หุ้นกลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์มักจะเป็นหุ้นที่นักลงทุนนิยมในภาวะที่หุ้นขึ้น
เพราะจักลงทุนมักจะมองไปที่มูลค่าธรรมเนียมสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็น รายได้ ค่านายหน้า
และส่วน CAPITAL GAIN ของหุ้นในพอร์ตฟอริโอของบริษัทนั้นๆ
แต่ในระยะหลังเมื่อการวิเคราะห์หลักทรัพย์มีมาตรฐานขึ้นและนักลงทุนต่างชาติที่เป็นนักลงทุนแบบสถาบัน
(INSTITUTIPONAL INVESTOR) เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในตลาดหุ้นไทย มุมมองที่พวกเขาให้ความสนใจต่อหุ้นกลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ได้เพิ่มปัจจัยในการมองความน่าสนใจขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง
นั่นคือ การพิจารณาพอร์ตฟอริโอในส่วนที่เป็น VENTURE CAPITAL PORTFOLIO
พอร์ตฯส่วนนี้จะประกอบด้วยหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิที่มิได้มีไว้เพื่อค้า
ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นของบริษัทที่อยู่นอกตลาดฯ ซึ่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เหล่านั้นได้เข้าไปร่วมลงทุน
โดยมีความหวังว่าเมื่อบริษัทเหล่านั้นเติบโตมีผลการดำเนินงานที่ดีแล้วจะพยายามผลักดันให้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ถึงเวลานั้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ที่ร่วมถือหุ้นอยู่ก็จะขายหุ้นทิ้งไปในตลาดฯ
โดยจะได้กำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาตลาด ณ ขณะนั้น กับมูลค่าที่เข้าไปลงทุนแต่แรกซึ่งมักจะเป็นกำไรที่งดงามมาก
VENTURE CAPITAL คือ การเข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง
การร่วมลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าไปถือหุ้นลงทุน นอกจากนี้อาจจะต้องคอยอัดเงินเข้าไปเป็นระยะๆ
โดยการปล่อยกู้ให้ โดยที่ผู้ร่วมลงทุน (VENTURE CAPITALIST) จะขากหุ้นออก
(EXIT) เมื่อหุ้นของบริษัทที่เป็น TARGET เข้าตลาดฯ แต่บางครั้งผู้ร่วมลงทุนอาจจะ
EXIT ก่อนโดยการขายหุ้นให้กลุ่มนักลงทุนรายใหม่ที่มีความสนใจหรือกลุ่มผู้บริหารบริษัทที่เป็น
TARGET ก็ได้
บริษัทเงินทุนหรือเงินทุนหลักทรัพย์ของไทยบางแห่งที่นำโดยกลุ่มผู้บริหารหัวก้าวหน้า
ก็ได้เริ่มทำตัวเป็น VENTURE CAPITALIST กันบ้างแล้ว โดยที่แทบทุกบริษัทจะเป็นการเข้าไปร่วมลงทุนในระยะที่บริษัท
TARGET เริ่มมีผลการดำเนินงานที่ดีแล้วและใกล้ที่จะนำบริษัทเข้าไปกจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ธีระ วิภูชนิน แห่งสำนักงานตัวแทนพรูเดนทเชี่ยล เอเซียซึ่งการลงทุนเป็นแบบ
VENTURE CAPITAL กล่าวว่า "ในเมืองไทยส่วนใหญ่แล้ว การทำ VENTURE CAPITAL
จะเป็นการเข้าไปร่วมลงทุนใน STAGE หลัง ซึ่งเรียกกันว่า MEZZANINE FINANCING
มากกว่าจะเลี้ยงต้อยกันตั้งแต่แรก"
ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจในเมืองไทยยังนิยมการบริหารแบบครอบครัวกันมากกว่าที่จะยอมให้คนนอกเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
"โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่อยู่ในเครือของแบงก์มักจะเข้าไปร่วมปล่อยกู้
และเข้าไปถือหุ้นไว้ในพอร์ตก่อนที่ตัวเองจะพาบริษัทนั้นๆ เข้าไปจดทะเบียนในตลาดฯ
แต่เมืองไทยมีกฎหมายห้ามไม่ให้พวกนี้ถือหุ้นบริษัทอื่นเกิน 10 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้นพวกเขามักจะตั้งบริษัทที่เป็น DUMMY ขึ้นมาถือแทน เช่น ธนสยาม ก็มี
สามสองธุรกิจ และตรีทวิธุรกิจซึ่งร่วมลงทุนกับบริษัทอื่นไปแล้วกว่าแปดร้อยล้านบาท"
ผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่งกล่าว บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่หารายได้จาการทำ
VENTURE CAPITAL เท่าที่ปรกฏชัดเจนในปัจจุบันก็มี ธนชาติ ธนสยาม เอกธนกิจ
หลักทรัพย์เอเซีย ทิสโก้ และล่าสุด ศรีมิตรในบรรดาบริษัทเหล่านี้ก็เน้นพอร์ตฯของเวนเจอร์ที่ต่างกัน
เช่น ธนชาติ เน้นร่วมลงทุนกับบริษัทที่ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ธนสยาม เน้นกลุ่มบริการ
เอกธนกิจ เน้นกลุ่มการเงินหลักทรัพย์เอเซียเน้นอิเล็กทรอนิกส์ และศรีมิตรไม่เน้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ดังนั้นในฐานะนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เหล่านี้
ควรพิจารณาคุณภาพของบริษัทที่เขาเข้าไปร่วมลงทุนด้วย เอกธนกิจ ธนสยามและศรีมิตร
ดูเหมือนจะน่าสนใจมากกว่าตัวอื่น เพราะเอกธนกิจนั้นมี UNREALIZED GAIN มากจากหุ้นเอกธำรงที่ยังไม่ได้ขายออกไป
นอกจากนี้ยังถือหุ้นของเอกเอเชีย และเจ เอฟ ธนาคม ซึ่งกำลังจะเข้าตลาดในไม่ช้า
นอกจากนั้นยังเสนอตัวเข้าไปฟื้นฟูธนานันต์อีกด้วย จุดนี้จะทำให้หุ้นของเอกธนกิจมีความน่าสนใจในระยะยาว
"เพราะมีประสบการณ์ในการฟื้นฟูกิจการประเภทนี้มานานซึ่งถ้าทำสำเร็จจะทำให้เขาได้กำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำ"
แหล่งข่าวบริษัทวิจัย (ชื่อดัง) ให้ความเห็น
ธนสยามดูเหมือนจะเป็นอีกตัวหนึ่งที่จะทำกำไรได้จากการทำแบบนี้ หุ้นที่เขาถือในพอร์ตเวนเจอร์ที่คาดว่าจะทำกำไรได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ก็มีควอลิตี้เฮ้าส์
หัวหินรีสอร์ท นอกจากนั้นยังมีตัวเดินๆ อีกมาก เช่น ตะวันโฮเต็ล ไทยสมุทรขนส่ง
และสามชัย เป็นต้น
ในอดีตธนสยามเคยพาบริษัทที่ตัวเองเข้าร่วมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มาแล้ว
นั่นคือ ไทยคาร์บอนแบล็ค ซึ่งก็ทำให้ธนสยามทำกำไรในส่วนที่เป็น CAPITAL GAIN
ได้ไม่น้อย
ส่วนศรีมิตรนั้น ล่าสุดได้เข้าร่วมใน BUY-OUT DEAL ของบริษัทเอส ซี ที
คอมพิวเตอร์ และบริษัทไอ อี ซี ที่ซื้อมาจากกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์ไทย บริษัทนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยมีศรีมิตรเป็นที่ปรึกษา "ถ้าสองบริษัทนี้เข้าตลาดได้แล้วศรีมิตร
EXIT ในตอนนั้นเขาจะได้กำไรไม่ต่ำกว่าสิบเท่า นอกจากจะได้ค่าธรรมเนียมในการให้คำปรึกษาและอันเดอร์ไรท์หุ้น"
ผู้เกี่ยวข้องกล่าว
ในแง่ของนักลงทุน นอกจากพิจารณาคุณภาพของบริษัทที่ บงล. เหล่านั้นเข้าไปร่วมลงทุนแล้ว
ยังต้องคำนึงถึงระยะเวลาในการ EXIT ของ บงล.เจ้าของหุ้นเหล่านั้นด้วยซึ่งส่วนใหญ่กว่าการทำ
VENTURE CAPITAL จะส่งผลกำไรอย่างจริงๆ จังๆ มักจะกิจเวลาค่อนข้างนานเป็นปีๆ
ดังนั้นนักลงทุนที่จะใช้ปัจจัยนี้ในการพิจารณาลงทุนในหุ้นไฟแนนซ์บางตัวก็ควรต้องเป็นการลงทุนระยะยาวด้วย