แมคคินซีย์แอนด์คอมปะนี (McKinsey & Company) เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลก
มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์กและสำนักงานอีก 74 แห่งใน 38 ประเทศ ตัวอย่างนักบริหารฝีมือดีที่เคยผ่านงานในบริษัทแห่งนี้มีอาทิ
ฮาร์วีย์ โกลับ (Harvey Golub) ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอเมริกันเอ็กซ์เพรส
หลุยส์ เกิร์สเนอร์ (Louis Gerstner) ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไอบีเอ็ม
และไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) อดีตประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซีบีเอส
รวมทั้งต้นตำรับตำราด้านการบริหารอย่างทอม ปีเตอร์ (Tom Peters) ด้วย
แมคคินซีย์ ให้บริการคำปรึกษาทั้งในด้านกลยุทธ์ การบริหารองค์กรโดยรวม
นโยบาย การจัดการต้นทุนและผลกำไร การวิจัยและพัฒนา และระบบข้อมูลด้านการบริหาร
และกำลังเร่งพัฒนาบริการทางด้านเทคโนโลยีข้อมูล ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาต่างหันมาให้ความสนใจกัน
มากขึ้น
ลูกค้าส่วนใหญ่ของแมคคินซีย์เป็นบริษัทเอกชน แต่บริษัทก็ให้บริการกับลูกค้าประเภทหน่วยงานภาครัฐ
มูลนิธิและสมาคมต่างๆ ด้วย ขณะนี้บริษัทได้จัดตั้งหน่วยงานชื่อว่า "McKinsey
Global Institute" รับผิดชอบงานด้านการวิจัยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และภูมิศาสตร์การเมือง
ด้วย
ในประเทศไทย แมคคินซีย์มีบทบาทอย่างสูงในช่วงหลังวิกฤติการณ์ปี 2540 ในการให้คำปรึกษาในการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของธุรกิจขนาดใหญ่ของไทย
ที่ต้องการปรับตัวเองเข้ามาตรฐานโลกและแสวงหาเงินทุนจากตลาดโลก เช่น เครือซิเมนต์ไทย
ธนาคารกสิกรไทย และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น โครงสร้างธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้น
กลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ ของสังคมจึงได้รับอิทธิพลจากโมเดลของแมคคินซีย์อย่างมาก
โดยเฉพาะการจัดองค์กรให้มี "ความโปร่งใส" มากขึ้น
ความเป็นมา
แมคคินซีย์ แอนด์ คอมปะนี ก่อตั้งเมื่อปี 2469 โดยเจมส์ แมคคินซีย์ (James
McKinsey) ศาสตราจารย์ด้านการบัญชีแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งเป็นนักบุกเบิกคนหนึ่งทางด้านศาสตร์การบริหาร
บริษัทเติบโตขึ้นมาจากการที่แมคคินซีย์ซึ่งเป็นผู้สอบบัญชี ร่วมธุรกิจกับเพื่อนคือ
มาร์วิน โบเวอร์ และเอ.ที. คีร์นีย์ โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ธุรกิจและอุตสาหกรรมและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ
แต่ในปี 2480 แมคคินซีย์ก็เสียชีวิต อีกสองปีต่อมา โบเวอร์ซึ่งดูแลสำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์ก
และคีร์นีย์ซึ่งดูแลสำนักงานในชิคาโก ก็แยกตัวไปตั้งบริษัทของตนเอง คีร์นีย์
ใช้ชื่อบริษัทใหม่ว่า "เอที คีร์นีย์ แอนด์ โค." (A.T. Kearney & Co.)
ส่วนโบเวอร์ยังคงใช้ชื่อกิจการแมคคินซีย์ และสร้างองค์กรโดยอาศัยแนวทางเหมือนมหาวิทยาลัยและมีโครงสร้างแบบบริษัทกฎหมาย
โบเวอร์มุ่งเน้นไปที่ภาพรวมของธุรกิจมากกว่าสนใจปัญหาการดำเนินการธุรกิจเฉพาะด้าน
ทำให้เขามียอดบิลลิ่งสูงถึงสองล้านดอลลาร์ในปี 2493 เขายังจ้างพนักงานที่จบจากมหาวิทยาลัยทางด้านธุรกิจชั้นนำเพื่อเสริมฐานทางธุรกิจที่เน้นในเชิงทฤษฎี
โบเวอร์ยึดมั่นในนโยบายให้พนักงานแข่งขันกันเพื่อความก้าวหน้า และเรียกร้องให้พนักงานที่ไม่ได้รับการโปรโมตอย่างต่อเนื่องลาออกจากบริษัทไป
ก่อนที่ดีไวท์ ไอเซนฮาว จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2496
ไอเซนฮาวได้ให้แมคคินซีย์รับผิดชอบงานการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของรัฐบาลชุดก่อน
ปี 2502 โบเวอร์เปิดสำนักงานแห่งหนึ่งในลอนดอน ตามด้วยอัมสเตอร์ดัม, ดุสเซลดอร์ฟ,
เมลเบิร์น, มิลาน, ปารีส, และซูริก ในปี 2507 บริษัทจัดพิมพ์วารสารด้านการบริหารรายไตรมาส
"McKinsey Quarterly" ซึ่งในระยะแรกเป็นการรวบรวมข้อเขียนของที่ปรึกษาในบริษัทนั่นเอง
ต่อมาโบเวอร์เกษียณในปี 2510 ซึ่งเป็นปีที่แมคคินซีย์มียอดขายถึง 20 ล้านดอลลาร์
และติดอันดับบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารอันดับหนึ่ง
ช่วงทศวรรษ 2510 แมคคินซีย์ประสบปัญหาจากภาวะการแข่งขันสูงและพบคู่แข่งที่มีแนวทางดำเนินงานใหม่ๆ
ทำให้แมคคินซีย์เสียส่วนแบ่งตลาดไป โรนัลด์
แดเนียล (Ronald Daniel) กรรมการผู้จัดการบริษัทในขณะนั้น แก้ไขด้วยการรุกสู่แนวทางปฏิบัติงานเฉพาะด้านและขยายกิจการไปยังต่างประเทศ
ธุรกิจที่ปรึกษาบูมขึ้นอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 2520 อันเป็นผลจากการควบและซื้อกิจการที่เฟื่องฟูขึ้นมา
ในปี 2531 แมคคินซีย์จึงมีที่ปรึกษาถึง 1,800 คน ยอดขาย 620 ล้านดอลลาร์
โดยที่ 50% ของบิลลิ่งมาจากต่างประเทศ
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงทศวรรษ 2530 ส่งผลให้มีการลดพนักงานรวมทั้งพนักงานที่เป็นที่ปรึกษาด้วย
แมคคินซีย์พยายามยกระดับธุรกิจในเชิงเทคนิค โดยซื้อกิจการที่ปรึกษาด้านข้อมูล
"Information Consulting Group" (ไอซีจี) และเป็นการซื้อกิจการครั้งแรก แต่ปรากฏว่าวัฒนธรรมองค์กรของทั้งสองบริษัทไม่อาจหลอมรวมเข้าหากันได้
ทำให้พนักงานของไอซีจีลาออกไปเป็นจำนวนมาก
ปี 2537 แมคคินซีย์ได้เลือกกรรมการผู้จัดการคนใหม่คือ ราชาต กุปตา (Rajat
Gupta) กุปตาเป็นชาวอินเดียและเป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกของแมคคินซีย์ที่ไม่ใช่ชาวยุโรป
เขารับตำแหน่งวาระแรกสามปีและได้รับการต่ออายุอีก อย่างไรก็ตาม อีกสองปีต่อมา
แมคคินซีย์ก็ตกเป็นข่าวอื้อฉาว เมื่ออดีตที่ปรึกษาของบริษัทในเท็กซัสฟ้องร้องว่า
เธอถูกกีดกันไม่ให้ก้าวหน้าในอาชีพ เพราะบริษัทเลือกปฏิบัติทางเพศ
ปี 2541 แมคคินซีย์ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น และมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยทางธุรกิจชั้นนำของโลกในอินเดีย
ปีที่แล้วนี้เอง มีผลสำรวจออกมาว่านักศึกษาที่จบจากสถาบันการศึกษาชั้นนำในยุโรป
อังกฤษ และสหรัฐฯ ต่างระบุว่าแมคคินซีย์เป็นบริษัทที่ทำงานในอุดมคติของพวกเขา
ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต