ณรงค์ โชคชัยณรงค์ เกิดเมื่อปี 2467 มารดาชื่อแต้สี บิดาชื่อจินซุ้ย ถ้าไม่มีเขา
ชื่อ "บรั่นดีรีเจนซี่" ก็คงไม่ได้เกิดขึ้นมาในวงการน้ำเมานี้
ชีวิตของณรงค์เริ่มต้นอย่างลำบากยากเข็ญในชีวิตวัยเด็กที่เดินทางจากแผ่นดินจีนสู่ใต้ร่มเงาของแผ่นดินไทย
ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
ขณะนั้นณรงค์ที่ยังคงใช้ "แซ่เฮ้ง" เพิ่งจะมีอายุรุ่น ๆ เพียง
13-14 ปี เริ่มต้นชีวิตในเมืองไทยด้วยการทำงานเรียนรู้เป็นช่างเจียระไนเพชรพลอยในร้านค้าเพชรย่านหัวเม็ด
ความมานะพยายามที่มีแววเฉลียวฉลาด ได้ส่งประการดุจเพชรน้ำเอกที่ทำให้ชีวิตของหนุ่มชาวจีนได้พบรักกับบุตรสาวเศรษฐีเจ้าของร้านเพชรแซ่เบ๊
พ่อตาอย่างปรีชา อัศวปรีชาได้ยินยอมยกสุทธิวรรณ อัศวปรีชา ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนให้แก่ณรงค์
และปรีชาก็ไม่ผิดหวังในหนุ่มคนนี้ เพราะในเวลาต่อมาณรงค์ได้พิสูจน์ถึงสายเลือดของนักสู้ชิวตที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา
จนกระทั่งตัวเองประสบความสำเร็จ
เขาได้กลายเป็นตำนานของแจ๊กผู้หาญฆ่ายักษ์แม่โขงในฐานะผู้เข้ามาใหม่ด้วยบรั่นดีรีเจนซี่
หลังจากสะสมทุนรอนมหาศาลจากกิจการค้าเพชรและรับเหมาก่อสร้างตึกแถวที่สามย่านอันเป็นที่ทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"ญาติคุณณรงค์ชอบสะสมบรั่นดีคอนญักมาก และคุณณรงค์ก็ชอบทานบรั่นดี
ตอนหลังเขาไม่ทานมากเพราะว่าระวังเรื่องสุขภาพตอนที่เข้ามาในวงการนั้น คุณณรงค์ชอบและหลงเสน่ห์
บรั่นดีและอันไหนที่จิบแล้วไม่ถูกใจก็ติ คนเขาก็ว่าติมากก็ทำเองสิ"
ด้วยคำท้าทายนี้เองแหล่งข่าวเล่าให้ฟังว่า ณรงค์ได้ตัดสินใจทุ่มเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้จากการค้าเพชรและรับเหมาก่อสร้างไปลงทุน
ณรงค์ก้าวเข้ามาในยุทธจักรน้ำเมาที่เป็นธุรกิจการเมืองตั้งแต่ปี 2515 โดยรู้อยู่เต็มอกว่าโอกาสเกิดนั้นต้องเจ็บปวดและทรมาน
ไม่มีใครยอมรับรีเจนซี่ในระยะแรก แต่ด้วยใจนักสู้ที่ถือเอาความสุจริตใจเป็นที่ตั้งบวกกับสายสัมพันธ์ทางการเงินที่มีแบงก์กรุงเทพหนุนหลังเต็มที่
ก็ทำให้ณรงค์กล้าก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตบรั่นดี ด้วยเจตนาที่ยึดถือคุณภาพเป็นจุดแข็งทางการขายและการตลาด
"เดิมณรงค์เขากินเหล้าไม่เป็น แต่ตอนที่รีเจนซี่รุ่นแรก ๆ ขายไม่ได้เลยแกกินของแกเอง
จนหน้าแดงก่ำ คิดดูสิ กว่าจะติดตลาดนี่ยาก เพราะต้องทำโฆษณาการตลาดต่อเนื่อง
แต่ณรงค์แกเป็นคนโฆษณาไม่เป็น พูดแต่ว่าของผมดี ๆ แล้วใครจะไปรู้ล่ะ"
ผู้ใหญ่ในกรมสรรพสามิตเล่าให้ฟัง
ด้วยเหตุนี้ในปี 2534 ณรงค์จึงทุ่มงบโฆษณาวาระครบรอบ 20 ปี ของรีเจนซี่
บรั่นดี ทางสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อสร้างภาพพจน์สินค้าที่ผลิตโดยคนไทย เพื่อคนไทย
"ณรงค์เขามีความเป็นคนจีนที่เป็นคนไทย ยิ่งกว่าคนไทยบางคนเสียอีก"
ชีวิตที่ได้รับโอกาสการทำมาหากิน สายสัมพันธ์ธุรกิจกับผู้หลักผู้ใหญ่อาทิพลเอกเกรียงศักดิ์
ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้พิศมัยการจิบบรั่นดีและต้องการช่วยเหลือชาวไร่องุ่นที่ประสบปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ
ทำให้การขอรับการส่งเสริมโรงงานของณรงค์ในเวลาต่อมาได้รับการสนับสนุนอย่างดีทั้งจากหน่วยราชการและกรมสรรพสามิต"
"แกเป็นคนไม่โกงภาษี ถึงไม่มีเงินเพราะขายของไม่ได้ แกก็ไปกู้มาให้"
ผู้บริหารในกรมสรรพสามิตเล่าให้ฟังถึงอดีต แต่ปัจจุบันเมื่อปลายปี 2533 บริษัทได้จ่ายภาษีสรรพสามิตทั้งสิ้น
114.5 ล้านบาทเพราะขายดีมีรายได้ถึง 831.7 ล้านบาท
การรู้จักใช้ความกตัญญูรู้คุณที่ไปมาหาสู่มิเคยขาดในโอกาสสำคัญ ๆ เช่นวันเกิด
วันขึ้นปีใหม่ ทำให้ณรงค์มีวันนี้ได้
"เขาเป็นคนไทยเคยลืมบุญคุณใคร ขนาดพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์หมดอำนาจไปแล้ว
แกก็ยังไปหาอยู่บ่อย ๆ หรือรมว.สมหมาย ฮุนตระกูล ซึ่งเคยอนุมัติเพราะเห็นว่าโครงการนี้ดี
ณรงค์เห็นว่าเป็นลายมือของท่าน แกก็ต้องไปหาทั้ง ๆ ที่ท่านไม่รู้ว่าช่วยเลย"
แหล่งข่าวในกรมสรรพสามิตเล่าให้ฟังถึงเสน่ห์ของณรงค์ที่ชอบไปหาคนเกษียณอายุแล้วเพื่อป้องกันข้อครหาว่าประจบสอพลอผู้ใหญ่
แต่เหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ทำให้ณรงค์เสียใจมากก็คือ สายสัมพันธ์อันเก่าแก่กับคีเซ่งเฮงต้องขาดสะบั้นลง
คีเซ่งเฮงเป็นเอเยนต์รีเจนซี่ในจังหวัดโคราชมานานกว่า 17 ปี เถ้าแก่คีเซ่งเฮงจะรักและช่วยเหลือณรรงค์มากตั้งแต่เริ่มต้นยุคบุกเบิกตลาดมาด้วยกัน
จนมียอดขายรีเจนซี่สูงสุดในประเทศ ความนับถือที่ทั้งคู่มีให้กันเสมือนหนึ่งญาติ
แต่เมื่อเถ้าแก่คีเซ่งเฮงได้เสียชีวิตลง ความคิดเห็นเรื่องผลประโยชน์เริ่มแตกต่างจากเดิม
ยิ่งมีเรื่องบริษัทเรียกเงินค้ำประกันหรือ "แตะเต้ย" 7 ล้านบาทเพื่อช่วยด้านขยายกำลังผลิตทางคีเซ่งเฮงได้เป็นหัวเรือใหญ่คัดค้านแม้ได้มีการพูดคุยกันแล้วก็ตาม
ในที่สุดคีเซ่งเฮงก็ขอเลิกเป็นเอเยนต์
"เป็นเรื่องที่ณรงค์เสียใจจนถึงทุกวันนี้ มักจะบ่นกับคนใกล้ชิดเสมอว่าเสียดายความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกัน"
แหล่งข่าวสาร
ณรงค์มีบุตรธิดาทั้งสิ้น 5 คนเป็นลูกชายหัวปีท้ายปีคือ ดิเรกและกรีติ์กนิษฐ์
และลูกสาวสามคนคือ ศุภสร พรจันทร์ และศันสนีย์ ซึ่งแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ
ตั้งแต่ยังเล็กที่สิงคโปร์ และจบระดับปริญญาจกสหรัฐอมเริกาโดยมีคุณแม่อย่างสุทธิวรรณตามไปคอยดูแล
ในทางนิตินัยสุทธิวรรณยังคงใช้คำนำหน้าชื่อว่า "นางสาว สุทธิวรรณ อัศวปรีชา"
เสมอ ๆ จนกระทั่งปัจจุบัน
ดิเรก โชคชัยณรงค์ บุตรชายคนโตของณรงค์ทีเรียนจบด้านวิศวเคมีโรงงานจากเมริกาก็ถูกวางตัวให้เป็นทายาทสืบภารกิจนี้ต่อจากพ่อ
ปัจจุบันดิเรกเป็นรองกรรมการผู้จัดการและดูแลการผลิตและด้าการตลาดด้วย ส่วนศุภสรหรือที่นิยมเรียกชื่อเล่นว่า
"รุ้ง" ผู้มีพื้นฐานจบจากด้านกราฟิกดีไซน์ก็ถนัดคุมงานการส่งเสริมด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์
พรจันทร์หรือ "ปาน" ดูแลด้านบัญชีการเงิน ส่วนลูกสาวอีกคนก็กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์
และลูกชายคนเล็กขณะนี้เล่าเรียนด้านการบริหารธุรกิจการตลาดอยู่
ชีวิตทุกวันนี้ ณรงค์ทุ่มเทให้กับการทำงานมาก จะไปโรงงานทุกวันแม้จะเดินไม่ค่อยไหว
ทุกเช้า 10 โมงถึงบ่ายสี่โมงเย็นณรงค์จะขลุกอยู่ในโรงงานสุราวิเศษสุวรรณภูมิที่จังหวัดนครปฐม
แม้จะล่วงเลยถึงวัย 67 ปี ชายร่างอ้วนใหญ่คนนี้ก็ยังหมั่นดูแลกิจการ
ตราบใดที่เขายังมีลมหายใจอยู่ตราบนั้นเขาจะไม่ยอมหยุดทำงานจากชีวิตที่ต่อสู้ด้วยสองมือเปล่า
วันนี้ชีวิตณรงค์ โชคชัยณรงค์มีกำไรแล้ว