Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2534
ถ้าไม่เลิกทะเลาะกันภายใน 5 ปีอาคเนย์ฯ พัง ! ? !             
 


   
search resources

อาคเนย์ประกันภัย (2000), บจก.
Insurance
จุลพยัพ ศรีกาญจนา




ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะในความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นระหว่างกลุ่มศรีกาญจนา และกลุ่มพันธมิตรบุญยรักษ์ - นิวาตวงศ์ เพื่อช่วงชิงอำนาจการบริหารที่อาคเนย์ประกันภัย มันเป็นเรื่องความขัดแย้งและการหวาดระแวงในกลุ่มของผู้ถือหุ้นแบบโบราณคร่ำครึตลอดระยะเวลา 4 ปี การทะเลาะกันในวันนี้มีแนวโน้มว่าจะทำให้บริษัทตกต่ำลงได้ ส่วนแบ่งตลาดประกันวินาศภัยที่เคยครองอันดับ 4 ต้องตกมาอยู่อันดับ 6 หากยังทะเลาะไม่เลิก ผู้เชี่ยวชาญชี้อนาคต 5 ปีต้องอับเฉา !!

การทะเลาะกันในกลุ่มผู้ถือหุ้นที่อาคเนย์ประกันภัยได้กลายเป็นตำนานชนิดไม่มีบริษัทใดประสงค์จะเดินตามรอย

มันไม่ใช่เรื่องที่ชนรุ่นลูกไม่สามารถสืบทอดความสามัคคีปรองดองเพื่อบริหารกิจการที่ชนรุ่นพ่อร่วมกันก่อตั้งมาได้เท่านั้น

แต่มันเป็นเรื่องความขัดแย้งในแนวคิดการบริหาร ลามปามมาถึงความหวาดระแวง การรวมหัวกันเตะโด่งตระกูลที่ร่วมก่อตั้งบางตระกูลออกไป และในที่สุดกงกรรมกงเกวียนก็ย้อนมาสู่ความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันอีก

วงจรอุบาทว์เช่นนี้จะหลีกให้พ้นได้ก็ต้องใช้วิธีการปรับองค์กรอย่างรุนแรงเพื่อก้าวเข้าสู่ระบบบริหารแบบใหม่ ไม่มีเรื่องของกลุ่มตระกูลเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป

เมื่อจุลพยัพ ศรีกาญจนา ประกาศเจตนารมณ์ที่จะให้มืออาชีพเข้ามาบริหารงานที่อาคเนย์ประกันภัยตามมาตรการที่เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ผู้หนึ่งเรียกร้องนั้น เขาคงจะลืมไปว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งก็ประกาศจุดยืนนี้เช่นกัน

แต่เขาเองเป็นผู้ขับไล่ผู้ถือหุ้นกลุ่มนั้นออกไปเสียจากบริษัทฯ

วันนี้ เขากำลังตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับผู้ถูกขับไล่เมื่อ 4 ปีก่อน

ต่างกันอยู่แต่ว่า เขาใจไม่ถึงพอที่จะเดินจากไปสร้างธุรกิจใหม่ของตัวเอง !!

เรื่องราวความขัดแย้งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในอาคเนย์ประกันภัยเวลานี้มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ปี 2530 ครั้งนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งสำคัญครั้งแรกของอาคเนย์ประกันภัย บริษัทประกันภัยเก่าแก่ที่ตั้งมานานถึง 45 ปีเต็ม

กลุ่มโชติกเสถียรและติตติรานนท์ร่วมกันขายหุ้นให้เจริญ สิริวัฒนภักดี คนขายเหล้าเจ้าของกิจการสุราทิพย์ ในจำนวน 90,241 หุ้น หรือ 45.12% ของหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ 200,000 หุ้น

หลังจากที่กลุ่มโชติกเสถียรและติตติรานนท์ออกจากบริษัทฯ ไปแล้ว กลุ่มศรีกาญจนาและบุญยรักษ์ก็เป็นตัวตั้งตัวตีจัดการตั้งบริษัทอาคเนย์โฮลดิ้งขึ้นมาซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมดยกเว้นเจริญ ดังนั้นบริษัทโฮลดิ้งซึ่งตั้งขึ้นมาถึง 3 บริษัทจึงได้เข้ามาถือหุ้นในอาคเนย์ประกันภัยอีกทอดหนึ่ง

เหมือนกับบริษัทโฮลดิ้งทั่วไปที่จัดตั้งขึ้นมาถือหุ้นบริษัทในเครือ

แต่การตั้งโฮลดิ้งครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายแตกต่างออกไป

ผู้รู้เรื่องราวลึกซึ้งในอาคเนย์ฯ คนหนึ่ง เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "แนวคิดที่ตั้งโฮลดิ้งขึ้นมา คือ มีความไม่มั่นใจกันเองในระยะยาว เป็นความพยายามที่จะผนึกเสียงเป็นอันเดียวกัน และหากเกิดทะเลาะกัน ก็ให้ทะเลาะกันที่โฮลดิ้ง ไม่มายุ่งกับตัวบริษัทฯ ก็ต้องยืนเสียงกันตามนั้น จะสังเกตว่า การตั้งโฮลดิ้งขึ้นมา 3 บริษัทนั้น สะท้อนความไม่วางใจต่อกันขนาดไหน คือ อาจจะมีการชนะในโฮลดิ้งแรก แต่อาจจะแพ้ในโฮลดิ้งที่ 2 และ 3 ได้อีก"

ประเด็นความยุ่งยากที่โฮลดิ้งนี่เองที่เป็นจุดปะทุให้เกิดการทะเลาะกันอย่างรุนแรง และจะเอาชนะหรือแพกันให้ได้ก็อยู่ที่การแก้ปมเงื่อนอันนี้ออกมาให้ได้เช่นกัน !!

พยัพ ศรีกาญจนาผู้พ่อ และจุลพยัพผู้ลูกต้องการที่จะสลายบริษัทโฮลดิ้ง ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจได้ว่า พยัพต้องการดันลูกชายหัวแก้วหัวแหวนขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการแทนที่ ดร.ศักดา บุญยรักษ์ ซึ่งเข้ามาดูแลงานในตำแหน่งนี้ได้ประมาณ 3 ปีแล้ว
จุลพยัพเดิมมีตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการและนายทะเบียนบริษัท กับเป็นรองกรรมการผู้จัดการดูแลรับผิดชอบงานประกันภัย

เขาเพิ่งจะเข้ามาในแวดวงธุรกิจประกันภัยก็เมื่อมีการกำจัดอาทรและนรฤทธิ์ออกไปแล้วในปี 2531 จึงจัดได้ว่าเขาเป็น "มือใหม่" มากในวงการนี้

ขณะที่จุลพยัพยังเพียงแค่เริ่มเรียนรู้งานอยู่นั้น คนเก่า ๆ ที่ทำงานมานานเป็น 20 กว่าปีก็ลาออกไปเป็นจำนวนมาก

พินิจ รุจิระบรรเจิด ผู้อำนวยการฝ่ายประกันภัย ซึ่งถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการรับผิดชอบสายงานประกันภัยหลังจากที่อาทรและนรฤทธิ์ออกไป ประกาศลาออกโดยให้เหตุผลว่า ไม่มีงานให้ดูแลโดยตรง

ปัจจุบัน พินิจเป็นผู้อำนวยการฝ่ายรถยนต์ของบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด

หรืออย่าง สนิท พจน์วาที (เป็นหัวหน้าหน่วยควบคุมราคารถ) เลิศชาย ป ระภาศิริรัตน์ (ดูแลงานประกันภัยทางทะเล) รุ่งโรจน์ สัตยสัณห์สกุล (ผู้จัดการฝ่ายประกันไม่ตายตัว คือ ประกันเบ็ดเตล็ด ภัยทางทะเล และขนส่ง) และล่าสุด คือ นคร มศรีพันธ์ (ดูแลงานประกันภัยเบ็ดเตล็ด) ซึ่งลาพักร้อนและออกไปในช่วงที่มีความขัดแย้งครั้งล่าสุด เป็นต้น

คนเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์และความชำนาญในธุรกิจประกันภัยมานาน จุลพยัพเองก็ยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมานั้น บริษัทมีอัตราการเติบโตที่ต่ำมาก สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการขาดแคลนบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ

ปี 2531 ที่เข้ามาบริหารงาน จุลพยัพจึงประกาศแผนงานปรับปรุงการบริหารภายใน 4 ข้อ กล่าวคือ

- สร้างความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการให้แก่พนักงานภายในองค์กรและตัวแทนขาย โดยการให้ผลประโยชน์ที่พนักงานพึงจะได้รับ

- พัฒนาทรัพยากรบุคคลเพราะที่ผ่านมาบริษัทมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าคู่แข่งขัน เนื่องมาจากจุดอ่อนด้านบุคลากรที่ขาดการอบรม และขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน

- ด้านการตลาดจะมีการพัฒนากรมธรรม์แบบครบวงจรเข้าสู่ตลาด คือ ให้ความคุ้มครองได้รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ทรัพย์สิน และบุคคล รมถึงการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย คือ เข้มงวดประสิทธิภาพของตัวแทนขายให้ทำการขายทั้งประกันชีวิตและวินาศภัย

- ด้านการลงทุน จะปรับจากเดิมที่ลงทุนด้านพันธบัตรและเงินฝากเป็นหลัก หันมาร่วมมือกับไฟแนนซ์ต่าง ๆ ในการปล่อยกู้เพื่อสร้างผลประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น การปล่อยกู้แก่โครงการบ้านจัดสรรต่าง ๆ เน้นการลงทุนในกิจการที่มีความมั่นคงมากขึ้น เช่น การซื้อหุ้นในบริษัทผาแดง อินดัสตรี และธนาคารพาณิชย์บางแห่ง

นอกจากนี้ ยังมีความริเริ่มที่จะนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยงานในโครงการจัดทำระบบสารสนเทศ ประสานระบบข้อมูลทางการตลาดและบริหารเข้าด้วยกัน ด้วยงบประมาณ 30 ล้านบาท

แต่หลังจากประกาศว่าจะทำการออนไลท์ข้อมูลในสาขา 10แห่งที่กทม.ตั้งแต่กรกฎาคม 2531 จนปัจจุบันก็ยังไม่มีการออนไลท์ข้อมูลระหว่างสาขาใด ๆ ทั้งสิ้น

การบุกเบิกด้านการตลาดของจุลพยัพดูเหมือนจะไม่ราบรื่นเท่าที่ควร แม้มูลค่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของปี 2531-2533 จะเพิ่มขึ้น แต่ส่วนแบ่งการตลาดกลับลดลงเรื่อย ๆ ทุกปี จากเดิมที่เคยอยู่อันดับ 4 ในปี 2530 ลดลงมาอยู่อันดับ 6 ในปี 2532

ในแง่ของการดำเนินงานนั้น จะเห็นได้ชัดว่าอัตราการเติบโตเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2533 กล่าวคือปี 2532 อาคเนย์ ฯ มีเบี้ยประกันรับโดยตรงเท่ากับ 507.75 ล้านบาทคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 4.06 % มีอัตราการเติบโตคิดเป็น 26.93 % ขณะที่การเติบโตของธุรกิจประกันภัยทั้งระบบเท่ากับ 35.81 %

ครั้นปี 2533 อาคเนย์ ฯ เก็บเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงได้ 610.19 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลงเหลือ 20.17 % เท่านั้นเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของตลาดที่ขายตัวสูสีกับปีที่ผ่านมาคือ 35.69 %

เมื่อคิดส่วนแบ่งตลาดแล้วยังลดลงเหลือเพียง 3.58 % เท่านั้น

หากดูอย่างผิวเผินที่ตัวเลขเบี้ยประกันภัยรับ ฯ ซึ่งเพิ่มขึ้น ก็เหมือนไม่น่าเป็นห่วงผลการดำเนินงานเท่าไหร่

แต่ดูอัตราการเติบโตแล้ว น่าตกใจ !!

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกรมการประกันภัยให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ดูผิวเผินในตอนนี้ไม่น่าเป็นห่วงเลย เพราะยังกินบุญเก่าไปได้อีกหลายปี"

แต่อาคเนย์ ฯ ก็มีข้อที่น่าเป็นห่วงประการหนึ่งคือในเบี้ยประกันรับสุทธิทั้งหมดมีส่วนที่เป็นเบี้ยจากการรับประกันรถยนต์สูงมาก

ปี 2532 เบี้ยประกันสุทธิจากการรับประกันรถยนต์เท่ากับ 263.97 ล้านบาทหรือคิดเป็น 69.75 % ของเบี้ยรับสุทธิ 378.45 ล้านบาท

สัดส่วนของการประกันรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทุกปีไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าการรับประกันประเภทนี้ค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงมาก พูดง่าย ๆ คือมีรายได้ดีแต่กำไรน้อยเมื่อเทียบกับการรับประกันภัยประเภทอื่น ๆ

บริษัทประกันภัยที่เจ๊งไปแล้วอย่างบัวหลวงประกันภัยเมื่อปี 2530 ก็ด้วยสาเหตุหนึ่งที่รับประกันรถยนต์มากเกินไป โดยเฉพาะรถแท็กซี่

ความมีชื่อเสียงเก่าแก่ยาวนานของอาคเนย์ฯ ช่วยได้มากในแง่ของการดำเนินธุรกิจ กอปรกับจังหวะที่ธุรกิจเติบโตตามการขยายตัวของสังคมอุตสาหกรรม ทุกวันนี้ตัวแทนขายประกันไม่จำเป็นต้องอธิบายผลดีผลเสียของการทำประกันอย่างยืดเยื้อยาวนานเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป การทำประกันเป็นความจำเป็นในสังคมธุรกิจปัจจุบัน ประเด็นที่ต้องช่วงชิง คือ ใครให้เงื่อนไขดีกว่ากัน ใครเอาใจใส่ผู้เอาประกันมากกว่ากันเท่านั้น

การที่ผู้บริหารทะเลาะกันอย่างรุนแรงในเวลานี้ จะอ้างว่าไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานคงเป็นเรื่องที่เชื่อได้ยาก เจ้าหน้าที่คนเดิมประเมินสถานการณ์สอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญในวงการประกันทั่วไปที่กล่าวว่า "หากทะเลาะกันไม่เลิกเช่นนี้ ไม่เกิน 5 ปี ธุรกิจจะเสียหายหมด"

เมื่อพิจารณาตัวเงินกองทุนของบริษัท หลังจากที่ลดลงอย่างฮวบฮาบเหลือเพียง 2.6 ล้านบาทเมื่อปี 2532 เพราะมีขาดทุนสะสมสูงถึง 74.08 ล้านบาท ซึ่งไม่ปรากฏรายละเอียดแน่ชัดว่า มีการขาดทุนสะสมเกิดขึ้นตรงจุดไหน

มาในปี 2533 ตัวเลขกองทุนพุ่งเป็น 139.36 ล้านบาท ส่วนที่เพิ่มมากขึ้นคือกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรและสำรองอื่น ๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะแต่เดิมบริษัท ฯ ใช้วิธีนำกำไรสุทธิไปสะสมไว้ในเงินสำรองประกันชีวิตทั้งหมด

ครั้นปี 2533 เปลี่ยนนโยบายการบัญชีใหม่ เป็นแสดงผลกำไรสุทธิประจำปี โดยไม่นำไปสมทบเงินสำรองประกันชีวิต ด้วยเหตุนี้ตัวเลขกำไรจึงเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น

ส่วนรายการเงินสำรองประกันชีวิตนั้นไม่ปรากฏตัวเลข !

แม้ผู้บริหารอาคเนย์ฯ สามารถทำให้ตัวเลขกองทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีเดียวด้วยวิธีการทางบัญชี

แต่วิธีเช่นนี้ก็ไม่อาจปกปิดสถานะที่แท้จริงของบริษัทฯ ได้

ตราบใดที่อัตราประกันใหม่ลดลงและกำไรหดหาย กองทุนก็มีวันที่จะกลายเป็นตัวแดงโดยไม่สามารถใช้วิธีการทางบัญชีใด ๆ ช่วยได้

ด้วยเหตุนี้ ผู้คนจึงพูดว่า ถ้าไม่ปรับปรุงเรื่องการดำเนินงาน ก็คงจะกินบุญเก่าไปได้ไม่นานนัก !

เมื่อเกิดความขัดแย้งในหมู่ผู้ถือหุ้น ดูเหมือนไม่มีใครตระหนักในเรื่องอัตราการเติบโตที่เริ่มถดถอยลงของบริษัทสักเท่าใด สิ่งที่ฝ่ายพยัพตระหนักเป็นอย่างดี คือ เวลา 3 ปีที่ผ่านมาผู้ที่กุมอำนาจในบริษัทฯ ไว้ได้มากยิ่งกว่าตัวเลขที่เป็นประธานกรรมการฯ คือ ศักดา

ศักดาได้เข้ามาดูแลสายงานประกันชีวิตตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการ

ผลงานในธุรกิจประกันชีวิตมีตัวเลขที่ตกต่ำไม่แพ้ธุรกิจประกันภัย ระหว่างปี 2529 - 2532 มีขาดทุนสุทธิทุกปี ที่มากที่สุด คือ ปี 2532 ซึ่งขาดทุนสุทธิ 36.55 ล้านบาท

ส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจประกันชีวิตของอาคเนย์ฯ ก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ เมื่อปี 2528 เคยมีส่วนแบ่งฯ สูงถึง 41.6% ครั้นปี 2533 ลดลงเหลือเพียง 2.03% ด้วยมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ 393.90 ล้านบาท

อัตราการเติบโตก็ลดลงโดยตลอด ปี 2528 มีอัตราการเติบโต 20.44% แต่ปี 2533 เหลือเพียง 15.77%

ไม่นับว่าใน 3 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตต่ำกว่า 10% ทั้งนั้นขณะที่อัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตทั้งระบบอยู่ระหว่าง 23% - 34%

เฉพาะปี 2533 นั้น ธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราขยายตัวถึง 34.35%

ตัวเลขที่ "ผู้จัดการ" รวบรวมมาจากกรมการประกันภัยเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นผลกระทบจากการบริหารที่ขาดประสิทธิภาพอย่างชัดเจน ตัวเลขขนาดนี้ยังไม่ถือว่าเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการดำเนินธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต แต่หากเกิดสะสมต่อเนื่องอย่างที่ไม่อาจแก้ไขได้ ก็มีสิทธิ์ที่จะกลายเป็นวิกฤติของบริษัทฯ ได้เช่นกัน

ความตกต่ำของอาคเนย์ฯ เวลานี้ ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า "แย่ถึงขีดสุดแล้ว คือ มันมีทั้งความขัดแย้งในกลุ่มผู้ถือหุ้น ผลการดำเนินงานลดต่ำลงอย่างมาก กำลังคนที่มีคุณภาพก็หดหายไปหมด ที่มีอยู่เวลานี้ เป็นเพียงพวกที่อยู่ไปวัน ๆ เท่านั้น คนใหม่ก็ไม่รู้เรื่องงานประกันภัยประกันชีวิตนั้น จำเป็นต้องอาศัยคนที่มีความรู้ประสบการณ์ถ่ายทอดอบรมให้คนใหม่ ๆ ที่เพิ่งเข้ามาสู่วงการ นอกจากนี้ หากบริษัทประกันต่อต่างประเทศถอนตัวออกไป ก็ไม่รู้จะไปทำธุรกิจกระจายความเสี่ยงกับใคร"

แหล่งข่าวให้ความเห็นด้วยว่า "อาคเนย์ฯ นั้นแตก เพราะคนเพียงคนเดียวที่เพิ่งเข้ามา เพราะเมื่อก่อนนี้มีการประนีประนอมกันมาได้ตลอด ฝ่ายพยัพต้องการอะไรก็มักจะเจรจารอมชอมกันได้เสมอ เป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่จะต้องมาแตกในที่สุด เท่าที่ทราบตอนนี้ความน่าเชื่อถือของอาคเนย์ฯ ในตลาดประกันภัยไม่มีแล้ว"

หนทางที่จะแก้ไขบริษัทฯ ให้ดีขึ้น ข้อแรกที่จะต้องทำ คือ การหันหน้าเข้าเจรจารอมชอมกัน แม้ต่างฝ่ายจะฟ้องร้องเป็นความในศาลหลายคดีแล้วก็ตาม แต่วิธีที่จะเอาชนะอย่างเด็ดขาดนั้นยังอีกยาวไกล

ฝ่ายพยัพ ศรีกาญจนา จำเป็นต้องอาศัยอำนาจศาลเป็นที่พึ่งเพื่อต่อสู้ให้ได้ครองอำนาจบริหาร ซึ่งปัจจุบันฝ่ายศักดา บุญรักษ์ และวิชัย นิวาตวงศ์ โดยมีกุนซือสำคัญ คือ พิชัย พืชมงคล นักกฎหมายจากสำนักงานกฎหมายธรรมนิติ ซึ่งเพิ่งมีชื่อในกรรมการชุดใหม่ที่ศักดาประกาศแต่งตั้ง เป็นผู้ครอบครองอำนาจการบริหารทั้งหมดอยู่

หากฝ่ายพยัพได้กลับมาครองอำนาจการบริหารอีกครั้งหนึ่ง เขาก็ยังทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการเพิ่มกรรมการในส่วนที่เป็นคนฝ่ายเขาเข้ามา

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่การแก้ปมเงื่อนไขบริษัทโฮลดิ้งทั้ง 3 บริษัทต่างหาก เพราะการที่หุ้นทั้งหมดในโฮลดิ้งผูกกันไว้อย่างเหนียวแน่นด้วยข้อบังคับว่า หากจะมีการขายหุ้นต้องขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน และหากขายให้คนนอกต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเดิมเช่นกัน นอกจากนี้ คะแนนเสียงที่จะลงมติใด ๆ ก็ตามต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของกรรมการ 3 กลุ่มที่เป็นตัวแทนผู้ถือหุ้น 3 กลุ่ม

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีใครสามารถจบมือกับเจริญ ซึ่งถือหุ้นอาคเนย์ฯ ในนามบริษัทสนิทเสถียรให้ได้เสียงข้างมาก เพื่อหาโค่นล้มกลุ่มที่เหลือได้

มันเป็นเทคนิคที่พยัพและศักดารู้จักดี ตั้งแต่สมัยที่พยัพขายหุ้นแบงก์แหลมทองของตัวให่กับสุระจันทร์ศรีชวาลา จนทำให้สุระสามารถกว้านซื้อหุ้นแบงก์ได้มากพอที่จะนำมาโค่นอำนาจการบริหารของสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ และสุระได้รับชัยชนะในท้ายที่สุดได้

บริษัทอาคเนย์โฮลดิ้ง 1, 2, 3 มีทุนจดทะเบียนบริษัทละ 4 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 40,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท

โครงสร้างผู้ถือหุ้นทั้งสามบริษัทเหมือนกันหมด คือ มีผู้ถือหุ้นรวม 35 ราย เป็นบุคคลธรรมดา 30 ราย นิติบุคคล 5 ราย

ผู้ถือหุ้นทั้งหมดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่ม ก. เป็นตระกูลศรีกาญจนา, ศักดิเดช ภาณุพันธ์ และวรรธนะกุล ซึ่งถือหุ้นรวมกันเป็นจำนวน 17,886 หุ้น หรือคิดเป็น 44.71%

กลุ่ม ข. คือ ตระกูลบุญยรักษ์เพียงตระกูลเดียว ซึ่งใช้นิติบุคคลเข้ามาถือหุ้นด้วย 4 ราย รวมเป็นหุ้นทั้หงมดที่ถืออยู่เท่ากับ 11,605 หุ้น หรือคิดเป็น 29.01%

กลุ่ม ค. คือ ตระกูลนิวาตวงศ์, ชุมพล และศตวุฒิถือหุ้นร่วมกัน 8,401 หุ้น หรือคิดเป็น 21% ส่วนหุ้นที่เหลืออีก 2,108 หุ้น หรือ 5.27% เป็นผู้ถืออื่น ๆ

ทั้งที่เมื่อเทียบสัดส่วนการถือครองหุ้นแล้ว กลุ่ม ก. เป็นผู้ถือหุ้นในโฮลดิ้งมากที่สุด แต่พยัพกลับยินยอมออกเสียงเป็นหนึ่งเสียงเท่ากับบุญยรักษ์ในกลุ่ม ข.

นี่ถือเป็นก้าวผิดพลาดสำคัญของฝ่ายพยัพก้าวแรกตั้งแต่ปี 2531 ที่ก่อตั้งโฮลดิ้งขึ้นมา

การที่จะรอมชอมกันในอาคเนย์ประกันภัยให้ได้จำเป็นที่จะต้องเปิดฉากรอมชอมในเวทีโฮลดิ้งให้ได้เสียก่อน

กรรมการในโฮลดิ้งอาจจะขอเรียกประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นมาได้เพื่อเจรจากันในเรื่องนี้ แต่คงจะไม่มีฝ่ายใดยินยอมกันอย่างง่าย ๆ

ล่าสุด ฝ่ายศรีกาญจนาเรียกประชุมผู้ถือหุ้นอาคเนย์โฮลดิ้ง 1 ในวันที่ 24 กรกฎาคม โดยมีวาระ 2 ข้อ คือ

วาระแรก พิจาณราเรื่องการเข้าประชุมและมอบอำนาจให้ผู้แทนเข้าร่วมประชุม

และวาระสอง เรื่องกำหนดตัวบุคคลเพื่อแต่งตั้งเข้าเป็นกรรมการบริษัทอาคเนย์ประกันภัย

การประชุมครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะแก้เกมเรื่องใบมอบอำนาจที่ศักดานำมาใช้เรียกประชุมขับไล่พยัพนั่นเอง !!

แม้ว่าฝ่ายพยัพจะเรียกประชุมได้สำเร็จจริง แต่เมื่อต้องออกเสียงในที่ประชุม ฝ่ายพยัพก็ยังมีโอกาสที่จะพ่ายได้อีก เพราะถือเสียงในโฮลดิ้งเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ถือหุ้นกลุ่ม ข. และ ค.

เว้นเสียแต่ว่า ฝ่ายพยัพจะไปแย่งชิงพันธมิตร ข. และ ค. กับทั้งผู้ถือหุ้นอื่น ๆ มารวมเป็นพวกได้

แต่มันเป็นเรื่องที่ยากมาก แหล่งข่าววงในเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ทางกลุ่มวิชัยนั้นดูเหมือนจะกลายเป็นพรรคพวกของศักดามาตั้งแต่ร่วมกันตีอาทรและนรฤทธิ์ ส่วน ม.ร.ว.พฤทธิสาณ มีผลประโยชน์อะไรไม่แน่ชัด แต่คงจะเกรงใจทางฝ่ายศักดาอยู่ไม่น้อย เพราะภรรยาก็ทำงานอยู่ในอาคเนย์ฯ ในฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งอยู่ในการบังคับบัญชาของศักดาโดยตรง"

แหล่งข่าวสำคัญที่รู้เรื่องอาคเนย์ฯ ดี กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "มันเป็นความตั้งใจของศักดาที่จะให้ผู้ถือหุ้นกอดหุ้นอาคเนย์ฯ ไปจนตลอด โดยไม่อาจมายุ่งเกี่ยวกับอำนาจการบริหารได้ และจะขายหุ้นออกไปก็ไม่ได้ด้วย"

นี่คือประสบการณ์ที่นรฤทธิ์เคยเจอมาเมื่อปี 2530

มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2530 ที่พยัพและศักดาใช้วิธีนี้กว้านซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยจนราคาหุ้นอาคเนย์ที่มีมูลค่าที่ตราไว้ 100 บาทพุ่งพรวดเป็น 1,500 บาทได้

ราคาหุ้นอาคเนย์เวลานี้ต้องไม่ใช่แค่ ,500 บาทเหมือนเมื่อ 3 ปีที่แล้วแน่ !!

มันเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหรือภาษาชาวบ้านเรียกว่ากงกรรมกงเกวียน

ใครจะเป็นผู้กำชัยชนะในท้ายที่สุด ยังไม่ปรากฏตัวชัด

แต่ผู้ที่กำผลประโยชน์จากการทะเลาะเบาะแว้งคราวนี้ชัดเจน คือ กลุ่มเจริญ ซึ่งตัวแทนของเขาในงานนี้คือ ชูเกียรติ ตั้งพงศ์ปราชญ์ ผู้จัดการบริษัทสนิทเสถียร

ชูเกียรติ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมวางตัวเป็นกลางในกรณีนี้ ใครจัดประชุมเรียกผมเข้าร่วม ผมก็ไปทั้งนั้น"

การวางตัวเป็นกลางของเจริญมีเงื่อนไขว่าต้องให้พยัพในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทฯ ที่ยังมีชีวิตอยู่เพียงคนเดียวในเวลานี้เป็นประธานบริษัทฯ ต่อไป ด้วยเหตุผลของความอาวุโส

เงื่อนไขข้อแรกก็เป็นที่รับไม่ได้สำหรับกลุ่มศักดาและยังมีข้ออื่น อีกที่ศักดาไม่เคยมีท่าทีว่าจะสามารถทำได้

การแต่งตั้งกรรมการต้องทำตามสัดส่วนการถือหุ้น หานักบริหารมืออาชีพเข้ามาดำเนินงาน และดำเนินการเพื่อนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

นี่คือเงื่อนไข 4 ข้อที่เจริญเรียกร้องและฝ่ายพยัพช่วงชิงขานรับในทันทีจนทำให้ดูประหนึ่งว่าพยัพจะได้เจริญเป็นพวก

เรื่องนี้แหล่งข่าวระดับสูงที่รู้จักทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างดีวิเคราะห์ไว้ว่า "ถ้าเจริญต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว พยัพจะเป็นตัวเลือกที่เจริญหยิบ เพราะเจริญสามารถกำหนดนโยบายอะไรๆ ก็ได้ เพียงแต่ให้รักษาหน้าตาพยัพไว้ ขณะที่ศักดานั้นเป็นคนที่มีอะไรของเขาเอง พูดง่าย ๆ คือ เจริญคงจะคุมศักดาไม่ได้"

แต่ศักดาจะเอาเจริญหรือไม่ ในระยะเฉพาะหน้าจะเห็นได้ชัดเจนว่า มีการยกตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารให้วรรณา สิริวัฒนภักดี ภรรยาเจริญ ซึ่งเจ้าตัวได้ออกมาปฏิเสธไม่รู้เห็นเรื่องราวในทันทีทันควัน

ส่วนในระยะยาวนั้น มีหรือเสือสองตัวจะอยู่ถ้ำเดียวกันได้ !!

ทั้งนี้ เจริญเคยแสดงท่าทีให้เห็นแล้วว่า ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารด้วย ต้องการได้ตำแหน่งกรรมการตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งจำนวนที่ถืออยู่ล่าสุดคิดเป็น 39.08% ของหุ้นทั้งหมด ควรจะได้ตำแหน่งกรรมการ 3 คนในจำนวน 8 คนที่ร่วมเป็นคณะกรรมการของบริษัทฯ

แต่ทั้งพยัพและศักดาต่างไม่ยินยอมให้ฝ่ายเจริญเข้ามา

สไตล์ของเจริญนั้นจะต้องเข้าไปบริหารในกิจการที่เขาครอบครองหุ้นจำนวนมากไว้เสมอ นั่นหมายความว่างานนี้เขาต้องชนกับศักดาซึ่งได้พยายามวางเส้นสายคนของตัวไว้ในบริษัทฯ แทบทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายศักดาพยายามที่จะทำให้เห็นว่า เขาสามารถเป็นพันธมิตรกับเจริญได้ด้วยการประกาศจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นเป็นครั้งแรกหลังจากที่ไม่เคยมีการจ่ายมาหลายปี

พิชัย พืชมงคล กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "มันเป็นเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็พยายามที่จะทำให้เห็นว่านี่เราเอามาคำนับคุณเจริญนะ"

ฝ่ายศักดาไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจศาลเป็นที่พึ่ง เพราะเวลานี้ถือว่าเป็นต่ออยู่มาก คือ เป็นผู้คุมอาคารสถานที่ทำการของบริษัทฯ คุมอำนาจการบริหารและพนักงาน รวมทั้งถือใบรับมอบอำนาจที่อ้างว่ากรรมการของบริษัทโฮลดิ้งทั้ง 3 เป็นผู้เซ็นมอบให้ทำการแทนบริษัทฯ ได้

ด้วยใบมอบอำนาจนี่เองที่ศักดานำมาใช้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทอาคเนย์ฯ ได้

ฝ่ายศักดา อ้างว่า มีการจัดการประชุมกรรมการบริษัทในวันที่ 17, 18, 25 มิถุนายนขับไล่พยัพออกจากตำแหน่งประธานกรรมการฯ ส่วนวันที่ 8 กรกฎาคม เป็นกาประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2534

อย่างไรก็ดี เรื่องใบมอบอำนาจเป็นเรื่องที่ต้องทำการพิสูจน์กันในชั้นศาล ข้อได้เปรียบในส่วนของฝ่ายพยัพ คือ การได้รับอนุญาตตามคำร้องขอต่อศาลที่ไม่ให้กรมทะเบียนการค้ารับจดการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารชุดใหม่

ทางการต่อสู้ในชั้นศาลสำหรับเรื่องนี้ ยังกินเวลาอีกนานนัก ซึ่งยิ่งยาวนานเท่าไหร่ ฝ่ายพยัพยิ่งเสียเปรียบมากเท่านั้นเช่นกัน

ในส่วนของบริษัทโฮลดิ้งที่เป็นปมเงื่อนซึ่งฝ่ายพยัพต้องพยายามแก้ออกให้ได้นั้น ก็ลำบากมาก ใบมอบอำนาจที่ฝ่ายศักดาใช้อยู่ในเวลานี้เป็นใบมอบอำนาจซึ่งมีการเซ็นกันไว้ตั้งแต่การประชุมบริษัทโฮลดิ้งครั้งก่อน คือ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2533

ใบมอบอำนาจชุดนี้มีช่องว่างอย่างมโหฬารถึงขนาดที่พิชัย พืชมงคล ทนายความสำคัญในฝ่ายศักดาอ้างว่าสามารถใช้ได้ผลตลอดกัลปาวสาน

พิชัยคนนี้เป็นผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในอาคเนย์ฯ ตั้งแต่สมัยที่ฝ่ายศักดาและพยัพยังสามัคคีปรองดองร่วมกันขับไล่อาทรและนรฤทธิ์ออกจากบริษัทเมื่อปี 2530 พิชัยจึงรู้ตื้นลึกหนาบางในบริษัทดีคนหนึ่ง

การมีพิชัยอยู่ในฝ่ายศักดาเป็นข้อได้เปรียบอย่างมหาศาลของศักดาด้วย เพราะเขา และสำนักงานกฎหมายธรรมนิติเคยมีประสบการณ์ในคดีเกี่ยวกับการยื้อแย่งอำนาจการบริหารมาแล้วจากกรณีแบงก์แหลมทอง

ขณะที่ฝ่ายพยัพใช้ชินวัฒน์ ชินแสงอร่ามจากสำนักงานกฎหมาย อิน-ดิ-เพน-เดนซ์ ซึ่งไม่ใคร่เป็นที่รู้จักว่ามีความชำนาญในเกมการต่อสู้เช่นนี้มากน้อยเพียงใด

เกมช่วงชิงอำนาจครั้งนี้ยังต้องดำเนินไปอีกยาวนาน ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาจกินเวลาสักปีหนึ่งในการขึ้นโรงขึ้นศาล เว้นเสียแต่ว่าจะมีใครยอมเลิกราไปก่อน

โดยข้อเท็จจริงและสถานะของแต่ละฝ่ายเวลานี้ก็ไม่มีใครจะยอมรามือกันง่าย ๆ

พยัพไม่มีธุรกิจใดหลงเหลืออยู่อีกหลังจากที่ขายหุ้นในแบงก์แหลมทองไป อาคเนย์ฯ เป็นกิจการที่เขาสร้างขึ้นมากับมือ เป็นหน้าตา และเป็นประหนึ่งกิจการของตระกูล

ศรีกาญจนา คือ อาคเนย์ฯ และพยัพคงไม่เคยคิดว่าอาคเนย์ฯ จะขาดศรีกาญจนาได้

หากพยัพจำเป็นที่จะต้องหาเงินมาทุ่มซื้อหุ้นอาคเนย์ฯ อีกสักครั้งเพื่อรักษาสถาบันของตัว เขายังพอมีช่องทางที่จะทำได้

เพราะ ม.ร.ว.ทินศักดิ์ และศิริกาญจน์ ลูกเขยและลูกสาวซึ่งเป็นเจ้าของตกมณียาอยู่ในเวลานี้พอจะมีทุนรอนอยู่มากพอสมควร หากไม่ไปจมอยู่ในโครงการพัฒนาที่ดินที่ไหนเสียก่อน

แต่พยัพจะซื้อหุ้นอาคเนย์ฯ ได้ก็ต่อเมื่อมีการสลายบริษัทโฮลดิ้งได้ก่อน แล้วค่อยไปไล่ซื้อเอาจากผู้ถือหุ้นรายย่อย

หรือจะซื้อจากส่วนของเจริญ ซึ่งตอนนี้คงจะตั้งราคาไว้แพงลิบลับ

และไม่แน่ว่าเจริญจะขายให้หรือไม่

ศักดาเองเล่าก็ไม่น้อยหน้าพยัพในเรื่องทุน เขามีธุรกิจอื่น ๆ อีกพอสมควรซึ่งแม้จะไม่มีกำรี้กำไรมากมาย หรือติดจะขาดทุนก็เรียกว่าเขายังมี

โรงพยาบาลกรุณาพิทักษ์ บริษัททิพย์พิทักษ์ บริษัทรัชดาออฟฟิศปาร์ค ทำธุรกิจเรียลเอสเตท กับบริษัทปริตภา และบริษัทปรุสภา ซึ่งต่างถือหุ้นอยู่ในอาคเนย์โฮลดิ้ง 1, 2, 3

ศักดาไม่ใช่คนที่ยอมถอยง่าย ๆ ตามประวัตินั้น เขาเป็นคนที่ฉลาดปราดเปรื่องเอาการ เมื่อเข้ามาบริหารงานในอาคเนย์ฯ ใหม่ ๆ ความที่ไม่รู้เรื่องกิจการประกันภัยเลย เพราะจบการศึกษามาทางด้านวิศวกรรม เขาได้ไปสมัครเรียนบริหารที่จีบ้า เมื่อจบมานั้นว่ากันว่าเขาติดลักษณะวิชาการอย่างมาก ถึงขนาดนำทฤษฎีการบริหารที่ร่ำเรียนมาซักถามกิจการในห้องประชุม

แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยว่า "สิ่งที่ศักดาต้องการในงานนี้คือการบดขยี้ เขาไม่มีเหตุผลทางธุรกิจอะไรเลย ไม่ใช่เหตุผลทางการเงิน หรือหน้าตาเกียรติยศเพราะงานสังคมเขาก็ไม่ออก งานแจกรางวัลตัวแทนก็ไม่ไป ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สามารถเจรจาต่อรองกันได้หมด ไม่จำเป็นต้องมาขับไล่กันในลักษณะที่ทำอยู่ในเวลานี้"

แต่ศักดาก็ทำ แม้โดยข้อเท็จจริงนั้น ฝ่ายพยัพเป็นคนเปิดฉากก่อนด้วยการเรียกประชุมเพื่อสลายบริษัทโฮลดิ้ง แล้วศักดาเผอิญได้รู้และอ่านเกมนี้ออก จึงชิงปฏิบัติการตอบโต้อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นฝ่ายรุกและได้เปรียบอยู่ในเวลานี้

ศักดาจึงไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เช่นกัน

การต่อสู้ในชั้นศาลที่กินเวลายาวนานเป็นปี จะก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อกิจการประกันภัยที่เริ่มทรุดโทรมลงสักแค่ไหนยังไม่มีใครทำนายได้ แม้ต่างฝ่ายจะช่วยกันพูดถึงแต่แง่ดีของผลประกอบการ แต่คนในวงการประกันภัยรู้ดีว่าอาคเนย์วันนี้เริ่มนับถอยหลังแล้ว

การทะเลาะกันในวันนี้เป็นความแตกแยกครั้งสำคัญที่นำไปสู่อนาคตอันอับเฉาต่อไป !!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us