Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน16 กรกฎาคม 2550
สภาอุตฯ บี้แบงก์ชาติแก้บาทแข็ง ผ่อนถือดอลลาร์-เลิกสำรอง 30%             
 


   
www resources

โฮมเพจ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

   
search resources

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
Commercial and business




เอกชนถกรับมือพิษบาทแข็งร่วมพาณิชย์วันนี้ หวังรักษาระดับการส่งออก พร้อมช่วยหาตลาดใหม่รองรับ และประสานธปท.ให้ผ่อนปรนการถือครองดอลลาร์ให้ยาวเป็น 1-2 เดือนจาก 14 วันและทบทวนกันสำรอง 30% เผยบาทแข็งจาก40 บาท/เหรียญมาอยู่ที่ 33 บาท/เหรียญมูลค่าส่งออกหายไปเกือบ1ล้านล้านบาท พาณิชย์กางตำราสอนผู้ส่งออกสู้วิกฤตบาทแข็ง แนะประกันความเสี่ยงค่าเงิน ปรับคุณภาพการผลิต มุ่งเจาะตลาดใหม่ วางแผนใช้ประโยชน์ JTEPA และมุ่งลงทุนขายในต่างประเทศแทนขาย FOB อย่างเพียว “ราเชนทร์”เตรียมเสนอครม. กำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมชงตั้งกองทุน ใช้มาตรการภาษีช่วยดันเต็มที่ ยันปีนี้ เป้าส่งออก 12.5% ทำได้แน่ แม้บาทแข็ง ด้านประกันสังคมประกาศมีเงินแสนล้านบาทดูแลลูกจ้างหากตกงาน

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้(16ก.ค.) ส.อ.ท. จะมีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับทิศทางการส่งออกและปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นโดยต้องการให้ทางกระทรวงพาณิชย์ช่วยเหลือทางด้านการหาตลาดส่งออกในต่างประเทศ หรือประเทศที่สนใจเกี่ยวกับสินค้าของไทยเพื่อเพิ่มโอกาสการค้าในประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อทดแทนส่วนที่มีปัญหาจากการแข่งขันของคู่แข่งทั้งจีนและเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐทบทวนมาตรการด้านการเงินโดยเฉพาะมาตรการสำรองเงิน 30% เพื่อประกันความเสี่ยงการเก็งกำไรว่ามีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันหรือไม่ เพราะเป็นมาตรการที่ออกมานานแล้ว ซึ่งอาจจะเหมาะสมเฉพาะในช่วงเวลานั้นเท่านั้น

แหล่งข่าวจากส.อ.ท.กล่าวว่า การหารือร่วมกับพาณิชย์วันนี้เอกชนเตรียมเสนอ มาตรการระยะสั้นสกัดค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า โดยจะขอให้พาณิชย์ประสานงานไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท.ผ่อนปรนกฎในการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐยาวขึ้นเป็น 1-2 เดือน จากเดิมให้เพียง 14 วัน ขณะเดียวกัน ธปท.ควรนำเงินกองทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีสูงถึง 72,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เอาไปลงทุนในต่างประเทศ อาจจะเป็นการเข้าไปซื้ออสังหาฯหรือแหล่งน้ำมัน เหมือนที่จีนเคยทำ

นอกจากนี้ต้องการให้ประสานกับคลังเพื่อให้คืนภาษีมุมน้ำเงินให้กับผู้ส่งออกในอัตราที่เพิ่มขึ้นเมื่อก่อนเคยได้คืน 2% แต่ขณะนี้เหลือเพียง 0.5% เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องมากขึ้น ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวสามารถประกาศใช้เพียงชั่วคราว จนกว่าจะทำให้ค่าเงินบาทของไทยมีเสถียรภาพใกล้เคียงกับภูมิภาค

นายสมมาตร ขุนเศรษ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าจาก 36-37 บาท/เหรียญสหรัฐเมื่อช่วงต้นปี มาอยู่ที่ 33 บาท/เหรียญสหรัฐจะทำให้ปีนี้มูลค่าการส่งออกหายไปไม่น้อยกว่า 4.2 แสนล้านบาท จากมูลค่าส่งออกทั้งปีที่คาดว่าจะอยู่ประมาณ 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าเทียบกับเมื่อช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่ค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 40 บาท/เหรียญสหรัฐ มูลค่าการส่งออกที่หายไปเพราะปัญหาค่าเงินบาทแข็งจะสูงเกือบ 1 ล้านล้านบาท

“เอกชนมองว่าเศรษฐกิจเริ่มแย่ ไม่ได้ดีขึ้นเหมือนอย่างที่รัฐบอกว่าจะเริ่มดีขึ้นช่วงไตรมาส 3 โดยที่ผ่านมาเห็นได้จากภาษีที่กระทรวงการคลังเรียกเก็บจากธุรกิจ และภาคประชาชนลดลง สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดี หากเศรษฐกิจดีภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บจะต้องเก็บได้เพิ่มขึ้น”นายสมมาตรกล่าว

พาณิชย์กางตำราสอนผู้ส่งออก

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยถึงแนวทางในการรับมือกับปัญหาค่าเงินบาทแข็งในขณะนี้ ว่า ผู้ส่งออกจะต้องทำการประกันความเสี่ยง ซึ่งคิดว่าทุกคนก็ทำอยู่แล้ว แต่หากยังไม่ทำต้องทำ เพื่อลดความเสี่ยง รวมทั้งต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน พัฒนาบุคลากร พัฒนารูปแบบสินค้า ซึ่งรัฐพร้อมให้การสนับสนุน

ขณะเดียวกัน ควรจะหาทางขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดที่ให้คุณค่าสินค้าไทยมาก เช่น ประเทศเพื่อนบ้าน จีน อินเดีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง ซึ่งจะทำให้ขายสินค้าได้ราคาดีกว่า ต้องเสนอขายสินค้าในหลายๆ สกุลในหลายๆ ตลาด และต้องดำเนินกลยุทธ์ด้านตราสินค้าอย่างจริงจัง (แบรนด์) เพราะหากแบรนด์ติดตลาดแล้ว จะสามารถสร้างราคาได้ดีขึ้น รวมทั้ง ต้องวางแผนเร่งบุกเจาะตลาดญี่ปุ่นภายใต้ข้อตกลง JTEPA เนื่องจากจะมีผลบังคับใช้ในเดือนต.ค.นี้

“อยากให้มองวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการออกไปลงทุนต่างประเทศอย่างจริงจัง เพราะผลต่างจากราคา FOB และราคาขายปลีก มีมากขึ้นประมาณ 5 เท่า โดยเปิดธุรกิจในรูปตัวแทน สาขาโรงงาน แฟรนไชส์ และอื่นๆ ซึ่งกรมฯ มีแผนที่จะสนับสนุนในส่วนนี้อยู่แล้ว”

นายราเชนทร์กล่าวว่า จากการสำรวจในเบื้องต้น มีธุรกิจไทยออกไปประกอบการในต่างประเทศแล้ว 680 บริษัท มีสาขา 1,332 สาขา และขอสมัครขอรับการสนับสนุนจากกรมฯ โดยจะออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศอีก 195 บริษัท ซึ่งหลายๆ ธุรกิจมีความคืบหน้า เช่น แฟรนไชส์ร้านอาหาร การศึกษา อู่ซ่อมรถ สปา ซึ่งกรมฯ กำลังทำเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายแห่งชาติ โดยกำลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนนี้

สำหรับแผนการสนับสนุนนักธุรกิจไทยออกไปลงทุนต่างประเทศนั้น เบื้องต้น กรมฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลของประเทศต่างๆ ไว้ให้ โดยครอบคลุมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเข้าไปลงทุน ระเบียบ กฎหมายเป็นยังไง เกล็ดเล็กเกล็ดน้อย เช่น ควรจะเข้าไปหาใคร ติดต่อใคร สินค้าอะไร แนวโน้มตลาดเป็นยังไง ซึ่งทำไว้ให้หมด หากผู้ประกอบการรายใดสนใจจะไปทำธุรกิจต่างประเทศ ก็สามารถเข้ามาขอรับคำปรึกษาได้

“ที่สำคัญ ในการเสนอให้ครม.พิจารณานโยบายการลงทุนต่างประเทศ จะเสนอมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุน ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ การใช้มาตรการทางด้านภาษีจูงใจในการออกไปลงทุนต่างประเทศ และจะเสนอให้มีรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานคณะกรรมการฯ คาดว่า จะทำให้การส่งเสริมนักธุรกิจไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ มีความชัดเจน และทำได้ดีขึ้น”

นายราเชนทร์กล่าวว่า ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในขณะนี้ แน่นอนว่าสินค้าที่ได้รับกระทบมาก คือ กลุ่มสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมที่มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศมาก ซึ่งภาครัฐได้พยายามให้ความช่วยเหลือ โดยมีมาตรการต่างๆ ออกมาแล้ว

ขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ สูงถึง 50-80% และเป็นการลงทุนของต่างประเทศในไทย มีคำสั่งซื้อและตลาดส่งออกที่แน่นอน จะได้รับผลกระทบไม่มาก และเนื่องจากสินค้าในกลุ่มหลังนี้มีสัดส่วนการส่งออกถึงกว่า 46% ของมูลค่าส่งออกรวม จึงคาดว่าจะทำให้ผลกระทบต่อตัวเลขการส่งออกโดยรวมของประเทศไม่สูงเท่าที่หลายฝ่ายหวั่นเกรง

อย่างไรก็ตาม แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่กรมฯ ยังมีความเชื่อมั่นว่าการส่งออกในปี 2550 นี้ จะส่งออกได้ไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 145,962 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) ส่งออกแล้วเป็นมูลค่า 58,748 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 18.8% และเพื่อให้การส่งออกบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ในระยะ 7 เดือนหลังของปี (มิ.ย.-ธ.ค.) จะต้องส่งออกเป็นมูลค่า 87,214 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.6% หรือส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 12,459 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในระยะ 5 เดือนแรก ส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 11,750 ล้านเหรียญสหรัฐ

สปส.พร้อมควักแสนล้านดูแลลูกจ้าง

นายสุรินทร์ จิรวิศิษฏ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวถึงกรณีวิกฤติปัญหาเศรษฐกิจซบเซาและปัญหาวิกฤติค่าเงินบาทในขณะนี้ ซึ่งกำลังส่งผลให้กิจการห้างร้านตลอดจนโรงงานต่างๆ มีแนวโน้มที่จะปิดตัวลง เรื่องดังกล่าว สปส.ได้เตรียมความพร้อมรับมือหากมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้น โดยนำกองทุนประกันสังคมที่มีเงินหลายแสนล้านบาท พร้อมเข้าดูแลลูกจ้างหากต้องถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะในช่วงนี้ ผู้ประกอบการหลายแห่ง อาจต้องปิดกิจการจากผลกระทบค่าเงินบาท

ทั้งนี้ หากลูกจ้างถูกเลิกจ้าง สปส.พร้อมจะดูแลสิทธิของลูกจ้างต่อไปอีก 6 เดือน หากลูกจ้างต้องการย้ายโรงพยาบาลกลับภูมิลำเนาก็สามารถทำได้ ส่วนการจ่ายค่าชดเชยจะจ่ายค่าชดเชยการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของรายได้ไปจนกว่าลูกจ้างจะมีงานทำหรือครบ 6 เดือน

นอกจากนี้จะหางานให้ลูกจ้างดังกล่าวทำโดยลูกจ้างต้องไม่ปฏิเสธการทำงานยกเว้นกรณียังหางานให้ไม่ได้หรือครบกำหนด 6 เดือน สปส.เชื่อว่าจะทำให้ลูกจ้างอยู่รอดได้จนกว่าจะมีงานทำ

ด้านนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) เปิดเผยว่า ได้เสนอแนวทางช่วยเหลือแรงงานให้นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พิจารณา โดยให้กองทุนประกันสังคมนำเงิน 40,000 ล้านบาทฝากกับธนาคารของรัฐบาล เช่น ธนาคารออมสิน และ กรุงไทย เพื่อให้ธนาคารรัฐปล่อยสินเชื่อกับสมาชิกกองทุนที่มี 9 ล้านคน ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 7.5% ต่อปี เพื่อลดปัญหาการกู้เงินนอกระบบที่จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ยเดือนละ 5% หรือ สินเชื่อนอนแบงก์ที่ดอกเบี้ย 17-18% ต่อปี จนสร้างความเดือดร้อนเพราะต้องรับภาระอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป

“กองทุนประกันสังคมมีเงินประมาณ 400,000 ล้านบาท เบื้องต้นให้กองทุนแบ่งเป็น 40,000 ล้านบาทไปฝากธนาคารรัฐโดยกองทุนได้ผลตอบแทน 3.5% ขณะที่แบงก์รัฐปล่อยกู้คนงานในอัตราดอกเบี้ยถูก 7.5% ซึ่งก็ต่ำกว่าเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ย 5% ต่อเดือน, นอนแบงก์ 17% ต่อปี หรือ ธนาคารประชาชนที่ดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน เบื้องต้นรองนายกฯ ไพบูล และ เลขาธิการกองทุนประกันสังคม เห็นด้วย เหลือเพียงแต่ รมว. แรงงานที่ยังไม่มีโอกาสได้หารือกัน"นายณรงค์ กล่าว

สำหรับกองทุนฯ จะได้ผลตอบแทน 3.5% จากการฝากเงินกับธนาคาร ส่วนสมาชิกที่กู้เงินจะได้ 2 เท่าของเงินเดือน และกำหนดคืนภายใน 2 ปี แต่มีเงื่อนไข 3 ประการ คือ ให้นายจ้างหักเงินเดือนเพื่อจ่ายหนี้กับสถาบันการเงินเหมือนกรณีของข้าราชการ, ให้ผู้กู้ที่เป็นสมาชิกค้ำประกันกันเองเป็นกลุ่ม และ ผู้กู้ต้องยอมให้หักเงินที่กู้ออก 10% เช่น กู้ 10,000 บาท ถูกหัก 1,000 บาท เพื่อนำเงินส่วนนี้ฝากไว้กับสถาบันการเงิน โดยให้จัดตั้งองค์กรที่เข้ามาดูแลเงินส่วนนี้ ซึ่งเจ้าของเงินได้รับดอกเบี้ยตามปกติ และถือว่าเป็นการส่งเสริมการออมด้วย

ทั้งนี้เมื่อครบ 2 ปี องค์กรจะมีเงินที่หักไว้ 10% รวมกันทั้งหมด 4,000 ล้านบาท จากนั้นจะนำเงินดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นธนาคารลูกจ้าง เพื่อปล่อยกู้กับลูกจ้างในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินสนับสนุนภาครัฐในการอุดหนุน ขณะเดียวกันลูกจ้างที่ถูกหักเงิน 10% จะเป็นเจ้าของธนาคารในฐานะผู้ถือหุ้น และมีผลตอบแทนจากกำไรของธนาคารด้วย

สมคิด”จี้ช่วยผู้ส่งออกด่วน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งร่วมงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่กระทบการส่งออกในขณะนี้ว่า ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก โดยสถาบันการเงินที่สำคัญ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ควรมีมาตรการลดภาระต้นทุนทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญช่วยให้ผู้ประกอบการไทย เดินหน้าต่อไปได้

สำหรับสาเหตุสำคัญที่ต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการดังกล่าว เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการเมืองส่งผลกระทบในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวอื่น เช่น การลงทุนที่ชะลอตัวออกไป โดยผู้ลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างรอดูความชัดเจนทางการเมือง ส่งผลให้การนำเข้าลดลง จนมีผลต่อการเกินดุลการค้า รวมถึงการบริโภคในประเทศลดลงจากความเชื่อมั่นที่ถดถอย การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐขณะนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น การท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง ซึ่งทั้งหมดเคยเป็นเครื่องยนต์ที่เคยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงเหลือเพียงการส่งออกเท่านั้น ที่ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี

“ เมื่อเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ หยุดทำงานไป หากภาครัฐรอให้การส่งออกชะลอตัวในครึ่งปีหลังอีก เพื่อหวังลดแรงกดดันต่อการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ที่กดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่า ประเทศจะนำรายได้มาจากไหน” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดระบุว่า ปัญหาการแข่งขันของการค้าโลก หลายคนสงสัยว่าผู้ส่งออกขาดทุนจริงหรือไม่จากปัจจัยค่าเงินบาท เมื่อขาดทุนแล้วทำไมยังต้องทำต่อ ในส่วนนี้อยากให้เข้าใจว่า ที่ผู้ส่งออกยังต้องดำเนินการต่อ เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ เพราะหากผู้ซื้อสินค้าในต่างประเทศหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่น ไทยจะสูญเสียตลาดไป และคงยากที่จะได้กลับมา นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งฟื้นความมั่นใจการลงทุน จากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยการออกมาตรการจูงใจให้มากขึ้น รวมถึงการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลต้องส่งสัญญาณว่าจะดำเนินการทันที โดยไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ เพราะหลังจากมีการเลือกตั้ง คงต้องใช้เวลาอีกระยะให้รัฐบาลใหม่รับไม้ต่อและเรียนรู้งาน

ส่วนการแข็งค่าของเงินบาท นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนหนึ่งมาจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้น การไหลเข้าของเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังมีสัดส่วนค่าพีอีเรโชต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดต่างประเทศ โดยพีอีของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคที่มีมากกว่าร้อยละ 10 ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ นักลงทุนต่างชาติจึงมองว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และปัญหาทางการเมืองได้ข้อยุติ ตลาดหุ้นก็จะปรับตัวสูงขึ้น สามารถทำกำไรได้มาก   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us