ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจ การค้าและการบริการต่างๆ มีกระบวนการที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
และมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วด้วยระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ เกินกว่าความรู้ของประชาชนผู้บริโภคจะตามได้ทัน
อีกทั้งการขยายตัวของธุรกิจต่างๆ มีการขยายตัวกว้างมากขึ้น ทำให้มีการแข่งขันสูงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการหาวิธีการต่างๆ
ที่ลดต้นทุนการผลิต และหาวิธีที่จะชักจูงผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าหรือให้การบริการของตน
ดังนั้นความระมัดระวังของผู้บริโภคในระดับธรรมดาย่อมไม่เพียงพอที่จะหลุดพ้น
หรือปลอดภัยจากการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการที่ไม่คำนึงถึงคุณธรรมความรับผิดชอบ
และกฎหมายที่มีอยู่แล้ว คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องละเมิด และสัญญาก็ไม่รัดกุมเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว
จึงเป็นเหตุให้รัฐต้องออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น
ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่
5 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ซึ่งคำว่า "ผู้บริโภค" ใน พ.ร.บ. นี้ยังได้จำกัดความหมายของคำว่า
"ซื้อ" ไว้รวมถึงเช่า เช่าซื้อ หรือได้มาด้วยประการใดๆ โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น
จากบทนิยามดังกล่าวจึงจำกัดเฉพาะผู้ที่อยู่ในฐานะ ผู้ซื้อ ผู้เช่า ผู้เช่าซื้อ
หรือได้รับบริการ หรือได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการโดยเสียค่าตอบแทนเท่านั้น
ไม่รวมถึงผู้บริโภคจากความเป็นจริงซึ่งไม่เป็นบุคคลที่เป็นคู่สัญญา ในสัญญาซื้อขาย
เช่าทรัพย์ หรือเช่าซื้อ
หากพิจารณาในแง่ความรับผิดชอบทางสัญญาจะเห็นได้ว่าความรับผิดชอบตามสัญญาต้องอาศัยความสัมพันธ์ทางสัญญา
(PRITYI OF CONTRACT) ถ้าขาด 4 PRIVITY OF CONTRACT แล้วการเยียวยาความเสียหายในทางสัญญายอมเกิดขึ้นไม่ได้
ซึ่งความเป็นจริงแล้วความสัมพันธ์ทางสัญญาย่อมเกิดขึ้นเฉพาะคู่สัญญาที่เสนอสนองเจตนาต้องตรงกัน
เช่น การจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จะต้องมีค่าเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน และยังต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือต้องมีการมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วน
จึงฟ้องร้องบังคับกันได้ แต่ในกรณีความเสียหายอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกเช่น
แม่บ้านซื้อสินค้า แต่ลูกบ้านหรือผู้อยู่อาศัยในครัวเรือนเป็นผู้ใช้สินค้า
ซึ่งตามความเป็นจริงก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก จะไม่สามารถได้รับการชดใช้เยียวยาในทางสัญญา
ส่วนการพิสูจน์ความเสียหายในทางละเมิด แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคคดีความต่างๆ
ก็ยังคงต้องพิสูจน์ถึงความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบธุรกิจ ยังต้องพิสูจน์ถึงความผิดคือการล่วงสิทธิ
ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้เสียหาย หรือโจทก์ที่จะต้องนำสืบว่ามีการจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดการเสียหายขึ้น
กรณีความเสียหายเกิดขึ้นกับสินค้าหรือบริการเสียหายขึ้น กรณีความเสียหายเกิดขึ้นกับสินค้าหรือบริการการนำสืบถึงความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ผลิต
หรือจำหน่ายสินค้านั้นเป็นไปได้ยาก
เพราะกระบวนการผลิต ในปัจจุบันมีความซับซ้อน และเป็นความลับทางการค้าที่ไม่อาจจะเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปทราบได้
ในบางครั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากความบกพร้องของตัวสินค้าเอง ซึ่งไม่มีผู้ใดกระทำโดยจงใจ
หรือประมาทเลินเล่อ ความรับผิดชอบเมื่อมีความผิดในลักษณะละเมิดจึงไม่เหมาะสมกับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการบริโภค
ในสังคมที่จัดว่าเป็นสังคมบริโภคโดยแท้ เช่น อังกฤษ อเมริกา เยอรมนี ปัญหาเรื่องการชดเชยความเสียหายอันเกิดจากการบริโภคได้รับการพิจารณาหาหนทางแก้ไข
โดยการขยายความรับผิดของผู้ขาย ผู้จำหน่ายสินค้าให้รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลนอกสัญญาด้วย
เช่น UNIFORM COMMERCIAL CODE ของอเมริกา ขยายความรับผิดชอบในคำรับประกันคุณภาพของสินค้านั้นแก่ผู้ขายต้องรับผิด
ถ้าเกิดความเสียหายจากสินค้านั้นแก่บุคคลที่อยู่ในครัวเรือนของผู้ซื้อ หรือบุคคลที่อาจคาดหมายได้ตามปกติของการใช้สินค้านั้น
ในแง่ความรับผิดทางละเมิดได้มีแนวความคิด ในเรื่องข้อสันนิษฐานความรับผิด
โดยผู้ผลิตจะต้องรับผิดก่อน อย่างกรณีตัวอย่าง "ไทลีนอล ซินโดรม"
ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เพราะถือว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องของผู้ผลิต
ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะป้องกันได้ดีกว่าผู้อื่น เว้นแต่จะมีข้อพิสูจน์ว่าเป็นความผิดของผู้บริโภคเองที่ใช้ผิดวิธีหรือประมาทเลินเล่อในการบริโภคทั้งที่ทราบอยู่แล้ว
ว่าสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ว่าในประเทศอังกฤษ หรือยุโรป ก็ได้นำหลักความฟิดเด็ดขาดไปใช้ในกฎหมายหลายฉบับ
โดยมีการประชุมของคณะมนตรีแห่งยุโรป มีการเสนอร่างกฎหมายที่จะนำหลักความรับผิดชอบเด็ดขาดมาใช้
ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดจากการบริโภคสินค้าและผลิตภัณฑ์ เฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายแก่ชีวิตและร่างกาย
การแก้ไขกฎหมายโดยการยอมรับหลักความรับผิดชอบเด็ดขาดในทางละเมิดและการขยายความรับผิดชอบออกไป
คงไม่เป็นการสมควรที่จะเพิ่มหลักความรับผิดไม่ว่าละเมิด หรือในเรื่องสัญญาเข้าไปในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งมีหลักเกณฑ์และวัตถุประสงค์ในการกำหนด สิทธิหน้าที่และการบังคับใช้กับเอกชนด้วยกัน
ซึ่งแตกต่างกับแนวคิดของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีหลักเกณฑ์และวัตถุประสงค์ในการกำหนดสิทธิหน้าท
ี่และการบังคับใช้กฎหมายที่รัฐเข้าแทรกแซงในกิจการของเอกชน ดังนั้นหากมีการเพิ่มเติมหลักความรับผิด
ก็ควรจะเพิ่มเติมในกฎหมายเฉพาะคือการเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติคุ้มครองผุ้บริโภคจะเหมาะสมกว่า
สุดท้ายนี้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็คงจะต้องอาศัยระยะเวลาในการแก้ไขปรับปรุง
ไม่ว่าจะเป็นตัวบทกฎหมายและการบริหารงานบุคคลในหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเอง
นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือการปลูกฝังความคิดและความรู้สึกในหมู่ผู้บริโภค
และผู้ประกอบธุรกิจให้ตระหนักถึงความเป็นธรรมในการบริโภค และผู้ประกอบธุรกิจให้ตระหนักถึงความเป็นธรรมในการบริโภคยิ่งขึ้น
แม้ว่าจะมีมาตรการปราบปรามอย่างดีวิเศษเพียงใด หากผู้บริโภคเองยินยอมไม่นำพาต่อการถูกละเมิดของตนแล้ว
การปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายของผู้บริหาร เพื่อปราบปรามผู้กระทำความผิดก็คงจะเป็นไปไม่ได้
เนื่องจากการปราบปรามเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งฝ่ายผู้บริโภคและฝ่ายบ้านเมือง