|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ตลาดหลักทรัพย์ฯ วาดฝันมาร์เกตแคปปีนี้แตะ 7 ล้านล้าน เชื่อปี 53 มาร์เกตแคปโตเท่าจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ 75-80% "ภัทรียา" ระบุตั้งแต่ต้นปีบริษัทจดทะเบียนใหม่มีมาร์เกตแคปรวมเกือบแสนล้าน เผยไม่อยากปรับลดเป้าบจ.ห่วงกระทบความมั่นใจบริษัทที่เตรียมระดมทุน ด้าน ก.ล.ต. หนุนเชื่อมตลาดหุ้นต่างประเทศ เปิดช่องให้บริษัทไทยในต่างประเทศกลับเข้ามาระดมทุนได้ง่ายขึ้น ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือไต้หวัน ศึกษาจดทะเบียนดูอัล ลิสติ้ง ETF เพื่อเพิ่มสินค้าให้นักลงทุน คาดพร้อมเปิดซื้อขาย 2 ตลาดภายในปีนี้
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่ตั้งเป้ามาร์เกตแคปตลาดหลักทรัพย์ในปี 2553 จะเท่ากับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จากปัจจุบันที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้มาร์เกตแคปปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 6.5 ล้านล้านบาท หรือ 75-80% ของ GDP ซึ่งปรับเพิ่มจากก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่เพียง 60% ของจีดีพี และมีความเป็นไปได้ที่มาร์เกตแคปในช่วงสิ้นปีจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ แม้ว่าช่วงที่ผ่านมามาร์เกตแคปตลาดหลักทรัพย์ฯจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากแต่เป็นการปรับขึ้นจากราคาหุ้น ซึ่งที่จริงแล้วตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากให้การปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องทั้งราคาหุ้นและจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่ควรจะต้องเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับมูลค่ามาร์เกตแคปของบริษัทจดทะเบียนใหม่ที่เข้ามาระดมทุนในปีนี้ตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 9.7 หมื่นล้านบาท โดยตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างการหารือกับบริษัทที่สนใจจะเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่ามีความพร้อมที่จะเข้าจดทะเบียนหรือไม่อย่างไร ส่วนการประชุมของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเรื่องเป้าหมายบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนว่าจะมีการปรับลดลงหรือไม่นั้น ส่วนตัวยังหวังว่าจะคงเป้าเดิมเนื่องจากหากมีการเปลี่ยนแปลงอาจจะส่งผลต่อความมั่นใจของบริษัทที่เตรียมจะเข้ามาระดมทุน
"เราไม่อยากจะปรับลดเป้าบจ.เพราะอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของบริษัทที่จะเข้ามาระดมทุน แต่เรื่องดังกล่าวจะต้องพิจารณาหารือร่วมกับคณะกรรมการอีกครั้งว่าจะสรุปออกมาอย่างไร" นางภัทรียา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ สนับสนุนให้บริษัทที่ต้องการระดมทุนเพิ่มนำไปขยายธุรกิจเข้ามาระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นเกิดต่อระบบเศรษฐกิจจริง เพราะปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจโดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีค่อนข้างมาก
นางภัทรียา กล่าวอีกว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงที่ผ่านมาค่าพีอีเรโชปรับเพิ่มขึ้นทำให้ส่วนต่างระหว่างตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นต่างประเทศแคบลงมาอยู่ที่ประมาณ 2-3 เท่า จากเดิมที่ห่างถึงมากกว่า 5 เท่า ขณะที่อัตราหนี้สินต่อทุน หรือดีอี เรโช ปัจจุบันปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากจากก่อยวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5 เท่ามาอยู่ที่ 1.1 เท่า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนนั้นเอง
ทั้งนี้ จากตัวเลขการะดมทุนโดยการกู้จากสถาบันการเงินปัจจุบันอยู่ในระดับประมาณ 70% เมื่อเทียบกับ GDP ขณะที่การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 65% ของ GDP และการระดมทุนโดยออกพันธบัตรอยู่ที่ประมาณ 60% ของ GDP ซึ่งในส่วนของการออกพันธบัตรในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและเริ่มมีเสถียรภาพน่าจะส่งผลทำให้บริษัทจดทะเบียนมาการออกพันธบัตรมากขึ้นได้ในอนาคต
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึง แผนงานการเชื่อมโยงตลาดทุนไทยกับต่างประเทศ ว่า สำนักงานก.ล.ต.ต้องการเชื่อมโยงระหว่างตลาดทุนกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ การหารือกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่จะให้มีการนำสินค้ามาซื้อขายระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีระหว่างตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 2 แห่งเนื่องจากนักลงทุนไทยสามารถมีทางเลือกในการลงทุนได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่อยู่ระหว่างเตรียมที่จะเปิดซื้อขาย กองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ (ETF) มีแผนที่จะนำสินค้า ETF ของไทยไปจดทะเบียนในต่างประเทศใน ขณะเดียวกันจะนำ ETF ของตลาดหุ้นในต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้
นอกจากนี้ การขยายการลงทุนและการส่งเสริมให้มีการเข้ามาใช้ตลาดทุนเพื่อระดมทุนเป็นอีกแนวคิดที่ก.ล.ต.ให้ความสำคัญโดยที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสให้บริษัทไทยในต่างประเทศแถบเอเชียอาคเนย์ 10 ประเทศที่มีการจำกัดว่าจะต้องเป็นบริษัทร่วมทุนทุนไทยในต่างประเทศ (Joint Venture) สามารถนำบริษัทที่ไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศเข้ามาระดมทุนในประเทศเพื่อนำเงินออกไปขยายกิจการในต่างประเทศได้
ทั้งนี้ ในอนาคตอาจจะมีการขยายขอบเขตของบริษัทไทยที่ไปประกอบธุรกิจในต่างประเทศให้ครอบคลุมในปลายประเทศมากขึ้นที่สามารถนำบริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทย โดยการระดมทุนอาจจะเป็นการขายหุ้น หรือการออกพันธบัตรเพื่อนำไปสร้างโรงงานหรือลงทุนในต่างประเทศได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้อนุมัติวงเงินในการระดมทุนขั้นต้น 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
"เราอาจจะขยายให้ครอบคลุมในหลายประเทศมากขึ้น แต่คงต้องพิจารณาอีกครั้งเพราะหากเปิดจนหมดก็ไม่มีความจำเป็นเพราะประเทศที่อยู่ไกลเค้าก็ไม่เข้ามาจดทะเบียนกับเราอยู่ดี" นายธีระชัย กล่าว
นางภัทรียา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันในการที่จะนำกองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ (ETF) เข้ามาจดทะเบียนซื้อขายแบบ 2 ตลาด หรือดูอัล ลิสติ้ง (Dual Listing) ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถที่จะเปิดมีการซื้อขาย ETF ระหว่างตลาดหุ้นไทยและไต้หวันได้ภายในปีนี้ หลังจากที่นำ ETF เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นไทย
สำหรับการทำ ดูอัล ลิสติ้ง ETF นั้น ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการที่จะส่งเสริมให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ และปัจจุบันตลาดหุ้นในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และเกาหลี มีการทำดูอัล ลิสติ้ง ETF แล้ว ขณะที่กระบวนการทำงานในการทำ ดูอัล ลิสติ้ง ETE กับตลาดไต้หวันจะทำได้สะดวกจากก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันในเรื่องการสนับสนุนได้อนุพันธ์
"เมื่อ ETF เข้าเทรดในตลาดหุ้นไทยแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯจะขอดูในเรื่องการซื้อขายว่าจะเป็นอย่างสักระยะหนึ่งก่อน แล้วจะมีการพิจารณานำไป ดูอัล ลิสติ้ง กับไต้หวัน ซึ่งอยากเห็นให้เกิดการทำธุรกรรมดังกล่าวในปีนี้" นางภัทรียา กล่าว
|
|
|
|
|