ข่าวชะงักงันของบริษัท ไทยพีทีเอ จำกัด ในรองสองเดือนที่ผ่านมา ทำให้โครงการอะโรเมติกส์ของโครงการปิโตรเคมีระยะที่
2 ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จะผลิตวัตถุดิบขั้นต้นของอุตสาหกรรมพลาสติกอุตสาหกรรมเคมี
และสิ่งทอนั้นดูจะพลอยมืดมัวไปด้วย
เนื่องเพราะสหยูเนี่ยน หนึ่งในผู้ถือหุ้นของไทยพีทีเอ (อีกรายคือไอซีไอ)
ไม่พร้อมที่จะเพิ่มทุน
ขณะที่พีทีเอขนาด 3.5 แสนตันที่จะผลิตจากโรงอะโรเมติกส์ (บริหารในนามของบริษัทไทยอะโรเมติกส์
จำกัด-ทีเอซี) นั้น เป็นวัตถุดิบหลักของการผลิตเส้นใยสังเคราะห์เพื่อทอเป้นผ้าผืนโดยจะเป็นส่วนต่อเนื่องที่ใช้พาราไซลีน
วัตถุดิบขั้นต้นจากโรงอะโรเมติกส์และเป็นส่วนการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของโครงการ
ดังนั้น ถ้าไทยพีทีเอมีปัญหาหรือล้มไปก็จะกระเทือนทีเอเชียโดยตรง เพราะทีเอซีไม่มีลูกค้ามารองรับนั่นเอง
ต้นตอของปัญหาเกิดจากวิกฤติอ่าวเปอร์เซีย ทำให้ต้นทุนโครงการปิโตรเคมีสูงขึ้นไม่น้อยกว่า
25% ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์จากปิโตรเคมีตกต่ำทั่วโลกรวมไปถึงมูลค่าของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่ลดลง
ถ้าดูตัวเลขที่บีโอไอประเมินใหม่ โครงการพีทีเอต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น
8,000 ล้านบาท ถ้าดูสถานะของสหยูเนี่ยน ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท
เรียกชำระแล้ว 2,500 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมประมาณ 8,150 ล้านบาท ถ้าสหยูเนี่ยนต้องลงทุนในสัดส่วนเท่าเดิมคือ
40% ของมูลค่าการลงทุนใหม่ ก็ต้องใช้เงินถึง 3,000 ล้านบาทเท่ากับทุนจดทะเบียนเลยทีเดียว
"ดูจะใหญ่เกินไปสำหรับสหยูเนี่ยน และเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าไม่ได้เป็นผู้ใช้พีทีเอโดยตรง
คนใช้โดยตรงจะเป็นกลุ่มโรงงานทอผ้าซึ่งในเมืองไทยส่วนใหญ่จะมีญี่ปุ่นถือหุ้นอยู่"
แหล่งข่าววงการปิโตรเคมีกล่าว
การพลิกตัวของสหยูเนี่ยมจึงพลอยทำให้ไอซีไอกลับลำไปโดยปริยาย แม้ว่าทางบีโอไอจะผ่อนปรนเงื่อนไขยอมให้ไทยพีทีเอขายผลิตภัรฑืในราคาที่สูงขึ้นจากเดิม
คือจากราคาที่กำหนดว่าจะต้องตำกว่าราคานำเข้าซีไอเอฟที่มีกำแพงภาษี 5% มาเป็น
3%
แต่ถึงตอนนี้ ไอซีไอไม่สู้แล้ว นอกจากว่าบีโอไอจะยอมยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
8 ปี ทั้งที่ไอวีไอชนะประมูลเพราะเป็นรายเดียวที่ตกลงเดินหน้าโครงการโดยไม่ขอยกเว้นภาษี
ครั้งบีโอไอจะอนุมัติให้ก็ดูกระไรอยู่ เพราะจะทำให้เกิดเสียงครหาแก่นายกฯ
อานันท์ ปันยารชุน ประธานบอร์ดบีโอไอโดยตำแหน่ง ซึ่งมาจากกลุ่มธุรกิจสหยูเนี่ยน
เมื่อรูปการณ์เป็นอย่างนี้ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ชีระ ภารุพงศ์
เลขาธิการบีโอไอจึงประกาศเปิดประมูลใหม่
เรียกว่า ลุ้นเกิดกันสุดตัว โดยบีโอไอไม่กำหนดเงื่อนไขการขายพีทีเออย่างเก่า
แต่จะให้ขอยกเว้นภาษีเงินได้ในระยะ 7 ปี และเพื่อประกันว่าผู้ได้รับเลือกลงมือดำเนินการจริง
บีโอไอจึงกำหนดให้ผู้ได้รับเลือกต้องมีหนังสือค้ำประกันจากธนาคารขั้นต่ำไม่น้อยกว่า
400 ล้านบาทหรือไม่น้อยกว่า 5% ของขนาดลงทุนของโครงการไปทำสัญญา
อีกเงื่อนไขหนึ่งที่บีโอไอหนุนเพื่อให้โครงการเกิดได้จริงก็คือ คราวนี้จะดูว่าใครมีศักยภาพและอยู่ในสถานะที่จะทำจริงมากกว่าสิทธิประโยชน์ที่จะให้รัฐบาล
โดยกำหนดให้ยื่นประมูลเข้ามาภายในวันที่ 31 สิงหาคม ศกนี้ มีเวลาแค่ 2
เดือน เพื่อจะเร่งรัดให้ทันงานเซ็นสัญญาผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยอะโรเมติกส์ในเดือนพฤศจิกายนนี้
เท่ากับว่าเป็นการเปิดทางพิเศษให้แก่ไอซีไอ ในเงื่อนไขสิทธิประโยชน์เต็มรูปแบบข้างต้นดังที่ผู้ประมูลรายอื่นอย่างอโมโก้แห่งสหรัฐฯ
ยักษ์ผู้ผลิตพีทีเอรายใหญ่ที่สุดของโลก คู่ซิงโครงการเคยเสนอมาในคราวแรกนั่นเอง
เพราะด้วยช่วงเวลาสั้น ๆ ยากที่ผู้ลงทุนรายอื่นจะเสนอตัวได้ทัน ขณะที่ไอได้เปรียบในฐานะผู้ชนะเดิมเป้นทุนอยู่แล้วจึงมีเสียงวิพากษ์ว่า
ไอซีไอควรจะถอนตัวเมื่อทำตามเงื่อนไขที่เสนอในคราวแรกไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ไอซีไอคงไม่ปล่อยให้โครงการพีทีเอล้มไปง่าย ๆ เพราะนั่นหมายถึงเกียรติภูมิและชื่อเสียงของไอซีไอและศักดิ์ศรีของจักรภพอังกฤษที่จะขยายการลงทุนสู่ภูมิภาคนี้
นอกเหนือจากการเป็นแค่ผู้ค้าเท่านั้น
ไอซีไอจึงพยายามหาผู้ร่วมทุนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นซีพีหรือปูนใหญ่ ซึ่งเป็นไปได้ยากเพราะต่างก็ไม่ได้อยู่ในธุรกิจสิ่งทอแต่มีรายซึ่งอยู่นอกธุรกิจนี้สนใจเมื่อได้รับการทาบทาม
"ไทยออยล์ยินดีที่จะเข้าไปร่วมทุนโครงการพีทีเอ" จุลจิตต์ บุณยเกตุ
ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการกล่าวยืนยันที่จะให้โครงการเกิด เพราะเป็นส่นกระทบต่อไทยอะโรเมนติกส์ที่ไทยออยล์ถือหุ้นใหญ่อยู่
40% โดยตรง ยังไงไทยออยล์ก็คงไม่ปล่อยให้งานนี้ล้มไปต่อหน้าต่อตา เนื่องเพราะเป็นภาพพจน์ที่สำคัญของไทยออยล์ด้วย
ไทยออยล์จึงพร้อมเข้าร่วมกับผู้ชนะโครงการพีทีเอในงวดใหม่ทุกราย เพื่อหนุนโครงการให้เป็นจริง
แต่จะไม่เป็นผู้ลงทุนหลัก
ถ้าดูทิศทางการประมูลครั้งใหม่ "อโมโก้ยังสนใจและมีแนวโน้มเป็นคู่ชิงท้าดวลกับไอซีไอ
เพื่อประกาศศักดาจากค่ายอเมริกาและค่ายยุโรปกันอีกครั้งแน่แหล่งข่าวปิโตรเคมีวิเคราะห์ถึงความน่าจะเป็น
ดังนั้น ไม่ว่ารูปการณ์จะเป็นอย่างไร โรงอะโรเมติกส์เกิดแน่ แต่อาจจะช้าไปบ้าง
เพราะไทยไม่มีทางที่จะนำเข้าวัตถุดิบต้นทางที่จะได้จากโครงการเพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ ไปตลอด
แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ปัญหาว่าเมื่อโรงอะโรเมติกส์เกิดแล้ว จะมีการวางหลักการและตกลงราคาซื้อขายผลิตภัณฑือย่างไรเพื่อให้บริษัทผู้ผลิตในปิโตรเคมีระยะที่
2 อยู่ได้ และผู้ใช้ไม่ต้องแบกรับภาระในราคาสูง เพราะสิ่งที่เป็นห่วงก็คือผู้ผลิตแต่ละโครงการไม่อยู่ในฐานะที่จะแข่งกับต่างประเทศได้
แล้วรัฐบาลจะมีมาตรการปกป้องโรงงานในประเทศเหมือนคราวที่เคยปฏิบัติต่อทีพีไอ
ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกประเภทพีอีรายแรกในช่วงซึ่งเกิดขึ้นใหม่เมื่อหลายปีก่อนหรือไม่
ยิ่งกว่านั้น ล่าสุด การที่รัฐบาลจะปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าทั้งหมดลงมาอยู่ในระดับ
5-20% ซึ่งถ้าเป็นวัตถุดิบก็จะเก็บต่ำสุด ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจะเก็บสูงสุด
ขณะที่ผลิตภัณฑืจากโครงการปิโตรเคมีแต่ละชนิดมีระบบการผลิตต่อเนื่องหลายขั้นตอน
เช่น ถุงพลาสติก จะเกิดจากการเอาก๊าซธรรมชาติมาผลิตเป็นอีเทนมาเป็นเอททีลีน
แล้วมาผลิตเป็นโพลีเอททีลีน จากนั้นจึงนำมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกพีอี แล้วจึงเอาเม็ดพลาสติกมาทำเป็นถุงพลาสติกที่เราใช้กัน
ในแต่ละผลิตภัณฑ์จากโครงการปิโตรเคมีล้วนแต่มีระบบผลิตต่อเนื่องอย่างนี้
นักลงทุนจึงเริ่มไม่แน่ใจว่าจะกำหนดให้ส่วนไหนเป็นวัตถุดิบ และรัฐบาลจะกำหนดการปฏิบัติต่อผู้ผลิตแต่ละขั้นตอนอย่างทัดเทียมกันได้อย่างไร
เพื่อสร้างฐานให้โครงการปิโตรเคมีระยะที่ 2 ก้าวเดินไปอย่างมั่นคง
เพราะอย่างไรเสีย โรงอะโรเมติกส์ก็เกิดแน่...!