ธปท.รายงานหนี้เอ็นพีแอลรายภาคธุรกิจไตรมาสแรก ปี 50 พบ ภาคอุตสาหกรรม NPL พุ่ง 22,003 ล้านบาท ตามติดด้วยภาคการธนาคารและธุรกิจการเงินเอ็นพีแอลเพิ่ม 12,102 ล้านบาท ขณะที่อันดับต่อมาเป็นการเพิ่มขึ้นจากภาคการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ที่เพิ่มขึ้น 11,687 ล้านบาท ส่วนสัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลภาคอสังหาและก่อสร้างต่อสินเชื่อรวม ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 16%
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.ได้รายงานตัวเลขยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยแยกรายภาคธุรกิจ ณ สิ้นไตรมาสแรก ของปี 2550 พบว่ายอดหนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ภาคอุตสาหกรรม มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 22,003 ล้านบาท เป็นหนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นใหม่ 14,306 ล้านบาท และเป็นหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วย้อนกลับมาเป็นเอ็นพีแอลใหม่ (รี-เอ็นทรี) 4,057 ล้านบาท และเป็นการเพิ่มขึ้นจากเรื่องอื่นๆ 3,640 ล้านบาท ขณะที่อันดับที่ 2 เป็นการเพิ่มขึ้นจากภาคการธนาคารและธุรกิจการเงิน ซึ่งเพิ่มขึ้น 12,102 ล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอลใหม่จำนวน 39 ล้านและเป็นการเพิ่มขึ้นจากเรื่องอื่นๆ 12,040 ล้านบาท ขณะที่เป็น รี-เอ็นทรี จำนวน 23 ล้านบาท
สำหรับอันดับที่ 3 เป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอล จากภาคการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 11,678 ล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอลใหม่ 7,448 ล้านบาท และเป็นรี-เอ็นทรี 2,498 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นจากเรื่องอื่นๆ 1,741 ล้านบาท ขณะที่อันดับ 4 คือภาคการพาณิชย์มียอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 9,876 ล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอลใหม่ 6,132 ล้านบาท และเป็นรี-เอ็นทรี 2,910 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นจากเรื่องอื่นๆ 825 ล้านบาท ขณะที่อันดับ 5 เป็นเป็นการเพิ่มขึ้นของภาคการเกษตร ประมง และป่าไม้ ซึ่งมีจำนวน 6,491 ล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอลใหม่ 5,534 ล้านบาท และเป็นรี-เอ็นทรี 795 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นจากเรื่องอื่นๆ 162 ล้านบาท
ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ตามติดมาเป็นอันดับ 6 มีเอ็นพีแอลเพิ่ม 5,354 ล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอลใหม่ 2,035 ล้านบาท และเป็นรี-เอ็นทรี 2,422 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นจากเรื่องอื่นๆ 897 ล้านบาท ส่วนภาคก่อสร้างมีหนี้เพิ่มขึ้น 3,867 ล้านบาท ภาคบริการ 3,776 ล้านบาท ภาคสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น 1,311 ล้านบาท และภาคเหมืองแร่ และย่อยหินเพิ่มขึ้น 349 ล้านบาท
ทั้งนี้ธปท.ยังระบุว่าในส่วนของตัวเลขยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หากแยกรายภาคธุรกิจ ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสแรก ของปี 2550 พบว่า ภาคที่มีสัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมมากที่สุด คือ ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีหนี้เอ็นพีแอล จำนวน 54,421 ล้านบาท หรือ 16.32% ของสินเชื่อรวม ขณะที่ภาคก่อสร้างมีหนี้เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมเป็นอันดับที่ 2 ที่ระดับ 16.28% มูลหนี้รวม 30,139 ล้านบาท อันดับที่ 3 เป็นเอ็นพีแอลของภาคเกษตร ประมง และป่าไม้ 15.84% มูลหนี้ 16,695 ล้านบาท
ขณะที่อันดับที่4 เป็นภาคเหมืองแร่ และย่อยหิน มีสัดส่วนเอ็นพีแอล 11.91% ของสินเชื่อรวม ตามด้วยอันดับที่ 5 ภาคอุตสาหกรรม มีเอ็นพีแอล 9.92% และภาคการพาณิชย์มีเอ็นพีแอล 7.14% ภาคบริการมีหนี้เอ็นพีแอล 7.31% ภาคอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีหนี้เอ็นพีแอล 4.97% ภาคสาธารณูปโภคมีหนี้เอ็นพีแอล 2.3% ภาคการธนาคาร และธุรกิจการเงิน 1.78% และภาคอื่นๆมีสัดส่วนหนี้เอ็นพีแอล 0.76% ของสินเชื่อรวม
นอกจากนี้จากตัวเลขที่ออกมา ยังพบว่า จำนวนหนี้เอ็นพีแอลรวม ในไตรมาสแรก ของปี 2550 เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 76,816 ล้านบาท แต่มียอดหนี้เอ็นพีแอลรวมที่ลดลง 71,595 ล้านบาท ทำให้มีหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นสุทธิ 5,221 ล้านบาท โดยพบว่า อัตราเร่งของหนี้เอ็นพีแอลที่มาจากรี-เอ็นทรีเพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอลใหม่เป็นไปตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามหากพิจารณา ยอดคงค้างของหนี้เอ็นพีแอล เป็นรายภาคธุรกิจ จะพบว่า เมื่อคิดยอดเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และภาคก่อสร้าง มีสัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลในอัตราที่สูงถึง 16% กว่า ซึ่งน่าเป็นห่วง เมื่อเทียบสัดส่วนของหนี้พีแอลรวม ในไตรมาสแรกซึ่งอยู่ที่ระดับ 7.51% ของสินเชื่อรวม นอกจากนั้น หากพิจารณายอดหนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นต่อหนี้เอ็นพีแอลรวม จะพบว่า ภาคการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอลในส่วนของบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
|