คณะกรรมาธิการยกร่างพ.ร.บ.อนุมัติชดเชยความเสียหายให้ธ.ก.ส.งวดแรก 1.08 หมื่นล้านบาท จากโครงการปล่อยกู้ช่วยเหลือเกษตรประสบปัญหาน้ำท่วมและช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบ จากความเสียหายทั้งหมด 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่เอ็มดีธ.ก.ส.ยันตรึงอัตราดอกเบี้ยระดับเดิมจนถึงสิ้นปี และโครงการปล่อยสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก 5 โครงการเริ่มคืบหน้า
นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการยกร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2551 ได้เห็นชอบจัดสรรงบประมาณให้ธ.ก.ส.จำนวน 10,800 ล้านบาท เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกร อาทิ โครงการรับจำนำข้าว การชดเชยดอกเบี้ยจากการปล่อยกู้ช่วยเหลือเกษตรที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และชดเชยดอกเบี้ยจากการที่ไปปล่อยกู้ช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบ
โดยวงเงินชดเชยดังกล่าว เป็นส่วนของการชดเชยความเสียหายจากการจำนำพืชผลเกษตร 10,073 ล้านบาท จำนวน 18 โครงการ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2542-2549 ซึ่งวงเงินส่วนใหญ่จะนำไปใช้แก้ปัญหาการรับจำนำข้าวของเกษตรกรตามนโยบายรัฐในช่วงที่ผ่านมา และเกษตรกรไม่มาไถ่ถอนข้าวที่จำนำไว้ เนื่องจากราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาด ทำให้เกิดความเสียหายเป็นภาระกับรัฐบาล ที่เหลือเป็นเงินเพื่อชดเชยจากการช่วยผู้ประสบภัยจากพายุเกย์ 500 ล้านบาท การดูแลสินเชื่อนอกระบบ 148 ล้านบาท การดำเนินการบริหารสินเชื่อ รวมถึงการแก้ปัญหาเก่าของธนาคารกว่า 300 ราย จำนวน 2 ล้านบาท
สำหรับความเสียหายที่เกิดจากดำเนินโครงการ
ตามนโยบายรัฐของธ.ก.ส.มีประมาณ 40,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2550 ได้เงินงบประมาณชดเชย 20,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2551 อีก 10,800 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2552 อีก 10,000 ล้านบาท ก็จะสามารถล้างความเสียหายได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ความเสียหายจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่นโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก โดยเฉพาะในเรื่องของการจำนำพืชผลเกษตร จะต้องเป็นราคาจำนำที่สอดคล้องกับตลาด
อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.ได้เสนอเสนอรัฐบาลให้กำหนดราคาจำนำข้าวตามความเป็นจริง และสามารถบวกราคาได้เล็กน้อยหากต้องการนำตลาด นอกจากนี้การจำนำข้าวต้องมีการกำหนดการไถ่ถอนจำนำให้ชัดเจน หากไม่มาไถ่ถอนก็ต้องมีแผนการขายข้าวสู่ตลาดโดยไม่ทิ้งให้เสียหายจนไม่ได้ราคา และเกิดความเสียขึ้นจำนวนมากเหมือนในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ในงบประมาณปี 2551 ยังมีการจัดสรรเงินเพิ่มทุนให้กับธนาคารอีกจำนวน 1,200 ล้านบาท เนื่องจากทุนที่มีอยู่ปัจจุบัน 40,000 ล้านบาท ใกล้ที่จะเต็มเพดานของปล่อยสินเชื่อคือ 12 เท่าหรือคิดเป็น 480,000 ล้านบาท ทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS) ของธนาคารปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 10.83% ซึ่งหากไม่มีการเพิ่มทุนจะทำให้ BIS มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10%
ตรึงดอกกู้ถึงสิ้นปี 50
สำหรับการปล่อยสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของธนาคารทั้งหมด 5 โครงการ ในวงเงิน 26,000 ล้านบาท (1เม.ย.-31ธ.ค.)ตามนโยบายของกระทรวงการคลังนั้น ยังคงเดินหน้าไปได้ตามเป้าหมาย มีเพียงโครงการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งจะปล่อยให้กับลูกเกษตรกรที่เพิ่งเรียนจบแต่ยังไม่มีงานทำกู้ไปประกอบอาชีพต่างๆ ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้มาติดต่อขอกู้กับธนาคาร จากที่ตั้งเป้าไว้ 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารจะพิจารณาหาแนวทางแก้ไข โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะจัดอบรมการประกอบอาชีพให้ก่อนการตัดสินใจขอกู้กับธนาคาร
ส่วนโครงการสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรนั้น ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้ว 6,616 จากที่ทั้งปีตั้งเป้าไว้ 15,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ปล่อยได้แล้ว 140 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ 1,500 ล้านบาท
ด้านโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อวิสาหกิจชุมชน ตั้งเป้าไว้ที่ 4,100 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 946 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนปล่อยสินเชื่อได้ 130 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าไว้ 400 ล้านบาท โครงการครูเกษตรกรเพื่อพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชน เป็นโครงการที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากเป็นการอบรมความรู้เรื่องอาชีพระหว่างเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถช่วยสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้
"โครงการพัฒนาการท่องเที่ยว สามารถปล่อยกู้ได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ส่วนโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตร ก็ไปได้ดี เกษตรกรให้ความสนใจที่จะดูแลหรือพัฒนาสินค้าเกษตรมากขึ้น"นายธีรพงษ์กล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารจะคงอัตราดอกเบี้ยในไว้ในระดับนี้จนถึงสิ้นปี 2550 แต่คาดว่าภายหลังจากการเลือกตั้งในช่วงปลายปีแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดอาจจะปรับขึ้นประมาณ 0.25-0.50%
"ดอกเบี้ยของธนาคารจะยังคงไว้ที่ระดับนี้ไปจนถึงปลายปี จึงจะมีการพิจารณาอีกครั้ง โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อยู่ที่ 7.5% ซึ่งก็ถือว่าถูกกว่าที่อื่น”ผู้จัดการธ.ก.ส.กล่าว
สำหรับเป้าการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารในปีบัญชี 2550 (1 เม.ย.-31 มี.ค.) ตั้งไว้ที่ 252,600 ล้านบาท รวมกับการปล่อยสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากวงเงิน 26,000 ล้านบาท รวมเป็น 278,600 ล้านบาท โดยปัจจุบันธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้าง 480,000 ล้านบาท และมียอดเงินฝาก 550,000 ล้านบาท
|