Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์16 กรกฎาคม 2550
พ.ร.บ.มวยล้ม             
 


   
search resources

Advertising and Public Relations
Law




ล้วงลึก 3 พ.ร.บ. เจ้าปัญหา ค้าปลีก-น้ำเมา-วิทยุโทรทัศน์ใคร และอะไรเป็นตัวถ่วงทำให้ไม่สามารถใช้เป็นกฎหมายได้สักที ชาตินี้มีโอกาสได้ใช้กันหรือไม่ประกาศ-ไม่ประกาศอย่างไหนดีกว่ากัน หากออกมาจริงใครจะได้รับผลกระทบอย่างเต็มเปา

พ.ร.บ.สื่อวิทยุ-ทีวี พายเรือวนในอ่าง

พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.... เป็นอีกหนึ่ง พ.ร.บ.ที่สังคมในยุคแห่งการสื่อสารให้ความสนใจ โลกของการสื่อสารที่ก้าวล้ำไปไกล สื่อโทรทัศน์พัฒนาการส่งสัญญาณสู่เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม วิทยุถูกซอยแบ่งช่องสัญญาณเกิดเป็นวิทยุชุมชน แต่กฎหมายที่บังคับใช้เป็น พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 และ พ.ศ.2530 ที่เนื้อหา ข้อบังคับที่ครอบคลุมไปไม่ถึงสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จึงมีการรับร่าง พ.ร.บ. ควบคุมสื่อวิทยุ และโทรทัศน์ ที่เสนอโดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับสื่อวิทยุ และโทรทัศน์ มีการแบ่งกิจการออกเป็น 2 ประเภท คือ กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ส่งตามสาย เช่น เคเบิลทีวี และทีวีผ่านดาวเทียม โดยการออกใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ มีการแบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย

1. ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม สุขภาพ กีฬา ความมั่นคงของรัฐ ซึ่งผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเป็นหน่วยงาน เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรมหาชน ที่มีหน้าที่หรือจำเป็นต้องดำเนินกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์รวมไปถึงสมาคมมูลนิธิที่ไม่แสวงผลกำไร

2. ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน ซึ่งจะออกให้สำหรับกิจการที่มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับกิจการสาธารณะ แต่ต้องเป็นประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนหรือท้องถิ่นที่รับบริการ ผู้ขอรับอนุญาตต้องเป็นสมาคม มูลนิธิ นิติบุคคล ที่ไม่แสวงหากำไร หรือกลุ่มคนในท้องถิ่นที่รวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

3. ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจที่แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับชาติที่จะออกให้สำหรับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทุกภาคของประเทศ และระดับภูมิภาค ที่จะออกให้กับกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ที่มีพื้นที่ให้บริการไม่เกิน 3 จังหวัด โดยผู้ขอใบอนุญาตต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย

ร่าง พ.ร.บ.นี้ ยังมีการตั้งคณะอนุกรรมการทางด้านจริยธรรม และคณะอนุกรรมการส่งเสริมกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาการในแง่คุณภาพและเนื้อหาสาระของวิทยุโทรทัศน์ โดยจะเป็นกลไกใหม่ในการพัฒนาที่นอกเหนือการจากจัดระบบแล้ว ยังเป็นการยกระดับของการสื่อสารมวลชน ตามแนวคิดของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ที่คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยกมือรับร่างไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์ในความไม่ชอบมาพากลของร่างในหลายส่วน อาทิ แนวโน้มกฎหมายที่จะเอื้อประโยชน์ต่อทีวีดาวเทียมที่ตั้งขึ้นในช่วงที่ไม่มีกฎหมายดูแล จะสามารถดำเนินการต่อไปได้ การเปิดให้ทรูวิชั่นส์ ที่มีสัญญาการให้บริการโดยไม่มีการโฆษณากับ อสมท สามารถมีโฆษณาหารายได้ได้ รวมถึงปัญหาความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้อาจทำให้การควบคุมดูแลการใช้คลื่นความถี่ในย่านนั้นยากลำบากขึ้น

ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อดีตผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. แสดงความเห็นถึงกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ก.ค. มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... ที่เสนอโดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ว่า เป็นปัญหาเดิมที่รัฐบาลชุดนี้พยายามนำพระราชบัญญัติด้านการควบคุมสื่อมาปัดฝุ่นใหม่ เพราะกฎหมายที่มีอยู่มีช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหาทางเลี่ยงบาลี หรือจะสร้างปัญหาการไม่ยอมรับของผู้ประกอบที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม แต่การที่รัฐบาลยังใช้ผู้ร่างเป็นนักวิชาการ หรือข้าราชการคณะเดิม ๆ ที่เคยร่าง พ.ร.บ.ที่มีปัญหามาตลอด ก็เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็คงไปไม่ถึงไหน คงต้องยกเลิกไป เพราะปฏิบัติไม่ได้

“ที่ผ่านมาคนร่างกฎหมายของรัฐบาลเป็นคนชุดเดิม ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลสมัยใด มีแนวคิดการร่างเหมือนเป็นเผด็จการ เขียนตามความต้องการของตนเองที่ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจนั้น ๆ ขาดมิติจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องและจะต้องปฏิบัติอยู่ภายใต้ร่างกฎหมายนั้น เพราะไม่เคยรับฟังความคิดเห็นใคร เหมือนดังเช่นปัญหาการจัดเรตติ้งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ที่ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ไม่เคยเข้าไปมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็นในการกำหนดเรตติ้งของภาครัฐ ผลที่ออกมาคือเกิดการคัดค้านในวงกว้าง จนมีแนวโน้มว่ากฎหมายนี้คงไม่สามารถบังคับใช้ได้”

อดีตว่าที่ กทช. กล่าวว่า ปัญหาของร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีรับร่างไปนั้น ก็ยังคงย่ำอยู่ที่ ผู้ประกอบการไม่ได้มีส่วนแสดงความคิดเห็นในขณะที่มีการร่าง พ.ร.บ. ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีผู้ประกอบการเคเบิลทีวี วิทยุชุมชน นับร้อยรายทั่วประเทศ เมื่อไม่มีมิติจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่กฎหมายที่ออกมานี้จะเกิดความเป็นธรรม หากสามารถบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้วจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เพราะผู้ประกอบการก็คงหาช่องทางที่จะเลี่ยงกฎหมาย จนไม่สามารถควบคุมได้เหมือนที่ผ่าน ๆ มา

อย่างไรก็ตาม ดร.สุพงษ์ เชื่อว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้คงไม่ต่างจาก พ.ร.บ.ฉบับก่อนหน้า ที่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ เพราะรัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เหลืออายุการบริหารประเทศอีกไม่นาน ขั้นตอนต่อไปเมื่อส่งร่างพระราชบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฏร และสภานิติบัญญัติรับรอง ปัญหาคือ สภาทั้งสองของรัฐบาลที่จะเกิดจากการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมนี้ จะมีแนวคิดในเรื่องนี้เช่นไร ซึ่งตนคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะดึงร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กลับไปดูใหม่ เพราะหากปล่อยให้ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ....นี้ออกเป็นกฎหมายได้ จะเกิดปัญหาปวดหัวตามมา ทั้งการร้องขอให้มีการตีความข้อความในกฎหมายที่คลุมเครือ รวมถึงความไม่เป็นธรรมของกฎหมายจะทำให้ผู้ประกอบการต้องหาช่องทางเลี่ยงบาลี ทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ และรัฐบาลก็จะวนกลับมาแก้กฎหมายเหมือนที่เคยเป็นมา

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ...... โดยเห็นว่ากฎหมายที่กำกับดูแลสื่อในปัจจุบันทั้ง พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 และพ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ 2530 เป็นกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับการกำกับดูแลการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ปัจจุบันและอนาคต

ทั้งนี้ ยังมีพ.ร.บ. อีก 2 ฉบับที่พิจารณาไม่เสร็จทักทีแม้เวลาจะล่วงเลยมานานหลายปีแล้วก็ตาม รวมทั้งบางพ.ร.บ.ก็มีการปรับเปลี่ยนดีกรีความ “เข้ม” ลง และทำท่าจะเป็น “พ.ร.บ. มวยล้ม” หนึ่งก็คือ พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ......ที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา กับอีกหนึ่งก็คือ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.... ที่แม้จะเริ่มในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีความไม่คงเส้นคงวาว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ เช่น เดิมมีแนวคิดว่าจะไม่ให้มีโฆษณาตลอด 24 ชั่วโมง แต่มาถึงวันนี้กลับให้โฆษณาได้ เป็นต้น

พ.ร.บ.ค้าปลีกฯ ผ่านไป 10 ปียังเหมือนเดิม

อันเนื่องมาจากการขยายตัวของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ดิสเคานต์สโตร์ หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต ไม่เพียงกระทบต่อกิจการร้านค้าปลีกขนาดเล็กประเภท ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว แต่ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติพวกนี้ยังสั่งสม “อำนาจทางการค้า” ก่อให้เกิดปัญหาจริยธรรมทางการค้า หรือระบบการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อบรรดาซัปพลายเออร์อีกด้วย ทำให้เสียประโยชน์ทั้งผู้ค้ารายย่อย และผู้ผลิตสินค้าจึงออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐหาแนวทางการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลบนระบบการค้าที่เป็นธรรม มาสู่แนวทางการใช้ “กฎหมายค้าปลีก” ฉบับแรกขึ้นในประเทศ

พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง ถูกเริ่มขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย แต่จนถึงวันนี้ผ่านไปหลายรัฐบาล หลายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับยังไม่ถูกประกาศใช้สักที

ความเชื่องช้าและยืดยาดของพ.ร.บ.ฉบับนี้ หลายคนเชื่อว่าเป็นเพราะ “พลัง” ของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ที่เป็นถุงเงินใหญ่ของพรรคไทยรักไทย และเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของดิสเคานต์สโตร์ที่ชื่อ เทสโก้ โลตัส ที่แม้ว่าวันนี้จะลดสัดส่วนการถือหุ้นในดิสเคานต์สโตร์แห่งนี้ไปจนเหลือไม่ถึง 10% แล้วก็ตาม แม้สัดส่วนที่เหลือจะไม่มากนักแต่คิดเป็นเม็ดเงินนับพันล้านบาทเลยทีเดียว

เรื่องราวความชุลมุนที่ต้องออกกฎหมายค้าปลีกก็เนื่องมาจาก การย้ายถิ่นของเทสโก้จากเดิมที่อยู่นอกเมืองเข้ามาอยู่ในตัวเมืองบริเวณตลาดคลองเตย และสี่แยกรัชดาภิเษก ส่งผลกระทบไปยังบรรดาพ่อค้าแม่ขายทั้งที่เป็นตลาดสด และโชห่วย จนกระอักกันอย่างถ้วนทั่ว เพราะเทสโก้ เข้ามาพร้อมกับกลยุทธ์ราคาถูก แถมพกด้วยการเปิดขายตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ใช่เฉพาะเทสโก้ เท่านั้น แต่บรรดาค้าปลีกรายอื่นอย่างบีกซี คาร์ฟูร์ ก็ทำในทำนองนี้ด้วยเช่นกัน พร้อมๆกับการขยายสาขาในตัวเมืองอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ท่ามกลางการล้มหายตายจากของโชห่วยไปทุกขณะ

เป็นการเข้ามาของยักษ์ต่างชาติในช่วงเวลาที่ “ทักษิณ” เป็นผู้บริหารประเทศทั้งที่ในช่วงหาเสียงเคยประกาศนโยบายว่าจะกระตุ้นธุรกิจขนาดเล็ก แต่เอาเข้าจริงกลับกลายเป็นช่วยต่างชาติให้เข้ามาโจมตีธุรกิจของคนไทย

“ร้านโชห่วยนั้นถือเป็นสายใยของสังคมในชุมชน และเป็นตัวทำให้เกิดธุรกิจย่อยๆในท้องถิ่นตามมา แต่ห้างค้าส่งขนาดใหญ่เข้าไปทำลายสิ่งเหล่านี้หมด” สนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวในรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ทางเอเอสทีวี คืนวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา

และด้วยพลังของกลุ่มซีพีนี้เองที่ทำให้ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ที่กระทรวงพาณิชย์ใช้เวลาร่างเป็นเวลา 2 ปี (ตั้งแต่ประมาณปี 2541) ต้องถูกยกเลิกจากนายกรัฐมนตรีขณะนั้นไปโดยปริยาย โดยให้เหตุผลเพียงว่า รัฐบาลไม่ต้องการส่งสัญญาณที่ขัดแย้งกับนโยบายการเปิดการค้าเสรีของรัฐบาลในปัจจุบัน ประพกอบกับไทยมีกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่สามารถนำมากำกับดูแลการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งได้อยู่แล้ว คือกฎหมายผังเมืองของกระทรวงมหาดไทย

ทั้งที่หากไปพิจารณาตัวร่างกฎหมายค้าปลีกทั้งฉบับก็ไม่เห็นว่าจะมีอักษรตัวใดก้าวล่วงไประบุเจาะจงชัดเจนว่าจะมีการกีดกันการค้าของประเทศใดบนผืนแผ่นดินไทย หรือไปขัดกับกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) เพราะกฎของดับบลิวทีโอเน้นหนักให้ประเทศสมาชิกเปิดเสรีทางการค้าโดยลดข้อกีดขวางทางการค้าลง โดยในอนาคตจะเป็นการค้าเสรีจริงๆ แต่ร่างค้าปลีกของไทยเป็นเพียงการสร้างกฎกติกา และจัดระเบียบการประกอบธุรกิจค้าปลีกในประเทศเหล่านั้น

ในเรื่องการประกาศยกเลิกร่างกฎหมายค้าปลีกที่อ้างว่าขัดต่อดับบลิวทีโอนั้น ภาคเอกชนหลายฝ่ายได้ออกมาตั้งคำถามว่า เหตุใดต่างชาติถึงสามารถออกกฎหมายค้าปลีกมาปกป้องประเทศตัวเองได้ แต่ทำไมไทยถึงทำไม่ได้ หากร่างค้าปลีกออกมาก็ไม่น่าจะมีปัญหากับการขัดต่อกฎองค์การการค้าโลก เพราะไทยก็มีสิทธิ์ที่จะชี้แจงให้ฟังได้ หรือปรับเปลี่ยนบางอย่างได้หากต้องการจะออกกฎหมายค้าปลีกจริง พร้อมทั้งมีความกังวลว่ากฎระเบียบของผังเมืองจะสามารถยับยั้งการขยายสาขาของดิสเคานต์สโตร์ได้แค่ไหน และจะดูแลค้าปลีกไทยได้ดีกว่ากฎหมายค้าปลีกตัวจริงหรือไม่

“ถามว่ารัฐเสียเวลาเกือบ 2 ปีกับกระบวนการร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาเพื่ออะไรเมื่อรู้อยู่แล้วว่าไม่ต้องการจะออกกฎหมายนี้ แต่ไม่มีการยับยั้งกลับปล่อยให้ร่างดังกล่าวผ่านกระบวนการออกกฎหมายอยู่หลายขั้นตอน จนผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองเป็นที่เรียบร้อย และพร้อมจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง”

เช่นเดียวกับ อัมรินทร์ คอมันตร์ แกนนำ 45 องค์กรพันธมิตรคัดค้านกฎหมายขายชาติ ก็ออกมาอัดรัฐบาลว่า การที่รัฐบาลยกเลิกการออกกฎหมายค้าปลีกแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีน้ำยา รวมทั้งการที่ปล่อยให้ห้างใหญ่ๆมาลงทุนและกระทบต่อประชาชนถือเป็นการทรยศต่อชาติ ซึ่งเราก็รู้ดีว่าใครมีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังร้านค้ายักษ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่รักษาผลประโยชน์ของประชาชน แต่รักษาผลประโยชน์ของผู้บริหารประเทศและคนบางกลุ่มที่ใกล้ชิด

เรื่องนี้ วิโรจน์ จุนประทีปทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัด อีกหนึ่งแกนนำที่ผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายค้าปลีก และออกมาตั้งคำถามกับ สุวรรณ วลัยเสถียร ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผ่านรายการถึงคมชัดลึก อย่างตรงไปตรงมาว่า ในเมื่อประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการค้าเสรี และเป็นสมาชิกดับบลิวทีโอด้วย ทำไมถึงมีกฎหมายค้าปลีกได้ และหากเป็นเช่นนี้ไทยก็สามารถนำกฎหมายของฝรั่งเศส หรือประเทศอื่นๆมาประยุกต์ใช้กับบ้านเราได้ด้วยเช่นกัน

“เขาบอกว่าเขาเป็นนักกฎหมาย จบฮาวาร์ดมาเขาเขียนเองได้ ผมถามเขาไปว่าแล้วทำไมไม่เขียน เพราะผมเป็นพ่อค้าผมเขียนไม่เป็น แก้แค่นี้ เขาก็เงียบไป”

อย่างไรก็ตาม คนในวงการค้าปลีกหลายคนมองตรงกันว่าการที่กฎหมายค้าปลีกที่ไม่ยอมคลอดสักทีนั้นเป็นเพราะบรรดาค้าปลีกขนาดใหญ่ต่างกลัวในประเด็น การห้ามไม่ให้ค้าปลีกขนาดใหญ่เปิดในย่านชุมชน ข้อห้ามเรื่องกำหนดเวลาการเปิด-ปิดห้าง และการกำหนดวันหยุดของดิสเคานต์สโตร์

มองคนละด้าน ทำกม.ไม่คืบ

ต้องเรียกได้ว่าเวลานี้เทสโก้โลตัสถือเป็นพี่ใหญ่ของบรรดาดิสเคานต์สโตร์ข้ามชาติ และไม่ใช่ใหญ่ธรรมดา แต่ยังเพียบพูนไปด้วยอำนาจจากการที่ได้ซีพีมาเป็นผู้ร่วมหุ้น แม้ว่าเวลานี้ซีพีจะขายหุ้นส่วนใหญ่ไปให้เทสโก้จากอังกฤษไปเมื่อปี 2541 และไม่มีการเพิ่มทุนนับจากนั้นมา

เบื้องหลังเบื้องลึกของการไม่เพิ่มทุนของซีพีอาจเป็นเพราะต้องการโฟกัสไปยังธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์ที่ 7-อีเลฟเว่น ยึดหัวหาดในธุรกิจนี้ไว้ได้ แต่เรื่องจะให้ทิ้งเทสโก้ไปเลยนั้นไม่มีทางที่ซีพีจะยอมได้ เนื่องจากค้าปลีกขนาดใหญ่แบบนี้สามารถสร้างยอดขายให้กับสินค้าในเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี

“แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด ผมเชื่อว่าเขาต้องการกินรวบตลาดทั้งหมด คุณลองคิดดูว่าการค้าในดิสเคานต์สโตร์ ทั้งเทสโก้ บิ๊กซี คาร์ฟูร์ รวมกันปีหนึ่งๆเป็นแสนล้านบาท เขานำสินค้ามาขายเพียงเจ้าเดียว หรือได้สิทธิพิเศษเหนือคนอื่น ตั้งราคาขายยังไงก็ได้ เขาก็รวยไม่รู้เท่าไร เพราะเขาได้สร้างบุญคุณให้กับดิสเคานต์สโตร์ในฐานะผู้ล็อบบี้ไม่ให้กฎหมายค้าปลีกออกมา” แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตและว่า ดูง่ายๆในช่วงที่ วัฒนา เมืองสุข มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เคยมีการนำเรื่องกฎหมายค้าปลีกมาพูดหรือไม่ หรือมีการออกมาตรการใดๆมาช่วยโชห่วยหรือไม่ ขณะที่สุวรรณ วลัยเสถียร ยังมีการทำคู่มือมาช่วยโชห่วย ส่วนเนวิน ชิดชอบ ก็มาทำเออาร์ที (อ่านข่าวประกอบ เนวินใช้เออาร์ทีสร้างฐานอำนาจ)

ขณะที่บางคนมองว่าการที่กฎหมายค้าปลีกยังไม่ยอมคลอดนั้นเป็นฝีมือของกลุ่มซีพี แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่า ปัญหาของพ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง ที่ยังไม่สามารถคลอดได้ในเวลานี้อาจเป็นเพราะการไม่สามารถประสานประโยชน์ได้อย่างลงตัวทั้งของผู้ประกอบการร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ กับร้านค้าปลีกรายเล็กๆ ที่ฝ่ายหนึ่งบอกว่าต้องมีกฎ กับอีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธกฎ

มีพาศน์ โปตระนันทน์ นักวิชาการอิสระ กล่าวในฐานะอดีตกรรมการกฤษฎีกา ว่า พ.ร.บ.ประกอบการค้าปลีกค้าส่งที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกานั้นหากเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติคงต้องมีการแปรญัตติในหลายๆส่วน เพราะปัญหาในแง่กฎหมายของพ.ร.บ.ชุดนี้มีอยู่ค่อนข้างมาก รวมทั้งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในแง่สังคมและเศรษฐกิจ จุดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ การมองค้าปลีกสมัยใหม่เป็นผู้ร้ายชนิดต้องฆ่าให้ตาย ทั้งๆที่เขาเป็นเพียงผู้ประกอบการในธุรกิจแขนงหนึ่งเท่านั้น

“กฎหมายฉบับนี้ดูแล้วว่าจะเป็นการช่วยเหลือพวกโชห่วยหรือซัปพลายเออร์มากเกินไป และเป็นการข่มเหงโมเดิร์นเทรดให้เหลือน้อยลง ทำให้การแข่งขันของกลุ่มนี้ลดความรุนแรง เมื่อเป็นเช่นนั้นในอนาคตจะทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นร้านโชห่วยจึงทำให้เป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูง ขณะที่ประเทศอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยการค้าปลีกอย่างเสรีจึงทำให้มีห้างที่สามารถขายสินค้าได้ในราคาถูกมาก เช่น ห้างวอลมาร์ท ประชาชนจึงมีโอกาสได้ใช้สินค้าราคาถูก ค่าครองชีพในสหรัฐฯจึงไม่สูงมาก “

จนถึงเวลานี้หลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็น สมาคมผู้ประกอบการค้าปลีก สมาพันธ์คนไทยต้านค้าปลีกต่างชาติ และอื่นๆกำลังรอกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการผลักดันร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ.... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกายังมีความล่าช้า ทั้งที่เนื้อหาของกฎหมายมีทั้งสิ้น 66 มาตรา แต่การพิจารณายังติดอยู่ที่มาตรา 4 เรื่องคำนิยามของธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง โดยเห็นว่าหากยังมีความล่าช้าต่อไป เกรงว่ากฎหมายจะออกใช้ไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ และต้องรอการพิจารณาใหม่ในรัฐบาลชุดหน้า ชุดหน้า และชุดหน้า

พ.ร.บ.คุมน้ำเมาลดดีกรีความ”เข้ม”

แม้ว่ากม.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่พิจารณามาตราสำคัญคือ 31-34 ที่ว่าด้วยการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะชี้ขาดออกมาในรูปแบบไหน แต่กว่า พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะผ่านขั้นตอนพิจารณาในขั้นตอนต่างๆมาจนถึงวันนี้ ก็ส่งผลทำให้วงการธุรกิจต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องนั้น ต้องมานั่งใจจด ใจจ่อ รอลุ้นกันว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งด้านลบและด้านบวก

ที่ผ่านมาระลอกแรก พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2549 เคยเป็นวันบังคับใช้ คำสั่งห้ามโฆษณาของคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แต่มีการตีความกันว่า อย.มีอำนาจประกาศห้ามโฆษณา ดังนั้นทำให้การประกาศห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหมายถึงการสื่อสารทางการตลาด การประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการขาย การแสดงสินค้า หรือแม้กระทั่งการจัดงานชิม ถูกเลื่อนออกไป และในที่สุดถูกส่งมาทบทวนใหม่อีกครั้ง

สำหรับร่างพ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่นั้น มีแนวโน้มไปทางที่ดีและผ่อนปรนลงจากพ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2549 ซึ่งช่วยลดบรรยากาศความตึงเครียดให้กับบรรดาผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ลดลงได้ เพราะไม่คุมโฆษณา24 ชม. แต่ยึดตามกฎกระทรวงเดิม โฆษณาได้ตั้งแต่ 22.00-05.00น. และแบ่งโฆษณาออกเป็น 2 ช่วง คือ ภาพยนตร์โฆษณาช่วง 22.00 น. สามารถโชว์โลโก้ได้ประมาณ 5 วินาที และหลังเที่ยงคืน สามารถโชว์มาร์กช็อตได้ประมาณ 30 วินาที ส่วนการโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์เห็นขวดเหล้าได้ แต่ห้ามมีพรีเซนเตอร์เชิญชวน ขณะที่ป้ายโฆษณาต้องลดขนาดลง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ค่ายผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ธุรกิจโฆษณาสมาคมโรงแรม ภัตตาคารและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากพ.ร.บ.ได้รวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวเพื่อรับให้การสนับสนุนและยินดีปฏิบัติตามร่าง พ.ร.บ.นี้

ทว่าช่วงรอยต่อที่พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังอยู่ระหว่างลูกผี ลูกคน ส่งผลทำให้นโยบายการวางกลยุทธ์การตลาดของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่นั้นจะปรับรูปแบบการทำการตลาด ซึ่งทำให้การแข่งขันที่ใช้การสื่อสารการตลาดผ่านสื่อในระดับแมส ลดอุณหภูมิความร้อนแรงลดลงทันที

ส่วนบทบาทของ การทำตลาดในรูปแบบบีโลว์เดอะไลน์ หรือกิจกรรมการตลาดที่จัดในรูปแบบอีเวนต์ตามสถานบันเทิง ร้านอาหาร ผับ บาร์ กลับสวนกระแสเติบโตพรวดพราดขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ ในแต่ละบริษัทมีโปรเจกต์จัดงานอีเวนต์ สำหรับโปรโมตสินค้าออกมาแบบที่ไม่น้อยหน้ากัน

อีกทั้ง ปรับเปลี่ยนสีโลโก้ให้มีสีสันที่สื่อถึงตัวผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นค่ายเบียร์ช้างที่หันมาขณะที่ค่ายไฮเนเก้น สื่อสารผ่านทางสีเขียวและสัญลักษณ์ดาวแดง ภายใต้กลยุทธ์คัลเลอร์ แบรนด์

ยิ่งกว่านั้น การตลาดเพื่อสังคม หรือ CSR (Corporate social responsibility) เป็นรูปแบบวิธีการทำตลาดของค่ายเหล้า เบียร์ ที่ส่งมาแก้เกมในยุคนี้

หลายบริษัทเริ่มเปิดแคมเปญกิจกรรมที่เป็นโครงการเพื่อสังคมนานารูปแบบ นำร่องล่วงหน้าไปก่อน รวมทั้งหาช่องว่างที่พ.ร.บ.ไม่ได้ข้อกำหนด โดยหันมาให้ความสำคัญด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เข้าเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันกีฬาฟุตบอล การแข่งขันกอล์ฟ ถ่ายทอดสดยิงสัญญาณตรงมาที่ประเทศไทย

เมื่อเร็วๆนี้ ทางไทยเบฟเวอเรจ ก็ออกมาแถลงนโยบายในปีนี้ ที่จะเน้นการทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น โดยได้เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ Thai Bev Social Contribution เพื่อเป็นการรองรับพระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์ ที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคต พร้อมทั้งเปลี่ยนโลโก้บนผ้าห่มใหม่เป็น "ไทยเบฟ...ร่วมใจต้านภัยหนาว" จากเดิมที่ใช้ "เบียร์ช้าง...ร่วมใจต้านภัยหนาว ส่วนมุมมองที่มีต่อพ.ร.บ.ใหม่ของค่ายเหล้านำเข้า ตระกูลจอห์นนี่ วอล์คเกอร์ และเบนมอร์

วิมลวรรณ อุดมพร รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิอาจิโอ

เฮนเนสซี่ ประเทศไทย หรือ DMHT ให้ความคิดเห็นของ เกี่ยวกับร่าง พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า ธุรกิจทุกประเภทควรมีการแข่งขัน เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าผู้บริโภค เพื่อให้สินค้ามีการพัฒนาและมีคุณภาพที่ดี ในส่วนของลูกค้าก็มีทางเลือกได้ตรงตามความต้องการของตน

การโฆษณาคือการทำ Branding จึงทำให้เกิดการแข่งขันซึ่งเน้นที่คุณภาพ ไม่ใช่ราคา สินค้าที่มีการทำโฆษณาจึงต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ หรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเพื่อสามารถแข่งขันได้ในตลาด โดยมี Branding ที่ดี

ทั้งนี้หากไม่ให้มีการโฆษณา สินค้าต่างๆ จะไปแข่งขันด้านราคาแทนการแข่งขันด้านคุณภาพ เพราะไม่จำเป็นต้องสร้าง Brand อีกต่อไป สินค้าที่มีคุณภาพจะหายไป และถูกทดแทนด้วยสินค้าที่ไม่มี Brand และไม่มีคุณภาพซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภค

นอกจากนั้น หากเกิดสงครามราคา จะส่งผลให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน และผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และในกรณีของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งควรป้องกันไม่ให้เยาวชนบริโภคนั้น DMHT เห็นว่าควรให้มีการควบคุมการโฆษณา ทั้งเนื้อหา เวลา และสื่อโฆษณา โดยให้มีโฆษณาได้ในระดับที่เยาวชนได้รับการคุ้มครอง

ส่วนแนวโน้มการอนุญาตให้มีโฆษณาได้ในช่วงเวลาเฉพาะ (22.00 – 05.00 น. หรือ 02.00 – 05.00 น. ยังไม่สรุป) โดยห้ามไม่ให้เห็น Pack shot ของผลิตภัณฑ์นั้น ไม่เอื้อต่อธุรกิจและไม่เกิดประโยชน์ในการทำโฆษณารัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นไปในทิศทางใด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้

แต่หากในกรณีที่มีการควบคุมโฆษณาทุกรูปแบบ DMHT จำเป็นต้องปรับตัวตามนโยบายของรัฐบาล โดยปรับยุทธศาสตร์การทำตลาดสำหรับสินค้าที่มี Branding โดยเน้นเจาะตลาดเข้าถึงผู้บริโภคแบบตรงตัว และหากมีกฎหมายที่มีข้อจำกัดมากขึ้นก็จำเป็นต้องเตรียมนำสินค้าราคาถูกมาจำหน่ายเพื่อแข่งขันตามกลไกตลาด รองประธานกรรมการบริหาร DMHT กล่าว

ทั้งนี้ ใครได้ ใครเสีย สำหรับพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่นั้น มีมุมมองแสดงความคิดเห็นจากคนในวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า นอกจากพ.ร.บ.ใหม่กระทบภาพรวมธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้ง อุตสาหกรรมโฆษณาที่สูญเสียเม็ดเงินไปหลายพันล้านบาท การท่องเที่ยว โรงแรม ทัวร์ ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก และพนักงานพีจี หรือสาวเชียร์เบียร์ ที่มีอยู่ประมาณ 3 หมื่นคน

ส่วนเม็ดเงินเงินปีละประมาณ 200 ล้าน ที่หายไปจากการควบคุมโฆษณา ห้ามไม่ให้บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สนับสนุนกีฬาประเภทต่างๆจากที่เคยเป็นผู้สนับสนุนหลักนั้น มีการเสนอแนะทางออกกันว่า ให้เก็บการจัดเก็บภาษีตามดีกรีของแอลกอฮอล์

นั่นหมายถึงการเพิ่มภาษีเหล้าขาว ที่ปัจจุบันเป็นเหล้าที่มีดรีกรีสูงแต่เสียภาษีต่ำมาก โดยเสนอแนวทางภาษีเพิ่มอีกร้อยละ 2 หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท ก็จะสามารถนำมาพัฒนาวงการกีฬา และนั่นอาจเป็นเรื่องใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไปของ ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังจากพ.ร.บ.ควบคมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับนี้ผ่านไปได้ดี

แนวทางการขึ้นภาษี ถ้ามีการโฟกัสไปที่การเก็บภาษีเหล้าขาวเพิ่มนั้น จะสอดคล้องกับการให้ความเห็นของ สันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตเบียร์สิงห์ ลีโอ และไทเบียร์ เคยกล่าวว่า

“กฎข้อห้ามต่างๆที่กำหนดขึ้นมาในพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะไม่ส่งผลต่อเหล้าขาวที่ยังมียอดขายโตวัน โตคืนโดยไม่ต้องอาศัยสื่อโฆษณา และหากพ.ร.บ.บังคับใช้ปีแรกจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดรวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่คาดว่าตลาดจะไม่มีอัตราการเติบโต ขณะที่ตลาดเหล้าขาวยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้ตลาดจะขยับเป็นมากกว่า 550 ล้านลิตร จากเมื่อปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโต 17.8% หรือเชิงปริมาณเพิ่มเป็น 500 ล้านลิตร จากปี 2548 ตลาดเหล้าข้าว 400ล้านลิตร ซึ่งปัจจุบันบริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้ครองตลาดในสัดส่วน 96% ส่วนอีก 4% เป็นรายย่อย”

ยิ่งกว่านั้น การควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย ด้วยห้ามโฆษณานั้น อาจเปลี่ยนสภาพตลาดไปจากปัจจุบันทำให้ แต่ละบริษัทหันมาเล่นกลยุทธ์ทางด้านลดราคาเข้ามาสร้างกลไกตลาดทดแทน และเพื่อดึงดูดใจให้เลือกแบรนด์ของตนเองไปดื่มสร้างยอดขายให้เป็นไปตามเป้ายอดขายของบริษัท และเมื่อราคาต่ำลงแล้ว ก็ยิ่งจูงใจให้คนมาดื่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันยังมีการจัดสัมมนากันหลากหลายเวที ทั้งฟากที่มองเห็นด้านลบโดยเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และผู้ได้รับผลกระทบหากพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านฉลุย

สมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย จะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมไวน์ไทยมูลค่า 400 ล้านบาท หรือประมาณ 860,000 ขวดต่อปี ที่เริ่มดำเนินการได้เพียง 15 ปี และมีการส่งออกเพียง 7-8 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นที่ต้องอาศัยการสร้างแบรนด์ และหากไวน์ไทยเสียเปรียบในการทำตลาด จะส่งผลดีต่อสำหรับไวน์นำเข้า มียอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมต่อปีที่มีการนำเข้าไวน์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท หรือประมาณ 10 ล้านขวดนั้น จะเพิ่มสูงขึ้นอีก 400 ล้านบาท จากตัวเลขของไวน์ไทยที่จะต้องเลิกกิจการ

ในส่วนสมาคมโรงแรมไทยจัดสัมมนา ถึงผลกระทบพ.ร.บ.แอลกอฮอล์ ที่เกี่ยวโยงไปถึงภาคธุรกิจท่องเที่ยวต้องมีอันซบเซาลงไปอีกด้วย และแม้ว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่มีผลออกมาอย่างชัดเจนก็ทำส่งผลทำให้ตัวเลขภาพรวมของธุรกิจโรงแรมช่วง 2 เดือนแรก ปีนี้มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศลดลง 4-5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในกรุงเทพฯภาพรวมแล้วลดลงกว่า และเชื่อว่าหากพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้จะมีผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวอย่างแน่นอน จะส่งผลกระทบถึงรายได้ของประเทศที่จะเกิดกับการท่องเที่ยว

ประเด็นต่อมา ยังกล่าวถึงข้อกำหนดพ.ร.บ.ที่กำหนดระยะที่ตั้งของจุดจำหน่ายต้องห่างจากวัดและสถานศึกษามองว่าในบางจังหวัดโดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ โรงแรม วัด และสถานศึกษาเกือบจะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งเป็นการก่อสร้างที่มีมานานแล้วก่อนกฎหมายบังคับใช้เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่พบว่าโรงแรมจะอยู่ติดวัดและโรงเรียนเพราะพื้นที่มีจำกัด อย่างไรก็ตาม มีการให้ข้อคิดเห็นว่า การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มและแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชน และเวลาในการจำหน่าย กับระยะห่างจากเขตจำหน่ายถึงสถานที่วัด และโรงเรียนนั้น ควรจะมีข้อยกเว้นบ้างตามแหล่งท่องเที่ยว เสียรายได้

อีกทั้งการกำหนดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยว และต้องการความสนุกสนาน สะดวกสบายเพื่อการพักผ่อนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่นิยมดื่มเบียร์ตลอดทั้งวัน หากกำหนดการจำหน่ายเป็นเวลานักท่องเที่ยวอาจไม่พอใจหรือเบื่อหน่ายในการมาท่องเที่ยว ซึ่งถ้าปล่อยนานวันก็จะหันไปเที่ยวประเทศอื่นที่เป็นคู่แข่งของประเทศไทยแทนอย่าง ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ที่ไม่มีกฎหมายข้อนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้รายได้จากการขายเครื่องดื่มของโรงแรมส่วนใหญ่มีสัดส่วนเพียง 5% ของรายได้รวมเท่านั้น แต่สิ่งที่จะเสียหาย คือ ความเบื่อหน่ายของนักท่องเที่ยวที่จะมีต่อประเทศไทย

โค้งสุดท้าย ก่อนลงมติยังมีการเชิญตัวแทนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในวงการสาขาอาชีพต่างๆเข้ามาแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนทางด้านลบที่เกิดขึ้นจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยท่านเจ้าคุณอุดมประชาธร (พระอลงกต ติกขปัญญา) เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อเอดส์ 80% มีต้นเหตุเกี่ยวมาจากการดื่มเหล้าอย่างชัดเจน เพราะเป็นสูตรสำเร็จที่ กินเหล้า แล้วไปเที่ยวและมีเพศสัมพันธ์สุดท้ายทำให้ติดเชื้อเอดส์

ขณะที่เด็กวัยรุ่นก็กลายเป็นผู้ติดเชื้อมากขึ้นและมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งเด็กผู้หญิงจะเริ่มจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำ แล้วค่อยๆ เพิ่มดีกรีมากขึ้น โดยวัยรุ่นทั้งชายหญิงมักจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อที่เห็นในโฆษณาทางโทรทัศน์ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมาก

ทั้งนี้งานวิจัย การห้ามโฆษณาจะไปช่วยลดนักดื่มหน้าใหม่ เพราะสถิติการดื่มเหล้าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (2539-2546) นักดื่มหน้าใหม่อายุระหว่าง 11-19 ปี ดื่มเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าหรือ 1.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 32 ของประชากรในวัยเดียวกัน

ส่วนตัวแทนจาก มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า เหตุความรุนแรงในครอบครัว กว่าครึ่งเกิดจากผู้ชายดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วทำร้ายภรรยาและลูกเมียตัวเอง จึงไม่ควรเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่ด้วยการโฆษณา รวมทั้ง ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเพราะคนในครอบครัวต้องมาจบชีวิตลงเพราะเหล้า โดยยืนยันว่าการโฆษณามีผลในการชักจูงมอมเมาให้เยาวชนดื่มเหล้า


ส.พัฒนาผู้บริโภค-ม.ราม ยำใหญ่กม.ค้าปลีกค้าส่ง

ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาสมาคมพัฒนาผู้บริโภคไทย ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเวทีสัมมนาสาธารณะเรื่อง “ผ่ากฎหมายค้าปลีกค้าส่ง : สู่ประโยชน์ผู้บริโภค” ซึ่งสมาคมฯ ได้เสนอให้ปรับปรุงเนื้อหาบางประเด็นของร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง เช่น

1.เรื่องของเขตการบังคับใช้กฎหมาย ต้องอยู่บนหลักของความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.จึงควรคำนึงถึงประโยชน์ของทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการรายเล็ก ผู้ประกอบการรายใหญ่ และสังคมโดยรวมด้วย ดังนั้นในร่างฯจึงไม่ควรมีแนวทางที่จะคุ้มครองผู้ประกอบการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ควรพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดจากการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่กระทบกับสังคมส่วนใหญ่ และควรส่งเสริมให้มีการแข่งขันโดยเสรีเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดได้ เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค เพราะหากมีการจำกัดอย่างเข้มงวด อาจทำให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่ทำกิจการอยู่แล้วผูกขาดทางการค้าเพราะไม่มีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาในตลาด และจะส่งผลร้ายแก่ผู้บริโภคและสังคมได้

โดยในการควบคุมของร่าง พ.ร.บ. จึงควรเข้าควบคุมเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่ตั้งแต่ 350 ตารางเมตรขึ้นไป อันจะทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้ และไม่ก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ประกอบการที่ใช้พื้นที่ขนาดเล็ก อีกทั้งจะเป็นการลดปัญหาเวลาและค่าใช้จ่าย ในเรื่องการเข้าไปตรวจสอบควบคุมหรือให้อนุญาตในกรณีต่างๆทางกฎหมาย

2.การใช้อำนาจของคณะกรรมการกลางกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (กกค.) และคณะกรรมการระดับจังหวัด (กจค.) ซึ่งการมีอำนาจของคณะกรรมการทั้ง กกค. และ กจค. นั้นหากมีการใช้อย่างกว้างขวางโดยไม่มีประกาศหรือกำหนดมาตรฐานใดๆ ขึ้นมาล่วงหน้าแล้วจะทำให้ผู้ประกอบการตกอยู่ในภาวะเสี่ยง กับการผันแปรที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถวางแผนงานทางธุรกิจได้ถูกต้อง ก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกัน อีกทั้งยังเป็นหนทางในการใช้อำนาจไปในทางมิชอบได้โดยง่าย

นอกจากนี้การใช้อำนาจของ กจค. นั้นในการพิจารณาอาจไม่มีบุคลากรหรืองบประมาณที่เพียงพอจะทำการศึกษาผลกระทบตลอดจนความเหมาะสมเกี่ยวกับการออกเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติ ซึ่ง กจค. ควรทำหน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษาให้คำเสนอแนะแก่ กกค. ประกอบกับการรวบรวมหลักฐานข้อมูลเพื่อให้ กกค. ใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อให้อยู่บนพื้นฐานมาตรฐานเดียวกัน และเพื่อประหยัดงบประมาณและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

3.การแต่งตั้ง กกค. จะเห็นได้ว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการจำนวน 19 คน ตามมาตราที่ 7 ของพ.ร.บ. นั้นจะเห็นได้ว่ามีการแต่งตั้งกรรมการจากหน่วยงานราชการถึง 11 คน และกรรมการทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน จึงมีเพียงคณะกรรมการจากภาคเอกชนเพียง 5 คน ทำให้ไม่สมดุลกัน และอาจทำให้การพิจารณาไม่สามารถเข้าใจถึงสภาพของธุรกิจอย่างแท้จริงได้ จึงต้องปรับปรุงให้กรรมการมาจากภาคประชาคม หรือเอกชนควรมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

4.บทเฉพาะกาลตามที่หลักเกณฑ์ของกฎหมายนั้น ไม่ควรนำเอากฎหมายดำเนินที่แก้ไขใหม่ไปย้อนหลังใช้บังคับผู้ประกอบการที่มีอยู่เดิม จึงควรให้สิทธิ์ผู้ประกอบการตามเดิม ไม่ใช่ทำตามมาตรา 65 ของร่าง พ.ร.บ.ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งก่อนหรือในวันที่ออกกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะต้องยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจภายใน 90 วัน

5.การลงโทษ การให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่หน่วยงานเดียว หรือ กกค. ในการออกกฎหมายดำเนินการ และทำหน้าที่เยี่ยงตุลาการแต่เพียงผู้เดียว อาจก่อให้เกิดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมได้ เพราะผู้ออกหมาย ผู้ปฏิบัติการ และผู้ตัดสินลงโทษเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน

6.การออกกฎหมายนี้ มีลักษณะซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นโดยเห็นว่าบางส่วนมีหลักเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นๆ เช่น เรื่องการแข่งขันทางการค้า การให้และการขออนุญาตต่างๆ ที่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายผังเมือง การกำหนดเรื่องสินค้าอันตราย การกำหนดของข้อมูลสินค้าที่บิดเบือน และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายว่าด้วยสินค้าและบริการ กฎหมายส่งเสริมและลักษณะคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

เนวินใช้เออาร์ทีสร้างฐานอำนาจ

การรุกขยายตัวอย่างรวดเร็วของดิสเคานต์สโตร์ข้ามชาติ ทำให้รัฐบาลเป็นห่วงถึงความอยู่รอดของค้าปลีกท้องถิ่นรายย่อยที่เรียกว่าโชห่วย เพราะการล่มสลายของโชห่วยทั่วประเทศที่มีเหลืออยู่กว่า 200,000 รายจากเดิมมีมากกว่า 300,000 ราย นั้น จะมีผลกระทบมากต่อรากฐานทางเศรษฐกิจของชาติ ด้วยนโยบายของรัฐที่ต้องการจะรักษาโชห่วยที่มีอยู่กว่าสองแสนรายไว้ จึงเกิดบริษัท ART (Allied Retail Trade) หรือบริษัท รวมค้าปลีกเข้มแข็ง จำกัด ขึ้น

เออาร์ทีมีผู้ถือหุ้นก่อตั้งรายใหญ่สองรายคือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ถือหุ้น 51% และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บอย.) ถือหุ้น 49% เออาร์ทีจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรับคำสั่งซื้อจากโชห่วยทั่วประเทศที่เป็นสมาชิกซึ่งด้วยการรวมคำสั่งซื้อจำนวนมาก ทำให้เออาร์ทีมีอำนาจต่อรองกับซัปพลายเออร์สามารถจัดซื้อสินค้าป้อนให้โชห่วยที่เป็นสมาชิกในราคาที่สามารถแข่งขันกับดิสเคานต์สโตร์ข้ามชาติได้

นอกจากนั้น เออาร์ทียังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางพัฒนาการจัดการโชห่วยให้เป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ด้วยการจัดฝึกอบรม สัมมนา รวมทั้งการดำเนินการทางการตลาดให้แก่โชห่วยที่เป็นสมาชิก การดำเนินการเออาร์ทีในช่วงก่อตั้ง อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ เนวิน ชิดชอบ จะเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกต่างๆเพื่อให้การก่อตั้งเออาร์ทีสำเร็จโดยราบรื่น การที่ภาครัฐเข้ามาร่วมรับผิดชอบในช่วงก่อตั้งนี้จะอำนวยประโยชน์ให้แก่โชห่วยที่เป็นสมาชิกหลายเรื่อง เช่น เรื่องภาษี ซึ่งทำให้โชห่วยที่เป็นสมาชิกที่ในอดีตอาจจะเสียภาษีไม่ถูกต้องนั้น เมื่อมาเป็นสมาชิกและเข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง ไม่ต้องเสียภาษี ย้อนหลัง

ด้วยข้อตกลงระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง สำหรับการดำเนินการในภาคปฏิบัติเต็มรูปแบบนั้น เอกชนจะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด โดยผู้บริหารเออาร์ทีล้วนมาจากภาคเอกชนทั้งสิ้น

เออาร์ทีได้รับเงินจากผู้ถือหุ้นสองรายรวม 395 ล้านบาท ประมาณ 245 ล้านบาท จะใช้ในการจัดการสร้างระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ โดยการดำเนินการเพื่อพัฒนาค้าปลีกรายย่อยที่เป็นสมาชิกในเรื่องการจัดการที่ทันสมัยด้วยการฝึกอบรมและสัมมนานั้น เออาร์ทีจะจัดทำให้กับโชห่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สำหรับรายได้ของเออาร์ทีจะหักไม่เกิน 1% เป็นค่าบริการจากยอดสั่งซื้อระหว่างร้านค้าปลีกรายย่อยกับซัปพลายเออร์ เออาร์ทีมีแผนปฏิบัติการ 3 ปี ปีแรก จะดำเนินงานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบงาน พัฒนาระบบจัดซื้อ พัฒนาระบบร้านค้าแฟรนไชส์ และมีเป้าหมายสมาชิกไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย

ในปีที่สอง จะดำเนินการพัฒนาระบบตลาดและโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ และสินค้าสำหรับสมาชิก รวมทั้งสร้างนักลงทุนใหม่ๆ มีเป้าหมายสมาชิกไม่ต่ำกว่า 50,000 ราย ปีที่สาม มุ่งพัฒนาสมาชิกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และมีเป้ามายสมาชิกไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย

สำหรับสินค้าเริ่มแรกที่จะส่งให้สมาชิกนั้นจะมี 300 รายการ ล้วนเป็นสินค้าที่เป็นที่นิยมของตลาด การจัดส่งสินค้าให้แก่สมาชิก เออาร์ทีจะจัดส่งให้ถึงที่ โดยอาศัยบริการจัดส่งของเอกชน และหน่วยรถของซัปพลายเออร์บางราย ที่มีขีดความสามารถในการจัดส่งสินค้าสูง ส่วนเออาร์ทีจะไม่เป็นผู้สต๊อกสินค้าเอง หรือไม่มีหน่วยรถจัดส่งสินค้าของตนเอง นอกจากนั้น ยังจะมีการจัดตั้งร้านค้านำร่อง 2,000 ร้านค้า สำหรับร้านค้าที่สนใจสมัครเป็นร้านค้านำร่อง เออาร์ที จะจัดการตกแต่งร้านค้าและปรับปรุงระบบการจัดการภายในร้านค้าให้ทันสมัยโดยทางร้านค้าจะเสียค่าใช้จ่ายบางส่วน ถ้าเออาร์ทีสามารถดำเนินการบรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการ 3 ปี เออาร์ทีจะมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 160,000 ราย

นั่นคือแผนงานที่ภาครัฐฝันว่าจะให้เป็น แต่เอาเข้าจริงเออาร์ทีกลับสะดุดและหัวทิ่มบ่อในที่สุด

ปัญหาของเออาร์ทีก็คือ ปัญหาสินค้าเสียระหว่างการจัดส่ง ปัญหาการกระจายสินค้าที่มีต้นทุนสูงกว่า เนื่องจากเออาร์ทีจะมีการแยกสินค้าจากกล่องใหญ่มาเป็นชิ้นย่อยๆ ประมาณ 3-6 ชิ้น เพื่อกระจายให้ร้านค้าปลีกในแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญเออาร์ทีต้องจ้างบุคลากรคนละ 1.5 หมื่นบาทจำนวน 75 คนเพื่อประจำอยู่ตามหอการค้าแต่ละจังหวัด (ขณะนั้นประเทศไทยมี 75 จังหวัด) เพื่อช่วยคีย์สินค้าเข้าคอมพิวเตอร์

สำหรับเหตุผลลึกๆที่ เนวิน พยายามเข้ามาลุยโครงการเออาร์ทีนั้น แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ บอกกับ “ผู้จัดการายสัปดาห์” ว่า เพราะเขาอยากสร้างผลงาน และเขาอยากได้คะแนนเสียงจากร้านโชห่วย เพราะหากงานนี้สำเร็จก็เท่ากับว่าเขาได้ช่วยเหลือโชห่วยทั่วประเทศที่มีอยู่นับแสนรายให้สามารถอยู่รอดได้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us