เขาเป็นคนนอกคนล่าสุดที่เข้ามาอยู่ในซีพีในตำแหน่งสูง และมีบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ที่แตกต่างออกไปจากอดีต
อย่างสิ้นเชิง
ดร.อาชว์ เตาลานนท์, ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล ก็คือ สองคนแรกที่เข้ามาในปี
2522 ในช่วงที่เครือเจริญ โภคภัณฑ์เกิดขึ้น ท่ามกลางการขยายตัวออกไปอย่าง
กว้างขวางจนต้องจัดองค์กรกันครั้งใหญ่ และครั้งนั้น ธนินท์ เจียรวนนท์ ก็กลายเป็นผู้นำองค์กรนี้อย่างสมบูรณ์
ดร.อาชว์มีความรู้การเกษตร เป็นที่ปรึกษาคน สำคัญในการวางแผน การปรับองค์กรในเชิงกลยุทธ์
ใน ยุคการขยายตัวอย่างมาก ขณะที่ดร.วีรวัฒน์ คือผู้ เชี่ยวชาญการเงินและบัญชี
มีการวางระบบที่เข้มงวด ทำให้การดูแลกิจการจำนวนมากอย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ว่าระยะหลังๆ จะมีคนนอกเข้ามาอีกใน ตำแหน่งสูง ก็ล้วนต้องการความสามารถเฉพาะในการ
บุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฉลียว สุวรรณกิตติ
หรือ สุนทร อรุณานนท์ชัย
แต่สำหรับดร.สารสิน วีรผล มีความหมายไปอีก มิติหนึ่ง
เพราะภูมิหลังที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ต้องตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิต 2 ครั้งในช่วงเวลาที่ห่างกัน
20 ปีพอดี
ปี 2519 เขาตัดสินใจเปลี่ยนจากอาจารย์มหา วิทยาลัยเป็นนักการทูต และปี 2539
ชีวิตเขาพลิกผันอีกครั้งเข้าสู่องค์กรธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในระดับ
ภูมิภาค
สารสิน วีรผล เป็นลูกชายคนไทยเชื้อสายจีน ที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผู้มีอำนาจในจีนแผ่นดินใหญ่
(โดยเฉพาะในช่วงคอมมิวนิสต์มีอำนาจ) ที่สำคัญชีวิต การศึกษาช่วงหนึ่งที่ฮ่องกงทำให้เขาพูดภาษาจีนได้อย่างดี
เขาเกิดปี 2489 ในช่วงก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ประกาศชัยชนะ ยึดอำนาจการปกครองประเทศอันกว้างใหญ่
ไม่กี่ปี (2492) จากนั้นมาความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย-จีน อย่างเปิดเผยก็หยุดชะงักในฐานะประเทศไทย
มีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อย่างแน่นแฟ้น
สารสินผ่านการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียน
อัสสัมชัญ แล้วเดินทางไปต่อระดับมัธยมที่ฮ่องกงระยะหนึ่งก่อนจะศึกษาในระดับไฮสคูลที่แคลิฟอร์เนีย
เขาจึงเป็นคนที่สอดคล้องกับยุคที่มีความผูกพันกับประเทศ ที่มีอิทธิพลต่อโลกเสมอในอดีตถึงปัจจุบันและอนาคตด้วย
วิชาที่เขาเรียนก็สามารถเชื่อมมุมมองระหว่างประเทศอย่างดี เขาจบปริญญาตรี
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ American University
ปี 2511 เขารับราชการเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ที่จุฬาฯ ไม่นานก็ได้รับทุนจาก
Harvard University ไปเรียนระดับปริญญาโทและเอก เขาเลือกเรียนวิชาที่น่าสนใจมากของสังคมอเมริกันอย่างมาก
ในช่วงที่สหรัฐฯ กำลังจมปรักกับสงครามใน
เอเชียตะวันออก
เขาเรียนวิชา History and East Asia language และทำวิทยานิพนธ์เรื่องความสัมพันธ์การค้าระหว่างไทย-จีน
โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารของ Harvard ด้วย
เมื่อกลับมาเป็นอาจารย์อีกครั้งหนึ่งก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเพียงคนเดียวก็ว่าได้
ที่รู้เรื่องจีนดีที่สุด
ช่างสอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง เมื่อประเทศไทยหันเหนโยบายสำคัญในช่วงรัฐบาลคึกฤทธิ์
ในการเปิดความสัมพันธ์ไทย-จีนอีกครั้งหนึ่ง เขาก็คือคนที่ชาติชาย ชุณหะวัณ
รัฐมนตรีต่างประเทศขณะนั้น รู้จักภูมิหลังเขาดีที่สุด จึงชวนเขารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ
เมื่อปี 2519
งานแรกของเขาก็คือไปประจำ ณ สถานทูตไทยที่กรุงปักกิ่ง ที่เพิ่งเปิดใหม่
ในระยะต่อมาก็ทำหน้าที่เป็นเลขานุการรัฐมนตรีต่างประเทศด้วยซึ่งต่อมาก็ทำงานให้พล.อ.อ
สิทธิ เศวตศิลาค่อน ข้างมาก ในช่วงยาวพอสมควร ขณะเดียวกันก็ถือเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่ก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากคนหนึ่ง
ต่อมาดูแลงานนโยบายและวางแผน (2526) ไปประจำสถานทูตที่โตเกียว ก่อนจะมาเป็นรองอธิบดีกรมการเมือง
และก้าวขึ้นเป็นเอกอัครราชทูต โดยใช้อายุราชการเพียง 12 ปี
ประสบการณ์ของเขากว้างขึ้น มาเป็นอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ (2535)
ในยุคที่สหรัฐฯ มีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับโลกมากขึ้นๆ อย่างไรก็ตาม
เขาก็มีบทบาทสำคัญเสมอในการดำเนินนโยบายการเมืองที่สำคัญ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน
เช่น กรณีการแก้ปัญหากัมพูชา ซึ่งบางครั้งบางคราวเขาก็มีความขัดแย้งในตัวเอง
โดยเฉพาะในเรื่องกัมพูชา เขาก็เป็นคนหนึ่งที่ยังเห็นความจำเป็นให้มีเขมรแดงไว้คานอำนาจเวียดนาม
ในขณะที่ความชอบธรรมเขมรแดงกำลังจะหมดไป
เขามาอยู่ซีพีช่วงปลายปี 2539 ในช่วงความสัมพันธ์ของซีพีกับจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป
ธุรกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ขณะเดียวกันความรู้ ความเข้าใจตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ
มีความสำคัญมากขึ้นในการกำหนดยุทธศาสตร์ ในยุคที่ผู้นำซีพีให้ความสำคัญในเรื่อง
Corporate Strategy มากขึ้น ในฐานะธุรกิจระดับภูมิภาค ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างซีพีกับสื่อตะวันตกก็มีมากขึ้น
วันนี้ดร.สารสิน ก็คือผู้ติดตามธนินท์บ่อยที่สุดคนหนึ่ง ในฐานะผู้ดูแลงานพัฒนาธุรกิจระดับกว้างๆ
ที่ว่านั้น