- เจาะขุมทองจตุรเทพลิขสิทธิ์ฟุตบอลอินเตอร์ "เวิร์ลคัพ - ยูโร - พรีเมียร์ลีก - เอฟ.เอ.คัพ"
- ค่ายใหญ่เทกระเป๋ากว่าพันล้าน โหมกระแสฟุตบอลฟีเวอร์ โกยรายได้
- อาร์เอส โชว์แนวคิด 360 องศา / ทรู ประกาศศักดา Convergence สู่ความสำเร็จ
บนโลกของการตลาดที่ว่าด้วยการสร้างคอนเทนต์ นอกเหนือจากคอนเทนต์บันเทิงอย่าง เพลง หรือหนังที่เข้าถึงคอนซูมเมอร์อย่างทั่วถึงแล้ว คอนเทนต์กีฬา กำลังมีการเติบโตอย่างน่าสนใจ มหกรรมกีฬาระดับโลกได้รับการเสพจากมุมต่าง ๆ ทั้งการแข่งขัน นักกีฬา แฟชั่น การพนัน สร้างฐานกลุ่มเป้าหมายที่ขยายใหญ่มากขึ้น มากขึ้น แต่รายการกีฬาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสุดยอดการแข่งขันที่มีผู้สนใจสูงสุด จนเกิดการแข่งขันแย่งชิงลิขสิทธิ์การถ่ายทอดเพื่อนำมาต่อยอดทางธุรกิจ ต้องยกให้กับ 4 รายการหลัก ฟุตบอลโลก หรือ เวิร์ลคัพ, ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร , ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และฟุตบอลเอฟ.เอ.คัพ การแย่งชิงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเจ้าของลิขสิทธิ์ นำสู่รูปแบบการสื่อสารตลาดที่แปลกใหม่ที่น่าติดตาม
เวิร์ลคัพ - ยูโร บนเส้นทาง 360 องศา วัดดวงอนาคต อาร์เอส ยุคใหม่
วันนี้ของ อาร์เอส โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน) มิใช่แค่เพียงค่ายเพลงที่สรรหาเพลง หรือ นักร้องมาร้องเพลงนำเสนอแต่ผู้บริโภคอย่างเดียว ทิศทางใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจยุคปัจจุบันของเฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ โดยใช้แนวความคิดการบริหารแบบ 360 องศา เขาตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้อาร์เอสเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีวิธีการบริหารจัดการธุรกิจที่ทรงประสิทธิภาพ นำบริษัทสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืน
อาร์เอสในบทบาทใหม่ "Entertainment & Sport Content Provider" มีการแตกหน่วยงานเพื่อสร้างคอนเทนต์ที่เป็นที่ต้องการของคอนซูเมอร์ นำเสนอในแบบ 360 องศา มองหาทุกมุมจะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ โดยมีคอนเทนต์บันเทิงอย่าง เพลง และภาพยนตร์เป็นคอนเทนต์หลัก
แต่คอนเทนต์ที่ถือว่ามาแรง มีความสำคัญต่อก้าวเดินของอาร์เอสในยุคใหม่มากเป็นพิเศษ ต้องกล่าวถึงคอนเทนต์กีฬา ที่เฮียฮ้อ ถึงกับต้องดึง วรวุฒิ โรจนพาณิชย์ อดีตผู้บริหารบริษัททศภาค มาจัดตั้งบริษัท อาร์เอสบีเอส ขึ้นเพื่อบริหารจัดการธุรกิจกีฬาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์ไอที เพื่อบริการข้อมูลการแข่งขันกีฬา การจัดการแข่งขันกีฬาทุกประเภท การบริหารสัญญาณการถ่ายทอดสด การทำตลาดให้กับการแข่งขันกีฬา และที่เป็นไฮไลท์สุดๆ ก็คือการได้รับสิทธิ์จากองค์กรฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือฟีฟ่าในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในปี 2553 และปี 2557 ที่มีมูลค่าลิขสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท
สาเหตุที่ทำให้อาร์เอสสนใจที่จะโดดเข้ามาร่วมวงธุรกิจนี้ ก็เนื่องมาจากการตอบรับจากผู้บริโภคที่มากมาย อีกทั้งกีฬาฟุตบอลในปัจจุบันก็มิใช่แค่เพียงกีฬา ที่แข่งขันกันบนสนามหญ้าเท่านั้น หากแต่เมื่อนำมาบริหารอย่างมีระบบ ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์ที่มีศักยภาพในการที่จะไปนำเสนอต่อตัวเจ้าของสินค้าประเภทต่างๆที่มองว่ากีฬาประเภทนี้จะเป็นกลไกในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับและรู้จักในระดับโลกได้ว่าเรียกได้เป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดความสำเร็จ และ ทำรายได้อย่างมหาศาลสู่อาร์เอส
ไม่เพียงแต่ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก แต่อาร์เอสยังได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลรายการใหญ่ อย่าง ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งทวีปยุโรป หรือ ยูโร 2008 ที่จะเริ่มแข่งขันตั้งแต่วันที่ 7 - 29 มิ.ย 51 ซึ่งถือเป็นทัวร์นาเมนท์การแข่งฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และมีผู้ชมทั่วโลกสูงเป็นอันดับ 2 รองจากฟุตบอลโลก มูลค่าลิขสิทธิ์ของรายการนี้ คาดว่า อาร์เอสต้องควักกระเป๋าอีกราว 150 - 200 ล้านบาท
"เราจะนำมิติใหม่ของการแข่งขันฟุตบอลในรายการระดับโลกมาสู่ผู้ชม ที่แม้มิได้ชมอยู่ที่บ้าน แต่สามารถที่จะรับชมผ่านทางโทรศัทพ์เคลื่อนที่ หรือ ดูผ่านอินเทอร์เน็ตได้ นอกจากนั้นแล้วยังมีการนำเสนอฟุตบอลมากกว่าการแข่งขันบนสนามหญ้า โดยจะมีการนำภาพก่อนการแข่งขันนับตั้งแต่ความเคลื่อนไหวของนักแตะที่จะเดินทางออกจากโรงแรมที่พัก ,การสอนแท็คติก และ วางหมากของผุ้จัดการทีมในแต่ละแมทซ์ รวมไปถึง ไลฟ์สไตล์ของซูเปอร์สตาร์แข้งทอง และ บรรดาหลังบ้านของพวกเขาว่าทำอะไร ที่ไหน อย่างไร "เฮียฮ้อกล่าว
นอกจากมิติใหม่ของการถ่ายทอดการแข่งขัยแล้ว สุรชัย กล่าวถึงมิติใหม่ของการหารายได้จากลิขสิทธิ์กีฬาว่าอาร์เอส จะสามารถบริหารลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลทั้ง 2 รายการนี้ ให้สร้างผลตอบแทนกลับมาอย่างที่น่าพึงพอใจได้ โดยการใช้กลยุทธ์การตลาด 360 องศา ทั้งการหาสปอนเซอร์สนับสนุนการถ่ายทอด การสร้างรายได้จากการจัดกิจกรรมสนับสนุนการแข่งขัน การจัดรายการโปรโมทการแข่งขันผ่านสื่อที่มีอยู่ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หรือเว็บไซต์ การนำคอนเทนต์ต่าง ๆ ของการแข่งขัน เช่น ภาพนักฟุตบอล ทีมฟุตบอล เทปการแข่งขัน คลิปการทำประตู ฯลฯ ออกมาหารายได้จากการขายสินค้า หรือการดาวน์โหลด
เฮียฮ้อ กล่าวว่า การแข่งขันฟุตบอลยูโรและฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ถือได้ว่าอาร์เอสได้รับสิทธิออลมีเดีย ไรท์จากทางฟีฟ่า ในลักษณะที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางการตลาดแต่เพียงผู้เดียว หากองค์กรหรือบริษัทไหนๆจะนำชื่อของฟุตบอลโลกเข้าไปเกี่ยวข้องต้องมาขออนุญาตจากทางอาร์เอสเสียก่อน โดยในขณะนี้ก็ได้มีการเจรจากับพาร์ทเนอร์จากหลากหลายธุรกิจ สนใจที่จะมาร่วมสนับสนุนกันหลายรายแล้ว
แต่ที่สำคัญฟุตบอลโลก รวมถึงฟุตบอลยูโร จะไม่ได้มีกระแสเฉพาะปีที่จะมีการจัดการแข่งขันเท่านั้น เฮียฮ้อ มองว่า เบียร์ช้างที่เคยเป็นผู้สนับสนุนหลักการแข่งขันฟุตบอลโลก 2 ครั้งล่าสุด เสียโอกาสจากประเด็นนี้ไปพอสมควร การสร้างกิจกรรมทางการตลาด เพื่อสร้างกระแสการแข่งขัน สามารถเริ่มได้ทันทีซื้อลิขสิทธิ์มา สร้างผลตอบแทนคืนกลับมาได้ตั้งแต่วันแรก ไม่ต้องรออีก 2 - 3 ปี จนถึงปีแข่งขันจึงค่อยมาทำการตลาด
"เราเป็นผู้บริหารคอนเทนต์ ดังนั้นเราจะทำการวางแผนแบบเบ็ดเสร็จ เมื่อมีพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมมือกับเรา ก็สามารถทำตลาดร่วมกันได้เลยโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันแข่งขันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นงานอะโบฟ เดอะ ไลน์ หรือ บีโลว์ เดอะ ไลน์ ถ้าปีนี้ผมจะดึงสปอนเซอร์ต่าง ๆ มาร่วมจัดอีเวนต์รับสมัครนักฟุตบอลเยาวชนทั่วประเทศ คัดเลือกหาผู้โชคดีบินไปเยี่ยมชมสนามฟุตบอลโลก ที่ประเทศแอฟริกาใต้ มันก็เป็นกระแสที่สามารถหารายได้กลับมาได้ ไม่ต้องรอให้ถึงปี 2010 ซึ่งจุดนี้ทำให้มั่นใจว่าอาร์เอสจะสามารถบริหารลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกให้ได้ผลตอนแทนสูงกว่าที่ทศภาคเคยทำได้แน่นอน"
อย่างไรก็ตามในแง่ของการเป็นผู้จัดการลิขสิทธิ์การแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่ๆในเบื้องต้นนั้น วรวุฒิ โรจนพานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด ยืนยันเป็นเสียงเดียวกับสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ว่า จะยังคงมีการถ่ายทอดฟุตบอลแบบไม่มีโฆษณาแทรก และได้ดูครบทุกนัดจนจบการแข่งขันเหมือนเช่นเดิม
นอกจาก 2 รายการยักษ์ใหญ่ของวงการฟุตบอลแล้ว อาร์เอส ยังมีการซื้อลิขสิทธิ์ทัวร์นาเม้นท์การแข่งขันฟุตบอลระดับโลกรายการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์โลก อายุไม่เกิน 20 ปี ที่ประเทศแคนาดา ระหว่าง 30 มิ.ย. - 22 ก.ค. 50, ฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์โลก อายุไม่เกิน 17 ปี ที่ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่าง 18 ส.ค. - 9 ก.ย. 50 , ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก ที่ประเทศจีน ระหว่าง 10 - 30 ก.ย. 50 , ฟุตบอลชายหาดชิงแชมป์โลก ระหว่าง 1 - 11 พ.ย. 50 , รวมถึงการถ่ายทอดสดการจับสลากแบ่งสายฟุตบอลโลก 2010 รอบคัดเลือก ในวันที่ 23 พ.ย. 50 และงาน FIFA WORLD PLAYER GALA 2007 ในวันที่ 17 ธ.ค. 50 คาดว่าในส่วนของทัวร์นาเมนท์การแข่งขัน 4 รายการในปีนี้จะสามารถทำรายได้ให้กับอาร์เอส ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท เป็นรายการอุ่นเครื่องก่อนยูโร 2008 จะเริ่มขึ้นในปีหน้า
พรีเมียร์ลีก ราคา 1.6 พันล้าน ทรูวิชั่นส์ มั่นใจ Convergence สร้างกำไรได้
หากพูดถึงลิขสิทธิ์กีฬาที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดในปัจจุบัน เห็นจะไม่มีรายการไหนยิ่งใหญ่เกิน อิงลิช พรีเมียร์ลีก หรือ อีพีแอล ฟุตบอลที่มีการแข่งขันยาวนานตั้งแต่สิงหาคม จนถึงพฤษภาคมของปีถัดไป รวม 10 เดือน ประกอบด้วยทีมฟุตบอลหลากหลายคาแรกเตอร์รวม 20 ทีม มีแมตช์การแข่งขันมากถึง 380 นัด สร้างกระแสฟีเวอร์ไปในทุกช่องทาง ทั้งการมีสื่อเฉพาะเช่น รายการโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร รายการวิทยุ เว็บไซต์ ร้านขายของที่ระลึก กลุ่มแฟนคลับ กิจกรรมชมการแข่งขัน จนถึงโต๊ะพนันบอล
ความคลั่งไคล้ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของคนไทย ทำให้ทรูวิชั่นส์ ค่ายเคเบิลทีวีอันดับหนึ่งของเมืองไทยเพียรพยายามรักษาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดไว้ในมือเพื่อการขยายฐานสมาชิก นับตั้งแต่เคยซื้อลิขสิทธิ์โดยตรงจากอังกฤษในช่วงแรก จนถึงเมื่ออีเอสพีเอ็น ผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดกีฬายักษ์ใหญ่ของโลก คว้าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดอีพีแอลครอบคลุมย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทรูวิชั่นส์ หรือยูบีซีในเวลานั้น ก็ยังจ่าย 300 ล้านบาทต่อปี ให้กับอีเอสพีเอ็น เพื่อบรรจุการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ลงในช่องอีเอสพีเอ็ม และสตาร์สปอร์ต ที่ออกอากาศบนยูบีซี ตลอด 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา แต่ถึงวันนี้ ลำพังลิขสิทธิ์การถ่ายทอด คงไม่เพียงพอ ผู้บริหารของทรู มองว่า คอนเทนต์พรีเมียร์ลีก จะสามารถขับเคลื่อนแนวคิด Convergence ของทรู ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากสามารถซื้อลิขสิทธิ์อย่างครบวงจรมาอยู่ในมือ
งบประมาณราว 16,000 ล้านบาท จึงถูกทุ่มออกไป ตัดหน้าทั้งเจ้าเก่าอย่าง อีเอสพีเอ็น และเจ้าของลิขสิทธิ์ทางฟรีทีวี ทราฟฟิกคอนเนอร์ รวมถึงผู้ประกอบการอีกหลายราย คว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 3 ฤดูกาล ตั้งแต่ 2007/2008 - 2009/2010 ทำให้ทรูคอร์ปอเรชั่นสามารถสร้างโอกาสให้กับธุรกิจภายใต้อาณาจักรได้อย่างครบวงจร มิใช่เพียงการหาสมาชิกให้กับทรูวิชั่นส์ หากแต่ต่อไปนี้ ลูกค้าของทรูจะสามารถรับชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก บนอินเตอร์เน็ต ผ่านทรูออนไลน์ หรือผู้ใช้โทรศัพท์ในรุ่นไฮเอนท์ ก็สามารถรับชมผ่านเครือข่ายทรูมูฟ คอมมูนิตี้ของแฟนบอล จะเกิดขึ้นใหม่ในร้านทรูคอฟฟี่ หรือบนทรูไลฟ์ ภาพนักฟุตบอล ลีลาเด็ด คลิปการทำประตู เพลงเชียร์ หรือแมตช์แห่งความทรงจำ สามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของทรู
ทรู เริ่มเดินเครื่องการตลาด เพื่อหาผลตอบแทนคืนจากลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก ด้วยการจัดโปรโมชั่นให้กับทรูวิชั่น สมัครแพกเกจทรูไลฟ์ ฟรีวิว ด้วยการใช้ทรูมูฟเดือนละ 300บาท หรือสมัครเป็นสมาชิกทรูวิชั่นส์ในซิลเวอร์แพกเกจและทรูโนว์เลจแพกเกจ สามารถสั่งซื้อช่องพรีเมียร์ลีกเพียง 299 บาทต่อเดือน จากราคาปกติ 399 บาทต่อเดือน ซึ่งจะสามารถรับชมการแข่งขันได้ 3-5 แมตช์ต่อสัปดาห์ และยังสามารถซื้อแบบตลอดฤดูกาลการแข่งขัน ได้ในราคา 2,299 บาท ต่ำกว่าราคาปกติถึง 35 % ได้อีกทาง
ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) คาดการณ์ว่าการจัดโปรโมชั่นในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ให้กับทรูวิชั่นส์ไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย หรือสูงสุดที่ 3 แสนราย ของระยะเวลาในการถ่ายทอดสดตลอด 3 ฤดูกาลนี้ ขณะเดียวกันในส่วนของทรูมูฟนั้น คาดว่าจะผลักดันให้ทรูมูฟมีจำนวนลูกค้าใหม่ในสัดส่วน 1 ใน 3 ของฐานลูกค้าใหม่ของตลาดมือถือในปีนี้ได้อีกทางหนึ่ง
เมื่อคำนวณจำนวนลูกค้าใหม่กว่า 1 แสนครัวเรือนที่จะเข้ามาใหม่ คิดอัตราค่าบริการที่ 399 บาท คาดว่าต่อเดือนจะมีรายได้ประมาณ 480 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นรายได้ที่ถึงจุดคุ้มทุน เพราะในแต่ละฤดูกาลของการแข่งขันนั้น เฉลี่ยมีค่าลิขสิทธิ์อยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทฯยังมีรายได้จากส่วนอื่นเข้ามาเสริมด้วย ไม่ว่าจะเป็นรายการที่ติดมากับการได้รับลิขสิทธ์ดังกล่าวที่จะนำมาเผยแพร่ทางช่อง ทรูสปอร์ต หรือรายได้จากช่องทางออนไลน์ และมือถือ จึงคาดว่าการซื้อลิขสิทธ์ครั้งนี้จะสร้ายรายได้ต่อบริษัทฯได้เป็นอย่างดี
ทราฟฟิค คอร์นเนอร์ กับเอฟ.เอ.คัพ ที่เหลืออยู่
อีกหนึ่งลิขสิทธิ์การถ่ายทอดกีฬาที่ได้รับความสนใจอย่างสูง ฟุตบอลถ้วยรายการเก่าแก่ที่สุดในโลก ฟุตบอลเอฟ.เอ.คัพ ประเทศอังกฤษ ฤดูกาลล่าสุด 2007/2008 ยังอยู่ในมือของทราฟฟิค คอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ ที่อดีตผู้บริหาร สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย เคยทุ่มงบประมาณ 200 บาท ดึงลิขสิทธิ์การถ่ายทอดรายการฟุตบอลน็อคเอาท์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของโลกรายการนี้ มาจากช่อง 7 สี เป็นเวลา 4 ฤดูกาล นับแต่ 2004/2005 ซึ่งปีสุดท้ายก็จะจบลงในฤดูกาล 2007/2008
แต่เนื่องจากแนวคิดในการเป็นผู้นำด้านลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาจากต่างประเทศของทราฟฟิค คอร์นเนอร์ ไม่มีการสานต่อหลังจาก สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ขายหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทฯ ให้กับ พ.ต.อ. รวมนคร ทับทิมธงไชย แนวนโนบายที่จะตัดธุรกิจที่ไม่มีความชำนาญตามแนวทางของผู้กำกับการนักบริหาร ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลจากประเทศอังกฤษที่สุรพงษ์เคยซื้อมา ทั้งเอฟ.เอ.คัพ รวมถึงพรีเมียร์ลีกบางนัด ก็ไม่มีการนำไปต่อยอดสร้างรายได้อื่น ๆ นอกจากการขายโฆษณาในช่วงการถ่ายทอดเพียงอย่างเดียว ซึ่งลิขสิทธิ์เอฟ.เอ.คัพในปีนี้ ทราฟฟิค คอร์นเนอร์ ก็คงส่งต่อให้กับฟรีทีวีทำการถ่ายทอด แล้วเก็บรายได้จากค่าโฆษณาเหมือนเช่นเดิม
ในปีหน้า ก็คงเหลือขุมทองลิขสิทธิ์เอฟ.เอ.คัพ เป็นรายการหลักที่จะดึงดูดให้เกิดสงครามการแย่งชิงระหว่างผู้เล่นรายเดิมอย่าง ทรูวิชั่นส์ อาร์เอส ช่อง 3 ช่อง 7 และอาจมีหน้าใหม่ ๆ รายอื่น หาญเข้ามาต่อกรวัดฝีมือสร้างสีสันให้ติดตาม
|