รับเหมาเร่งปูทางสร้างความแกร่ง รอการเมืองพร้อม หวังชิงงานเมกะโปรเจกต์ แห่ดึงต่างชาติร่วมทุนสร้างโปรไฟล์ควบคู่คอนเน็คชั่นการเมือง แอสคอนเดินหน้าดึงพันธมิตรต่างชาติถือหุ้นถาวร ชนะชัย-อีเอ็มซี เชื่อมั่นบริหารอีเอ็มซีได้แข็งแกร่ง เครือข่ายดี พร้อมลุยงานรัฐและงานต่างประเทศ
2 ปีที่ยังไม่มี “รัฐบาลตัวจริง” มาบริหารประเทศ เป็นผลกระทบทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหดตัวอย่างมาก บางคนบอกว่าการขยายตัวของธุรกิจนี้ในช่วงเวลานี้ถึงขั้น “ติดลบ” เพราะไม่มีการอนุมัติโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เข้ามาสู่ระบบเลย ย่อมแน่นอนว่าเม็ดเงินงบประมาณที่จะอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมไปทั่วทั้งระบบจึงยังไม่เห็นภาพในความเป็นจริงมากนัก
แม้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะพยายามเร่งผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทุกวิถีทาง แต่นักธุรกิจกลับมองว่า กว่าจะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างจริงจังก็ต่อเมื่อเมกะโปรเจกต์ได้รับการอนุมัติ ซึ่งคงต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่จะคลอดออกมาก่อน เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีอายุเพียง 1 ปี เป็นบรรทัดฐานที่บอกว่าไม่พร้อมและไม่เหมาะสมที่จะอนุมัติโครงการที่สร้างภาระผูกพันในระยะยาว
อีกสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเกี่ยวพันธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอย่างแยกไม่ออก คือ คอนเน็คชั่นกับนักการเมือง ซึ่งถูกจับตามองอย่างมากในช่วงยุคอำนาจเก่า แต่เวลานี้อาจเป็นช่วงที่ผู้รับเหมาตกที่นั่งลำบากอย่างแท้จริง เพราะคอนเน็คชั่นที่เคยมีกับรัฐบาลชุดเก่าต่างหมดอำนาจไปแล้ว งานก่อสร้างภาครัฐที่เข้ามาน้อยลงบีบให้ผู้รับเหมาที่ผูกติดกับงานภาครัฐเป็นหลักต้องเข้าไปรับงานเอกชนมากขึ้นแทน โดยต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ในขณะเดียวกันยังมีกลุ่มบริษัทรับเหมาขนาดกลางที่เร่งปรับตัวเอง สร้างความแข็งแกร่งในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานะทางการเงินและโนว์ฮาว สร้างเครดิตระหว่างรอเข้าประมูลงานรอบใหม่ เพื่อหวังชิงแชร์งานก่อสร้างจากผู้รับเหมารายใหญ่ พร้อมๆ กับเฝ้าจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รอดูว่าหลังเลือกตั้งอำนาจจะไปตกอยู่กับกลุ่มใด
แอสคอนลุยตะวันออกกลางพร้อมดึงผู้ร่วมหุ้นใหม่
แอสคอน ผู้รับเหมาขนาดกลางที่เคยได้ชื่อว่าเชื่อมโยงใกล้ชิดกับกลุ่มน้องสาวอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร แม้วันนี้จะไม่มีภาพของ “บุตรสาวเจ๊แดง” ปรากฎเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทฯ อีกแล้วก็ตาม แต่ความเคลื่อนไหวในทางการเมืองรอบใหม่ของเจ๊แดงก็ยังเป็นที่น่าจับตา เพราะคอนเน็คชั่นที่เคยมีมาคงไม่หมดง่ายๆ ไปเสียทีเดียว ซึ่งแม้ พัฒนพงษ์ ตนุมัธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จะออกมายืนยันทุกครั้งว่าไม่มีความเกี่ยวพันกันแล้ว แต่สิ่งที่แอสคอนพยายามทำต่อจากนี้ คือ สร้างโปรไฟล์ที่ดีด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับต่างชาติที่มีโนว์ฮาวแข็งแกร่ง ก่อนลุยประมูลงานก่อสร้างภาครัฐครั้งใหม่ เพราะไม่มีใครคาดเดาได้เลยว่าหลังเลือกตั้งกลุ่มอำนาจใดจะได้เป็นรัฐบาล การเตรียมความพร้อมโดยไม่หวังพึ่งเฉพาะคอนเน็คชั่นเก่าจึงเป็นสิ่งจำเป็น
พัฒนพงษ์ เปิดเผยว่า “เร็วๆ นี้จะมีผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เข้ามาถือหุ้นในบริษัทอย่างถาวร” ซึ่งน่าจะเป็นปูทางอนาคตเพื่อรุกงานสาธารณูปโภคมากขึ้น นอกเหนือจากความถนัดในการก่อสร้างอาคาร โดยก่อนหน้านี้ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับสตราบัก เอสอี บริษัทรับเหมารายใหญ่จากเยอรมันที่มีประสบการณ์ก่อสร้างสาธารณูปโภคทุกรูปแบบ และสนใจจะรุกงานก่อสร้างในไทยอย่างจริงจัง โดยใช้ดิวิดัก อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช บริษัทลูกของสตราบักเข้าร่วมประมูลรถไฟฟ้า 5 สาย ในนามกิจการร่วมค้า นอกจากนี้ยังดึงพันธมิตรเยอรมันรายนี้เข้าประมูลงานก่อสร้างอื่นๆ เช่น โรงแรม 16 แห่งของกลุ่มแอคคอร์ที่เวียดนาม มูลค่า 10,000 ล้านบาท, โครงการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเทศบาลเมืองอุทัยธานี มูลค่า 488 ล้านบาท ในนามกิจการร่วมค้าเอเอสแซด ที่ถือหุ้นระหว่างแอสคอน 90% สตราบัก เอสอี 5% และซูบริน (บริษัทลูกของสตราบัก) 5%
แอสคอนและพันธมิตรสนใจที่จะเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง มูลค่า 5,200 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 13,000 ล้านบาท ที่จะเปิดประมูลในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน แม้ว่าการกู้เงินเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าจากเจบิกจะยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อการเจรจากับพันธมิตรญี่ปุ่นของแอสคอนด้วยที่ต้องหยุดชะงักไป เพราะฝ่ายตรงข้ามให้เหตุผลว่า ขอรอให้สถานการณ์ทางการเมืองไทยมีความชัดเจนก่อน
ในระหว่างนี้ แอสคอนได้ปรับนโยบายการบริหารจัดการ รุกธุรกิจใหม่ “แอสคอน ดีเวลลอปเม้นท์” เพื่อแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเริ่มต้นซื้อโครงการคอนโดมิเนียม ดิ อินสไปร์ พระราม 9 มูลค่า 475 ล้านบาท ที่บริษัทฯ เป็นผู้รับเหมาอยู่เดิมมาพัฒนาต่อ จะเริ่มรับรู้รายได้ 200-300 ล้านบาทในปลายปีนี้ ถือเป็นการกระจายความเสี่ยง ทำให้มีรายได้เติบโตได้ตามเป้าหมาย ซึ่ง พัฒนพงษ์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างดูฟีดแบ็คของโครงการนี้ก่อนที่จะเดินหน้าซื้ออาคารร้างอื่นๆ ที่มีอยู่ทั่วเมืองมาบริหารต่อ โดยมองธุรกิจนี้ตามโอกาสที่เหมาะสมเท่านั้น โดยจะยังยึดงานรับเหมาก่อสร้างเป็นหลัก นอกจากนี้รุกคืบจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศตะวันออกกลางเป็นครั้งแรก เพื่อประมูลงานก่อสร้างอาคาร 2-3 โครงการ ในมูลค่าเป็นหลักหมื่นล้าน ซึ่งเป็นการปรับตัวหลังจากที่งานก่อสร้างในเวียดนามยังไม่มีความคืบหน้า
พัฒนพงษ์ บอกว่า ปัจจุบันมีมูลค่างานในมือ 3,500 ล้านบาท และตั้งเป้าจะก้าวไปให้ถึง 5,000 ล้านบาท สัดส่วนรายได้ปีนี้แบ่งเป็น งานรับเหมาภาคเอกชน 50% งานรับเหมาภาครัฐ 20% งานภาคอุตสาหกรรม 10% งานรับเหมาต่างประเทศ 10% และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 10% คาดว่าในครึ่งปีหลังจะมีงานก่อสร้างเข้ามามากขึ้น จากงานเอกชนที่ไปยื่นประมูลไว้ล่วงหน้าหลายโครงการ
อีเอ็มซีปรับโครงสร้างเดินหน้าเติบโตต่อเนื่อง
หลังการเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของ “ชนะชัย ลีนะบรรจง” ขาใหญ่ที่นักลงทุนในตลาดหุ้นรู้จักกันดีในตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) ก็มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ นำเอาทีมงานเก่าของชนะชัยมาเสริมทัพให้พร้อมรับงานได้หลากหลายขึ้น สามารถรับงานได้มากกว่าเดิม 1 เท่า ซึ่งชนะชัย คาดว่า จะช่วยผลักให้รายได้ปีนี้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด 40-50% จากปีที่แล้วที่มียอดรับรู้รายได้เพียง 2,260 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2 จะมียอดรับรู้รายได้ 1,500 ล้านบาท ขณะนี้มีมูลค่างานในมือ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงานระบบ 65% และงานโครงสร้าง 35%
ชนะชัย กล่าวว่า ในอนาคตอีเอ็มซี จะรีแบรนดิ้งให้มีภาพของความเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอย่างชัดเจนขึ้น เร่งวางรากฐานเพื่อเตรียมจะรุกงานโครงสร้างสาธารณูปโภคมากขึ้นในสัดส่วน 70% รวมทั้งรุกงานภาครัฐ และงานต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยในเดือนนี้จะเซ็นสัญญาก่อสร้างงานวางระบบที่ประเทศดูไบ มูลค่า 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานที่อีเอ็มซีไปแบบฉายเดี่ยว แต่ในอนาคตจะเป็นการไปรับงานร่วมกับพันธมิตร คือ บริษัท พาวเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (PLE) ที่เคยมีประสบการณ์รับงานในดูไบมาก่อนแล้ว
นอกจากนี้อีเอ็มซี ยังสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงด้วย ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างเจรจากับพันธมิตรจาก 3 ประเทศ แต่จากประสบการณ์ที่ทำธุรกิจอย่างหลากหลายของชนะชัย ทำให้เขามีความมั่นใจว่าคอนเน็คชั่นมากมายที่มีน่าจะช่วยเอื้อกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างได้เป็นอย่างดี เป็นการเตรียมตัวเพื่อรองรับอนาคตที่ชนะชัย มองว่า หลังเลือกตั้งจะมีงานก่อสร้างภาครัฐเข้ามากขึ้น
|