ค่ายรถเมินปัญหาการเมือง เศรษฐกิจหัวทิ่ม แห่ขนเงินลงทุนก้อนใหม่ในไทย รวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท “ฮอนด้า” ตั้งโรงงานผลิตอีโคคาร์มูลค่า 6.2 พันล้านบาท เช่นเดียวกับ “ฟอร์ด-มาสด้า” วันนี้ (19 ก.ค.) เตรียมประกาศลงทุนกว่าหมื่นล้านบาท ผลิตเก๋งขนาดเล็กและขยายกำลังการผลิตปิกอัพ ขณะที่ “ตาต้า” ประเดิมตลาดไทยลงทุน 1.3 พันล้านบาท เพื่อผลิตปิกอัพปลายปีนี้ ส่วน “มิตซูบิชิ” มีแผนตั้งโรงงานใหม่เช่นกัน
นายทัตสึฮิโร่ โอยาม่า ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ฮอนด้ามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความแข็งแกร่งในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจของฮอนด้าในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย โดยล่าสุดได้ตัดสินใจตั้งโรงงานแห่งใหม่ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สุดภูมิภาคอาเซียน
“ก่อนหน้านี้ฮอนด้าได้ศึกษาโครงการขยายการลงทุนในไทยมาได้สักระยะหนึ่ง เพื่อเพิ่มการผลิตรถยนต์ป้อนตลาดในประเทศและส่งออก เมื่อรัฐบาลไทยประกาศนโยบายส่งเสริมรถประหยัดพลังงาน หรืออีโคคาร์ ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานของฮอนด้า เหตุนี้จึงได้ตัดสินใจรวมแผนธุรกิจเดิมเข้ากับอีโคคาร์ พร้อมเพิ่มเงินลงทุนมากขึ้น เป็นจำนวนกว่า 6,200 ล้านบาท”
โดยโรงงานใหม่นี้จะเป็นแห่งที่ 2 ในประเทศไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับโรงงานปัจจุบันในจังหวัดอยุธยา ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 120,000 คันต่อปี และโรงงานแห่งใหม่จะทำให้ฮอนด้าในไทย มีกำลังการผลิตต่อปีเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 240,000 คันต่อปี ซึ่งกำหนดเดินสายพานการผลิตจะเริ่มเดือนตุลาคมปีหน้า แต่กำลังการผลิตจะใช้เต็มที่หลังจากปี 2557 ตามเงื่อนไขของอีโคคาร์ที่จะต้องผลิตรถให้ได้แสนคันต่อปีขึ้นไป
นายโอยาม่าเปิดเผยว่า ด้วยกำลังการผลิตดังกล่าวจะทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือเก๋งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยจะผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศ และส่งออก ซึ่งฮอนด้ามั่นใจด้วยเงื่อนไขของอีโคคาร์ ที่จะต้องเป็นรถที่มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 20 กิโลเมตรต่อลิตร มีมาตรฐานมลพิษอยู่ในระดับ EURO 4 และมาตรฐานความปลอดภัยเท่ากับยุโรป จะทำให้สามารถส่งออกและได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั่วโลก
“เงื่อนไขการส่งเสริมลงทุนอีโคคาร์ของบีโอไอ เรื่องปริมาณการผลิตอีโคคาร์จะต้องมีไม่ต่ำกว่า 1 แสนคันต่อปี ฮอนด้าเชื่อมั่นจะสามารถทำได้ เพราะมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย มลพิษ และอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันที่กำหนด เป็นสิ่งที่ประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่กำหนดอยู่แล้ว จึงทำให้มั่นใจว่าจะได้รับการยอมรับและส่งออกได้ทั่วโลก”
ส่วนค่าเงินบาทไทยที่กำลังแข็งค่าขึ้นในปัจจุบันในเรื่องของตัวเลขการส่งออกรถปีนี้คงไม่ส่งผลกระทบ แต่อาจจะมีผลบ้างกับมูลค่าการส่งออก อย่างไรก็ตาม ฮอนด้าก็ยังมั่นใจเป้าหมายการส่งออกปีนี้ 9.5 หมื่นล้านบาท เพราะไม่ได้ส่งออกด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพียงอย่างเดียว ซึ่งตลาดส่งออกใหญ่จากไทยอยู่ที่ออสเตรเลีย และนอกจากนี้ยังมีการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว
สำหรับปัญหาความผันผวนทางการ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย เป็นสิ่งที่ฮอนด้าเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง และศักยภาพต่างๆ ในไทย ประกอบเป็นการลงทุนในระยะยาว ทำให้ฮอนด้ามั่นใจที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาคอาเซียน
ขณะเดียวกันบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด สำนักงานใหญ่กรุงโตเกียว แถลงข่าววานนี้ (18 ก.ค.) โดยนายทาเคโอะ ฟูกูอิ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ ว่า ฮอนด้า มีแผนการสร้างโรงงานใหม่ทั้งใน อินเดีย เวียดนาม รวมถึงอาร์เจนตินา
โดยอินเดีย ฮอนด้ายืนยันแผนที่เคยประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะใช้เงินลงทุน 230 ล้านดอลลาร์ (ราว 7,600 ล้านบาท) สร้างโรงงานรถยนต์แห่งที่ 2 ซึ่งจะเปิดดำเนินการปลายปี 2552 โดยมีกำลังผลิต 60,000 คันต่อปี ส่งผลให้ในปี 2553 ฮอนด้าจะมีกำลังผลิตจากโรงงานทั้ง 2 แห่ง รวมกัน 150,000 คันต่อปี
สำหรับเวียดนามเริ่มสร้างโรงงานรถจักรยานยนต์แห่งที่ 2 ที่ชานกรุงฮานอย ด้วยเงินลงทุน 65 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,150 ล้านบาท) เพื่อเพิ่มการผลิตรถจักรยานยนต์ในเวียดนามขึ้นอีก 50% เป็น 1.5 ล้านคันต่อปี ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2551 ส่วนประเทศอาร์เจนตินา ฮอนด้าวางแผนใช้เงิน 100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,300 ล้านบาท) สร้างโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ เพื่อผลิตรถยนต์ขนาดคอมแพ็กต์ โดยจะเริ่มดำเนินงานได้ในปี 2552 มีกำลังผลิต 30,000 คันต่อปี
ขณะที่รายงานของเอเอฟพี และเว็บไซต์ฮอนด้าเวิลด์ไวด์ เปิดเผยว่า ฮอนด้าเตรียมลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา สำหรับบริษัทร่วมทุนที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน ซึ่งศูนย์ฯแห่งนี้มีมูลค่าราว 2,000 ล้านหยวน (ประมาณ 8,500 ล้านบาท) ถือหุ้น 100% โดยบริษัท กวางโจว ฮอนด้า ออโตโมบิล อันเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างฮอนด้า มอเตอร์ กับ กวางโจว ออโตโมบิล อินดัสทรี กรุ๊ป (จีเอไอซี) รัฐวิสาหกิจด้านรถยนต์ของมณฑลกวางตุ้งและเทศบาลนครกวางโจว โดยมุ่งออกแบบยานยนต์ให้แก่แบรนด์ใหม่ที่ใช้ชื่อว่า กวางโจว ฮอนด้า เพื่อจำหน่ายในตลาดจีน และคาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ออกขายได้ตั้งแต่ปี 2553
“รถแบรนด์ กวางโจว ฮอนด้า จะเป็นรถราคาต่ำที่ไม่มีอะไรเหมือนกับฮอนด้า และจะขายด้วยตัวของมันเอง” นายทาเคโอะ ฟูกูอิ กล่าวเพิ่มเติม โดยไม่ปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการส่งออกรถแบรนด์นี้มาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต
ค่ายยักษ์ตบเท้าตั้งโรงงาน-ผลิตเพิ่ม
แหล่งข่าวจากฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้ (19 ก.ค.) ฟอร์ดและมาสด้าจะประกาศลงทุนขยายการผลิตรถยนต์ในไทย ที่โรงงานออโตอัลลายแอนซ์ ประเทศไทย หรือเอเอที (AAT) จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของฟอร์ดและมาสด้า
“การประกาศลงทุนครั้งนี้ มีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อตั้งโรงงานแห่งใหม่รองรับการขยายกำลังการผลิตปิกอัพ และเพิ่มไลน์ผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็ก หรือบีเซกเม้นท์ จากปัจจุบันเอเอทีผลิตปิกอัพเพียงอย่างเดียว โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในอีก 1-2 ปีจากนี้ เพื่อป้อนตลาดในประเทศและส่งออกด้วย”
ไม่เพียงฮอนด้าและฟอร์ด-มาสด้าเท่านั้น ที่มีการลงทุนเพิ่มเพื่อผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ในไทย บริษัทรถยนต์รายใหญ่จากอินเดีย “ตาต้า มอเตอร์ส” ได้เข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ในไทยเช่นกัน โดยแหล่งข่าวจาก บริษัท ตาต้า มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากตาต้าได้ประกาศร่วมทุนกับกลุ่มธนบุรีประกอบรถยนต์ เพื่อดำเนินธุรกิจจำหน่ายและประกอบรถยนต์ในไทยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดตาต้าประเทศไทยได้ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เป็นจำนวนเงินกว่า 1,300 ล้านบาท
“เงินลงทุนดังกล่าวจะนำมาขึ้นไลน์ประกอบปิกอัพตาต้า ที่โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 35,000 คันต่อปี เพื่อทำตลาดในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะเริ่มเดินสายพานการผลิตได้ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ และเปิดตัวสู่ตลาดในช่วงต้นปีหน้า”แหล่งข่าวจากตาต้าประเทศไทยกล่าว
และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายโอซามุ มาสุโกะ ประธานบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางมาร่วมแถลงข่าวแนะนำกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และได้เปิดเผยถึงทิศทางและนโยบายของมิตซูบิชิในไทยว่า ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตปิกอัพที่สำคัญของมิตซูบิชิ โดยเฉพาะการส่งออกปิกอัพไทรทันไป 140 ประเทศทั่วโลก ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าปีนี้จะมีตัวเลขการส่งออกมากกว่า 1.5 แสนคันแน่นอน
“ยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องปรับกำลังผลิตจาก 1.8 แสนคัน เป็น 2.0 แสนคัน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเต็มกำลังการผลิตโรงงานที่แหลมฉบังแล้ว ทำให้ขณะนี้มิตซูบิชิมีแผนที่สร้างโรงงานแห่งใหม่ ในพื้นที่แหลมฉบังใกล้กับโรงงานปัจจุบัน แต่จะเพิ่มกำลังการผลิต และจำนวนเงินลงทุนเท่าไหร่ อยู่ในช่วงศึกษาอยู่ คาดว่าเร็วๆ นี้จะสามารถประกาศได้อย่างเป็นทางการ” นายมาสุโกะกล่าว
|