|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การต่อชะตาให้ “ไทยแลนด์ อิลิทการ์ด”ดำเนินธุรกิจต่อไปของมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) นอกจากจะยังมองไม่เห็นอนาคตว่าบัตรดังกล่าวจะสามารถเนรมิตให้เป็นไปตามแผนงานแต่อย่างใด กลับสร้างความไม่พอใจกับกับวงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งๆที่มีกระแสคัดค้านให้ยุบโครงการทิ้งไป
การบริหารจัดการที่ขาดทุนมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องของการดำเนินธุรกิจบัตรเทวดานอกจากจะไม่ก่อให้เกิดผลกำไรตามแผนที่วางไว้กลับจะส่งผลต่ออนาคตภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยในอนาคต ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของวงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะหยุดโครงการนี้ทันที
โดยเฉพาะ กงกฤช หิรัญกิจ นายกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเป็นกรรมมาธิการ สนช.ยังคงยืนยันให้รัฐบาลควรยุบโครงการไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ลง ถึงแม้ว่าจะจัดทำแผนใหม่มาเสนออีกกี่ครั้งก็ตามทาง สนช.ก็ไม่เห็นด้วยแต่คณะรัฐมนตรีก็ยังมองว่าควรจะให้มีโครงการนี้ต่อไป
บริษัททีพีซี เป็นบริษัทเชิงธุรกิจแม้จะมีกำไรมากหรือน้อยก็ตาม แต่ก็ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของรัฐบาลตามที่ได้แถลงไว้เมื่อครั้งที่เข้ามารับตำแหน่ง โดยระบุไว้ชัดเจนว่า รัฐบาลจะพึ่งส่งเสริมเอกชนในการทำธุรกิจ ไม่ใช่รัฐบาลจะมาตั้งบริษัทดำเนินธุรกิจเสียเอง ซึ่งถือว่าผิดในหลักการและหากมองว่า เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ที่ได้จากการเลือกตั้งเข้ามาจะดึงโครงการนี้ขึ้นมาทำต่อ จึงเกรงว่าภาพลักษณ์ของประเทศไทยจะเสียหาย เพราะเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายก็เปลี่ยนนั้น ตรงนี้เชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะใช้ดุลพินิจก่อนแน่นอนว่าสมควรหรือไม่และที่ผ่านมาได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรหรือการรีแบรนด์บัตรใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น อย่างเช่น อีลิท โมเมนท์ ที่มุ่งเน้นการให้บริการด้านการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เช่น การเล่นกอล์ฟ การให้บริการสปาชั้นนำ การใช้บริการท่าเรือยอชต์ และมี อีลิท ลิฟวิ่ง เป็นการเน้นการให้บริการทางด้านการรักษาโรค หรือผู้ที่ต้องการพักนานวัน(ลองสเตย์)การมาเพื่อศัลยกรรมสวยงาม ทำฟันทำเลสิก ฯลฯ
และตบท้ายด้วย อีลิท คอนเนคชั่น ที่เป็นการประสานด้านการลงทุนในประเทศไทยให้กับสมาชิกบัตรซึ่งจะมีการติดต่อหรือนัดหมายกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกบัตรแต่ผลงานที่ออกมา ซึ่งทุกอย่างก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ความสำเร็จได้
แม้แผนใหม่ของอีลิท จะมองไปในอนาคตถึง 15 ปี ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ จะเลี้ยงตัวเองได้จากดอกเบี้ยและผลกำไร ตลอดจนสร้างเงินตราเข้าประเทศ โดยใน 3 ปีข้างหน้าหากได้ดำเนินกิจการต่อ บริษัทก็จะมีกำไร สามารถใช้คืนเงินทุนให้แก่ ททท.ได้ ตรงนี้เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งมีความไม่แน่นอน รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลรักษาการ ไม่ควรคิดทำการอะไรที่วาดยาวไปถึงอนาคตเช่นนี้ ดังนั้นแผนธุรกิจของทีพีซีฉบับใหม่นี้จะเชื่อถือได้อย่างไร และไม่มีใครกล้ายืนยันได้ 100% ว่า จะเป็นตามที่วางแผนไว้ทุกประการ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วทำไมจะต้องมาเสียเวลาให้ทีพีซี ลองผิดลองถูกต่อไปอีกปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้แผนธุรกิจที่ ทีพีซี วางไว้กลับพังลงไม่เป็นท่า และทำให้สถานะของบริษัทย่ำแย่ลงไปอีก
จากการวิจัยพบว่าบัตรอีลิทได้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทย ในแง่ผลประโยชน์ทางตรงนั้นสมาชิกบัตรที่เข้ามาจะมีวันพักเฉลี่ย 14 วันต่อครั้ง ซึ่งสูงกว่าจำนวนพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวปกติที่มีอยู่ที่ 8 วันต่อครั้ง ขณะที่ค่าใช้จ่ายโดยรวมของผู้ถือบัตรจะอยู่ที่ 470,112 บาทต่อครั้ง แต่นักท่องเที่ยวปกติจะอยู่ที่ 32,000 บาทต่อครั้ง ส่วนผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยอ้อม เช่น ก่อให้เกิดการจ้างงาน และการเข้ามาลงทุนของสมาชิกบัตร
ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้รัฐบาลชุดนี้ตัดสินใจเดินหน้าโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิทต่อไป แต่ต้องมีการปรับธุรกิจใหม่โดยควบคุมค่าใช้จ่ายให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการใช้บริการสำหรับบริการบางประเภท รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการในส่วนที่ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายและเป็นบริการที่หาซื้อไม่ได้ เช่น การเปิดช่องทางด่วนรับรองลูกค้าในการผ่านเข้าประเทศ
ขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับธุรกิจเพื่อให้เกิดมีกำไร ทีพีซี ต้องปรับค่าสมาชิกบัตรไทยแลนด์ อีลิท ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านบาท เพียงแค่ 15 ปี จะสามารถทำกำไรทางบัญชีประมาณ 13,665.9 ล้านบาท และในระยะเวลา 30 ปี จะมีกำไรทางบัญชีประมาณ 40,437.9 ล้านบาททีเดียว
แต่ถ้าหากปล่อยให้บริษัทดังกล่าวหยุดการเติบโต คือมีสมาชิกเท่าเดิมในระยะยาว 30 ปีทางบริษัทจะต้องใช้จ่ายเงินเป็นค่าบริหารจัดการเพื่อดูแลสมาชิกถึง 6,038 ล้านบาท รวมถึงหากปล่อยให้ยกเลิกกิจการไป อาจจะเสียเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับการเจรจา แต่ก็ยังจะมีผลที่ตามมาจากภาพลักษณ์ที่สูญเสียไป รวมถึงอาจต้องรับภาระจากการฟ้องร้องกับบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีก
ด้วยข้อมูลตัวเลขจุดนี้เอง ส่งผลให้บอร์ด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาฯ ตัดสินใจเดินหน้าตะเบงบัตรอีลิทต่อไป
ทั้งนี้ แผนใหม่ที่จะชงให้ ครม.เป็นผู้ชี้ขาดนั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเด็นหลักคือ 1.แผนบริหารจัดการระยะยาว 20 ปี โดยมุ่งเน้นลดต้นทุนเพิ่มรายได้เข้าบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิประโยชน์บางประการ การเก็บค่าธรรมเนียม การลดค่าคอมมิชชั่นกับตัวแทนจำหน่ายบัตร จากเดิม 25% ของมูลค่าบัตร 1 ล้านบาท เหลือ 15% การปรับโครงสร้างคณะกรรมการใหม่ ซึ่งเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบการบริหารงานมากขึ้น โดยจะเพิ่มตัวแทนจาก ททท.(เจ้าของเงิน)จาก 1 คน เป็น 3 คน เป็นต้น 2.การดำเนินงานต่อภายใต้การจำกัดจำนวนสมาชิกบัตร ซึ่งแนวทางนี้ไม่เน้นหวือหวา แต่ทำเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย และควบคุมบริการให้มีคุณภาพเหมาะสมกับความเป็นอีลิทยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมามีการตั้งสมมติฐานว่า ยอดสมาชิกน่าจะจำกัดอยู่ที่ไม่เกิน 20,000 บัตร อย่างไรก็ดี เพื่อให้บริษัท ทีพีซี อยู่รอดก็จำเป็นจะต้องมีการปรับขึ้นค่าสมาชิกใหม่
แม้จะปรับราคาค่าบัตรให้สูงขึ้นจาก 1 ล้านเป็น 1.8 ล้านบาทก็ตาม...แต่ดันไปลดเรื่องของสิทธิประโยชน์พิเศษที่สมาชิกจะได้รับลงไป เป็นการสวนกระแสของการทำตลาดทางธุรกิจ ซึ่งน่าจะส่งผลทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วบัตรเทวดาจะขายได้อย่างไร ?
ในขณะที่ความสับสนของปัญหาเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆยังคงไม่ได้รับการแก้ไขคาราคาซังอยู่แบบนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการทำแผนธุรกิจระยะยาว 20 ปี โดยมีดัชนีตัวเลขสวยหรูปั้นแต่งมาแสดงให้เห็นก็ตาม ขณะเดียวกันก็เพิ่มบทบาทของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กลับไปตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานของอีลิท การ์ดอีกชั้นหนึ่งก็ตาม...หากแผนงานการบริหารจัดการใหม่เกิดล้มเหลวขึ้นมาอีกถามว่า
ใคร ? คือผู้รับผิดชอบและแน่นอนคำตอบก็ยังไม่มีอีกเช่นเคย
กูรูด้านท่องเที่ยวเชื่อกันว่าผู้ที่หัวชนฝาไม่อยากให้ "ยกเลิก"โครงการนี้น่าจะมีนัยยะสำคัญอะไรบางอย่าง โดยใช้เรื่องของการถูกต่างชาติฟ้องร้องเสียค่าเสียหายมาเป็นประเด็นหลักเพื่อสร้างกระแสให้เกิดความหวั่นวิตกถึงภาพลักษณ์ของประเทศ ส่งส่งผลให้รัฐบาลชุดนี้ต้องดันทุรังเพื่อยืดระยะเวลาของบัตรเทวดาต่อไป แถมยังปรับราคาบัตรให้สูงขึ้นพร้อมดึงหน่วยงานอย่าง ททท.มาเป็นผู้ตรวจสอบเพื่อการันตีว่าอนาคตของโครงการไทยแลนด์ อีลิท การ์ด จะสามารถสานฝันต่อได้
หากดูตามข้อเท็จจริงแล้วผลประโยชน์น่าจะตกไปอยู่กับเอเย่นต์หรือตัวแทนขายบัตรอีลิท การ์ด ซึ่งถือเป็นตัวจักรสำคัญในการทำการตลาดของบัตรเทวดา ตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีคอมมิชชั่นเป็นค่าตอบแทนและถ้าแผนงานระยะยาว 15-30 ปีของโครงการไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ผ่านความเห็นชอบด้วยแล้วผลตอบแทนค่าเหนื่อยที่จะได้รับก็จะกลายเป็นเม็ดเงินมหาศาลตามไปด้วยเช่นกัน
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่มีความเคลื่อนไหวของ เอเย่นต์ขายบัตร ออกมาในช่วงนี้ซึ่งต่างกับในช่วงแรกๆที่มีข่าวว่าจะยุบโครงการไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ลงจะเห็นว่าค่ายใหญ่ๆที่เป็นเอเย่นต์จะออกมาประกาศก้องว่าถ้ายุบต่างประเทศฟ้องกลับแน่นอน...แต่ครั้งนี้กลับเก็บตัวเงียบ
หากย้อนไปในอดีตที่ผ่านมาฝ่ายบริหารของไทยแลนด์อีลิทการ์ดเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นเปรียบเสมือนหัวโขนที่ไม่มีบทบาทอะไรมากนัก ขณะเดียวกันก็ยืมจมูกของเอเย่นต์หายใจมาโดยตลอดซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าฝ่ายบริหารแทบไม่ต้องทำอะไรหรือออกแรงน้อยมาก
ปัจจุบันบทบาทหน้าที่สำคัญของฝ่ายบริหารในการนำเสอนแผนธุรกิจใหม่เพื่อให้ ไทยแลนด์อีลิทการ์ด อยู่รอด นั้นกลายเป็นโจทย์ที่หาคำตอบได้ยาก แม้ว่าจะใช้วิธีลดค่าใช้จ่ายและหารายได้เพิ่ม ด้วยการลดค่าคอมมิชชั่นแก่ตัวแทนขายหรือเอเย่นต์ลง ซึ่งจากเดิมหากรวมทั้งจากเปอร์เซ็นต์ยอดขาย ค่าโฆษณา ค่าการตลาด ทำได้ตามเป้า รวม ๆ แล้วร่วม 30 % นั้นนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจไม่เบา
โดยเฉพาะค่าคอมมิชชั่นที่ตัดทอนแบ่งให้เอเย่นต์ขายบัตรจะลดเหลือแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่ในความเป็นจริง เอเย่นต์ขายก็ยังได้ประโยชน์เป็นกอบเป็นกำอยู่ดี เพราะเท่ากับคิด 15 เปอร์เซ็นต์จากราคาขายบัตรใหม่ที่จะถูกปรับขึ้นมาเป็น 1.8 ล้านบาท ไม่ใช่ 15 เปอร์เซ็นต์จาก 1 ล้านบาทของเดิม
จุดประสงค์หลักที่ต่างชาติต้องการเป็นสมาชิกบัตรเทวดานั้น คงจะเป็นเรื่องของบริการทาง "วีซ่า" ตลอดชีพมากกว่าสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ถูกวางไว้ในโปรแกรมไม่ว่าจะเป็นตีกอล์ฟ พักโรงแรมหรู ใช้บริการสปา หรืออื่นๆที่สมาชิกบัตรแทบไม่ค่อยมีเวลาไปใช้บริการเลย
แม้ว่าเรื่องนี้จะเถียงกันแทบเป็นแทบตายระหว่างรัฐบาลกับสนช.มาแล้วก็ตาม แต่ผลประโยชน์กลับตกไปอยู่เอเย่นต์ขายบัตรเสียมากกว่า... และแผนใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ถูกนำออกมาใช้หากไม่สามารถทำได้ตามแผนงานที่วางไว้อาจจะกลายเป็นปัญหาที่ต้องคอยแก้ไขตลอดเวลา....เชื่อได้ว่าคงไม่มีใครที่กล้าเอาหัวมาเป็นประกันแน่นอน?
|
|
|
|
|