17 ปีที่แล้วทศพล ตันติวงศ์ ตัดสินใจพลิกเส้นทางธุรกิจของตนจากการเป็นแค่ตัวแทนขายน้ำมันสามทหารให้กับหน่วงงานราชการในโคราช
และเป็นเอเย่นต์ขายอะไหล่ ยางรถยนต์ กับรถไถฟอร์ด ยกระดับขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจการเกษตรด้วยการตั้งบริษัทสงวนวงษ์
อุตสาหกรรมจำกัดขึ้นมาทำโรงงานแปรรูปหัวมันสำปะหลังสดให้เป็นแป้งมัน
"ผมมีความฝันอยู่อย่างเดียวว่า ต้องทำโรงงานให้ใหญ่เพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยถูก"
ทศพลหรือเฮียกุ่ยกล่าว ความฝันของเขาไม่ใช่เรื่องลมๆ แล้งๆ หากแต่เป็นไปตามตรรกะทางธุรกิจที่ต้องการให้เกิดการประหยัดจากขนาดของกำลังการผลิต
วันนี้ความฝันของเขาเป็นจริงแล้ว จากเริ่มแรกที่ใช้หัวมันเพียงแค่วันละ
40 ต้น วันนี้ โรงงานสงวนวงษ์ของเขาซึ่งตั้งอยู่ในเนื่อที่ร่วมพันไร่ริมถนนสายราชสีมา-โชคชัย
ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาต้องใช้หัวมันถึงวันละ 2,000 ตัน หรือสองล้านกิโลกรัมต่อวัน
เพื่อผลิตแป้งมันออกมาให้ได้ปีละแสนกว่าตัน เท่ากับ 10% ของกำลังการผลิตแป้งมันทั่วประเทศจากโรงงานที่มีอยู่ประมาณ
50 โรง
สงวนวงษ์ไม่ได้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเท่านั้น จะกล่าวว่าโรงงานแป้งมันของทศพลใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในโลกก็ได้
นอกจากโรงงานที่โคราชแล้ว ทศพลยังมีโครงการที่จะสร้างโรงงานแป้งมันแห่งใหม่ขึ้นที่อำเภอจัตุรัส
จังหวัดชัยภูมิในเนื้อที่ 500 ไร่ "เรากำลังดูว่าจะมีน้ำพอใช้หรือไม่
ตอนนี้ไม่ได้ทำอะไร" เขาพูดถึงความคืบหน้าของโครงการแห่งใหม่นี้
แป้งมันนั้นเป็นสินค้าที่มีสัดส่วน 1 ใน 3 จากผลิตผลมันสำปะหลัง อีกสองส่วน
คือ มันเส้นและมัดอัดเม็ดที่ส่งออกไปยังตลาดร่วมยุโรปมากที่สุด มันเป็นสินค้าที่มีการแปรรูปเพิ่มขึ้นมาขั้นหนึ่งแล้ว
จัดเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มรายได้จากสินค้าตัวนี้
จึงมากกว่ามันเส้นและมันอัดเม็ดที่เป็นเพียงสินค้าเกษตรขั้นปฐม
ทศพลบอกว่าเป็นโชคของเขาเหมือนกันที่เลือกทำโรงแป้งมันตามคำแนะนำของเพื่อน
แทนที่จะทำมันเส้นหรือมันอัดเม็ดตามความตั้งใจเดิมของตัวเอง
ในขณะที่ธุรกิจมันเส้นและมันอัดเม็ดนั้นแขวนชะตากรรมไว้กับตลาดต่างประเทศแห้งมันกลับมีตลาดใหญ่อยู่ภายในประเทศ
อุตสาหกรรมนับร้อยๆ ชนิดต้องใช้แห้งมันเป็นวัตถุดิบขั้นต้นตัวหนึ่ง ตั้งแต่การทำเส้นก๋วยเตี๋ยว
ลูกอม กาว เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ สิ่งทอ แม้กระทั่งหัวขุดเจาะน้ำมันดิบก็ต้องใช้แห้งมันเป็นส่วนประกอบในการหล่อลื่น
ตลาดของแป้งมันจึงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม
แต่ในความใหญ่นั้นก็มีข้อเสียเปรียบ ยิ่งใหญ่มาก็ต้องใช้หัวมันสดมาก และต้องมีวัตถุดิบสม่ำเสมอเพื่อให้เครื่องจักรเดินตลอดเวลา
เพราะใหญ่ๆ อย่างนี้ การหยุดฟลิตหมายถึง การแบกรับค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ยจำนวนมหาศาลโดยไม่มีรายได้มาชดเชย
ปัญหาวัตถุดิบ คือ หัวมันสดจึงเป็นเรื่องใหญ่ของโรงแป้งมัน ยามใดที่การส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดได้ราคาดี
โรงแป้งมันก็ต้องเหนื่อยมากขึ้นในการแข่งชิงหัวมันสดจากเกษตรกร "เราต้องให้ราคาสูงกว่ารายอท่นๆ"
ทศพลพูถึงทางออกของเขา ซึ่งอาศัยความได้เปรียบที่ต้นทุนต่อหน่วยต่ำมาชดเชยกับราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น
แต่ปัยหาการแย่งชิงหัวมันสดยังเป็นเรื่องเล็กที่มีลักษณะชั่วคราว เรื่องใหญ่กว่านี้และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าสินค้าเกษตรตัวนี้ในอนาคตอันใกล้คือ
การขาดแคลนมันสำปะหลัง
ปี 2533 เนื้อที่การปลูกมันสำปะหลังในภาคอีสานคือห้าล้านเก้าแสนไร่ ลดลงไป
6% เมื่อเทียบกับปี 2532 ที่มีอยู่หกล้านสองแสนไร่ ถ้าคิดออกมาเป็นผลผลิตจะลดลงถึง
15% จาก 14.6 ล้านตันในปี 2532 เหลือ 12.4 ล้านตันในปีที่แล้ว
เช่นเดียวกัน ผลผลิตมันสำปะหลังจากภาคตะวันออกก็ลดลงเพราะปัญหาฝนแล้ง และที่ดินมีราคาแพงขึ้นจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวจนชาวไร่พากันขายที่ที่เคยใช้ปลูกมันทิ้ง
"วัตถุดิบจะขาดแคลนลงไปเรื่อยๆ " ทศพลคาดการณ์อนาคตไว้อย่างนี้
ในภาคอีสานพื้นที่ปลูกมันที่ลดลงเป็นเพราะชาวไร่หันไปปลูกอ้อยแทน ช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้
โรงงานน้ำตาลจากกาญจนบุรีพากันย้ายฐานการผลิตไปยังภาคอีกสาน ซึ่งเป็นผลจากราคาที่ดินที่เมืองกาญจน์แพงขึ้นเช่นกัน
ทำให้มีการปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงงานน้ำตาลมากขึ้น เพราะว่าอ้อยนั้นถึงจะมีปัญหาการผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลก
แต่ก็ยังมีระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่ทำรายได้ให้กับชาวไร่มากกว่ามัน
ภายในสองปีข้างหน้าจะมีโรงงานน้ำตาลเกิดใหม่ที่อุดรธานีอย่างน้อย 5 โรง
แต่ละโรงนั้นจะต้องใช้อ้อยจากพื้นที่ปลูกสองแสนไร่ ดังนั้นพื้นที่ปลูกมันในภาคอีสานจะต้องลดลงไปอีก
1 ล้านไร่ในปีสองปีข้างหน้านี้ มันสำปะหลังต้องขาดแคลนลงไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน
ปัจจุบันโรงงานแป้งมันทั่วประเทศ ทำการผลิตเพียง 20% ของโรงงานที่มีอยู่
50 กว่าแห่งเท่านั้น เพราะการขาดแคลนหัวมันทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ถ้าจะผลิตแป้งมันต่อไป
"ผมมีความฝันที่จะทำธุรกิจแบบครบวงจร" ความใฝ่ฝันครั้งใหม่ของทศพลนี้จำต้องเป็นจริงเพื่อความอยู่รดในระยะยาวของสงวนวงษ์
ขณะนี้ทศพลกำลังก่อสร้างโรงงานเพื่อผลิตกลูโคสจากแป้งมันสำปะหลัง สำหรับใช้ในการผลิตลูกกวาดและของขบเคี้ยวซึ่งมีกำหนดเสร็จในปลายปีนี้โดยใช้เทคนิคการผลิตจากเยอรมนี
แนวความคิดในการทำกลูโคสคือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแป้งมัน เป็นทิศทางที่ทศพลเชื่อว่าจะเป็นทางออกสำหรับธุรกิจแป้งมัน
ซึ่งกำลังเผชิญกับต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเพราะการขาดแคลนวัตถุดิบ
ปลายสุดของความฝันในการสร้างธุรกิจแบบครบวงจรของทศพล คือ การทำ MODIFIED
STARCH หรือ แป้งสำเร็จรูปซึ่งเป็นการแปรรูปแป้งมันดิบเพื่อเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางเคมีให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ
การทำแป้งสำเร็จรูปจึงเป็นขั้นสูงขึ้นไปอีกของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแป้งมัน
ในประเทศไทยขณะนี้มีผู้ผลิตแป้งสำเร็จรูปประมาณ 10 ราย ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกทั้งหมดโดยมีตลาดใหญ่คือญี่ปุ่น
เพราะญี่ปุ่นนั้นมีนโยบายกีดกันการนำเข้าแป้งมันสำปะหลังดิบเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศ
แต่ในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นต้องใช้แป้งสำเร็จรูปเป็นจำนวนมาก จึงเก็บภาษีแป้งชนิดนี้ต่ำมาก
เคยมีนักลงทุนจากญี่ปุ่นมาชักชวนทศพลให้ร่วมกับตั้งโรงงานทำแป้งสำเร็จรูป
แต่เขายังไม่ตัดสินใจ "ผมอยากทำเองมากกว่า รอให้พร้อมกว่านี้"
แต่กว่าที่จะพร้อมเขาเองก็ยอมรับว่าต้องใช้เวลาอีกนานเพราะในที่สุดแล้วไม่ว่าด้านเทคนิคการผลิต
หรือด้านการตลาดของแป้งสำเร็จรูป ยังต้องพึ่งพาต่างประเทศอยู่มาก
ฝันครั้งที่สองของเขาอาจจะไม่เป็นจริงก็เพราะเหตุนี้