เกือบ 4 ปี แล้วที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งให้รวมเอาธนาคารสยามเข้ากับธนาคารกรุงไทย
โดยฝ่ายหลังรับเอาทรัพย์สินอาคารสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ และลูกค้าทั้งเงินฝาก
และสินเชื่อดีๆ ไป คงทิ้งไว้แต่เครื่องพิมพ์ดีด โต๊ะ เก้าอี้ และพรมปูพื้นที่เก่าคร่ำคร่า
ขาดกะรุ่งกะริ่ง ให้เป็นอนุสรณ์และที่ทำการเริ่งรัดติดตามหนี้สินที่ยังคั่งค้างอยู่ถึง
7,600 ล้านบาท
จนวันนี้คนคงจะลืมไปแล้วว่า ยังมีธนาคารสยามอยู่!!
ถ้าเมื่อไม่นานมานี้ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ซึ่งเคยเป็นกรรมการแบงก์สยามคนหนึ่งในยุคที่ยึดมาจากจอห์นี่ มาร์ ใหม่ๆ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะขายธนาคารสยามให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ
ซึ่งระหว่างนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และเงื่อนไขต่างๆ
ที่จะกำหนดกันออกมา
ธนาคารสยามเปลี่ยนชื่อมาจากธนาคารเอเชียทรัสต์ของกลุ่ม จอห์นนี่ มาร์ หรือ
พัลลภ ธารวณิชกุล เจ้าของธุรกิจทีวีสีช่อง 3 ในนามบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์
หมู่บ้านทิพวัลย์ และอีกมากมายเมื่อปลายปี 2527 แระสบปัญหาสภาพคล่องจนทางการ
คือ กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติเข้าไปยึดเอามาฟื้นฟูและเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า
"ธนาคารสยาม" ให้ดูดีขึ้น
แต่ก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้สำเร็จ หนี้เสียกว่า 8,000 ล้านบาทกำลังอยู่ในระหว่างการเร่งรัดติดตามกันอย่างขนานใหญ่ทั้งเป็นลูกหนี้ที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน
ทั้งลูกหนี้ที่เป็นลูกค้าทั่วไปและลูกหนี้ที่ให้กู้กันเองในระหว่างบริษัทในเครือและญาติพี่น้องของกลุ่มผู้บริหารเก่า
ซึ่งกลุ่มผู้บริหารใหม่ที่ถูกส่งเข้าไปฟื้นฟูกำลังดำเนินการทางกฏหมายอย่างเข้มงวดกับจอห์นนี้มาร์ทั้งทางแพ่งและทางอาญา
โดยให้สำนักงานกฏหมาย สนอง ตู้จินดา และสำนักงานกฏหมาย ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน
เป็นผู้ดำเนินการ
เกษม จาติกวนิช ประธานคณะกรรมการและกรรมการบริหารที่ทางการส่งเข้าไปฟื้นฟูมีผลไปในทางที่ดีขึ้น
หมายความว่า หนี้ที่มีปัญหาได้ใช้ทั้งวิธีการเร่งรัดติดตาม และการฟื้นฟูตามวิธีทางการค้าให้เป็นลูกหนี้ที่กลับมาเดินบัญชีกันใหม่ได้รวมกันกว่า
2,000 ล้านบาท หากได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนและเงินกู้ในอัตราพิเศษจากทางการอีกพียงเล็กน้อย
เมื่อเทียบกับที่เคยทุ่มไปแล้ว 4,000 กว่าล้านบาท เขาเชื่อว่าฐานะของธนาคารแห่งนี้จะดีขึ้นโดยเร็วและจะสามารถจ่างยเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นภายในไม่เกิน
3 ปี
แต่นโยบายของทางการกลับลำแบบสายฟ้าแลบเมื่อกลางปี 2530 สั่งให้ธนาคารกรุงไทยรับโอนเอาเงินฝากและสินเชื่อในส่วนที่ไม่มีปัญหาไปดำเนินการรวมทั้งสำนักงานสาขา
อาคาร สถานที่ และพนักงานไป เป็นของกรุงไทย และสั่งให้ธนาคารสยามหยุดดำเนินธุรกิจธนาคารตั้งแต่วันที่
17 สิงหาคม 2530 เป็นต้นไป
คดีที่ยื่นฟ้องเจ้าของเดิมไว้ไม่เห็นทีท่าว่าจะนบลงง่ายๆ เพราะพยานบุคคลที่เคยแสดงตัวอย่างแข็งขันที่จะเข้ามาช่วยทางการในตอนแรกต่างก็หัวหดไปตามๆ
กันเมื่อทางการกลับนโยบาย
นับแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2530 เป็นต้นมาธนาคารสยามคงเหลือแต่ภาระหนี้ที่มีปัญหาให้ติดตามทวงถามกันเองต่อไปตามลำพัง
โดยให้ยืมพนักงานไว้ใช้ก่อนประมาณ 30 คน และให้เช่าใช้สถานที่บนชั้น 5-6
ของอาคารเดิมเป็นที่ดำเนินการจนถึงปัจจุบัน
พนักงานส่วนใหญ่ยินยอมเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของธนาคารกรุงไทยผู้รับโอนต่อไป
แต่เจ้าหน้าที่ระดับบริหารผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไปที่ เกษม จาติกวณิช ประธานกรรมการ
วารีห์ หะวานนท์ กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการดึงเข้ามาร่วมทีมงานในการฟื้นฟูธนาคารในยุคนั้นต่างก็ไม่ยอมเข้าทำงานกับกรุงไทย
แต่ละคนได้กระจัดกระจายกันออกไปหางานใหม่ทำประมาณ 40 คน
คงเหลือเจ้าหน้าที่ระดับบริหารเพียง 2 คนที่ยังอาสาอยู่กับธนาคารสยามเพื่อติดตามเร่งรัดหนี้สินต่อไป
คือ วัฒน์ ผดุงจิต ผู้จัดการฝ่ายกฏหมาย กับพีรพงศ์ สาคริก เลขานุการคณะกรรมการ
ซึ่งปัจจุบันทั้งสองดำรงค์ตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการตามลำดับ
มีพนักงานรวมกันทั้งสิ้น 63 คน ซึ่งเป็นพนักงานที่ยืมตัวมาจากธนาคารกรุงไทย
24 คนและอีก 39 คนเป็นพนักงานที่ว่าจ้างเข้ามาใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นทนายความและพนักงานเริ่งรัดหนี้สิน
วัฒน์นั้นเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ เพื่อมารับงานเป็นผู้จัดการฝ่ายกฏหมายธนาคารสยามในยุคฟื้นฟูใหม่ๆ
เมื่อมีการโอนทรัพย์สินให้ธนาคารกรุงไทยทุกคนต่างก็หนีจากไปหมด แต่วัฒน์ไม่ยอมจากไปและในฐานะนักกฏหมายเขามีความหมายต่อภาระกิจสะสางหนี้ของธนาคารอย่างยิ่ง
เมื่อทุกคนจากไปเขาจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการ
ส่วนพีรพงศ์จบปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมงานกับธนาคารสยามในยุคฟื้นฟูเช่นกัน
แต่ในฐานะนักวิชาการและวางแผนและเป็นเลขานุการคณะกรรมการ ก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ยอมจากแบงก์นี้ไปจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งนอกจากความผูกพันในงานที่เขาเห็นว่าท้าทายต่อตัวเขาแล้วยังเป็นเพราะความเคารพนับถือที่เขามีต่อ
วารี หะวานนท์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกำกับ และตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ของแบงก์ชาติซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เข้าเป็นกรรมการผู้อำนวยการคนแรก
ในยุคฟื้นฟูซึ่งเป็นคนชวนเขาเข้ามาทำงาน และปัจจุบันเธอก็ยังนั่งเป็นประธานธรรมการของธนาคารอยู่ในขณะที่คนอื่นลาออกไปหมดแล้ว
จากที่ไม่เคยจับงานทางด้านเร่งรัดหนี้สินมาก่อนพีรพงศ์ ต้องศีกษาและเรียนรู้อย่างหนัก
เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการฝ่ายเริ่งรัดและประนอมหนี้ และก็ทำงานจนเต็มความสามารถได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการให้เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี่เอง
ซึ่งว่ากันที่จริงในแบงก์ก็มีผู้บริหารระดับสูงเพียงสองคนเท่านี้ เพราะคนแรกนั้นนอกจากจะเป็นกรรมการผู้จัดการแล้วก็ยังรักษาการผู้จัดการฝ่ายกฏหมายอีกตำแหน่งหนึ่ง
ส่วนคนหลังนี่ก็รักษาการผู้จัดการฝ่ายเร่งรัดและประนอมหนี้อีกเช่นกัน และเผอิญในแบงก์นี่
ก็มีสองคนนี้เท่านั้นเอง
พีรพงศ์ยังพูดทีเล่นทีจริงกับใครต่อใครที่เขาสนิทว่า "จบงานนี้แล้วผมจะเปิดบริษัทรับเร่งรัดและประนอมหนี้ท่าจะดี"
ส่วนกรรมการธนาคารก็มีการเปลี่ยนแปลงกันไปมากหน้าหลายตา จนปัจจุบันคงเหลือเพียง
6 คน อันได้แก่ วารี หะวานนท์ เป็นประธาน วัฒน์ ผดุงจิตร ยงศ์ ศรีนาม อดีตผู้จัดการฝ่ายกฏหมายแบงก์ชาติ
เกียติศักดิ์ มี้เจริญ จากแบงก์ชาติ ดร.สมชัย ฤชุพันธ์ จากกระทรวงการคลัง
เป็นกรรมการ และพีรพงศ์ยังทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการเหมือนเดิม
คณะกรรมการจะมีการประชุมกันเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อมีมติเกี่ยวกับการดำเนินคดีและหรือผ่อนผันหนี้กับเจ้าหนี้รายสำคัญๆ
ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2530 หลังจากที่โอนสินทรัพย์ส่วนดีๆ ไปให้ธนาคารกรุงไทยแล้ว
ธนาคารสยามมีลูกหนี้ค้างชำระหรือที่เรียกว่าหนี้มีปัญหาที่จะต้องติดตามเร่งรัดจำนวน
7,600 ล้านบาท ในขณะเดียวกันก็เป็นหนี้ธนาคารกรุงไทยอยู่จำนวน 6,000 กว่าล้านบาท
ทุนจดทะเบียนโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน
1,500 ล้านบาท เงินช่วยเหลือจากทางการในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จำนวน 4,200
ล้านบาท ซึ่งทำให้ธนาคารมีรายได้ปีละ 400 ล้านบาท โดยจะเริ่มคืนเงินช่วยเหลือนี้ตั้งแต่ปี
2537 และสิ้นงวดสุดท้ายในปี 2539
ในการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถเรียกเก็บหนี้คืนเป็นตัวเงินแล้วทั้งสิ้น
2,000 กว่าล้านบาท ที่เหลือ 5,000 กว่าล้านบาท ส่วนหนึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการผ่อนชำระ
และส่วนหนึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีหรือรอการบังคับขาย และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นหนี้ของกลุ่มผู้บริหารเดิม
ซึ่งไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และเชื่อว่าจะเรียกคืนไม่ได้เลยจะต้องตัดเป็นหนี้สูญจำนวน
3,000 กว่าล้านยาท
เพราะฉะนั้นลูกหนี้ค้างชำระที่คาดว่าจะเรียกคืนได้จริงฟ ในขณะนี้มีเพียง
1,600 ล้านบาทเท่านั้นเอง
จากรายงานของธนาคารเองระบุว่าสินทรัพย์ของธนาคารขณะนี้ประมาณ 2,500 ล้านบาท
ซึ่งประกอบด้วยเงินสด 386 ล้านบาท ทรัพย์สินรอการขายหมายถึงหลักทรัพย์ที่อยู่ในระหว่างการบังคับขายทอดตลาดประมาณ
150 ล้านบาท ที่ดินและอุปกรณ์ 52 ล้านบาท ดอกเบี้ยพันธบัตรค้างรับ 200 ล้านบาท
สินเชื่อมีปัญหาที่คาดว่าจะเรียกเก็บได้ 1,600 ล้านบาท
เพราะฉะนั้นเมื่อนำทรัพย์สิน 2,500 ล้านบาทมาหักออกจากหนี้สินที่ค้างอยู่กับธนาคารกรุงไทย
6,000 ล้านบาท ฐานะของธนาคารสยามในปัจจุบันก็จะติดลงอยู่ 3,500 ล้านบาท
ถ้าปล่อยให้ธนาคารคงสภาพอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงสิ้นสุดอายุสัญญาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในปี
2539 ธนาคารจะมีรายได้จากส่วนนี้มาชดเชยอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ถึงอย่างไรก็ตามเมื่อนำมาหักกับมูลค่าสินทรัพย์ที่ติดลบ
3,500 ล้านบาทแล้วก็ยังมีค่าติดลงอยู่ถึง 1,500 ล้านบาท
ถ้าเป็นอย่านี้ก็ป่วยการ ที่ปล่อยให้ธนาคารอยู่ในสภาพอย่างนี้ต่อไป เพราะว่าอันที่จริงก็ถือว่าฐานะของธนาคารสยามขณะนี้คือล้มละลายนั่นเอง!!
เพียงแต่มีเหตุที่จะล้มไม่ได้ เพราะว่าการล้มละลายของสยามนั้นจะส่งผลถึงกรุงไทย
ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่ 6,000 กว่าล้านบาท จะพลอยล้มละลายไปด้วย ยังไม่รวมถึงเงินของกองทุนฟื้นฟูในหุ้นอีก
1,500 ล้านบาทที่จะต้องหายวับไปกับตาทันที
คำถามมีว่าถ้าไม่ล้มละลายเสียแต่ตอนนี้ในอนาคตมันจะสามารถฟื้นคืนมาโดยตัวของมันเองได้หรือไม่!?
ซึ่งก็คงตอบว่าไม่ได้ เว้นแต่ในทางบัญชีจะกระทำได้โดยต่ออายุเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำออกไปอีกเพื่อให้ธนาคารสยามมีรายได้จากส่วนนี้อีกปีละ
400 บาทและก็คูณจำนวนปีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบซึ่งก็จะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยทีเดียว
นี่คือที่มาของการเตรียมการขายธนาคารแห่งนี้ออกไปดีกว่าปล่อยให้มันเน่าคามือของคนแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง
แต่ก็อย่าลืมถามตัวเองเหมือนกันว่าตอนกลับนโยบายให้รวมเข้ากับกรุงไทยนั้นเป็นความคิดของใคร
คนนั้นก็ควรแสดงตัวออกมารับผิดชอบด้วย !!?