p> นักสถาปัตย์ชาวสิงคโปร์ผู้นำชีวิตธุรกิจในบั้นปลายมาฝากผลงานสำคัญไว้ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของน่านน้ำไทยผู้นี้คือวิลเลียม
เช็งผู้ซึ่งไมีรู้สึกแปลกแยกกับเมืองไทยแม้แต่น้อยเพราะตระเวนทำธุรกิจในย่านนี้มานานกว่า
24 ปี
เมื่อก่อนนี้วิลเลียมมีบริษัทของตนเองชื่อ WILLIAM CHENG ASSOCIATES มีสำนักงานใน
6 ประเทศกระจายอยู่ทั่วเอเชีย
ในเมืองไทยเองวิลเลียมก็เคยมาฝากผลงานยุคแรก ไว้ที่โรงแรมอินทราประตูน้ำ
ในฐานะเป็นผู้จัดการโครงการต่อมายังมีส่วนร่วมในงานออกแบบตกแต่งโรงแรมอีกลหายแห่ง
เช่น แชงกรี-ลา, เซ็นทรัลลาดพร้าว, อัมรินทร์ พลาซ่า, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และโรงพยาบาลเปาโล
ครั้งเมื่อ 6-7 ปีก่อน วิลเลียมได้ขายกิจการทั้งหมดไปตัดสินใจ RETIRE ออกจากบริษัทเมื่อมาพบกับสุเทพ
บูลกุลแห่งสตาร์บล็อคในปี 2532 ก็ได้รับการทาบทามให้เข้ามาคุมโปรเจกต์ที่บ้านฉาง
นี่คือที่มาของวิลเลียมเซ็งในอีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด
วิลเลียมกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมประเมินว่านโยบายพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกหรือนโยบายอีสเทิร์นซีบอร์ด
ทำให้เกิดเงินลงทุนในบริเวณนี้สูงถึง 500,000 ล้านบาท จะมีการสร้างงานจำนวนมากและมีการย้ายถิ่นเข้ามามาก
ใน 8 ปี ข้างหน้าจะมีประชากรในระยองและบ้านฉางสูงถึง 1 ล้านคน"
โครงการของอีสเทอร์นสตาร์ฯ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ในเขตอำเภอบ้านฉางหรือคิดเป็น
80% ของพื้นที่ทั้งหมด บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะสร้างบ้านฉางจะชุมชนประมงเล็ก
ๆ ที่เคยสงบเงียบ ให้เป็นชุมนุมชนชั้นกลางรุ่นใหม่ (MIDDLE CLASS SUBURB)
ภายในระยะ 10 ปีข้างหน้า
บ้านฉางตั้งอยู่ในทำเลที่งดงามมากด้านหน้าติดทะเล ด้านหลังติดภูเขา ด้านข้างติดสนามบินอู่ตะเภาอยู่ห่างจากมาบตาพุดเพียง
8-10 กม. เท่านั้น
วิลเลียมกล่าวว่า "การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศชาติ
ในสิงคโปร์และในฮ่องกงให้ความสำคัญในเรื่องนี้กันมากและผมก็ตั้งความหวังจะพัฒนาบ้านฉางให้เป็นเมืองใหม่ขึ้นมาให้ได้"
ปัจจุบัน อีสเทอร์น สตาร์ฯ มีโครงการที่ดำเนินการในบ้านฉางรวม 10 โครงการซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นสนามกอล์ฟ
ที่พักอาศัยในรูปคอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ศูนย็การค้า
อาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงานและโรงแรมระดับ 3-4 ดาว
วิลเลียมคุยว่า โครงการสินทวีพาร์คซึ่งเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะพิเศษจากโครงการทั่ว
ๆ ไปคือ มีการสร้างสวนหย่อมและสวนไม้ดอกนานาพันธุ์ให้แก่ผู้พักอาศัย จัดสร้างถนนเป็นส่วนสัดเฉพาะสำหรับผู้อยู่อาศัย
นอกจากนี้ อีสเทอร์นสตาร์ฯ ยังมีโครงการสร้างสวนอุตสาหกรรมที่บ้านค่าย
มาบตาพุดใช้พื้นที่โครงการประมาณ 1,500 ไร่ โดยมีพื้นที่แล้วประมาณ 600 ไร่
ว่าเฉพาะมูลค่าการลงทุนในโครงการมากมายที่บ้านฉางนี้ก็รวมประมาณ 4,000
ล้านบาท ขณะที่อีสเทอร์น สตาร์ฯ มีทุนจดทะเบียน 445 ล้านบาท
สุเทพ บูลกุลเป็นผู้รวบรวมนักลงทุนเข้ามาถือหุ้นในอีสเทอร์น สตาร์ฯ โดยมีสุเทพถือในนามสตาร์บล็อค
30% กลุ่มสหยูเนียน 25% กลุ่มบ้านฉาง บ้านพลา 15% และมีนักลงทุนรายย่อยเช่น
เสรี โอสถานุเคราะห์ ประยูร จินดาประดิษฐ์ และอานันท์ ปันยารชุนซึ่งก่อนหน้านี้เป็นประธานฯ
บริษัท แต่ปัจจุบันลาออกแล้ว
บริษัทฯ ในเวลานี้จึงมีแต่รองประธานคือประยูร
งานนี้จึงเป็นที่รวมของบรรดาผู้ช่ำชองในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ล้วน ๆ
อีสเทอร์น สตาร์ฯ ยื่นข้อมูลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาเพื่อขอเป็นบริษัทจดทะเบียนตั้งแต่พฤษภาคมที่ผ่านมา
วิลเลียมเปิดเผยว่า "เป้าหมายจริง ๆ ที่เข้าตลาดฯ คือต้องการขยายฐานเงินทุน
(CAPITAL BASE) หากเรามีเงินทุนจำนวนมากพอเราก็สามารถดำเนินโครงการต่างๆ
ได้ตามกำหนดและยังจะพัฒนาโครงการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกได้ เพราะในตอนนี้ไม่มีคนชุมชนที่ทันสมัยในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเลย"
วิลเลียมกล่าวด้วยว่า "เรายังต้องการซื้อที่ดินเพิ่มอีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะที่อยู่ในโครงการสวนอุตสาหกรรม
เพราะตอนนี้ยังมีที่ดินไม่เพียงพอ"
วิลเลียมคิดว่า "ในฐานะเป็นนักพัฒนาที่ดินอย่างแท้จริง ผมไม่คิดว่านโยบายที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับบริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
จะมีผลกระทบต่อเราบริษัทฯ ไม่ใช่ทำแค่ซื้อที่ดินมาแล้วขายออกไปโดยไม่มีการพัฒนาอะไรเลย
ดังนั้นผมจึงไม่ห่วงในเรื่องนี้มากนัก"
ปัจจุบันโครงการหลายโครงการในบ้านฉางเป็นรูปร่างมากกว่าเพียงภาพสวย ๆ ในแผ่นกระดาษ
ส่วนที่เป็นศูนย์การค้ามูลค่า 200 ล้านบาทก็เกือบเสร็จแล้ว คอนโดมิเนียมในโครงการสินทวีก็เสร็จแล้ว
เช่นกัน โครงการได้ขายออกไปเป็นจำนวนมากพอสมควรแล้ว
นี่เป็นจุดต่างกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่นที่ยื่นขอเข้าตลาดฯ แต่ไม่ผ่านการพิจารณาเพราะยังไม่มีการก่อสร้างอาคารโครงการแต่อย่างใด
อีสเทอร์น สตาร์ฯ มีบริษัทในเครืออีกประมาณ 5 แห่งดำเนินกิจการในบ้านฉาง
เป็นบริษัทสำหรับร่วมลงทุนกับบริษัทต่างประเทศเพื่อการถือครองที่ดินของโครงการ
นอกจากนี้มีอิสเทอร์น สตาร์ เฮ้าสซิ่งถือครองที่ดินอีกผืนหนึ่งและในส่วนที่เป็นการบริหารโรงแรมที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าก็อาจจะตั้งขึ้นมาอีกบริษัทหนึ่ง
วิลเลียมกล่าวว่า "ปัญหาของบริษัทอย่างหนึ่งในเวลานี้ไม่ใช่เรื่องที่ว่าบริษัทจะได้รับอนุมัติจากตลาดฯ
เมื่อไหร่ประเด็นคือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีการประชาสัมพันธ์ชักชวนนักลงทุนน้อยมาก
ในต่างประเทศแทบจะไม่มีใครรู้เรื่องอีสเทอร์น ซีบอร์ดเลยอันนี้ก็จะมีผลกระทบต่อบริษัทบ้าง"
กล่าวได้ว่า นอกจากอนันต์กาญจนพาสน์จะสร้างเมืองทองธานีเป็นเมืองใหม่เสมือนกรุงเทพแห่งอนาคตริมถนนแจ้งวัฒนะแล้ว
ที่บ้านฉางก็มีวิลเลียม เซ็งซึ่งจะสร้างบ้างฉางให้เป็นเมืองใหม่รองรับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอีกแห่งหนึ่งด้วย