|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
- นักเก็งกำไรหัวหมุน เจอนโยบายขนส่งมวลชนพลิกผันชนิดรายวัน
- คมนาคม เปิดทางเอกชนเช่าระบบรางเดินรถไฟฟ้า
- แนะรัฐดึงระบบขนส่งเชื่อมต่อชุมชนเมือง เริ่มที่จตุจักร ศูนย์มักกะสัน ศูนย์ตากสิน สนามบินสุวรรณภูมิ ยานนาวา-พระราม 3 รัตนโกสินทร์ชั้นใน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
ปัญหาจราจรติดขัดเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทำให้ประเทศต้องแบกรับภาระนำเข้าน้ำมันอย่างมหาศาล ดังนั้นระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่จึงกลายมาเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองและรัฐบาลทุกชุดต้องหยิบยกมาเป็นนโยบายในการหาเสียงและดำเนินงาน แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลับติดบ่วงปัญหาต่างๆ ที่ทำให้ความพยายามผลักดันไม่เคยจนประสบความสำเร็จสักครั้ง
สรรเสริญ วงค์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะเร่งดำเนินโครงการรถไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้ เพื่อให้รัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อโครงการทันที ซึ่งจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมเดินรถไฟฟ้าในทุกเส้นทาง แต่จะต้องผ่านขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
การก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสาย รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างทั้งหมด และให้เอกชนนำรถมาวิ่งในลักษณะเช่าราง ซึ่งเป็นรูปแบบที่หลายประเทศในยุโรปใช้อยู่ และมีความเสี่ยงน้อยกว่ารับสัมปทานที่เอกชนจะต้องมาคำนวณค่าใช้จ่ายว่าคุ้มทุนหรือไม่ โดยจะมีการแบ่งบัญชีเชิงสังคมและธุรกิจ (Public Service Operate หรือ PSO) ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในเดือน ก.ค. นี้ ส่วนการเชื่อมต่อรถไฟที่มีอยู่หลายเส้นทางนั้นสามารถเป็นไปได้ในอนาคต ซึ่งหลายประเทศสามารถทำได้แม้ระบบรถไฟจะเป็นของต่างบริษัท
สำหรับหัวใจสำคัญที่รัฐบาลจะเน้น คือ รูปแบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและการพัฒนาโดยคนไทย การเขียนเงื่อนไขการประมูลจะพยายามให้คนไทยได้ประโยชน์ที่จะเข้าสู่ระบบ ซึ่งในที่สุดจะสามารถดูแลระบบรถไฟฟ้าเองได้
สรรเสริญ กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) จะเป็นสายแรกที่นำผลการศึกษา พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ 2535 เข้ามาใช้ ซึ่งจะทำให้เห็นชัดว่ารูปแบบการร่วมทุนเป็นรูปแบบใด และจะประกวดราคาในเดือน ก.ย. นี้ตามแผนเดิม
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) คาดว่าจะประกวดราคาได้ใน ก.ค. ตามแผนเดิม และได้เร่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้ปรับแก้แบบในส่วนของสถานีย่อยระหว่างทางในช่วงรังสิต-บางซื่อให้เร็วที่สุด แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะทันเปิดประมูลในปีนี้หรือไม่ โดยโครงการนี้ ครม. เคยอนุมัติไปแล้วในวงเงินก่อสร้างเดิม 53,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการขายซองประกวดราคาต้นปีหน้า
ส่วนเงินที่จะใช้ก่อสร้างนั้น ทางธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) สนใจที่จะให้การสนับสนุน ขณะที่เงินที่จะใช้ก่อสร้างสายสีม่วงนั้น ยืนยันว่าไม่มีปัญหา เพราะได้หารือกระทรวงการคลังแล้ว และหากเจบิกสามารถปรับการดำเนินการให้กู้ได้ทันก็พร้อมกู้จากเจบิก โดยจะประกวดราคาก่อน ม.ค. 51 เพื่อให้เป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์
พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เสร็จ มิ.ย.
ด้านประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า บริษัทที่ปรึกษาจะสรุปผลการศึกษาการเดินรถตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 ของสายสีม่วงให้ รฟม. ภายในปลายเดือน มิ.ย. นี้ และจะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ฯ เพื่อพิจารณาผลศึกษาพร้อมให้ข้อเสนอแนะก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน ส.ค.นี้
ส่วนขั้นตอนการคัดเลือกคุณสมบัติผู้รับเหมาอยู่ระหว่างการเจรจากับเจบิก โดยทาง รฟม.ต้องการให้รวมขั้นตอนการคัดเลือกเข้ากับการยื่นข้อเสนอ โดยจะมี 3 ซอง คือ ซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค และซองราคา เพื่อให้การดำเนินโครงการรวดเร็วยิ่งขึ้น
ตั้งกรรมการคุมระบบตั๋วร่วม
ในขณะที่ สนข.ได้เตรียมตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร( กทม.) ทั้งนี้คณะกรรมการฯมีหน้าที่ จัดทำระบบตั๋วร่วม ซึ่งจะเป็นตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ตั๋วใบเดียวกับระบบสาธารณะอื่น เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ รวมถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม
ในเบื้องต้นจะเชื่อมโยงรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าบีทีเอสเข้าด้วยกันก่อน และจะเชื่อมกับรถเมล์ และเรือในอนาคต โดยจะผลักดันให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะจะทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องมีระบบกำกับดูแลและบริษัทจัดเก็บเงิน (Clearing House) โดยอาจจะหาธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาดูแลเรื่องการจัดเก็บเงิน
ด้านบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) ผู้บริหารรถไฟฟ้า BTS แนะว่ารัฐควรลงทุนโครงการเองทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาเอกชนลงทุนเอง 100% แล้วประสบปัญหาด้านการเงิน ซึ่ง BTS มองว่าหากรัฐเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมดจะเหมาะสม เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนโดยรัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธา และให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าในสัดส่วน 80:20 เชื่อว่ายังทำให้การดำเนินงานของเอกชนลำบาก เพราะต้องแบกรับภาระเงินลงทุน
ในขณะที่บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) มีความพร้อมในการให้บริการรูปแบบทั้งการเดินรถแบบรับสัมปทานและการเช่าราง หากรัฐบาลเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน
ราคาที่ดินขานรับแนวรถไฟฟ้า
ด้านธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค กล่าวถึงแนวโน้มราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าว่า ราคาที่ดินจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีความชัดเจนของโครงการเป็นลำดับ ได้แก่ หากมีการเซ็นสัญญาก่อสร้างราคาที่ดินเพิ่ม 10% เริ่มก่อสร้างราคาที่ดินเพิ่ม 30% และเมื่อเปิดให้บริการราคาที่ดินจะเพิ่มสูงถึง 2 เท่าหรือ 100% (ดูกราฟประกอบ) หลังจากนั้นราคาที่ดินจะทรงตัวไม่สูงขึ้นมาก เนื่องจากอยู่ในภาวะอิ่มตัว นักลงทุนส่วนใหญ่ที่ต้องการซื้อที่ดินควรจะซื้อในช่วงของที่เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งราคาที่ดินจะยังไม่สูงมากนัก
ส่วนทำเลที่ยังคงมีราคาสูง คือ รัชดา, สุขุมวิท 62-101, และพหลโยธิน ที่มีการขยับเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วง 7 ปีก่อน ส่วนราคาที่ดินในส่วนต่อขยายคาดว่าจะมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ
แต่อย่างไรก็ตามภาคเอกชนเริ่มระมัดระวังตัวในการเข้าไปเก็งกำไรราคาที่ดิน เนื่องจากมองว่ายังมีความเสี่ยงสูง เช่น ความไม่แน่นอนของโครงการ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาที่ดินที่เป็นต้นทุนหลักของการพัฒนาโครงการ
ชงระบบขนส่งเป็นนโยบาย
ด้านมานพ พงศทัต อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเดินทางเข้ามาสู่เมืองเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีประชาชนเดินทางเข้าเมืองกว่า 15 ล้านคน และคาดว่าอีก 10 ปีจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 18 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐจะต้องจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภคและระบบขนส่งรองรับ
“ผมอยากเสนอให้นำประเด็นระบบขนส่งเข้าเป็นนโยบายทางการเมือง ในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคของบุคคลที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านผู้นำประเทศไม่ค่อยให้ความสนใจกับระบบขนส่งมากนัก รวมถึงกระทรวงที่รับผิดชอบปล่อยให้เป็นงานของระดับกรมแทน” มานพกล่าว
นอกจากนี้ในอนาคต กทม. จะมีศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ คือ พระราม 3 เนื่องจากศูนย์กลางทางเศรษฐกิจปัจจุบันอย่าง สีลม สาทร เริ่มแออัด ดังนั้นทาง กทม. ได้เตรียมที่จะขยายศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันเริ่มมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม ถนน ทางด่วน ซึ่งคาดว่าน่าจะได้เห็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่เต็มรูปแบบอีกไม่กี่ปีนี้
โดยการลงทุนในระบบขนส่งของรัฐบาลจะต้องเชื่อมต่อกับชุมชนเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีก 7 จุด คือ จตุจักร ศูนย์มักกะสัน ศูนย์ตากสิน สนามบินสุวรรณภูมิ ยานนาวา-พระราม 3 รัตนโกสินทร์ชั้นใน และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ซึ่งทั้ง 7 จุดนี้ถือว่าเป็นทำเลสำคัญในการเดินทางของประชาชน
|
|
|
|
|