ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ชี้แนวโน้มการระบายเอ็นพีเอของธนาคารพาณิชย์จะมากยิ่งขึ้น หลังตัวเลขบีไอเอสขยับสูงตามเกณฑ์ธปท.และเริ่มมีกำไร เตรียมขายทรัพย์ลดราคา ระบุแนวโน้มปล่อยสินเชื่อบ้านลด เหตุผู้ประกอบการลดขนาดและราคาขายบ้านลง บวกกับดอกเบี้ยเงินกู้มีแนวโน้มลดต่อ คาดการจัดมหกรรมเอ็นพีเอ แกรนด์เซลและอสังหาฯ 13-15 ก.ค. จะกระตุ้นตลาด ตั้งเป้ายอดขายเฉพาะในงาน 3,000 ล้านบาท
นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เปิดเผยสถานการณ์ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของธนาคารพาณิชย์ว่า ในปัจจุบันตัวเลขหนี้มีอยู่จำนวน 4 แสนล้านบาท ในขณะที่ ณ เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทรัพย์สินรอการขาย(เอ็นพีเอ)ของธนาคารพาณิชย์มีจำนวน 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งไม่นับรวมตัวเลขเอ็นพีเอของธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.),ออมสิน และบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.)เมื่อเทียบกับในช่วงปลายปี 2549 ตัวเลขเอ็นพีเอมีประมาณ 1.79 แสนล้านบาท โดยอัตราการระบายออกของเอ็นพีเอน้อยมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ ธนาคารพาณิชย์ยังมีอัตรากำไรจากผลประกอบการไม่สูง และตัวเลขเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) อยู่ในระดับที่ต่ำ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์เริ่มมีผลกำไรมากขึ้น ประกอบกับมีการเพิ่มเงินกองทุนฯ เพื่อปฎิบัติให้ได้ตามเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประกาศออกมา ทำให้ในขณะนี้ ธนาคารพาณิชย์มีความพร้อมในการตัดหนี้สูญได้มากขึ้น และสามารถปรับสภาพหนี้ให้กลายเป็นเอ็นพีเอได้ รวมถึงสามารถคัดเลือกทรัพย์เอ็นพีเอที่มีศักยภาพและมูลค่าสูงออกมาลดราคาขายได้มากขึ้น ส่งผลให้อัตราการระบายออกของเอ็นพีเอมีความรวดเร็วขึ้นและใช้ระยะเวลาน้อยกว่าช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ปริมาณสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างในระบบ ณ ไตรมาสแรกของปี 2550 มีวงเงินประมาณ 1.365 ล้านล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มียอดสินเชื่อคงค้างในระบบประมาณ 1.342 ล้านล้านบาท เนื่องจากอัตราการขยายตัวการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน ค่อนข้างชะลอตัว และอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสูงถึงปีละ 30% โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ อัตราการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวอยู่ในระดับ 12% คาดว่าตลอดทั้งปีจะขยายตัวไม่เกิน 15% ทั้งนี้ หากอัตราขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ในระดับ 20% จะถือว่าอยู่ในระดับที่อันตราย
สำหรับปริมาณการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2550 คาดว่าจะมีจำนวน 2.6 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2549 ที่มีปริมาณการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในระบบรวม 2.7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ การลดลงของจำนวนการปล่อยสินเชื่อ สาเหตุเกิดจากในช่วงปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในตลาด มีการปรับกลยุทธ์การพัฒนาโครงการและปรับสินค้าใหม่ โดยลดขนาดและราคาของที่อยู่อาศัยลง รวมถึงธนาคารพาณิชย์ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ทำให้จำนวนการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีปริมาณลดลงตามไปด้วย
นายกิตติ กล่าวถึงแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลังว่า มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเริ่มคลี่คลาย ส่งผลความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการฟื้นกลับมา
"ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าภาคธุรกิจอื่นๆ เมื่อปัจจัยต่างๆคลี่คลาย การตัดสินใจซื้อและความเชื่อมั่นต่างๆ จะฟื้นตัวขึ้น ซึ่งเชื่อว่าอัตราการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปลายปีนี้ น่าจะสูงกว่าในช่วงปลายปี 2549 หลังจากได้รับความชัดเจนในเรื่องต่างๆ "นายกิตติ
นายกิตติกล่าวถึงการจัดงานมหกรรมเอ็นพีเอ แกรนด์เซลและมหกรรมอสังหาริมทรัพย์ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 13-15 ก.ค.นี้ ว่า จะมีสถาบันการเงินนำทรัพย์เอ็นพีเอเข้าร่วมงานกว่า 67,000 ล้านบาท โดยทางสมาคมฯได้ตั้งเป้าจะมียอดขายภายในงานประมาณ 3,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดงานในช่วงปี 2549 ประมาณ 1,000 ล้านบาท
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) กล่าวว่า ปัจจุบันบสก.มีเอ็นพีเอประมาณ 40,000 กว่าล้านบาท โดยได้คัดทรัพย์คุณภาพเกรดเอ ทั้งในส่วนของที่อยู่อาศัยและทรัพย์เพื่อการลงทุนรวมมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาทมาร่วมออกงาน โดยทางบสก.ได้มอบส่วนลดสูงถึง 30% จากราคาเสนอขาย พร้อมฟรีค่าธรรมเนียมการโอน จดจำนอง และภาษีทุกรายการ นอกจากนี้ ได้เตรียมมอบทองคำให้แก่ลูกค้าที่ซื้อทรัพย์ ตามมูลค่าของทรัพย์ เริ่มต้น 75 สตางค์ถึง 100 บาท เป็นต้น รวมถึงการมอบอัตราดอกเบี้ยพิเศษ MLR ลบ 3% ในระยะ 10 ปี
|