เงินร้อนต่างชาติไหลเข้าไทย กลายเป็นยาขมผู้ส่งออกหลังบาทแข็งหลุด 34 บาท แถมดัชนีตลาดหุ้นยังถูกบิดด้วยหุ้นกลุ่มพลังงาน น้ำมันยิ่งขึ้น หุ้น-ดัชนียิ่งพุ่ง แต่กำลังซื้อของคนยิ่งหด นักวิเคราะห์ได้แค่สงสัยอาจมีกลุ่มอำนาจเดิมผสมโรงสวมรอยต่างชาติ หาทุนรับเลือกตั้ง
ท่ามกลางการคาดการณ์ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดหุ้น ที่ทำนายกันว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะเดินหน้าไปสู่ระดับ 1,000 จุดในอีกไม่ช้า หลังจากที่นักลงทุนต่างประเทศดาหน้าขนเงินเข้ามาลุยตลาดหุ้นไทยเฉพาะแค่ 7 วันทำการของตลาดหุ้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิไปแล้ว 2.67 หมื่นล้านบาท ดันดัชนีจาก 776.79 จุดเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นมา 81.66 จุดหรือ 10.5% จนดัชนีมายืนที่ 858.45 จุด และมีทีท่าว่าจะทำสถิติเหนือจุดสูงสุดในปี 2540 อีกในไม่ช้า
ทั้งนี้เป็นผลมาจากเม็ดเงินต่างชาติที่ทะลักเข้ามาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นหากนับตั้งแต่ต้นปี สูงถึง 1.24 แสนล้านบาทเข้าไปแล้ว ขณะที่ค่าเงินบาทได้แข็งค่าจากระดับ 36.04 บาทในวันสิ้นปีจนถึง 9 กรกฎาคม 2550 ค่าเงินบาทในประเทศหลุดลงมาอยู่ที่ 33.918 บาทตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศในวันที่ 10 กรกฎาคมเคลื่อนไหวที่ 31.20-31.35 บาทต่อดอลลาร์
หุ้นแรงพื้นฐานไม่เปลี่ยน
"จริง ๆ แล้วปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก แต่เป็นผลจากเม็ดเงินของนักลงทุนต่างประเทศที่หันมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากราคาหุ้นของไทยค่อนข้างต่ำเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันหลังจากธนาคารกลางสหรัฐคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25% และเงินดอลลาร์มีทิศทางอ่อนตัวทำให้นักลงทุนต่างประเทศต้องเร่งซื้อหุ้น" ผู้จัดการกองทุนต่างประเทศกล่าว
กลุ่มที่เข้ามาถือเป็นเป็นกลุ่มที่ต้องการเข้ามาเก็งกำไรทั้งค่าเงินบาทและตลาดหุ้นไทย หลังจากนั้นจะเป็นกองทุนรวมต่างประเทศที่จะเข้าตามมา ส่วนจะเข้ามานานแค่ไหนคงต้องเทียบจากราคาหุ้นไทยเทียบกับเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศได้โยกการลงทุนจากจีนและสิงคโปร์มาประเทศไทยเนื่องจากราคาหุ้นใน 2 ประเทศนี้ปรับเพิ่มขึ้นมาก
บาทแข็งกำลังซื้อหด
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์มหภาคกล่าวว่า หุ้นขึ้นเป็นเพียงแรงซื้อของต่างชาติที่โหมเข้ามาซื้อหุ้นเท่านั้น และตลาดหุ้นไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้น เพราะปัจจัยพื้นฐานเรายังเหมือนเดิม เห็นได้ชัดจากยอดการขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ยอดขายลดลง
ที่สำคัญคือหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อมักเป็นหุ้นขนาดใหญ่ นั่นคือกลุ่มพลังงานที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังสูงกว่า 72 เหรียญต่อบาเรล โดยหุ้นกลุ่มนี้มีมูลค่าราว 30% ของตลาดรวม ดังนั้นเมื่อต่างชาติไล่ซื้อหุ้นกลุ่มนี้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จึงปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
"ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จึงไม่สามารถนำมาสะท้อนถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้"
ในแง่ของผู้ลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว หุ้น ปตท.ราคาสูงถึง 308 บาทอาจจะสร้างกำไรให้กับผู้ที่ถือหุ้นตัวนี้ การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นราคาหุ้นปตท.ก็น่าจะเพิ่มขึ้นนั้นถือว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน แต่ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นเช่นน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นเป็น 25.74 บาท ถือว่าไม่ใช่เรื่องดีสำหรับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ เพราะราคาน้ำมันสูงขึ้นอาจจะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อที่มีผลต่อทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ รวมถึงต้นทุนของผู้ประกอบการและต้นทุนภาคประชาชนต้องเพิ่มขึ้นตามมา กลายเป็นแรงกดดันต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้คน กำลังซื้อของคนในประเทศอาจมีน้อยลงกว่าเดิม
นอกจากนี้เม็ดเงินจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว ยังทำให้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าตามมาเกือบ 6% ภายในช่วง 7 เดือน กระทบต่อภาคการส่งออก ขณะที่ทุนสำรองของทางการก็เพิ่มขึ้นมามากกว่า 1 แสนล้านบาท ถือว่าไม่ใช่สัญญาณที่ดีสำหรับการมีเงินระยะสั้นเข้ามามาก ๆ
ASCON ปรับทัพ
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งกล่าวว่า เงินจากต่างชาติที่เข้ามานั้นตอบไม่ได้ว่าเป็นเงินจากฝรั่งผมทองหรือผมดำ แต่ดูเหมือนว่าความร้อนแรงของตลาดหุ้นไทยเริ่มในช่วง 2 กรกฎาคมหลังจากที่อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยแยกกันแถลงข่าวระหว่างจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตหัวหน้าพรรคกับแกนนำอย่างสุดารัตน์ เกยุราพันธ์และเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวทักษิณ ชินวัตร พร้องด้วยกระแสข่าวถึงพรรคใหม่ที่มีชื่อของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค
หลายคนอาจมองว่าการกลับมาของอำนาจเดิมเกิดการแตกแยกและอ่อนแอลง และสถานการณ์ทางการเมืองทางรัฐบาลน่าจะควบคุมได้ จึงมีแรงซื้อจากต่างชาติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เราบอกไม่ได้ว่ามีเงินของกลุ่มอำนาจเดิมที่อยู่ในต่างประเทศเข้ามาผสมโรงเพื่อหาเงินเตรียมเลือกตั้งหรือไม่
แต่หุ้นใหญ่ ๆ ที่ชี้นำดัชนีอย่าง PTT,PTTEP,TOP และ IRPC ที่คาดการณ์ว่ากลุ่มอำนาจเดิมมีการถือหุ้นโดยใช้นอมินีต่างประเทศ ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นราว 14-17.6%
อย่างไรก็ตามแม้จะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าช่วงที่ภาวะหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง กลุ่มอำนาจเก่าได้ใช้จังหวะนี้เข้ามาสร้างกำไรจากราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้น แต่ที่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมนั่นคือการขายหุ้นในบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASCON ของผู้ถือหุ้นใหญ่เมื่อ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา
โดย พัฒนพงษ์ ตนุมัธยา ได้ขายหุ้นสามัญจำนวน 5,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.5 ของทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วของบริษัท วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ขายหุ้นสามัญจำนวน 3,500,000 หุ้น คิดเป็น 1.75% และเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ได้ขายหุ้นสามัญจำนวน 1,500,000 หุ้น หรือ 0.75% โดยทั้งหมดขายให้กับทวีฉัตร จุฬางกูร รวมแล้ว 10 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 11.60 บาทเป็นเงิน 116 ล้านบาท
แม้บริษัทนี้จะไม่ปรากฏบุคคลที่มีนามสกุลวงศ์สวัสดิ์ถือหุ้นใหญ่ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่ากลุ่มวงศ์สวัสดิ์เคยร่วมบุกเบิกบริษัทแห่งนี้มาร่วมกับกลุ่มตนุมัธยา แต่ได้มีการขายหุ้นออกไปภายหลัง โดยกลุ่มที่เข้ามาซื้อต่อได้แก่กลุ่มวิไลลักษณ์ เจ้าของบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการขายหุ้นบริษัท ทราฟฟิกคอร์นเนอร์โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TRAF ที่กลุ่มสามารถเข้าไปรับช่วงเช่นเดียวกัน
แม้ผู้ที่รับซื้ออย่างทวีฉัตร จุฬางกูร จะไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองและเป็นนักลงทุนรายใหญ่คนหนึ่งที่ลงทุนซื้อขายหุ้นทั่วไป ถือหุ้นตัวนี้อยู่ก่อนแล้ว 9.75% แต่ทราบกันดีว่านักลงทุนรายนี้คือหลานของสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย
แต่เพียงแค่การเปลี่ยนมือจากกลุ่มตนุมัธยาและวิไลลักษณ์มาสู่ทวีฉัตร จุฬางกูร ก็ทำให้หุ้นตัวนี้เริ่มคึกคักขึ้นมาทันตาจากการซื้อขายหลักสิบล้านบาทต่อวันเพิ่มขึ้นมาเป็นเฉียด 300 ล้านบาทเมื่อ 10 กรกฎาคม ราคาหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาสูงถึง 12.70 บาทเพียงแค่ 1 วันทำการ
|