Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2534
ปูนร้าว "ชลประทานซีเมนต์"โตก็ไม่ได้ - ตายไม่เป็น             
 

   
related stories

ปมปริศนา "วัลลภ ธารวณิชกุล"
คุณหญิง ARISTOCRAT แห่งชลประทานซีเมนต์

   
search resources

ชลประทานซีเมนต์, บมจ.
Cement




การบริหารชลประทานซีเมนต์ของเศรษฐีผู้ดีเก่าอย่างตระกูลธารวณิชกุลดูเสมือนจะดำรงอยู่ได้ในกิจการประเภทผูกขาด ซึ่งวันนี้มีอยู่ 3 ราย แต่ในวันหน้ายักษ์ใหญ่รายใหม่อีกหลายรายที่จะเข้ามาแข่งขันรุนแรงภายใต้การค้าเสรีนี้ การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดที่ลูกเขยหนุ่มอย่างวราวุธ วงศ์วิเศษพยายามผลักดันโครงการใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นกลับถูกตั้งข้อหาว่า "ขบถ" จนต้องลาออก เบื้องหลังของความขัดแย้งในชลประทานซีเมนต์ จึงมีที่มาจากปัญหาของคน ๆ เดียว !!

"เป็นเรื่องภายในครอบครัว"

เป็นคำตอบสั้น ๆ ที่ผู้บริหารปูนเล็ก ณรงค์ จุลชาติ เอ่ยถึงการลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของพลโทปุ่น วงศ์วิเศษ และกรรมการผู้จัดการทั่วไปของวราวุธ วงศ์วิเศษ ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายนศกนี้

ในวันที่ 18 มิถุนายน ณรงค์ออกคำสั่งที่ 88/2534 ล้างบางพวกของวราวุธที่ต้องสงสัยเข้ากรุ เช่น สิทธิชัย เหล่าสืบสกุล ที่เคยร่วมงานกับไกเซอร์ซีเมนต์ และเป็นมือขวาของวราวุธในฐานะรองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายผลิต ก็ต้องถูกแช่แข็ง แล้วแต่งตั้งให้ประวิตร ราชแพทยาคม ลูกหม้อเก่าที่ทำงานมา 35 ปีตั้งแต่สมัย ม.ล.ชูชาติ ขึ้นควบตำแหน่งนี้พร้อมกับรองผู้จัดการฝ่ายวิชาการ

คนที่ดึงสิทธิชัยเข้ามาในปี 2530 คือ วันชัย อ่ำพึ่งอาตม์ ที่ต้องลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปพร้อมวราวุธ วันชัย เข้ามาทำงานตั้งแต่สมัยปี 2512 ไต่เต้าจากพนักงานบัญชีและมีความดีความชอบในฐานะอยุ่เบื้องหลังการช่วยกลุ่มเอเชียทรัสต์โค่นล้มกลุ่มหมอสมภพ - ดร.รชฎ ในปี 2525

หลังการประกาศลาออก บรรยากาศในห้องประชุมชั้น 3 ซึ่งมีรูปคุณหญิงตั้งตระหง่าน ก็มีการแต่งตั้งบอร์ดใหม่เสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ทันทีว่า ที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 306/2534 อนุมัติให้สองพ่อลูกลาออก และมีมติแต่งตั้งพลตรี นายแพทย์ ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ ทำหน้าที่แทนวราวุธ และแต่งตั้งบอร์ดบริหารใหม่ โดยให้คนึง ฦาไชย เป็นประธานกรรมการบริหารแทนพลโทปุ่น และแต่งตั้งณรงค์ จุลชาติ พล.ต.นพ.ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ จาริน อัตถะโยธิน และนิรันดร์ วิจิตรานนท์ เป็นกรรมการ

เบื้องหลังความขัดแย้งถึงขั้นวราวุธ ลูกเขยคุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุลต้องลาออกนี้ กล่าวันว่า เกิดจากความสั่งสมความอึดอัดใจมานาน ที่ต้องอยู่ภายใต้นโยบายการบริหารแบบอนุรักษ์นิยมที่ดำเนินธุรกิจตามสบาย ๆ แบบเศรษฐีผู้ดีเก่าอย่างคุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุล

โครงสร้างอำนาจคณะกรรมการบริหารก่อนการเปลี่ยนแปลง มีลักษณะคานอำนาจกันเองระหว่างเครือญาติคนใกล้ชิดคุณหญิง ได้แก่ พลโทปุ่น วงศ์วิเศษ บิดาของเขยเล็ก คนึง ฦาไชย ทนายประจำตระกูลธารวณิชกุล เจ้าของบริษัทบางกอกอินเตอร์ฯ ที่ว่าความคดีสำคัญ ๆ เช่น คดีเอเชียทรัสต์ ดิสสกร กุนธร ลูกเขยคนโตที่แต่งงานกับเมธินี ณรงค์ จุลชาติ เพื่อนของน้องชายคุณหญิง คือ นิรันดร์ และวราวุธ วงศ์วิเศษ เขยเล็กที่มีบทบาทสูงมากในบอร์ดนี้ เนื่องจากกุมสภาพเสียงข้างมาก

ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่วราวุธทำงาน เขาเป็นวิศวกรคุมสายการผลิตของสองโรงปูนได้สั่งสมอำนาจและบารมีไว้สูง ด้วยการทำงานแบบท่าทีที่นิ่มนวลเป็นกันเอง สุภาพถ่อมตนกับพนักงานซึ่งมักเรียกเขาว่า "คุณป้อม" ผู้ถือหุ้นชลประทานซีเมนต์ไว้ 63,148 หุ้น (ณ 19 เมษายน 2533)

ขณะที่ผู้บริหารที่ใกล้ชิดคุณหญิงมากอย่างณรงค์ จุลชาต กลับมีบุคลิกผู้บริหารที่เก็บตัว โดยประวัติส่วนตัวเขาจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สาขาบริหารรัฐกิจ และปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์จากธรรมศาสตร์ จากนั้นก็เรียนปริญญาโทสาขาเดียวกันที่สหรัฐฯ ได้ปริญญา M.P.A. THE MAXWELL SCHOOL OF CITIZENSHIP & PUBLIC AFFAIRS ที่มหาวิทยาลัย SYRACUSE UNIVERSITY

ประสบการณ์การศึกษาทั้งหมดแทบไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน แต่ณรงค์เริ่มงานแห่งแรกที่สำนักงบประมาณเมื่อปี 2505 ทำอยู่ 10 ปีเต็มจึงลาออกมาอยู่ภาคเอกชนที่บงล.กรุงเทพธนาทรในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ 2 ปีก่อนที่จะลาออกมาอยู่เป็นกรรมการผู้จัดการของบงล.บุคคลัภย์ในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ณรงค์เริ่มมีชื่อเสียงจากความสำเร็จในการงาน เขาได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงเกิดวิกฤตการณ์ตกต่ำ ดัชนีหุ้นตกจาก 258 จุดเหลือเพียง 149 จุด เป็นเวลาสามปีระหว่าง 1 ก.ค. 2521 - 7 ส.ค. 2523 ที่ณรงค์ได้เข้าไปคลุกคลีกับธุรกิจมากมายโดยเฉพาะการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการของตระกูลที่มีปัญหาธุรกิจ เช่น กรณีบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลของศิริชัย บูลกุล ที่ยื่นเข้าตลาดหุ้น แต่ถูกวารี พงษ์เวชและศุกรีย์ แก้วเจริญ ประธานและผู้จัดการตลาดขณะนั้นทักท้วงในหลายประเด็น เรื่องก็คาราคาซังจนมาถึงยุคณรงค์เป็นผู้จัดการ หุ้นมาบุญครองก็ได้เข้าตลาดฯ ในเวลาต่อมา เมื่อณรงค์เข้ามาช่วยกลุ่มเอเชียทรัสต์กว้านซื้อหุ้นจนโค่นล้มกลุ่มหมอสภพ สุสังกรกาญจน์ และดร.รชฎ กาญจนวณิชย์ได้

บุญคุณครั้งนี้ คุณหญิงลลิลทิพย์จึงแต่งตั้งณรงค์เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา และเมื่อปี 2528 ณรงค์เคยมีข้อขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ของคนของคุณหญิงถึงขั้นประกาศลาออกจากตำแหน่ง ก็จะมีการส่งกรรมการผู้ใหญ่ในบอร์ดบางคนเข้าไปอ้อนวอนให้อยู่ต่อ ส่งเสริมให้ณรงค์กลายเป็นเสาหลักสำคัญ ที่ค้ำจุนชลประทานซีเมนต์ให้อยู่ได้ในฐานะบทบาทประสานงานกับผู้ถือหุ้น และดูแลบริหารการเงินที่เขามีสายสัมพันธ์กับสถาบันการเงินสำคัญ ๆ

"คุณณรงค์แกมีข้อเสียชอบด่าคน เวลาจะประชุมหรือให้ปาฐกถามักจะขมวดท้ายแบบให้สำนึกถึงบุญคุณเสมอ เช่น งานให้คำชมเชย พนักงานจะต้องตบท้ายว่า คุณเป็นลูกจ้างบริษัท คุณอย่าลืมนะว่า ต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์มากที่สุดและคุณทำอะไรอยู่ ผมรู้นะ" พนักงานเก่าแก่คนหนึ่งเล่าให้ฟัง

เพียงรูปลักษณ์นิสัยใจคอภายนอกของทั้งคู่ ก็เปรียบเทียบได้ว่าในสายตาของพนักงาน คะแนนความนิยมย่อมตกอยู่กับวราวุธมากกว่า ยิ่งวราวุธกุมหัวใจคือฝ่ายผลิตด้วยแล้ว ยิ่งสร้างความไม่พอใจและความระแวงขึ้นในพวกผู้หญิง และสร้างแรงกดดันที่น่าอึดอัดใจต่อวราวุธ

เมื่อต้องยู่ภายใต้กรอบนโยบายเชิงอนุรักษ์เช่นนี้ วราวุธก็ย่อมรับรู้ถึงขีดจำกัดการเจริญเติบโตขององค์กรที่สะท้อนถึงความมีประสิทธิภาพต่ำในเชิงการบริหารการจัดการ

ปัญหาและอุปสรรคที่ผู้บริหารอย่างวราวุธผู้คุมกำลังพลด้านปฏิบัติการอึดอัดใจจึงพอสรุปได้ดังนี้

หนึ่ง - นโยบายยักษ์แคระแบบชลประทานซีเมนต์นี้ ทำให้การแตกตัวขยายเครือข่าย (DIVERSIFY) ไปสู่อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างแบบครบวงจรไม่มีเลย มีบริษัทในเครือเพียงบริษัทเดียว คือ บริษัทชลประทานคอนกรีต หรือ "ชคล." ที่ผลิตและขายคอนกรีตผสมเสร็จ ซึ่งเดิมมี พล.ต.ท.ประวิทย์ วงศ์วิเศษ น้องชายพลโทปุ่น เป็นประธานบอร์ดบริหารอยู่ แต่ปัจจุบันได้ลาออกแล้ว

ในอดีตชลประทานซีเมนต์ครองฐานะความเป็นปูนกลาง รองจากบริษัทปูนซีเมนต์ไทยมาตลอดนับตั้งแต่ก่อตั้งปี 2499 หลังจากป้อนปูนให้กับเขื่อนภูมิพล ก็มีการจำหน่ายปูนตรางูเห่าและตราพญานาค โดยเน้นการผลิตปูนซีเมนต์ที่มีลักษณะพิเศษ เช่น ปูนประเภท 5 ตราปลาฉลามที่ต่อต้านสารซัลเฟตที่เหมาะกับงานคอนกรีตในทะเล หรือปูนซีเมนต์สำหรับงานเจาะบ่อน้ำมัน (OIL WELL CEMENT) ที่ให้ MARGIN สูงและคู่แข่งไม่ผลิตเนื่องจากไม่คุ้มกับตลาดที่ยังเล็กอยู่

แต่เมื่อบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงเกิดขึ้นในปี 2513 ฉายาปูนกลางของชลประทานซีเมนต์เริ่มถูกท้าทายจากผู้มาใหม่ที่เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด

จากปี 2515 ถึงปี 2521 ชลประทานซีเมนต์ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสอง คือ 23.4% ในปี 2515 ขณะที่ปูนนครหลวงเพิ่งเริ่มต้นได้แค่ 9.4% แต่สองปีต่อมา ปูนนครหลวงแย่งส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น ๆ เป็น 13% ขณะที่ชลประทานซีเมนต์ลดลงเหลือ 18% ในปี 2519 ถึงปี 2521 ชลประทานตกมาครองส่วนแบ่งตลาดแค่ 17.4% ขณะที่ปูนนครหลวงได้เป็น 12.6%

จุดหักเหครั้งสำคัญที่สุดในปี 2524 ที่ปูนนครหลวงชิงความเป็น "ปูนกลาง" ได้จากการขยายกำลังผลิต โดยเพิ่มเตาเผาอีก 1 เตา และหม้อบดปูนจาก 2 หม้อเป็น 4 หม้อ สามารถผลิตปูนได้ถึง 2.8 ตันและปูนนครหลวงทำการตลาดสำเร็จจนยอดขายปี 2524 สูงถึง 1,340 ล้านบาทจากปี 2523 ที่ขายได้เพียง 785 ล้านบาท

"ผมขนโรงปูนมาตั้งแต่เริ่มผลิต สมัยก่อนปูนตราเสือหรือตรานกไม่มีสิทธิ์สู้ กองทัพงูเห่าของเราครองตลาดภาคเหนือได้ทั้งหมด คนอื่นไม่มีสิทธิ์แตะ แต่เดี๋ยวนี้พอบอกปูนงูเห่า ก็เป็นรองคนอื่นเขามันน่าช้ำใจ" คนเก่าแก่ขับรถสิบล้อขนปูนเล่าให้ฟัง

ขณะที่ปูนนครหลวงรุ่งโรจน์ ชลประทานซีเมนต์เริ่มเกิดศึกร้าวฉานหลังจากตระกูลธารวณิชกุลเข้าไปควบคุม จนเกิดสงครามโค่นล้มอำนาจระหว่างกลุ่มหมอสมภพ - ดร.รชฎกับกลุ่มเอเชียทรัสต์ ทำให้แผนการปรับปรุงขยายกำลังผลิตชะงักไปอย่างน่าเสียดาย และเป็นการพลาดโอกาสทองที่จะพัฒนากิจการให้รุ่งเรืองได้ในขณะที่การพัฒนาประเทศแถบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (EASTERN SEABOARD) มีความต้องการปูนพิเศษประเภท 5 มาก ๆ

"ในอดีตที่ขายดีมากทะลุเป้า เราเคยมีการโฆษณาขายปูนตราฉลาม แต่พอตลาดต้องการมาก ๆ เรากลับจำเป็นต้องหยุด เพราะผลิตไม่ทันตลาดต้องการ และอีกสองโรงคู่แข่งเขาก็ปล่อยให้เราทำปูนพิเศษนี้ เพราะเราจะได้ไม่ไปแย่งของเขา เราก็โง่ ตอนนั้นเรายังผลิตปูนพิเศษแบบ 3 ซุปเปอร์ที่เทในน้ำแล้วแห้งเร็ว ปูนใหญ่เขายังมาซื้อเราไปเลย เราเพิ่งจะฉลาดมาหยุดผลิตเมื่อไม่นานนี้" แหล่งข่าวในโรงปูนเล่าให้ฟัง

หลังจากที่ตระกูลธารวณิชกุลสามารถยึดครองอำนาจการบริหารได้ทั้งหมดแล้ว ไม่มีการเพิ่มทุนขยายกำลังผลิตตามที่เคยขอบีโอไอไว้ ขณะที่คู่แข่ง DIVERSIFY แตกตัวบริษัทไปมาก กิจการชลประทานซีเมนต์ถูกคู่แข่งทิ้งห่างชนิดไม่เห็นฝุ่น

จะสังเกตเห็นได้ว่า ในปี 2532 ยอดขายของชลประทานซีเมนต์ลดลงประมาณ 3.77% เนื่องจากการปิดโรงปูนที่ชะอำถึง 2 ครั้งเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

ฉะนั้น ความอยู่รอดและความมั่นคงของชลประทานซีเมนต์จึงขึ้นอยู่กับสินค้าปูนซีเมนต์เพียงตัวเดียว !

ความพยายามของวราวุธที่บริหารชลประทานซีเมนต์ด้วยปรัชญาการบริหารแบบ "จิ๋วแต่แจ๋ว" (SMALL IS BEAUTIFUL) นับว่าเป็นความพยายามอันล้มเหลว เนื่องมาจากความไร้ประสิทธิภาพในองค์กรที่ผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จในมือคน ๆ เดียว

ทางออกของวราวุธก็คือ การป้อนปูนซีเมนต์เป็นวัตถุดิบให้กับบริษัทผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างเช่นบริษัทกระเบื้องโอลิมปิคและวีคอน

"ในอดีตเราเคยผลิตกระเบื้องแต่ก็ไปไม่รอดเพราะผลิตแล้วไม่ได้มาตรฐาน มุมหนึ่งบาง มุมหนึ่งหนา สีติดแน่นเป็นปึกและหักเปราะง่ายเวลาช่างตีฝ้า ทำให้ต้องขายเครื่องจักรให้กับบริษัทกระเบื้องโอฬารไป ซึ่งปรากฎว่าเขาใช้เครื่องจักรเป็นและทำออกมาขายได้ดี" แหล่งข่าวเล่าถึงความล้มเหลวของการแตกตัวทำผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างอื่นที่เกิดจากคนไม่มีประสิทธิภาพ

ต้นปี 2533 วราวุธจะขยาย PRODUCT LINE จึงเข้ารับเป็นตัวแทนขายสีดัทช์บอยของสหรัฐอเมริกา โดยใช้ช่องทางจัดจำหน่ายเอเย่นต์ปูน 400 แห่ง มุ่งเน้นตลาดต่างจังหวัดเป็นหลัก วราวุธฝันว่าจะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทในปีนี้ แต่สิ่งเหล่านี้แทบหมดค่าเมื่อวันนี้ไม่มีเขาอยู่ เป็นเพียงสินค้าฝากขายเท่านั้น

"ในอดีตเขาเคยส่งไพฑูรย์ โกสีย์รักษ์วงศ์ ผจก.ฝ่ายค้าวัสดุก่อสร้างไปศึกษาที่อเมริกาในเรื่องเกี่ยวกับซีเมนต์ส เพื่อใช้ฉาบปูนเป็นสีต่าง ๆ แต่ทำไปก็ขายไม่ได้ ทำให้ต้องเลิกล้มไปในที่สุด" นับเป็นแนวความคิดที่ล้มเหลวและไม่หยั่งถึงพฤติกรรมผู้บริโภค

ลักษณะการจัดจำหน่ายปูนตรางูเห่า และพญานาคนั้นส่วนใหญ่จะผ่านตัวแทนจำหน่ายถึง 50% ขายตรง 30% ให้กับผู้รับเหมาและส่วนราชการ เช่น ซีพี ทาวเวอร์ บริษัทการบินไทย และอาคาร ภปร. โรงพยาบาลจุฬาฯ และขายผ่านบริษัทเองอีก 20%

ปัจจุบันชลประทานซีเมนต์มีคลังสินค้าที่โรงงานตาคลี พระประแดง พหลโยธิน เชียงใหม่ นครปฐม และธนบุรี-ปากท่อ

สอง - ชลประทานซีเมนต์มีโรงงานผลิตเก่าแก่สองแห่ง โรงปูนที่ตาคลี จ.นครสวรรค์อายุเก่ามากถึง 33 ปี และโรงปูนที่ชะอำ จ.เพชรบุรี อายุไม่ต่ำกว่า 19 ปี ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อหวังตีตลาดทางภาคใต้ แต่ก็ถูกปูนซีเมนต์ไทยดักทางไปตั้งโรงงานปูนอยู่ที่ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

ด้วยเหตุความล้าหลังเทคโนโลยี และความเก่าแก่ของโรงปูนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่ารายอื่น โดยเฉพาะโรงปูนตาคลีมีกรรมวิธีการผลิตที่ล้าหลังมาก ๆ คือ เป็นกรรมวิธีการเผาหมาด (SEMI-DRY PROCESS) ขณะที่คู่แข่งอย่างปูนซีเมนต์ไทยและปูนซีเมนต์นครหลวงหันไปใช้แบบวิธีเผาแห้ง

โครงสร้างของต้นทุนการผลิตมีค่าพลังงานถึง 40% วัตถุดิบ 27% ค่าแรงงานแค่ 3% ค่าบำรุงรักษาสูงถึง 12%

ความพยายามของวราวุธในการผลักดันให้มีการนำเอาเทคโนโลยีญี่ปุ่นเข้ามาพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ถูกตีความว่า "ชักศึกเข้าบ้าน" เพราะโครงการขยายโรงงานนี้จำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อลงทุนโรงปูนแห่งที่สาม และตรงนี้บริษัทญี่ปุ่นอาจจะเข้ามาถือหุ้น

สาม - นโยบายการจ่ายเงินปันผลของชลประทานซีเมนต์อยู่ในอัตราที่สูง ในอดีตที่ผ่านมา ระหว่างปี 2528 - 2532 บริษัทจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยสูงถึง 88% ขณะที่กิจการไม่มีการเพิ่มทุนเลยตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา

ปัจจุบันชลประทานซีเมนต์มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 500 ล้านบาท แต่เรียกชำระแล้ว 455 ล้านบาท

การไม่เพิ่มทุนของบริษัทชลประทานซีเมนต์สะท้อนให้เห็นถึงลักษระการบริหารเงินทุนแบบอนุรักษ์ทั้งที่มีโอกาสในตลาดหุ้น ทำให้โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเครื่องจักรที่โรงงานต้องอาศัยแหล่งเงินกู้ยืมจากแบงก์พาณิชย์เพียงแหล่งเดียวตลอดมา

สินทรัพย์สำคัญของชลประทานซีเมนต์ที่สำคัญมีอยู่ 4 ประเภท คือ ที่ดินและอาคารสำนักงานใหญ่เนื้อที่ 5 ไร่

- โรงปูนซีเมนต์สองโรง คือ โรงปูนตาคลีเนื้อที่ 1,429 ไร่ มีเตาเผาหมาด 2 เตา หม้อบดดินผง และหม้อบดปูน 6 หม้อ กำลังผลิต 1,650 ตัน/วัน และโรงปูนชะอำเนื้อที่ 1,988 ไร่ที่มีเตาเผาแบบแห้งหนึ่ง เตาหม้อบดดินผงและปูน 2 หม้อ กำลังผลิต 1,900 ตัน

- เรือลำเลียงปูนผง "เอ็ม.วี.ชูชาติ" ระวาง 1,540 ตันกรอสที่ขนปูนจากโรงปูนชะอำมาบรรจุที่พระประแดง

ในปี 2533 บริษัทมีหนี้สินรวม 1,121 ล้านบาท ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้น 890 ล้านบาท ดังนั้นอัตราส่วนหนี้สิน/ส่วนของผู้ถือหุ้นประมาณ 1.25 : 1 แม้จะแสดงถึงสถานะบริษัทยังแข็งแรงอยู่ แต่ธุรกิจไม่มีการขยายการเติบโต โอกาสการหารายได้ก็น้อยลง หรือตรงข้าม ถ้าหากต้องการขยายธุรกิจก็จะถูกกดดันด้วยภาระหนี้สินที่ต้องเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในหลักการบริหารเงินเป็นวิธีที่ไม่ฉลาด

สี่ - ชลประทานซีเมนต์มีส่วนแบ่งตลาดน้อยที่สุดเพียง 7.21% และมีกำลังผลิตเพียง 1.2 ล้านตันต่อปี มีรายได้จากการขายอยู่ในระดับเพียง 2,005 ล้านบาทในปี 2533 ขณะที่ปูนซีเมนต์ไทยครองส่วนแบ่งตลดาสูงถึง 63% มีกำลังผลิตเป็น 9.5 ล้านตัน/ปี และปูนซีเมนต์นครหลวงทำส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 29.84% มีกำลังผลิต 4.55 ล้านตัน/ปี

แนวโน้มการถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดของชลประทานซีเมนต์ในอนาคตจึงคาดว่าจะเกิดขึ้น เพราะประมาณปี 2535 ผู้ผลิตปูนรายใหม่ เช่น ทีพีไอโพลีนจะเริ่มผลิตปูนออกมาขายปีแรก 6 แสนตัน/ปี และปี 2537 เดินเครื่องผลิตเต็มที่ 2 ล้านตัน/ปี การแข่งขันจะดุเดือดมาก และทีพีไอโพลีนก็จะสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดจากขลประทานซีเมนต์ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายเล็กที่สุดได้ ถ้าหากไม่มีการปรับตัวสู้ตั้งแต่นี้

ห้า - นโยบายปิดป่าของรัฐบาล และกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทำให้บริษัทอาจจะประสบอุปสรรคในการขายการผลิตในอนาคต โดยเฉพาะที่โรงงานชะอำที่ตั้งอยู่ใกล้ภูเขานางพันธุรัตน์หรือเขาเจ้าลายซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ป่าสงวน

วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสำหรับปูนพิเศษนับว่าหายากขึ้น เช่น หินปูน ดินดาน ยิปซั่ม และศิลาแลง

"แหล่งวัตถุดิบของชลประทานซีเมนต์เพิ่งจะได้รับการต่อสัมปทานอายุอีก 20-25 ปีคิดว่าไม่มีปัญหา" แหล่งข่าวระดับสูงกล่าว

หก - ปัญหาขาดแคลนบุคลากร ระดับหัวหน้าช่าง และวิศวกร ชลประทานซีเมนต์เกิดภาวะสมองไหล โดยเฉพาะช่วงเกิดบริษัทปูนซีเมนต์ใหม่ ๆ มีการซื้อตัวระดับวิศวกรโดยจ่ายผลตอบแทนให้สูงกว่าที่นี่สองเท่า เช่น ยรรยง ผู้จัดการสำนักงานขายภาคเหนือ ลาออกไปอยู่บริษัททีพีไอโพลีนในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย เป็นต้น

"ชลประทานซีเมนต์ตอนนี้มีสภาวะสมองไหล พนักงานวิศวะและฝ่ายโรงงานเราลาออกเกือบหมด แทบจะไม่เหลือ บริษัทใหม่เขาซื้อตัวแบบให้เงินเดือนมากกว่าที่นี่ซึ่งให้ 15,000 - 20,000 บาท แต่ที่ใหม่ให้สองเท่าตัวก็มีคนทะยอยออกไป แต่เขาก็ไม่มีการเสริม ปล่อยให้บรรยากาศอึมครึม น่าอึดอัดใจ" คนเก่าแก่ในบริษัทเล่าให้ฟังถึงความไม่จูงใจให้วิศวกรทำงานด้วยเนื่องจากความล้มสมัยของเทคโนโลยีและการให้ผลตอบแทนต่ำ

"สมัยปี 2530 มีการจัดฉลองใหญ่ที่ยอดขายและกำไรทะลุเป้าในรอบ 31 ปี เพราะผลิตได้มาก ขายได้มาก แต่ปีนี้ พนักงานได้เงินรางวัลกันไม่กี่คน ๆ ละ 4-5 พันบาท แต่ผู้ใหญ่ได้รางวัลกันเป็นแสน มันไม่ยุติธรรม มองไม่เห็นค่าของพนักงานเลย" เสียงตัดพ้อต่อว่าของพนักงานคนหนึ่ง

วิธีป้องกันปัญหาสมองไหลโดยเพิ่มเงินเดือนวิศวกรนี้เองที่ทำให้วราวุธได้กลายเป็น "ขบถ" จุดชนวนระเบิดความระแวงแคลงใจมานาน ด้วยคำกล่าวหาที่ว่าเป็นผู้สั่งสมอำนาจบารมี และอยู่เบื้องหลังสถานการณ์การชุมนุมประท้วงของพนักงานโรงปูนที่ตาคลีประมาณ 200 คนที่หยุดงานเพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงเงินเดือนและสวัสดิการพนักงานที่โยงสู่ประเด็นการเรียกร้องให้วราวุธกลับเข้ามาทำงานอีก

ยุทธวิธีการสลายม็อบครั้งนี้ ฝ่ายบริหารยอมประนีประนอมให้สวัสดิการค่ารักษาพยายามจากเดิมโรคละ 8 พันบาทเป็น 1.8 หมื่นบาท และให้เงินค่าครองชีพเป็นเดือนละ 450 บาท ส่วนโบนัสพนักงานที่เรียกร้องให้แบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ตามผลประกอบการแทนที่จะจ่ายโบนัสตายตัวปีละ 3 เดือนนั้นไม่ได้รับพิจารณา

นอกจากนี้ บุคคลที่ถูกย้ายเข้ากรุตามคำสั่ง 88/2534 ก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกระลอกหนึ่ง คือ ย้ายกลับเข้าประจำตำแหน่งบริหารเดิม หลังจากตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้ฝักใฝ่ใน "ขบถ" คือ สุรพล พงศทัต กลับไปเป็น ผอ.โรงปูนชะอำ ศักดิ์ชัย เหมวิจิตร เป็น ผจก.หนุ่มโสดฝ่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งดึงไปช่วยเป็น ผจก.การเงินของบริษัทชลประทานคอนกรีตก่อนเกิดเหตุด้วย พลกูล อังกินันทน์ ก็เป็น ผอ.โครงการเฉพาะกิจประจำโรงปูนชะอำตามเดิม สามารถ บุญญาลัย ผจก.แผนกเหมืองหิน โรงปูนชะอำ

เป็นสัจธรรมว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำองค์กรใดก็ตาม ย่อมจะเกิดการล้างบางอำนาจคนเก่า เพื่อคนใหม่จะได้ทำงานได้เต็มที่

ภาวะคลื่นใต้น้ำที่แม้จะดูภายนอกสงบราบรื่น แต่ลึก ๆ ภายในยังเป็นที่จับตาระแวดระวังจากฝ่ายผู้กุมอำนาจอยู่เสมอ เพราะคุณหญิงมีบทเรียนในอดีตอันแสนเจ็บปวดมาแล้ว

บทเรียนการโค่นอำนาจครั้งกระนั้นเกิดขึ้นในที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีเมื่อเดือนเมษายนปี 2525 ที่ไม่ปรากฎชื่อของบุคคลในกลุ่มเอเชียทรัสต์ทั้ง 5 คนเป็นกรรมการบริษัท คือ วัลลภ คุณหญิงลลิลทิพย์ ทินกร ธารวณิชกุล คนึง ฦาไชย และพลโทปุ่น วงศ์วิเศษ ด้วยเหตุผลที่ทั้งห้าก่อให้เกิดปัยหาในการบริหารงานโดยระบบเครือญาติ ขณะที่มีสองผู้บริหารแฝด คือ ดร.รชฎ กาญจนวณิชย์ และหมอสมภพ สุสังกรกาญจน์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่

ในอดีตหุ้นของชลประทานซีเมนต์จะกระจายออกไปโดยไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นคนไทยเลย สมัยแรกเริ่มที่หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ผู้ก่อตั้งบริษัทชลประทานซีเมนต์ขึ้นมาในปี 2499 ด้วยทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท เพื่อป้อนปูนให้กับการสร้างเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก โดยมีนายช่างมนัส มังคลพฤกษ์ เป็นผู้อำนวยการโรงปูนตาคลีคนแรก นายช่างมนัสนี้ต่อมาได้ถูกลอบยิงตายที่หน้าวัดปทุมวนารามด้วยสาเหตุของการขัดผลประโยชน์

ช่วงนั้น หุ้นบริษัทได้กระจายสู่มือพนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน กระจายถือหุ้นคนละเป็นร้อยหุ้น แต่ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่กล่าวกันว่าเป็นของตระกูลธารวณิชกุล ที่ต้องถือในนามผู้อื่นในอันดับแรก ๆ ของผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ เริ่มพงษ์ บูรณฤกษ์ แจ่ม ธนสาร HSBC (SET) NOMINESS และ JOLLY TRADING

เมื่อ ม.ล.ชูชาติ ผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อบริษัทสิ้นชีวิตลง น้องชายคือ ม.ล.ชวนชื่น กำภูก็สืบตำแหน่งผู้บริหารแทน ยุคนี้เองที่บริษัทไกเซอร์ซีเมนต์แอนด์ยิบซั่มคอร์ปอเรชั่นจากเมืองโอ๊คแลนด์รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เข้ามาถือหุ้น 25.38% เพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและการบริหาร โดยเฉพาะด้านเทคนิคการผลิตปูนที่ใช้ในกิจการขุดเจาะบ่อน้ำมันเพื่อป้อนให้ลูกค้าต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และบรูไน

หลังจากการพ่ายแพ้สงครามเวียดนามของสหรัฐอเมริกา และเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บริษัทต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศต่างหวาดกลัวจะเป็นไปตามทฤษฎีโดมิโนว่า ไทยจะเป็นเหยื่อรายต่อไป ไกเซอร์ซีเมนต์จึงถอนตัวออกไปในปี 2520 และฉวยโอกาสไปสร้างโรงงานปูนของตนเองที่อินโดนีเซีย ทำให้ชลประทานซีเมนต์ต้องสูญเสียตลาดต่างประเทศรายสำคัญในอินโดนีเซียและบรูไนไปในที่สุด

บริษัทชลประทานซีเมนต์ประสบปัญหาการขาดทุน ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง มีการเพิ่มทุนเป็น 273 ล้านบาทเพื่อชดเชยภาวะขาดทุน

ตอนนั้นบริษัทอยู่ในภาวะขาดแคลนผู้บริหารด้วยเนื่องจากผู้บริหารชาวอเมริกันของไกเซอร์ซีเมนต์ คือ มร.เพรสทอป ได้ทำงานควบคู่กับ มล.ชวนชื่น เมื่อไกเซอร์ซีเมนต์ถอนตัวออกไปก็ทำให้ตำแหน่งผู้บริหารนี้ว่างลง ดร.รชฎ กาญจนวณิชย์ ได้เคยให้สัมภาษณ์ถึงการเข้ามาของตเองว่า

"ตอนนั้นผมเป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทสมัยเมื่อไกเซอร์ยังถือหุ้นบริษัทนี้อยู่ ผมเข้ามาในฐานะวิศวกรคนหนึ่ง ต่อมาเมื่อปี 2520 ก็มีการหาตัวกรรมการผู้จัดการ เขาก็มอบให้ผมเป็นคนร่างคุณสมบัติของคนที่จะมาเป็น แต่ทีนี้การวางเงื่อนไขคุณสมบัติมันดีเกินไป เลยหาไม่ได้"

"จึงต้องลองพยายามกันอีก หาไปหามาก็เชิญคุณหมอสมภพ สุสังกรกาญจน์มาเป็นกรรมการผู้จัดการ เพราะเห็นว่ามีความเหมาะสมและความสามารถแล้วผมก็เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการร่วมอีกคนหนึ่งอย่างที่เห็น ๆ "

กิจการมีทีท่าดีขึ้น หลังจากสองผู้บริหารดังกล่าวเข้ามา ประกอบในช่วงต้นปี 2522 ชลประทานซีเมนต์ต้องมีการเพิ่มทุนเป็น 455 ล้านบาท โดยจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ในราคาหุ้นละ 10 บาท

ตรงนี้เองที่เป็นก้าวแรกของการเข้ามามีบทบาทในชลประทานซีเมนต์ของกลุ่มเอเชียทรัสต์ของวัลลภ ธารวณิชกุล ที่หมอสมภพซึ่งมีตำแหน่งเป็นขณะนั้น เป็นประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ชักชวนเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุนนี้พร้อมกับแบงก์แหลมทองและอิตัลไทย

กล่าวกันว่า จอห์นนี่ มา ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการและผู้จัดการใหญ่แบงก์เอเชียทรัสต์ต้องผันเงินจากแบงก์ถึง 300 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นไกเวอร์ซีเมนต์ไว้ประมาณ 25.38% หรือประมาณ 7 แสนหุ้น ๆ ละ 350 บาท

หลังจากถือหุ้นใหญ่แล้ว คนในกลุ่มเอเชียทรัสต์ก็เข้าไปเป็นกรรมการในบอร์ดใหญ่ชลประทานซีเมนต์นับตั้งแต่วัลลภ ธารวณิชกุล คุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุล ประธานกรรมการบริษัทบางกอกเอนเทอร์เทนเมนท์ ทินกร ธารวณิชกุล กรรมการรองผู้จัดการแบงก์เอเชียทรัสต์ ศิริ วิจิตรานนท์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโสแบงก์เอเชียทรัสต์ คนึง ฦาไชย อดีต รมช.มหาดไทย และประธานบริษัทบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล พลโทปุ่น วงศ์วิเศษ อดีตผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และวราวุธ วงศ์วิเศษ

ภายใต้การควบคุมนโยบายและการดำเนินงานแบบครอบครัว ได้มีการเปลี่ยนรูปบริหารจากบอร์ดใหญ่ลงมาเป็นบอร์ดเล็ก โดยมีวัลลภ ธารวณิชกุล เป็นประธานกรรมการบริหาร แล้วสนับสนุนให้พลโทปุ่น วงศ์วิเศษ เป็นกรรมการผู้จัดการทั่วไป ไว้คานอำนาจสองผู้บริหารเดิมและวราวุธ วงศ์วิเศษ เป็นรองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาดและทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการบริษัทด้วย

"ตอนแรกของการทำงานก็ไม่ขัดแย้งอะไรกันมากนัก นอกจาก CONFLICT OF INTEREST บ้าง เช่น ให้เอาเงินไปฝากเอเชียทรัสต์ หรือใช้เงินกู้โอดีที่เอเชียทรัสต์ซึ่งคิดดอกเบี้ย 18% ขณะที่คนอื่นคิดแค่ 16%" แหล่งข่าวเก่าแกในบริษัทเล่าให้ฟัง

ความแตกต่างระหว่างแนวความคิดของกลุ่มหมอสมภพกับกลุ่มเอเชียทรัสต์ที่มีตั้งแต่เรื่องเล็กไปถึงเรื่องใหญ่ที่ปะทะกันอย่างรุนแรงก็คือ การขยายโรงงานแห่งที่สามที่ขยายกำลังผลิตอีกที่โรงปูนซีเมนต์ผงที่ชะอำมูลค่าโครงการนี้ใช้เงิน 3 พันล้านบาท

ความขัดแย้งหลัก ๆ ของทั้งสองฝ่ายจึงมีอยู่ สองประการ คือ

หนึ่ง - การเลือกใช้เทคโนโลยี ฝ่ายหมอสมภพ - ดร.รชฎ ต้องการใช้เทคโนโลยีของ F.L.SMITH ซึ่งดร.รชฎเห็นผลงานจากที่บริษัทนี้เคยทำให้ปูนซีเมนต์ไทยและปูนซีเมนต์นครหลวง แต่ฝ่ายธารวณิชกุลต้องการบริษัท FULLER ซึ่งเป็นบริษัทปูนของสหรัฐฯที่ตั้งโรงงานปูนที่ไต้หวัน โดยคนจีนตระกูลเช็ง ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นเพื่อนจอห์นนี่ มา

สอง - ขัดแย้งเรื่องการเพิ่มทุนเป็น 900 ล้านบาท ฝ่ายหมอสมภพ - ดร.รชฎ เห็นด้วยที่จะให้มีการเพิ่มทุนเพื่อมิให้โครงการมีความเสี่ยง แต่ฝ่ายกลุ่มเอเชียทรัสต์เห็นว่าไม่ควรเพิ่มทุน โดยอ้างว่าจะมีปัญหาต่อการจ่ายปันผลและกำลังซื้อผู้ถือหุ้นรายย่อย แต่ลึก ๆ ลงไปกล่าวกันว่า ฝ่ายธารวณิชกุลเกรงว่าจำนวนหุ้นที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้อำนาจการควบคุมกิจการลดลง

ความขัดแย้งตรงนี้นำไปสู่การโค่นกันในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนเมษายน 2525 ฝ่ายหมอสมภพ - ดร.รชฎ ได้วางแผนปฏิบัติเงียบ โดยวิ่งเต้นขอเสียงจากผู้ถือหุ้นต่าง ๆ ตั้งแต่กระทรวงการคลัง แบงก์กรุงไทย กรมชลประทาน และตระกูลกำภู เพื่อให้ได้ PROXY มาล้มพวกเอเชียทรัสต์ออกจากบอร์ดบริหาร

ขณะนั้น ในบรรดาผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับซึ่งรวมจำนวนหุ้นถึง 2,182,290 หุ้น หรือ 47.94% เป็นของแบงก์กรุงไทย 12.38% กระทรวงการคลัง 7.79% และฝ่ายกลุ่มเอเชียทรัสต์ถึง 23.04% หรือ 1,047,505 หุ้น โดยถือในนามของบริษัททิพวัล เจ้าของหมู่บ้านทิพวัล บริษัท ที.ที.โฮลดิ้ง บริษัทธารวณิช ทินกร ธารวณิชกุล ศิริ วิจิตรานนท์ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอ.เอฟ.ที. กับ บงล.นทีทอง

"ในที่ประชุมวันนั้น ทางเอเชียทรัสต์เขาตกใจมากและนึกไม่ถึงว่าเขาจะถูกโค่น เรียกได้ว่าโกรธอย่างมาก ๆ เลย พวกเขาทั้หงมดเดินออกจากที่ประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน และดร.รชฎ กับหมอสมภพ ก็รู้ว่าสงครามเกิดขึ้นแล้ว" แหล่งข่าวย้อนอดีตให้ฟัง

รายการชำระความแค้นที่ถูกหยามศักดิ์ศรีครั้งนั้น นอกจากมียุทธการปล่อยข่าวลือใบปลิวต่าง ๆ ที่จะรบกวนฝ่ายตรงข้ามแล้ว

ฝ่ายเอเชียทรัสต์ยังได้ ณรงค์ จุลชาต อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นเพื่อนสนิทกับ นิรันดร์ วิจิตรานนท์ น้องชายคุณหญิง มาช่วยเป็นเสนาธิการวางแผนกว้านซื้อหุ้นให้มากที่สุด ยอดซื้อขายหุ้นทั้งเดือนพฤษภาคม 2525 รวมแล้ว 6 แสนหุ้นเป็นเงินร่วม 100 ล้านบาท ทำให้ฝ่ายเอเชียทรัสต์มีหุ้นในครอบครองเกินกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน และเตรียมเรียกประชุมให้ปลดฝ่ายตรงข้ามออกไป

ดูเหมือนกลุ่ม ดร.รชฎและหมอสมภพจะรู้ว่าต้านศึกนี้ไม่อยู่ จึงขายหุ้นทิ้ง โดยหมอสมภพขายออกในนามส่วนตัวบริษัทรวมแพทย์จำนวน 18,939 หุ้น ๆ ละ 125.5 บาท และพากันลาออกพร้อมกับ พล.ต.อ.พิชัย กุลละวณิชย์ นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต โพธิพงษ์ ล่ำซำ และชนัตถ์ ปิยะอุย ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2525
"ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คุณหมอกับดร.รชฎ ไม่เคยที่จะเอ่ยถึงประสบการณ์ชีวิตการทำงานในช่วงนี้ คุณสังเกตในประวัติการทำงานทั้งคุ่จะไม่พบหรือข้ามตรงนี้ไปมันเป็นอดีตที่อัปยศมาก" แหล่งข่าวเล่าให้ฟัง
ชลประทานซีเมนต์ไทยยุคตระกูลธารวณิชกุลครอบครอง จึงเป็นระบอบการปกครองแบบครอบครัวที่มีคุณหญิงเป็นผู้ทรงอำนาจแต่ผู้เดียว มีการแต่งตั้งณรงค์ จุลชาตเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ เป็นบำเหน็จความดีความชอบที่ทำให้วันนี้มีตระกูลธารวณิชกุล เป็นจ้าวอาณาจักรที่ชลประทานซีเมนต์ได้
ส่วนวราวุธ วงศ์วิเศษ ก็เป็นกรรมการผู้จัดการทั่วไป พลโทปุ่น วงศ์วิเศษ เป็นประธานกรรมการบริหาร
งานเร่งด่วนชิ้นแรกที่ณรงค์ทำก็คือ การยกเลิกสัญญาเก่าและให้มีการประมูลใหม่โดยในที่สุดทางบริษัท FULLER ก็ได้งานไป และก็เป็นผู้จัดหาเงินกู้มูลค่า 48.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วย แต่ติดขัดที่ไม่สามารถหากลุ่มธนาคารในประเทศที่จะเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ก้อนนี้
งานนี้แบงก์กรุงเทพขอถอนตัว โดยบอกว่าขอคิดดูก่อน เบื้องหลังการปฏิเสธโครงการนี้ก็เนื่องมาจากนโยบายของผู้ใหญ่แบงก์นี้ก็ไม่ต้องการจะทำธุรกิจอะไรกับเอเชียทรัสต์มาตั้งแต่สมัยชิน โสภณพนิช แล้วประกอบกับข่าววงในขณะนั้นมีสัญญาณบ่งบอกถึงสถานะอันง่อนแง่นของกลุ่มฯ

"เราก็บอกเขาไปในทำนองที่ว่า เราอยากให้เขาเพิ่มทุน และให้ศึกษาโครงการขึ้นมาใหม่ ซึ่งเรากู้รู้แล้วว่าเขาต้องเพิ่มทุนอย่างน้อยอีกเท่าตัว และคงเป็นไปไม่ได้ในสภาพอย่างนั้น ยิ่งมาเจอวิกฤตการณ์แบงก์เอเชียทรัสต์ล้ม ก็ทำให้ตระกูลนี้เผชิญปัญหาการเงินหนักขึ้นไปอีก มีหนี้สินจำนวนมหาศาล" แหล่งข่าวในแบงก์เล่าให้ฟัง

จนถึงทุกวันนี้ ชลประทานซีเมนต์ก็ยังไม่สามารถดำเนินการเพิ่มทุนได้ และได้กลายเป็นปมปัญหาใหญ่ที่ทำให้ชลประทานซีเมนต์กลายเป็นยักษ์แคระในที่สุด

เมื่อวราวุธพยายามนำญี่ปุ่นเข้ามาปรับปรุงเทคโนโลยีและเสนอให้มีการเพิ่มทุนขยายโรงงานปูน ก็มีข่าวลือว่าถึงการเข้ามาถือหุ้นเงียบของต่างประเทศ ที่ทำให้คุณหญิงเกิดความระแวงไม่พอใจและมีการแก้ไขข้อบังคับของบริษัทในส่วนการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างด้าวจากเดิมไม่เกิน 37% เหลือเพียง 25% ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 19 เมษายน 2533

"ชลประทานถึงจุดคุ้มทุนมานานแล้ว แต่ที่ไม่เพิ่มทุนเพราะมีเหตุระแวงกันและมีอะไรลึกๆ ซ่อนอยู่ซึ่งคุณณรงค์รู้ดี จุดหนึ่งที่คุณหญิงก็อยากจะขยายกำลังผลิตแต่ก็เกรงว่าจะถูกยึดหรือเปล่า ? ตราบใดที่คดียังไม่ยุติแกก็ทำอะไรไม่ได้ ตอนนี้แกก็อายุมากและเหนื่อย สู้อยู่อย่างนี้สบาย ๆ ดีกว่า" แหล่งข่าววงในกล่าว

การบริหารของตระกูลธารวณิชกุลดูเสมือนจะดำรงอยู่ได้แต่ในกิจการประเภทผูกขาด เฉกเช่นอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ซึ่งมีผู้ผลิตเพียง 3 แห่งในอดีต แต่ในอนาคตการแข่งขันจะทวีความดุเดือดมากภายใต้การค้าเสรีที่จะเกิดโรงปูนยักษ์ใหญ่รายใหม่ขึ้นไม่ว่าจะเป็นทีพีไอโพลีนของเลียวไพรัตน์ หรือปูนซีเมนต์เอเชียของแบงก์กรุงเทพ

ถึงเวลานั้นแล้ว การบริหารแบบสบาย ๆ สไตล์เศรษฐีผู้ดีเก่าของผู้บริหารในชลประทานซีเมนต์อาจจะให้ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงว่า ฉายาที่เคยเรียกในท้องตลาดว่าปูนเล็กอาจจะเป็น "ปูนจิ๋ว" ไปในที่สุด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us