาษสำหรับบอกวันรับผ้าให้กับลูกค้า ผ้าไหมหลากหลายสีถูกปักเป็นอักขระพิเศษที่คิดค้นขึ้นเองด้านใน ตัวเสื้อและกางเกงที่มารับบริการซักแห้งจากทางร้าน เพื่อแบ่งแยกสาขาและเจ้าของเสื้อผ้าที่แท้จริง ขณะที่ถุงกระดาษสีน้ำตาลอย่างดี กิจจานำมาใช้เป็นถุงใส่เสื้อผ้าที่ซักแห้งเรียบร้อยแล้ว ถูกจัดเตรียมอย่างดีเพื่อรอคอยวันเปิดร้านวันแรก

ก่อนเปิดร้านใหม่ กิจจาร่อนจดหมายเชิญสมาชิกสมาคมซักผ้าโลก (International Fabricare Institute) จากทั่วทุกมุมโลกเพื่อเข้าร่วมเป็นเกียรติกับซินไฉฮั้ว

เมื่อถึงวันเปิดงาน รสบัสขนาดย่อมสองสามคันถูกจ้างมาเพื่อรับส่งฝรั่งหลายชีวิตจากสมาคมซักผ้าโลกเพื่อเดินทางจากที่พักมาร่วมงานเปิดร้าน เดินทางไปชมสาขาต่างๆ ที่เริ่มขยายออกมากขึ้น อาทิ สุริวงศ์ สุขุมวิทซอย 1 หรือสาขาบางกะปิ เจริญกรุง ยมราช สะพานควาย และวงเวียนใหญ่ และร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่ภัตตาคารจีนอันดับหนึ่งอย่างห้อยเทียนเหลา บนถนนเสือป่า

"ตอนนั้นผมยังจำได้ ฝรั่งเต็มบ้าน พนักงานใส่ชุดหรูหรา และมีโอกาสไปรับประทานกลางวันกันที่ห้อยเทียนเหลา ซึ่งถือว่าหรูหราที่สุดแล้วในตอนนั้น" พิพัฒน์ กัญจนาภรณ์ ลูกชายคนที่สามของครอบครัว ซึ่งเป็นผู้สืบทอดกิจการในเวลาต่อมาบอกกับ "ผู้จัดการ"

พิพัฒน์ซึ่งไม่เคยปรากฎตัวต่อสื่อมวลชนเลยสักครั้ง เปิดโอกาสให้ "ผู้จัดการ" เข้าพบปะ พูดคุย และบันทึกภาพของเขาเป็นหนแรกในยามบ่ายวันหนึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมา

เขาผู้นี้รับช่วงต่อกิจการจากผู้เป็นพ่อมาตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ หลังจากพี่ชายอีกสองคนเดินทางไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาหน้าที่ดูแลกิจการ พ่อแม่ และน้องสาว จึงตกอยู่กับเขา

ดูเหมือนภาพความทรงจำของเขาจะเริ่มผุดขึ้นในห้วงแห่งความคิด เมื่อมีโอกาสได้ย้อนรำลึกถึงอดีตที่เกิดขึ้นกับซินไฉฮั้ว

"ถ้าวันตรุษจีนคนจะแน่นร้านมาก หลายคนมาทั้งส่งผ้าและ มารอรับเสื้อผ้าใหม่ที่ส่งซักกับทางร้าน เพื่อใส่ในวันตรุษจีน ซึ่งวันตรุษจีนสมัยก่อนเป็นที่นิยมกันมากว่าจะต้องใส่เสื้อใหม่เพื่อรับวันปีใหม่ของชาวจีน เฉพาะวันตรุษจีนทางร้านเราจะมีรายได้ในการซักผ้าแห้งมากกว่า 4 หมื่นบาท ขณะที่มูลค่าในการซักผ้าแห้งในสมัยนั้นตัวละ 8 บาทเท่านั้น เทียบกับมูลค่าของทองคำที่อยู่ที่เพียงบาทละ 380 บาทเท่านั้น ยิ่งเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว หนุ่มสาวก็จะมารับเสื้อผ้าใหม่เพื่อใส่เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานแต่ง งานฉลองข้าราชการ งานสวนอัมพร งานวัดสระเกศ และงานรื่นเริงซึ่งมักจัดกันมากในหน้าหนาว"

"เมื่อก่อนนั้นเรารับซักผ้าให้กับเจ้าขุนมูลนาย เสื้อผ้าส่วนใหญ่มีราคามาก เสียจนไม่กล้าซักที่เมืองไทย และต้องส่งไปซักในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์ เช่น ผ้า more hair หรือ shark skin และชุดคอตั้ง ราชปะแตน หมวก ทักซิโด้ ไหมจีน ไหมสับปะรด ไหมไทย ไหมอิตาลี ผ้าลินิน หรือแม้แต่ผ้าม่วง เมื่อคุณพ่อเริ่มกิจการจึงได้รับความนิยมมากในหมู่ข้าราชการ และบุคคลในสังคมชั้นสูง หลังจากขยายสาขาออกไปมากมาย จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้นในหมู่บุคคลทั่วไป"

หลังจากนั้นหลายปี ทั้งกิจจาและภรรยาก็เริ่มขยายกิจการสาขาของซินไฉฮั้วออกไปตามลำดับ ในเวลาเดียวกันขยายขอบเขตของธุรกิจให้มากกว่าการซักแห้ง โดยตัวแปรหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้กิจจาขยับสู่การบริการซักผ้าด้วยซ้ำในระดับอุตสาหกรรมนั่นก็คือการเข้ามาของบรรดาทหารอเมริกันยุคสงครามเวียดนาม

เมื่อเรือเทียบท่า การเริ่มมองหาร้านซักชุดเครื่องแบบทหารอเมริกันบนเรือรบก็เริ่มขึ้น และมาจบตรงที่ซินไฉฮั้ว ซึ่งถือว่าเป็นที่รู้จักของคนพระนครว่ามีความเชี่ยวชาญในการซักผ้า

ซินไฉฮั้วรับซักแห้งชุดเครื่องแบบทหารอเมริกัน ขณะที่ได้ตัดสินใจเปิดโรงงานย่านพระประแดง สมุทรปราการ เพื่อรับซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าอื่นๆ ให้กับเรือรบเหล่านี้ด้วยน้ำ และนี่คือที่มาของธุรกิจต่อเนื่องของซินไฉฮั้ว

วันที่ 1 มกราคม 2510 กิจจาพร้อมครอบครัว ย้ายโรงงานซักแห้งจากสี่พระยา และโรงงานซักน้ำอุตสาหกรรมที่พระประแดงมาอยู่ที่คลองตันทั้งหมด และยังคงเป็นโรงงานซักผ้าทั้งสองอย่างของซินไฉฮั้วจนถึงปัจจุบัน

เมื่อเทน้ำทิ้งลงบ่อบำบัดมากขึ้นเท่าใด นั่นหมายถึงจำนวนเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมการซักผ้าด้วยน้ำให้กับซินไฉฮั้วมากขึ้นเท่านั้น

ยุคทองของการเปิดรับซักผ้าในระดับอุตสาหกรรม คือเป็นพัน เป็นหมื่นชิ้น เริ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย แจ้งความจำนงขอใช้ระบบการเช่าใช้ชุดเครื่องนอนบนตู้นอนกับซินไฉฮั้ว และดูเหมือนรุ่นต่อมาของตระกูลจะจับจุดได้ว่าธุรกิจเช่าใช้เป็นอะไรที่หอมหวานยิ่งกว่าใช้แรงงานของเครื่องจักรรับจ้างซักผ้าเพียงอย่างเดียว

ปัจจุบันซินไฉฮั้วมีลูกค้าในซักน้ำอุตสาหกรรมหลากหลายแบบ ตั้งแต่อาบอบนวด ร้านอาหาร โรงออกกำลังกายไปจนถึงโรงงาน โดยเจ้าใหญ่ อาทิ การรับซักผ้าขนหนูจากแคลิฟอร์เนียฟิตเนส ชุดเครื่องนอนบนรถ บขส. ชุดยูนิฟอร์มของฮอนด้า เอสโซ่ และอื่นๆ อีกมากมาย โดยใช้ระบบการทำสัญญาแบบ 1 ปี หรือ 3 ปี

ปีที่แล้วกิจการซักน้ำอุตสาหกรรมสร้างรายได้หลายร้อยล้านบาท แต่ก็ยังคงเป็นพระรองต่อจากธุรกิจรับฟอกยีนที่อยู่ในเครือที่ทำเงินให้กับซินไฉฮั้วกว่า 500 ล้านบาทในปีก่อนๆ

โรงงานรับฟอกผ้ายีนของซินไฉฮั้วเพิ่งย้ายไปที่ถนนร่มเกล้า หลังจากเริ่มทำให้พื้นที่ซักน้ำอุตสาหกรรมคับแคบจากจำนวนผ้ายีน ที่กองเป็นพะเนินเป็นหมื่นๆ ชิ้นต่อสัปดาห์

ภูมิความรู้ที่สั่งสมมาจากการคลุกคลีอยู่กับผ้าเป็นเวลานานหลายสิบปี ทำให้มีผู้มาติดต่อให้ซินไฉฮั้วที่มีความพร้อมเรื่องเครื่องจักรในการซักผ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการของการฟอกยีน ให้เป็นผู้ฟอกยีน

เมื่อทดลองใช้สารเคมี และคิดค้นวิธีการทำลวดลายให้ตรงกับความต้องการของผู้จ้าง การเปิดกิจการฟอกยีนควบคู่กับการซักแห้งและซักน้ำอุตสาหกรรมจึงเริ่มขึ้น

ทุกวันนี้ โรงฟอกยีนของซินไฉฮั้ว รับเสื้อผ้ายีนที่ต้องการฟอกเข้าสู่กระบวนการผลิตหลายหมื่นชิ้นต่อวัน โดยเริ่มจากการซักให้กาวที่ติดกับผ้ายีนหลุดลอกพร้อมกับปรับให้ผ้านุ่มลง ก่อนเข้าสู่กระบวนการปรับสี และทำสไตล์ตามสั่ง ก่อนส่งคืนให้กับเจ้าของแบรนด์เพื่อแพ็กเกจจิ้งส่งขายต่อไป

ความเชี่ยวชาญในการคิดค้นใช้สารเคมีเพื่อให้เกิดลวดลายและสีสันของยีนที่ยาวนาน ทำให้ซินไฉฮั้วเป็นที่ยอมรับของแบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์ เพื่อให้ฟอกยีนให้ก่อนส่งขายไปทั่วโลก โดยที่บางชิ้นไม่มีวางขายในเมืองไทยด้วยซ้ำ

การฟอกยีนทำให้ครอบครัวกัญจนาภรณ์ เริ่มรู้จักและเข้าใจธรรมชาติของยีนอย่างลึกซึ้ง พอๆ กับการรู้จักแหล่งผลิตผ้ายีน ในที่สุดกางเกงยีน "Mc" จึงเกิดขึ้นจากกิจการของซินไฉฮั้วนี่เอง

Mc เพิ่งฉลองครบรอบ 30 ปีไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยถือกำเนิดขึ้นบนพื้นที่ 14 ไร่ของโรงงานซักผ้าของซินไฉฮั้วปัจจุบัน ก่อนที่พิพัฒน์จะบอกว่า เมื่อถึงเวลาไผ่ก็ต้องแยกกอ พี่ชายคนโต หรือพิชัย กัญจนาภรณ์ ได้รับช่วงต่อกิจการ Mc ไปอย่างเต็มตัว ภายใต้ชื่อบริษัท แม็ค จำกัด แต่ถึงกระนั้นการสืบเชื้อสายและเกิดขึ้นได้ก็เพราะซินไฉฮั้ว Mc ก็ยังเป็นพันธมิตรที่ดีกับซินไฉฮั้ว อย่างน้อยก็ยังใช้บริการฟอกยีนจากโรงงานของซินไฉฮั้วอยู่เช่นเดิม

หลังจากแยกแบรนด์ Mc ออกห่างตัว พิพัฒน์ได้ก่อตั้ง บริษัท ยูนิคการ์เม้นท์ อิมปอร์ต เอ็กซปอร์ต จำกัด ขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจการรับสั่งตัดผ้ายีนทุกรูปแบบ ทั้งเสื้อ และกางเกงสำหรับสตรี บุรุษ และเด็ก

บริษัท ยูนิคการ์เม้นท์ อิมปอร์ต เอ็กซปอร์ต จำกัด เริ่มตั้งแต่การรับออร์เดอร์จากบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตจากฝรั่งยุโรป หลังจากนั้นจะทำการขึ้นแพทเทิร์นเอง และทำการตัด ฟอก ทำลวดลายสไตล์ตามต้องการ ก่อนทำการแปะป้ายยี่ห้อ ติดราคา แพ็กเกจจิ้ง และส่งออกไปยังประเทศเป้าหมายที่ลูกค้าระบุไว้ โดยคิดราคาต่อชิ้น อีกทั้งยังเตรียมขยายธุรกิจสร้างแบรนด์ของตัวเองต่อไปในอนาคต

ปีนี้พิพัฒน์อายุ 56 ปี อยู่ระหว่างการสืบทอดกิจการให้กับบุตรชายคนโตที่เพิ่งคว้าปริญญาโทมาจากสหรัฐอเมริกาได้ไม่นาน โดยมีทัศนาผู้เป็นภรรยา รับช่วงต่อกิจการซักแห้งทั้งหมดตั้งแต่ยุคสี่พระยา มีพี่ชายคนกลางอย่างพิบูลย์ เป็นผู้ดูแลกิจการโรงฟอกยีน ขณะผู้เป็นแม่ผู้เริ่มก่อตั้งมาพร้อมกับกิจจา ผู้เป็นพ่อได้ละมือให้กับลูกและหลานเป็นคนควบคุมกิจการทั้งหมด

กิจจาถือเป็นคนรุ่นแรกสร้างตำนาน รุ่นที่สองผู้เป็นลูกอย่างพิพัฒน์ พิบูลย์ พิชัย และทัศนา ถือว่าเป็นผู้รับช่วงต่อ นับจากนี้รุ่นที่สามคือลูกชายคนโตหัวแก้วหัวแหวนของพิพัฒน์และทัศนา ถือว่าเป็นผู้กุมชะตาของซินไฉฮั้วต่อไป   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us