โสมชบาเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนในเครือของบงล.ธนชาติจัดตั้งเมื่อเดือนตุลาคม
2532 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้น 4 ราย ซึ่งต่างเป็นบริษัทในเครือของบงล.ธนชาติที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายที่คล้ายคลึงกับโสมชบา
โยทะกา สุพรรณิกา การะวาตีและทองกวาว คือ 4 บริษัทที่เป็นผู้ถือหุ้นโสมชบาแห่งละ
25%
เป้าหมายการลงทุนแรกสุดของโสมชบา คือ การเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทมาบุญครองไรซมิลล์
บริษัทมาบุญครองเทรดดิ้ง โดยซื้อจากธนาคารไทยพาณิชย์แบบมีส่วนลด
ทั้งนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ซื้อบริษัททั้งสี่ไว้ได้จากการจัดการขายทอดตลาดหุ้นของบริษัทเหล่านี้ดดยะนาคารฯ
เอง เพราะหุ้นบริษัทเหล่านี้ในส่วนที่บริษัทมาบุญครองอบพืช และไซโลเป็นเจ้าของได้มีการนำหุ้นจำนวนหนึ่งมาทำสัญญาจำนำไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์
เพื่อขอรับสินเชื่อ แต่เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารฯ จึงนำหุ้นทั้งหลายออกขายทอดตลาด
และธนาคารฯซื้อไว้ได้ในราคารวมทั้งหมด 93.4 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี บันเทิง ตันติวิท ประธานกรรมการฯ บงล.ธนชาติ เปิดเผยเมื่อเดือนมกราคม
2533 ว่า "บริษัททั้งสี่เป็นเจ้าหนี้มาบุญครองอบพืชและไซโลจำนวน 420
ล้านบาท และเป็นผู้ถือหุ้นในมาบุญครองโฮเต็ลรวม 75% โสมชบาจะไปซื้อหุ้นบริษัททั้งสี่และจะยอซื้อหนี้ของมาบุญครองอบพืชและไซโลจากะนาคารไทยพาณิชย์
ซึ่งมีมูลหนี้รวม 270 ล้านบาทอีกด้วย โดยซื่อแบบมีส่วนลดเช่นกัน"
แนวคิดนี้เป็นจริงในเดือนพฤษภาคมถัดมา โสมชบาไม่เพียงซื้อหุ้นใน 4 บริษัทดังกล่าวและซื้อหนี้จากธนาคารไทยพาณิชย์เท่านั้น
แต่จะทำการชำระหนี้ในส่วนที่ไม่มีทรัพย์สินค้ำประกันของบริษัทมาบุญครองอบพืช
และไซโลและบริษัทในเครือที่มีปัญหาในครั้งนี้ด้วย
มูลค่าการชำระหนี้ทั้งหมดอยู่ในวงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท
โสมชบาจัดการชำระหนี้ในอัตรา 75% ของหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วยเงินสดอีก
25% ที่เหลือถือเป็นค่าธรรมเนียม ค่าความเสี่ยงและบำเหน็จการเหนื่อยยากในการหามาตรการมาแก้ไขปัญหานี้ครั้งนี้ของโสมชบา
อมร อัศวานนท์ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า "เราได้จ่ายค่าตอบแทนให้
โสมชบาไป ซึ่งก็เป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก เพราะเขาทำให้เราได้รับการชำระหนี้เต็มมูลค่าในเวลาที่เร็วขึ้น"
ทั้งนี้โสมชบากู้เงินมาจากบงล.ธนชาติอีกทอดหนึ่งเพื่อเอามาซื้อหนี้ของมาบุญครองหรือชำระหนี้แทนมาบุญครองฯ
ซึ่งจะทำให้โสมชบากลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของมาบุญครองไปโดยปริยาย
ในวันที่มีการซื่อหนี้กันนั้น มาบุญครองอบพืชและไซโลได้ทำการเพิ่มทุนอีกเท่าตัวคือ
733.5 ล้านบาท โสมชบาได้มาซื้อหุ้นเพิ่มทุนไปจำนวนหนึ่งประมาณ 4 ล้านหุ้นในราคาพาร์หุ้นละ
100 บาท เป็นมูลค่า 400 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 333.5 ล้านบาท นั้นมีผู้ถือหุ้นเก่ารายอื่นๆซื้อไป
เงินตัวนี้หมุนกลับมาที่ดสมชบาอีกครั้งในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ของมาบุญครองฯ
การซื้อหนี้ชำระหนี้และซื้อหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้กระทำกันระวห่างวันที่
17 ถึงก่อนเวลา 10.00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม 2533 เพื่อให้การเคลียริ่งเช็คไม่มีปัญหา
การไหลเวียนของเงินทั้งหมดจึงเกิดขึ้นเพียงในกระดาษเช็คเท่านั้น!!
อมร ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งผุ้จัดการสินเชื่ออุตสาหกรรมธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผยกับ
"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า "ธนาคารฯได้รับการชำระหนี้คืนแล้วเมื่อวันที่
18 พฤษภาคม การที่โสมชบาเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาครั้งนี้เป็นผลดีแก่เราในแง่ที่ว่าเราได้รับเงินเร็วขึ้น
และในด้านบัญชีเราได้รับเงินทุกบาททุกสตางค์ ต้องเต็มจำนวยเพราะไม่เช่นนั้นผมไม่สามารถตัดหนี้สูญได้"
นอกจากนี้การมีโสมชบายังมีส่วนดีในแง่ที่สามารถเจรจาให้มาบุญครองทำการเพิ่มทุนได้เร็วขึ้นด้วย
หนี้ที่อมรกล่าวถึงว่าได้รับการชำระแล้วเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
มาบุญครองฯยิ่งมีหนี้สินที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันกับะนาคารไทยพาณิชย์อีกประมาณ
200 กว่าล้านบาท ทั้งนี้อมรกล่าวว่า "ถึงตอนนี้เราไม่กลัวเลย เพราะมีที่ดินที่ปทุมธานีและศรีราชามาเป็นจำนองอยู่เรายังไม่ได้กำหนดว่าส่วนที่เหลือนี่จะจ่ายเมื่อไหร่
แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไรเพราะเราก็กินดอกเบี้ยกันไป"
ประเด็นเรื่องหนี้สินที่แท้จริงของ ศิริชัย บูลกุล ที่ทำให้บรรดาเจ้าหนี้ต้องลุกขึ้นมาฟ้องร้องประมาณ
19 รายนั้น เป็นเรื่องยากที่จะค้นหาตัวเลขที่แน่นอนออกมาได้
ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดมีหนี้ 3 รายการ ซึ่งแถลงฟ้องไว้ที่ศาลแพ่งเมื่อเดินพฤศจิกายน
2532 คิดเป็นมูลค่ารวม 594,718,036.91 บาท
หนี้เหล่านี้มีที่ดินของบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโล และบริษัทมาบุญครองการอุตสาหกรรม
2 รายการมาค้ำประกัน ในวงเงินรวมกัน 190 ล้านบาท
ปัจจุบันที่ดินทั้งสองรายการ คือที่ดินที่ศรีราชา 12 แปลง อยู่ในความครอบครองของบริษัท
ปทุมไรซมิชช์ แอนด์ แกรนารี่ จำกัด และที่ดินบางกระดี่ ปทุมธานี 107 แปลง
อยู่ในความครอบครองอุตสาหกรรมซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอ็ม บี เค การอุตสาหกรรม
เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้บริษัทมาบุญครองไรซมิลล์ยังค้างชำระหนี้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นจำนวน
158.058 ล้านบาทตามคำพิพากษาของศาลแพ่งเมื่อ 19 กันยายน 2532 ด้วย
ส่วนธนาคารกสิกรไทยนั้น บริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลมีหนี้อยู่จำนวน 292,831,448.97
บาท ตามการพิพากษาของศาลอุทธรณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2532
มูลหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสองรายเท่ากับ 887.549 ล้านบาท นอกจากนี้มีส่วนที่เป็นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในประเทศรายเล็กลงมาอีกเช่น
บงล.ธนสยาม 40 ล้านบาท
บงล.เอ็มซีซี 5.15 ล้านบาท บงล.ไทยเม็กซ์ 10.24 ล้านบาท บงล. พัฒนสิน 5.27
ล้านบาท บง.ยิบอินซอย 0.56 ล้านบาท บริษัทคาซ่า 10.06 ล้านบาท
ส่วนหนี้ที่เหลือนั้น อมรกล่าวว่าเป็นของธนาคารและสถาบันการเงินต่างประเทศ
ธนาคารเชสแมนอัตตัน มีสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายของ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นทนายความดำเนินการฟ้องร้องมาบุญครอง
4 สำนวน มูลหนี้ 232.91 ล้านบาท
ธนาคารโนวาสโกเทีย เอเชีย มอบหมายให้สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายและทนายเบเครอ์
แอนด์ แม็คเค็นซี่เป็นทนายฟ้องมาบุญครองมูลหนี้ประมาณ 88.68 ล้านบาท
ธนาคารปารีบาส์แห่งฝรั่งเศส มอบให้สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายเบเคอร์ แอนด์
แม็คเค็นซี่ฟ้องมาบุญครองเช่นกัน มูลหนี้ 77 ล้านบาท
ธนาคารลองเทอม เครดิตแบงก์ 124.97 ล้านบาท
ทั้งนี้แหล่งข่าวจากศาลแพ่งเปิดเผยว่าในระหว่างปี 2529-2531 มีเจ้าหนี้ยื่นฟ้องบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลและบริษัทในเครือรวมแล้ว
19 คดี คิดเป็นมูลหนี้ทั้งสิ้น 1,535.87 ล้านบาท
ในจำนวนนี้โสมชบาได้จัดการซื้อหนี้มาหมดแล้วและโสมชบาก็ทำการแปลงหนี้บางส่วนที่มีอยู่กับเอ็ม
บี เคฯ เป็นทุน จนกลายเป็นผุ้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2
อย่างไรก็ดี "ผู้จัดการ" เข้าใจว่าน่าจะมีเจ้าหนี้บางรายที่แปลงหนี้เป็นทุนบางส่วนเช่นกัน
คือ ธนาคารเชสแมนฮัตตันและแบงก์เกอร์ทรัสต์
ทั้งหมดนี้เป็นกรรมวิธีที่ดูง่ายๆในห้องเรียน แต่เป็นเรื่องที่พิสดารและยุ่งยากไม่น้อยเมื่อมีการปฏิบัติจริง
อย่างนี้แหละที่เรียกว่าฝีมือ!!