เอ็มดีแบงก์ทหารไทยระบุรอเม็ดเงินเพิ่มทุนได้ถึงสิ้นปีนี้ ยันยังมีเงินกองทุน 10.6%เพียงพอต่อการดำเนินธุรกรรม ยอมรับยอดสินเชื่อเริ่มลดจากการคืนเงินกู้คาดทั้งปีลดลง 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลต่อผู้ส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเพิ่มทุนว่า ธนาคารคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินจากการเพิ่มทุนเข้ามาภายในสิ้นปี ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารที่อยู่ในระดับ 10.6% ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดนั้น ยังเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารไปจนถึงสิ้นปีเป็นอย่างต่ำ
"ขณะนี้ยังคงไม่รู้ว่าจะสรุปแผนเพิ่มทุนเสร็จทันในไตรมาส 3 หรือต้องเลื่อนออกไปเป็นไตรมาส 4 แต่ไม่ว่าจะเสร็จสิ้นในไตรมาสไหน ก็ถือว่าไม่แตกต่างกันมากนัก หากได้เงินเข้ามาในปีนี้ เพราะเรามีเงินกองทุนอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกรรมไปจนถึงสิ้นปีนี้"กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทยกล่าว
สำหรับยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในปีนี้นั้น คาดว่าจะลดลงประมาณ 40,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5-10%ของยอดคงค้าง โดยอาจจะมีการปรับตัวลดลงของยอดสินเชื่อรายใหญ่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามียอดการชำระคืนด้วย ขณะที่สินเชื่อลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ก็มีการปรับตัวลดลงไปประมาณ 5,000 ล้านบาทเช่นกัน ส่วนสินเชื่อรายย่อยยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ล้านบาท จากในปีนี้ที่ธนาคารตั้งเป้าการสินเชื่อในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 7,000-8,000 ล้านบาท สินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น 16,000 ล้านบาท
ด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้นั้น เกิดจาก 2-3 ปัจจัย ได้แก่ เงินทุนไหลเข้ามาในตลาดหุ้น ,นักลงทุนต่างประเทศมองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว และ แนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีเงินทุนจากสหรัฐฯไหลเข้ามาในภูมิภาครวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทขณะนี้แข็งค่าขึ้นเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย ดังจะเห็นได้จากการอุปโภคบริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การลงทุนภาครัฐเองก็ยังขยายตัวไม่เต็มที่ ด้านการส่งออกแม้จะขยายตัวได้สูงถึง 20% แต่เป็นการขยายตัวเมื่อคิดเป็นมูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่หากคิดในแง่ของเงินบาทแล้วถือว่ายังขยายตัวไม่มากนัก
นอกจากนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากนี้ คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบต่อผู้ส่งออก โดยเฉพาะในธุรกิจสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งธนาคารได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าโดยการให้คำแนะนำด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์และดีไซน์ให้กับสินเชื่อ รวมถึงการลดต้นทุนในด้านต่างๆด้วย
"เงินบาทที่แข็งค่ามีผลต่อการชำระหนี้ของลูกค้าธนาคารเหมือนกัน โดยเฉพาะธุรกิจ เอสเอ็มอีขนาดเล็ก เนื่องจากมีอำนาจในการต่อรองต่ำ จึงทำให้ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น"นายสุภัคกล่าว
ส่วนในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันที่ 18 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ คาดว่าคณะกรรมการจะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม หลังจากที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในระดับ 0.50%มา 2 ครั้งติดต่อกัน นอกจากนี้ ธปท.เองก็ออกมาระบุว่าอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้อยู่ในระดับที่ต่ำแล้ว ดังนั้น ขณะนี้จึงเป็นช่วงที่รอดูผลจากการลดอัตราดอกเบี้ย ที่ต้องใช้เวลาส่งผ่านนโยบายการเงินประมาณ 5-6 เดือน
|