"สมหมาย" เข้ามอบนโยบายเอสเอ็มอีแบงก์ ตะลึงพบหนี้เสียเกินเยียวยาปูดอีกว่า 2 หมื่นล้านบาทและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกกว่าเดือนละ 4 ร้อยล้านบาท ครวญหมดหวังให้เอ็นพีแอลลดลงเหลือ 25% ได้ภายในปีนี้ สั่งการเขี่ยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่ไว้ใจไม่ได้พ้นหน้าที่ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยืนยังรัฐบาลไม่ยุบแบงก์ทิ้งแน่นอนเพราะเป็นแขนขาในการขยายตัวของเศรษฐกิจแต่ต้องหาคนที่ทำผิดเข้ามารับผิดชอบ
วานนี้ (2 ก.ค.) คณะกรรมการธนาคาร และผู้บริหารธนาคาร นำโดยนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ประธานกรรมการ นายสมชัย สัจจพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร และนายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK ) ได้ให้การต้อนรับ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในโอกาสเดินทางมาเยี่ยมเยียนธนาคารพร้อมมอบนโยบาย
นายสมหมาย กล่าว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLของธนาคารเพื่อการพัฒนารัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เป็นเรื่องที่น่ากลัว โดยยอดสินเชื่อที่ปล่อยล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2550 จำนวน 43,500 ล้านบาท เป็นเอ็นพีแอลสูงถึง 20,500 ล้านบาท จากเดิมสิ้นปี 2549 มีเอ็นพีแอลเพียง 19,000 ล้านบาท หรือ 43% ของพอร์ตสินเชื่อรวม
"เอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีแบงก์ ยังจะเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 300-400 ล้านบาท ซึ่งการแก้ไขเอ็นพีแอลให้เหลือ 25% ภายในสิ้นปีนี้คงเป็นไปไม่ได้แล้ว ผมได้ให้นโยบายเอสเอ็มอีแบงก์ให้ตั้งเป้าการดำเนินงานระยะยาว 3 ปี ข้างหน้า เพราะการแก้หนี้เสียไม่ใช่เรื่องง่ายต้องใช้เวลา” นายสมหมายกล่าว
นายสมหมาย กล่าวว่า ได้ให้แนวทางแก้ปัญหาเอ็นพีแอล ด้วยการขยายสินเชื่อใหม่ เพื่อให้สัดส่วนเอ็นพีแอลลดลง นอกจากนี้ให้ปรับปรุงฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่บางคนที่วางใจไม่ได้ ออกจากการทำหน้าที่เพื่อป้องกันไม่ทำให้เกิดความเสียกับธนาคาร ส่วนการขายหนี้เสียได้กำชับให้พิจารณารอบคอบ เพราะการหนี้เสียจำนวนมาก จะต้องตั้งสำรองสูง มีผลต่อเงินกองทุนและสินทรัพย์เสี่ยง ที่ปัจจุบันอยู่ 11.5% แม้ว่าคลังจะเพิ่มทุนให้ใหม่ในปีงบประมาณ 2551 จำนวน 1,200 ล้านบาท ก็ไม่ได้ส่งผลให้เงินกองทุนสูงขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม นายสมหมาย กล่าวว่า รัฐบาลจะไม่ยุบเอสเอ็มอีแบงก์ เพราะเป็นเครื่องมือที่สำคัญด้านเศรษฐกิจ แต่การเข้าไปช่วยเหลือก็ต้องมีข้อจำกัด เพราะที่ผ่านมาเอสเอ็มอีแบงก์มีปัญหาการทุจริต ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการฟ้องร้อง เพื่อหาคนรับผิดชอบ
นายสมชัย สัจจพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า ในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงปรับโครงสร้าง ซึ่งขณะนี้การปล่อยสินเชื่อเริ่มขยายตัวดีและมีคุณภาพ ตัวเลขในเดือนพฤษภาคม 2550 เริ่มดีขึ้น หลังจากนี้คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อได้เดือนละ 1,000 ล้านบาท
นายพงษ์ศักดิ์ ชิวรัตน์ กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า การแก้เอ็นพีแอลมีความลำบาก เพราะเป็นหนี้เก่าค้างมานาน บางส่วนยกเลิกกิจการต้องใช้เวลาการขายทรัพย์สิน ขณะที่เอ็นพีแอลที่ปรับโครงสร้างให้ดีขึ้นก่อนหน้านี้ก็กลับมาเป็นเอ็นพีแอลใหม่ นอกจากนี้เอ็นพีแอลที่มีคุณภาพดีก็ได้ข้อย้ายไปกู้ใหม่กับธนาคารพาณิชย์จำนวน 1,200 ล้านบาท ทำให้ฐานลูกค้าดีของธนาคารลดลงและต้องมีต้นทุนหาลูกค้าใหม่
นายพงศ์ศักดิ์ กล่าวว่า ธนาคารได้วางแผนแก้เอ็นพีแอล 20,000 ล้านบาท ด้วยการแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ หนี้ที่เพิ่งตกชั้นเป็นเอ็นพีแอล ทางธนาคารจะแก้ไขเอง หนี้เอ็นพีแอลที่เกิน 10 ปี ซึ่งเป็นหนี้ที่บริหารได้ยาก ก็จะจ้างบริษัทเอกชนมาบริหารจัดการแทน และหนี้ที่สะสมนานกว่า 20 ปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ว่าจะตัดแบ่งขายหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการและการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในช่วงครึ่งปีแรกปี 50 ( ม.ค.-มิ.ย.) ว่า ธนาคารได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยแบ่งสินเชื่อลูกค้ากลุ่มเป้าหมายตามพื้นที่เพื่อให้การดำเนินการเกิดความคล่องตัวแก้ปัญหาการปล่อยสินเชื่อที่แต่เดิมกำหนดแบ่งตามคลัสเตอร์ และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสินเชื่อแยกตามวงเงินเป็น 4 ชุด โดยมีมาตรฐานเดียวกันในการพิจารณา และมีการเพิ่มบทบาทให้ศูนย์ธุรกิจ โดยกระจายอำนาจการอนุมัติสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้ศูนย์ธุรกิจและเขตสามารถดำเนินการได้โดยมีกรอบและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และให้ติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด
รวมถึงลดระยะเวลาการพิจารณาสินเชื่อเหลือ 45 วัน จัดทำคู่มือมาตรฐานการอำนวยสินเชื่อ การประเมินราคาหลักประกัน มีระบบการตรวจสอบความโปร่งใส สอบทานได้ และธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองลูกค้า เช่น โครงการ Alliance Lane ให้พันธมิตรช่วยกลั่นกรองลูกค้าชั้นดีให้ โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องลูกค้าชั้นดี เพื่อช่วยเหลือลูกค้าชั้นดี และโครงการสินเชื่อพลิกฟื้นกิจการเพื่อให้ลูกค้า NPLs มีสภาพคล่องสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีหลัง 2550 ธนาคารได้วางแผนปฏิบัติการเชิงรุก 5 ด้าน คือ 1. มุ่งเน้นการแก้ไขหนี้ NPLs ทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม 2. เร่งรัดเพิ่มยอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ ที่มีคุณภาพทั้งกับฐานลูกค้าเดิมที่เป็นลูกค้าชั้นดี และกับผู้ประกอบการจากหน่วยงานพันธมิตร 3. พัฒนาผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าธนาคารให้เข้มแข็ง โดยเน้นกลุ่มลูกค้าชั้นดีที่มีโอกาสขยายกิจการและกลุ่ม NPLs ที่ปรับโครงสร้างธุรกิจแล้วให้สามารถทำธุรกิจต่อไปไม่ติดขัดอีก
4. จะปรับปรุงกระบวนการทำงานทุกส่วนให้รวดเร็ว และเกิดความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้ผู้ประกอบการมั่นใจที่จะมาใช้บริการกับธนาคาร และสุดท้าย จะควบคุมค่าใช้จ่ายและหาทางเพิ่มรายได้ทางอื่น เพื่อทำให้ผลประกอบการของธนาคารปีนี้เป็นบวก โดยมั่นใจว่าแผนปฏิบัติการทั้ง 5 ด้านจะทำให้ธนาคารบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
|