ต่างชาติทยอยปรับพอร์ตลงทุนในตลาดหุ้นไทย หวังรอผลลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 19 ส.ค.นี้ บวกกับมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งในสัปดาห์หน้า นักวิเคราะห์ชี้หากกลุ่มธนาคารผลงานแย่กว่าไตรมาสแรกฉุดหุ้นซึมยาวถึงช่วงลงประชามติ ด้านผลประกอบการแบงก์ครึ่งปี"ทหารไทย"ขาดทุนอ่วม 6 พันล้านบาท "ไทยพาณิชย์กำไรหด"
ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (19 ก.ค.) ดัชนีแกว่งตัวอยู่ในแดนลบตลอดทั้งวันหลังจากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่รอความชัดเจนเกี่ยวกับการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีก 1 เดือนข้างหน้าว่าจะมีผลสรุปอย่างไร
โดยดัชนีปรับตัวลดลงมาปิดที่ 847.26 จุด ลดลง 2.30 จุด หรือ 0.27% โดยระหว่างวันจุดสูงสุดอยู่ที่ 848.91 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 840.55 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ลดลงเหลือเพียง 18,802.10 ล้านบาท มีนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 2 อีก 632.59 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1,087.41 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 1,720 ล้านบาท
นายสิทธิเดช ประเสริฐรุ่งเรือง รองผู้บริหารฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่เริ่มเห็นการปรับตัวลดลงของดัชนีเนื่องจากตลาดหุ้นเริ่มถึงจุดที่จะต้องมีการพักฐานหลังก่อนหน้านี้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยลบจากความวิตกของนักลงทุนเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศไทย จากคำแถลงของทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.เรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงวามกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ที่จะมีการประกาศในสัปดาห์นี้ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดลงจากไตรมาสก่อน
ส่วนมูลค่าการซื้อขายในวานนี้ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 19,000 ล้านบาทนั้น เนื่องมาจากการดัชนีหยุดการทำสถิติใหม่ ส่งผลทำให้นักลงทุนบางส่วนหยุดการเข้ามาซื้อขายทำกำไรจนมูลค่าการซื้อขายปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ การขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาตินั้นในช่วง 1-2 วันนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากนัก เพราะถ้าเทียบกับมูลค่าที่ซื้อสุทธิในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นระดับที่น้อยมาก โดยมุมมองส่วนตัวหากนักลงทุนต่างชาติจะมีปรับพอร์ตนั้นจะต้องเกิดมาจากส่วนต่างระหว่างตลาดหุ้นในประเทศแและต่างประเทศที่ปรับตัวลดลงเพราะราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่เรื่องค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะไม่แข็งค่าขึ้น และสัญญาณภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นนั้น ไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการปรับพอร์ตมากนัก
"ต่างชาติคงจะรอให้เกิดข่าวดีออกมาก่อนจึงจะทยอยขายออกมา ซึ่งน่าจะมีการเทขายออกมาหลังวันที่ 19 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่จะมีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยจากนี้จนถึงวันที่ 19 สิงหาคมนั้น มูลค่าการซื้อขายน่าจะทยอยชะลอลดลงไปเรื่อยๆ"นายสิทธิเดช กล่าว
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการ บล.นครหลวงไทย เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์วันนี้ปรับตัวลดลง เนื่องจากมีแรงขายทำกำไรในกลุ่มหุ้นขนาดไหญ่ ซึ่งทิศทางการปรับลดลงนั้นเป็นไปตามตลาดหุ้นในต่างประเทศ ส่วนเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เริ่มชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นเอเซียนั้น เกิดมาจากสัญญาณดอกเบี้ยของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มจะทรงตัวในระดับเดิมส่งผลทำให้ค่าเงินดอลล่าร์ไม่น่าจะอ่อนค่าไปมากกว่านี้
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยเรื่องผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2/50 ที่จะทยอยประกาศในสัปดาห์หน้า ทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเริ่มขายเพื่อปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อติดตามผลประกอบการต่อไป
รอมาตรการรัฐบรรเทาบาท
นายณาศิส ประเสริฐสกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ฟาร์อีสท์ เปิดเผยว่า นักลงทุนรอความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการของทางรัฐบาล ที่จะออกมาเพื่อดูแลค่าเงินบาท จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีการขายสุทธิออกมาเพื่อลดความเสี่ยง และทำให้นักลงทุนในประเทศเริ่มเกิดความไม่มั่นใจซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นในริมาณการซื้อขายที่เบาบางลง
นอกจากนี้ การที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐได้แถลงต่อทางรัฐสภาของสหรัฐว่า ไม่ได้ให้น้ำหนักเกี่ยวกับเงินเฟ้อมากนักดังนั้นจึงอาจจะทำให้ค่าเงินสหรัฐอ่อนค่าลงได้อีก และการประกาศตัวเลข GDP ของประเทศจีนในไตรมาส 2 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น ซึ่งจากปัจจัยทั้งสองเรื่องอาจจะเป็นผลทำให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียแข็งค่าขึ้นได้อีก
ส่วนแนวโน้มในวันพรุ่งนี้ คาดว่าดัชนีน่าจะเคลื่อนไหวในลักษณะแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบๆ เนื่องจากนักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจน เกี่ยวกับมาตรการของรัฐบาลที่จะประกาศใช้เพื่อดูแลปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่า นอกจากนี้ยังต้องรอผลประกอบการของกลุ่มธนาคารที่กำลังจะประกาศออกมาว่าจะเป็นอย่างไรแม้ว่าจะไม่มีประเด็นสำคัญต่อการปรับตัวขึ้นลงของตลาดหุ้นมากนัก โดยประเมินแนวรับที่ 833 จุด แนวต้านที่ 846 จุด
BBL-KBANK-SCBกำไรตามขาด
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)รายงานผลประกอบการสําหรับไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 มีกําไรสุทธิจํานวน 5,324 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,033 ล้านบาท หรือ 24.1% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนกําไรก่อนหักสํารองและภาษีมีจํานวน 9,364 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.6% โดยในภาพรวมธนาคารมีการขยายตัวดีด้านสินทรัพย์ มีกําไรสูงขึ้น โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยต่างเพิ่มขึ้นในขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง และธนาคารยังคงสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์ไว้ได้ในระดับเดิม
โดยในไตรมาสที่ 2 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 11,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2549 จํานวน 1,018 ล้านบาท หรือ 9.6% เนื่องจากมีเงินกู้ยืมครบกําหนดบางส่วน เป็นผลให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมลดลง 339 ล้านบาท และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นจาก 2.95% ในปีที่แล้ว เป็น 3.15%
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 ธนาคารมีสินเชื่อ 984,382 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากสิ้นปี 2549 โดยเพิ่มขึ้นที่สินเชื่อสําหรับลูกค้าขนาดย่อย ลูกค้าขนาดกลาง ลูกค้าบุคคล และลูกค้าสาขาต่างประเทศ ส่วนเงินฝากมีจํานวนเพิ่มขึ้น 4.6% เป็น 1,278,034 ล้านบาท
สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 มีจํานวน 90,333 ล้านบาท คิดเป็น 9.1% ของสินเชื่อรวม โดยในไตรมาสที่ 2 นี้ ธนาคารได้ตั้งสํารองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมอีก 1,427 ล้านบาท เป็นผลให้สํารองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมียอดสะสม 71,108 ล้านบาท หรือคิดเป็น 78.7% ของสินเชื่อด้อยคุณภาพ และหากนับรวมกําไรสุทธิในไตรมาสที่ 2 ด้วยแล้ว ธนาคารจะมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นและเงินกองทุนชั้นที่ 1 ประมาณ 16.2% และ 12.7% ตามลําดับ โดยธนาคารมีกําไรต่อหุ้นในไตรมาสนี้เท่ากับ 2.79 บาท
ไทยพาณิชย์ครึ่งปีกำไรหด
นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (SCB)เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2 ปี 50 ธนาคารมีผลประกอบการเบื้องต้นโดยมีกำไรสุทธิเท่ากับ 4,311 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 เป็นจำนวน 611 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นในอัตรา 16.5% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วยเดียวกันของปีก่อน 139 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.3% โดยผลกำไรที่ดีมาจากรายได้ดอกเบี้ย รายได้ค่าธรรมเนียม และรายได้จากบริการต่างๆของธนาคารและบริษัทในกลุ่มที่ยังคงเติบโตดีและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2550 ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8,010 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ 4.6% หรือ 384 ล้านบาท เป็นผลมาจากการที่ธนาคารจ่ายภาษีเงินได้มากขึ้น และการตั้งสำรองเพิ่มเพื่อรองรับสภาวะทางธุรกิจที่ยังไม่มีความแน่นอน
นางกรรณิกากล่าวว่า จุดเด่นของการดำเนินงานในครึ่งปีแรกมาจากการขยายตัวของสินเชื่อซึ่งเติบโตจากสิ้นปี 40,416 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.4% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด การขยายตัวเป็นไปได้ดีในสินเชื่อ SME และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เมื่อประกอบกับการบริหารต้นทุนเงินฝากที่ได้ผล ทำให้รายได้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) ขยับสูงขึ้นเป็น 3.6%
ด้านเงินฝาก ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2550 มีจำนวน 787,505 ล้านบาท ลดลงจำนวน 4,577 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.6% จากจำนวน 792,081 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2549
ในส่วนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ(NPL)ถือว่าอยู่ในระดับที่ธนาคารบริหารและจัดการได้ ทั้งนี้ NPL ณ สิ้นมิถุนายน 2550 อยู่ที่ 29,337 ล้านบาท หรือ 3.9% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ซึ่งอยู่ที่ 5.5% ซึ่งธนาคารจะได้มีการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นของ NPL ในอนาคต
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานก่อนสอบทานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ของธนาคารและบริษัทย่อย ว่า มีกำไรสุทธิ 4,088 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.71 บาท เทียบกับผลประกอบการในช่วงเดียวกันของปี 2549 ที่มีกำไรสุทธิ 3,545 ล้านบาท และมีกำไรต่อหุ้น 1.49 บาท เท่ากับมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 15.32% และมีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น 14.77%
สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนในปี 2550 มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 7,964 ล้านบาทกำไรต่อหุ้น 3.34 บาทเปรียบเทียบกับผลประกอบการในช่วงเดียวกันของปี 2549 ที่มีกำไรสุทธิ 7,160 ล้านบาทและมีกำไรต่อหุ้น 3.01 บาท เท่ากับมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 11.23% และมีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น 10.96%
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2550 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 962,632 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 31 ธันวาคม 2549 จำนวน 2.90% มีเงินให้สินเชื่อ 703,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.87%และมีเงินฝากรวม 764,148 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.76% มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 14.50% แบ่งเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 10.48% มีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Gross) จำนวน 47,281 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อเงินให้สินเชื่อเท่ากับ 6.71% และมีสินเชื่อด้อยคุณภาพสุทธิ (NPL Net) ที่ 24,427 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.59%
ทหารไทยขาดทุนอ่วมกว่า6พันล.
นายสมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารในไตรมาส 2 ปี 2550 ธนาคารมีผลขาดทุนสุทธิสูงถึง 6,129 ล้านบาท และงวด 6 เดือนขาดทุนสูงถึง 5,900 ล้านบาท เนื่องจากมีภาระการตั้งสำรองสูงถึง 8,200 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีรายได้รวม 22,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.50% เมื่อเทียบกับ 19,660 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปี 2549 โดยรายได้หลักของธนาคารเพิ่มขึ้น มาจากรายได้จากดอกเบี้ยรับสุทธิและเงินปันผล เท่ากับ 8,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 7,820 ล้านบาท ในงวดเดียวกันของปีที่แล้ว รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 51.70% เป็น 4,200 ล้านบาทในงวดนี้ เมื่อเทียบกับ 2,700 ล้านบาท ในงวดเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเป็นผลเนื่องมาจาก การจำหน่ายหุ้นกู้ที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากธุรกิจเพื่อรายย่อยและรายได้จากการปริวรรตเงินตรา โดยอัตราส่วนระหว่างรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและรายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 18.50% เมื่อเทียบกับ 14% ในงวดเดียวกันของปี 2549
ส่วนสินเชื่อด้วยคุณภาพ (NPL) ณ สิ้นงวดครึ่งปีแรก 2550 ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ 66,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,660 ล้านบาท จากปลายปี 2549 เนื่องจากธนาคารหลังจากได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารได้จัดชั้นสินเชื่อจำนวน 11,000 ล้านบาทไปเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ซึ่งสินเชื่อบางส่วนยังมีการชำระดอกเบี้ยให้ธนาคารตามปกติ การจัดชั้นสินเชื่อดังกล่าวเป็นผลจากการทบทวนมาตรฐานการจัดชั้นสินเชื่อภายในที่เข้มงวดขึ้นอย่างต่อเนื่องของธนาคาร และการเพิ่มขึ้นของ NPLs จากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่อำนวย อย่างไรก็ตาม ณ วันสิ้นงวด 30 มิถุนายน 2550 ธนาคารมีสินทรัพย์สุทธิ 658,580 ล้านบาท มีเงินให้สินเชื่อ505,170 ล้านบาท สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม 66,436 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 61,771 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2549
|