Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2550
โอกาสของธุรกิจไทย ในแนวเส้นทางหมายเลข 9             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ดาวิน จอมแปง
 

 
Charts & Figures

การลงทุนของต่างประเทศในสะหวันนะเขต 11 เดือนแรกของปี 2549

   
related stories

ประตู (อินโด) จีน เปิดแล้ว !!!
แพร่ธำรงวิทย์ กับก้าวกระโดดครั้งใหญ่
ผกายมาศ เวียร์รา ผู้ล้างอาถรรพ์แม่น้ำโขง

   
www resources

โฮมเพจ น้ำตาลมิตรผล

   
search resources

น้ำตาลมิตรผล, บจก.
Economics
Agriculture
International
น้ำตาลมิตรลาว, บจก.




หากเปรียบเทียบกับโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจทางตอนบนแล้ว โอกาสของนักธุรกิจไทยที่จะได้ประโยชน์จากพื้นที่ลาวตอนกลาง ตามแนวถนนหมายเลข 9 ของกรอบ EWEC ในภาคอีสาน มีความเป็นไปได้ในเชิงรูปธรรมมากกว่า เพียงแต่การเข้ามาลงทุนต้องตรงกับศักยภาพของพื้นที่และถูกช่องทางจริงๆ

พื้นที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองของ ไทย เชิงสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 2 ที่ จ.มุกดาหาร ช่วงเช้าของต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ยังคงดูเงียบเหงา

ด้วยเหตุที่วันนั้น มิใช่วันหยุดราชการ การเดินทางของนักท่องเที่ยวจึงไม่ค่อยพลุก พล่าน มีเพียงผู้คนที่จำเป็นต้องเดินทางเพื่อไปติดต่อธุระกับฝั่งลาว ในแขวงสะหวันนะเขต เพียงไม่ถึง 20 คน นั่งรอรถโดยสารประจำทาง ที่วิ่งเชื่อมทั้ง 2 ประเทศ ผ่านสะพานแห่งนี้อยู่เท่านั้น

แต่ในที่จอดรถของด่าน มีรถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อสีบรอนซ์ ป้ายทะเบียนลาว ด้านข้างติดสติกเกอร์ภาษาลาว เขียนว่าบริษัท น้ำตาลมิตรลาว จอดนิ่งอยู่ 1 คัน


"วันนี้จะมีที่ปรึกษาฝรั่งเข้าไปดูงานใน พื้นที่ก่อสร้างโรงน้ำตาล ผู้อำนวยการเลยให้มารอรับ" คนขับรถกระบะซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่คนไทยของบริษัทน้ำตาลมิตรลาว บอก

น้ำตาลมิตรลาว คือบริษัทที่กลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทย จัดตั้งขึ้น เพื่อเข้ารับสัมปทานปลูกอ้อยและสร้างโรงงาน น้ำตาล ในเนื้อที่ 1 หมื่นเฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ เท่ากับ 6.25 ไร่) จากรัฐบาลลาว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2549 อายุของสัมปทาน 40 ปี

ตามกำหนดการ ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทน้ำตาลมิตรลาวได้วางศิลาฤกษ์โรงงานหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล เฟสแรก ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำตาล 5,000 ตันต่อวัน วงเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท และจะเริ่มสร้าง โรงงานหลังผ่านพ้นฤดูฝนประมาณปลายเดือน กันยายน ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี เริ่มรับหีบอ้อยและผลิตน้ำตาลล็อตแรกออกมาขายได้ในเดือนธันวาคมของปีหน้า (2551)

กลุ่มมิตรผล เป็นตัวอย่างของเอกชนไทยรายหนึ่ง ที่สนใจเข้าไปใช้พื้นที่ในลาวตอนกลาง เพื่อใช้เป็นฐานการผลิต

นอกจากมิตรผลแล้ว ยังมีภาคเอกชนไทยอีกอย่างน้อย 6 ราย ที่เข้าไปลงทุนในลาวตอนกลาง โดยเฉพาะในแขวงสะหวันนะเขต ตามแนวเส้นทางหมายเลข 9 ซึ่งเชื่อมระหว่าง จ.มุกดาหารของไทย แขวงสะหวันนะเขตของลาว และเมืองเว้ของเวียดนาม โดยมีปลายทางอยู่ที่ท่าเรือดานัง

ถนนเส้นนี้ซึ่งมีความยาว 246 กิโลเมตร เป็นเส้นทางคมนาคมหลักของกรอบความร่วมมือ East-West Economic Corridor : EWEC ที่เบื้องต้นประกอบด้วยไทย ลาว และเวียดนาม โดยมีจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญล่าสุด คือการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ที่ จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผลทำให้การเดินทางจากประเทศไทย ผ่านลาวเข้าไปยังชายฝั่งและท่าเรือดานังของเวียดนามมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตามกรอบความร่วมมือ EWEC ที่สมบูรณ์ จากถนนหมายเลข 9 เมื่อข้าม สะพานจากแขวงสะหวันนะเขตของลาว เข้ามายัง จ.มุกดาหาร สามารถเดินทางในประเทศไทย ผ่าน จ.ขอนแก่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก และออกไปยังพม่าได้ที่ อ.แม่สอด

ตามทฤษฎีแล้ว ถนนสายนี้สามารถทอดยาวผ่านพม่าเข้าไปยังอินเดีย ผ่านตะวันออก กลางไปจนถึงทวีปยุโรป

ปัจจุบันความคึกคักที่เกิดขึ้นในพื้นที่ EWEC ตามแนวถนนหมายเลข 9 ภายหลังการเปิดใช้สะพานยังคงอยู่แค่ในเขต จ.มุกดาหาร และแขวงสะหวันนะเขต

"หลังเปิดใช้สะพานนี่เห็นได้ชัด มีผู้คนเดินทางข้ามกันมาเป็นจำนวนมาก รวมถึงจำนวนรถขนส่งสินค้าและวัตถุดิบก็เพิ่มขึ้น" อภิชาติ เพ็ชรรัตน์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลไทย แขวงสะหวันนะเขต บอกกับ "ผู้จัดการ"

การเข้ามาของผู้คนจำนวนมากในแขวงสะหวันนะเขตดังกล่าวมีที่มาจาก 2 สาเหตุ

สาเหตุแรกเป็นการเข้ามาเพื่อลงทุนทำธุรกิจ ส่วนสาเหตุที่ 2 คือเพื่อการท่องเที่ยว

ในด้านการลงทุนทำธุรกิจ แขวงสะหวันนะเขต มีศักยภาพที่เหมาะสมแก่การลงทุนอยู่หลายด้าน โดยด้านหลักคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร รองลงมาคือด้านที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ เหมืองแร่

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากเริ่มการก่อสร้างสะพานมีบริษัทต่างชาติหลายรายได้เข้ามาขอสัมปทานลงทุนในแขวงสะหวันนะเขตของลาว (รายละเอียดดูจากตาราง)

โครงการใหญ่ๆ ก็เช่น บริษัทอ๊อกเซีย น่า จากออสเตรเลีย ได้เข้ามารับสัมปทานทำ เหมืองทองคำในนามบริษัทล้านช้าง มิเนอรัล ที่เมืองเซโปน และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

"บริษัทนี้ผมได้อ่านจากนิตยสารต่างประเทศ เขาเป็นบริษัทเล็ก แทบจะโนเนม แต่ พอมาทำเหมืองทองคำที่นี่ ก็เหมือนได้พบขุมทอง ทุกวันนี้เลยกลายเป็นบริษัทดาวรุ่งในตลาดหุ้นออสเตรเลีย" อภิชาติกล่าวเสริม

นอกจากนี้ยังมีบริษัทซารามานเดอร์ จากอังกฤษ ได้เข้ามาขอสัมปทานสำรวจน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เพิ่งทำพิธีลงนามในสัญญา สัมปทานไปเมื่อประมาณ 4 เดือนที่ผ่านมา

เบอลา กรุ๊ป ของอินเดีย ก็ได้เข้ามาขอสัมปทานปลูกป่ายูคาลิปตัส ด้วยวงเงินลงทุน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำในนามบริษัทเบอลาลาว

ไม่รวมโครงการลงทุนจากจีน และเวียดนาม ที่มีเข้ามาแล้วหลายบริษัท

สำหรับไทย นอกจากกลุ่มมิตรผลที่เข้ามาตั้งบริษัทมิตรลาวแล้ว บริษัทน้ำตาลขอนแก่นยังได้ร่วมทุนกับกลุ่มน้ำตาลบ้านโป่ง เข้ามาจัดตั้งบริษัทน้ำตาลสะหวัน เข้ารับสัมปทานปลูกอ้อยและสร้างโรงงานน้ำตาล ในพื้นที่ 1 หมื่นเฮกตาร์เช่นกัน

บริษัทแอ๊ดวานซ์ อะโกร (ดั๊บเบิ้ลเอ) ก็ได้เข้ามารับสัมปทานปลูกต้นยูคาลิปตัสในพื้นที่ 1 หมื่นเฮกตาร์ ในนามบริษัทไชโยเอเอ

บริษัทมาลี สามพราน เข้ามาสำรวจพื้นที่เพื่อปลูกข้าวโพดหวาน เช่นเดียวกับกลุ่มไทยฮั้วยางพาราได้เข้ามาสำรวจพื้นที่เพื่อปลูกยางพารา ซึ่งจะทำในนามบริษัทวงศ์บัณฑิต

เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้ามาใช้พื้นที่ประมาณ 100 เฮกตาร์ (625 ไร่) เพื่อทดลอง ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาแล้วประมาณ 1 ปี ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากสภาพ ดินดี ทำให้ได้ผลผลิตสูงถึง 9 ตันต่อ 1 เฮก ตาร์ มากกว่าที่ผลิตในประเทศไทยในพื้นที่เท่ากัน ซึ่งได้ผลผลิตเพียง 6 ตัน รวมทั้งอัตราส่วนการใช้ปุ๋ยในสะหวันนะเขตก็น้อยกว่า ดังนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงมีแผนจะขอสัมปทานเพื่อขยายพื้นที่ปลูกเป็น 1 หมื่นเฮกตาร์ ภายในอีก 5 ปี

เครือเจริญโภคภัณฑ์เพิ่งทำพิธีเปิดตัวโครงการไปเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้

"แต่อันนี้นี่ก็จะอยู่ในกรอบที่เราเรียกว่า ACMECS เป็นคอนแทรค ฟาร์มมิ่ง คือเข้ามาทำ แล้วรับซื้อในราคาประกัน ซึ่งอันนี้เกษตรกรลาวก็ค่อนข้างพอใจ ทางเจ้าแขวงสะหวันนะเขตเอง เห็นผลแล้วค่อนข้างพอใจ" อภิชาติบอก

ACMECS ที่อภิชาติกล่าวถึงย่อมาจาก Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy ซึ่งเป็นอีกกรอบความร่วมมือหนึ่งของกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ที่ประกอบด้วยไทย ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา

สำหรับเอกชนไทยรายล่าสุดที่ได้เข้าไปสำรวจลู่ทางการลงทุนในเขตสะหวันนะเขตเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา คือบริษัทศรีวิโรจน์ฟาร์ม ซึ่งทำฟาร์มเลี้ยงไก่ครบวงจรในจังหวัดขอนแก่น ที่เพิ่งเดินทางเข้าไปเพื่อหาสถานที่ตั้งฟาร์มไก่ครบวงจรแบบเดียวกับที่ตั้งใน จ.ขอนแก่น ในสะหวันนะเขต และได้เชิญรองเจ้าแขวงสะหวันนะเขต ไปดูฟาร์มไก่ของตนเองที่ขอนแก่นเมื่อกลางเดือนมิถุนายน

การที่กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยให้ความสนใจเข้าไปใช้พื้นที่เพาะปลูกของแขวงสะหวันนะเขต นอกจากการเกิดขึ้นของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ที่ทำให้การขนส่งสินค้าทำได้สะดวกขึ้น เพราะผลผลิตที่ได้สามารถส่งออกไปขายยังญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา ผ่านทางท่าเรือดานัง หรือสามารถส่งไปขายยังฝั่งยุโรปได้โดยผ่านท่าเรือแหลมฉบังแล้ว

ยังมีสาเหตุมาจากโครงสร้างการใช้พื้นที่ทำการเกษตรในประเทศไทยเอง ที่กำลัง มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการที่เกษตรกรส่วนใหญ่หันไปปลูกยางพารา เพื่อส่งจำหน่ายออกไปประเทศจีนเป็นจำนวนมาก รวมถึงการเปลี่ยนมาปลูกพืชพลังงาน เพื่อส่งให้โรงงานผลิตเอทานอล

ทำให้พื้นที่เพาะปลูกดั้งเดิมที่อุตสาห-กรรมเหล่านี้ต้องการใช้เป็นวัตถุดิบ ได้หายไปเป็นจำนวนมาก

เฉพาะอุตสาหกรรมน้ำตาล การออกไปแสวงหาพื้นที่ปลูกอ้อย และสร้างโรงงานน้ำตาลในลาว ยังมีสาเหตุเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา การแย่งรับซื้อผลผลิตอ้อยของโรงงานน้ำตาลหลายแห่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในประเทศ ไทย ทำให้การวางแผนผลิตน้ำตาลของโรงงาน หลายแห่งต้องคลาดเคลื่อน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยมาจากรัฐบาลลาวเอง กำลังเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนจากต่างชาติ โดยให้การสนับสนุนหลายๆ ด้าน อาทิ การจัดหาพื้นที่จำนวนมาก รวมถึง สามารถนำเงินเข้าไปลงทุนได้เต็ม 100% ในบางอุตสาหกรรม โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร่วมทุนจากฝ่ายลาว

"ทุกวันนี้ลาวค่อนข้างยืดหยุ่นในเรื่องการลงทุน แต่ถ้าเป็นการลงทุนเกี่ยวกับที่ดินผืนใหญ่ นักลงทุนก็จำเป็นต้องเข้าให้ถูกช่องทาง" อภิชาติกล่าว

รังสิมา โอฬาริกบุตร กงสุลไทย ในแขวงสะหวันนะเขต อธิบายเพิ่มเติมกับ "ผู้จัดการ" ว่า ตามโครงสร้างการบริหารของลาว ระดับเจ้าแขวงสามารถอนุมัติการลงทุนของต่างชาติได้ในวงเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอนุมัติพื้นที่ลงทุนได้ไม่เกิน 100 เฮกตาร์ ในขณะที่ระดับ คณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติพื้นที่ลงทุนได้ไม่เกิน 1 หมื่นเฮกตาร์ หากเกินจากนั้นต้องนำเรื่อง เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อขออนุมัติ

อย่างไรก็ตาม ความที่เพิ่งเปิดประเทศทำให้โครงการลงทุนหลายโครงการต้องประสบกับอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของลาวมีไม่เพียงพอที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง

พรชัย ศรีสาคร ผู้อำนวยการ บริษัทน้ำตาลมิตรลาว เล่ากับ "ผู้จัดการ" ว่า กลุ่มมิตรผลเริ่มเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในลาวตั้งแต่เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ลาวเริ่มออกนโยบายส่งเสริมให้ผู้ลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

เดือนสิงหาคม 2548 เป็นเดือนที่กลุ่มมิตรผลเริ่มเดินเรื่องเพื่อขอสัมปทานอย่างจริงจัง จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 จึงได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ และอีก 1 เดือนถัดมา จึงได้มีการลงนามในสัญญาสัมปทาน ในวันที่ 15 มีนาคม

เบื้องต้น สัมปทานที่กลุ่มมิตรผลได้รับคือพื้นที่ปลูกอ้อยจำนวน 1 หมื่นเฮกตาร์ ในระยะ เวลา 40 ปี และสามารถขยายพื้นที่ออกไปได้ถึง 2.5 หมื่นเฮกตาร์ โดยเป้าหมายเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงงานหีบอ้อยขนาด 1 หมื่นตันต่อวันได้ ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

แต่ปรากฏว่าทางแขวงสะหวันนะเขตไม่สามารถจัดหาพื้นที่ได้ทัน ทำให้กลุ่มมิตรผลต้องแบ่งโครงการลงทุนออกเป็น 2 เฟส ลดขนาดของโรงงานลงมาเหลือเพียง 5,000 ตันต่อวันในเฟสแรก และยืดเวลาการก่อสร้างโรงงานเป็นปลายปีนี้แทน ส่วนเฟสที่เหลือค่อยเริ่มดำเนินการหลังจากได้พื้นที่ครบถ้วนแล้ว

"เราไม่ได้โทษเขา เพราะเขามีความตั้งใจที่จะให้เราจริงๆ แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของเขา ที่ต้องลงสำรวจพื้นที่มีเพียง 3-4 คน เทียบกับพื้นที่ 1 หมื่นเฮกตาร์ ยังไงก็ไม่ทัน เราก็ต้องช่วยเขา ออกไปสำรวจพื้นที่ พูดคุยกับผู้ใหญ่บ้านเพื่อเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง" พรชัยบอก

ปัจจุบันทางแขวงสามารถจัดหาพื้นที่เพื่อปลูกอ้อยให้กับบริษัทมิตรลาวได้แล้ว 7,400 เฮกตาร์ โดยบริษัทได้เริ่มปลูกอ้อยพันธุ์ที่จะใช้เป็นต้นพันธุ์สำหรับปลูกอ้อยส่งโรงงานหีบอ้อยให้ทันในปลายปีหน้า พร้อมกับเริ่มต้นโครงการส่งเสริมเกษตรกรด้วยการนำเกษตรกร ในพื้นที่เป้าหมายเข้ามาทำงานในแปลงเพาะเลี้ยงพันธุ์อ้อย เพื่อศึกษากระบวนการผลิต

พรชัยเชื่อว่าผู้ลงทุนทุกคนที่เข้ามารับสัมปทานในลาวขณะนี้ ต้องเจอกับปัญหาเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องให้เวลากับทางลาวอีกระยะหนึ่ง เพื่อเตรียมบุคลากรให้ทันรองรับ กับกระแสการลงทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

ทางด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอีกความหวังหนึ่งของคนพื้นที่ ในช่วงก่อนที่จะมีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 อย่างเป็นทางการ แต่ปรากฏว่าผลที่ได้รับหลังเปิดใช้สะพาน ไม่ได้เป็นไปตามคาดหวังไว้โดยตรงนัก

สอนทะวง เคนนะวง รองประธานสภาการค้า-อุตสาหกรรม แขวงสะหวันนะเขต เจ้าของโรงแรมสะหวันบ้านเฮา บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าหลังจากเปิดใช้สะพานจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางข้ามสะพานมายังสะหวันนะเขตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงก่อนเปิด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีผู้คนเดินทางเข้าเฉลี่ยวันละ 3,000 คน

แต่สิ่งที่แขวงสะหวันนะเขตกำลังประสบ คือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเพื่อไปต่อยังประเทศเวียดนาม โอกาสที่นักท่องเที่ยวเหล่านี้จะใช้เวลาอยู่ในสะหวันนะเขต เพื่อจับจ่ายใช้สอย หรือรับประทานอาหารน้อยมาก

"เฉลี่ยคนที่เข้ามา 100 คน จะพักอยู่ในสะหวันนะเขตเพียง 5 คน" สอนทะวงบอกถึงสถิติคร่าวๆ

สาเหตุสำคัญคือในแขวงสะหวันนะเขต มีแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดให้คนไปชมไม่มากนัก ส่วนใหญ่ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาสะหวันนะเขต จะใช้เวลาเดินชมสภาพบ้านเมือง ซึ่งมีอาคารเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยยังเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสกับวัดวาอารามต่างๆ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์กระดูกไดโนเสาร์ ซึ่งใช้เวลาเพียงครึ่งวันก็สามารถชมได้หมด

"นักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่โรงแรม ร้านอาหาร ไม่ได้คึกคักขึ้น"

ภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐของแขวงก็กำลังหาทางที่จะพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น โดยเบื้องต้นได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการผลักดันโครงการท่องเที่ยวที่ชูจุดขายการรับประทานอาหาร 3 ชาติในเวลา 1 วัน โดยนักท่องเที่ยวรับประทานอาหารเช้าในไทย ที่ จ.มุกดาหาร แล้วข้ามมารับประทานอาหารกลางวัน ในแขวงสะหวันนะเขต ก่อนที่จะไปรับประทานมื้อเย็นที่เวียดนาม หรือในทางกลับกัน คืออาหารเช้าที่เวียดนาม กลางวันในสะหวันนะเขต และเย็นที่ฝั่งไทย

สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในแขวงสะหวันนะเขต ในปี 2548 มีจำนวนทั้งสิ้น 192,560 คน เพิ่มขึ้นจาก 118,821 คน ในปี 2547

ขณะที่จำนวนโรงแรมในสะหวันนะเขต ณ สิ้นปี 2549 มีทั้งสิ้น 10 แห่ง และเรือนพัก (เกสต์เฮาส์) อีก 64 แห่ง

ปัจจุบันการลงทุนสร้างโรงแรมและเปิดร้านอาหาร นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนเองได้ทั้ง 100% แต่หากเป็นบริษัทนำเที่ยว หรือรถรับส่งนักท่องเที่ยว จะต้องเป็น การร่วมลงทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่น

อภิชาติ เพ็ชรรัตน์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลไทย แขวงสะหวันนะเขต ยอมรับว่าเรื่องการท่องเที่ยวนั้น แขวงสะหวันนะเขตอาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง หลังเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 มากนัก

"ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของสะหวันนะเขต เปรียบไปแล้วแตกต่างจากหลวงพระบาง หรือจำปาศักดิ์ ซึ่งมีธรรมชาติ สวยงาม"

สถานกงสุลไทยในแขวงสะหวันนะเขต เองก็ตระหนักในจุดนี้ และพยายามให้ความช่วยเหลือ โดยประสานงานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลเรื่องการท่องเที่ยวของแขวงไปฝึกอบรม ดูงานที่ ททท. พร้อมทั้งชักชวนให้นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนด้านการท่องเที่ยวในแขวงสะหวันนะเขตเพิ่มขึ้น

โครงการที่อภิชาติมองไว้คือ จุดพักครึ่งทางของเส้นทางหมายเลข 9 ซึ่งน่าจะมีการก่อสร้างเป็นจุดพักรถ เพื่อให้นักท่องเที่ยว ได้ลงมาพักผ่อนอิริยาบถ รับประทานของว่าง รวมทั้งเข้าห้องน้ำ

"เราสามารถนำรูปแบบของปั๊มน้ำมันในไทยที่มีร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารที่ทันสมัย มาให้บริการกับนักท่องเที่ยวเหล่านี้"

ซึ่งตรงกับสอนทะวงที่บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าแขวงสะหวันนะเขต มีโครงการ ก่อสร้างศูนย์แสดงสินค้าพื้นเมือง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 162 ของเส้นทางหมายเลข 9 เพื่อให้เป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง

เรื่องการพัฒนาท่องเที่ยวของแขวงสะหวันนะเขต ยังคงเป็นคำถามที่รอคอยคำตอบ

แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากประสบการณ์ของพรชัย ศรีสาคร ผู้อำนวยการ บริษัทน้ำตาลมิตรลาว ที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในแขวงสะหวันนะเขตแล้วประมาณ 2 ปี ที่บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ความเปลี่ยนแปลงของสภาพบ้านเมืองในแขวงที่เห็นได้ชัดคือจำนวนร้านอาหารและแหล่งบันเทิงของสะหวันนะเขต มีเพิ่มขึ้น โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก คือผู้ลงทุนชาวต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในแขวงนั่นเอง

ปัจจุบันนอกจากการเปิดให้สัมปทานแก่ผู้ลงทุนที่ต้องการใช้พื้นที่จำนวนมากแล้ว แขวง สะหวันนะเขตยังมีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ไซต์

ไซต์เอ เป็นแหล่งที่พักอาศัยและแหล่งบันเทิง ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของเชิงสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว ริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่ง ณ จุดนี้ บริษัทไทย แอร์พอร์ต กราวน์ เซอร์วิสเซส (แทกซ์) ของไทยได้รับสัมปทานสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาว พร้อมกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ขึ้น ใช้ชื่อโครงการว่า "สะหวันเวกาส" โดยขั้นตอนขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมทุน

ส่วนไซต์บีอยู่ลึกเข้าไปในเส้นทางหมายเลข 9 ประมาณ 27 กิโลเมตร ซึ่งจะสร้างเป็นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากแผนแม่บทของโครงการนี้ ได้รับการศึกษามาอย่างดีจาก JICA

จากการเดินทางเข้าไปสำรวจพื้นที่ในแขวงสะหวันนะเขตของ "ผู้จัดการ" เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ทั้ง 2 ไซต์ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

สาเหตุเนื่องจากสนามบินของแขวงสะหวันนะเขต ยังเป็นสนามบินขนาดเล็ก มีจำนวนเที่ยวบินเข้ามาน้อยมาก หนทางที่จะเดินทางเข้ามาในแขวงสะหวันนะเขตโดยเร็วที่สุด ก็คือการนั่งเครื่องบินไปลงยังสนามบินสกลนคร หรืออุบลราชธานี แล้วนั่งรถต่อเข้ามายัง จ.มุกดาหาร ก่อนจะข้ามสะพานเข้ามายังแขวง

อีกทางหนึ่งก็คือ นั่งเครื่องบินไปลงที่เวียงจันทน์ และนั่งรถต่อเข้ามายังแขวงสะหวัน นะเขต ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม แขวงสะหวันนะเขตเองก็มีโครงการจะขยายสนามบินอยู่แล้ว โดย JICA เข้ามาสำรวจข้อมูลและเขียนโครงการโดยละเอียดเอาไว้แล้ว เพียงแต่รอเวลาให้เหมาะสมว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างได้เมื่อใด

"ถ้ามีสนามบิน โรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องมา เมื่อมีโรงงานเข้ามา โครงการที่พักอาศัย ที่ไซต์เอก็เกิด" เป็นการคาดการณ์ของอภิชาติ

เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในแขวงสะหวันนะเขต จะได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในอีก 3-5 ปีที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน

เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการหลั่งไหลเข้ามาของกลุ่มทุนต่างๆ ที่เข้ามาลงทุนในแขวงสะหวันนะเขต

ซึ่งกลุ่มทุนไทยเองก็ควรต้องตระหนักและตื่นตัว ก่อนที่จะเสียโอกาสให้กับกลุ่มทุนจาก ชาติอื่น โดยเฉพาะจีน เวียดนาม หรือญี่ปุ่น

แล้วคุณล่ะ...สนใจเข้าไปดูลู่ทางการลงทุนในแขวงสะหวันนะเขตเอาไว้หรือยัง?   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us