วันนี้ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และภูเก็ตมีระบบเรดาร์ เพื่อควบคุมการจราจรทางอากาศใช้แล้ว
ซึ่งจะช่วยการปฏิบัติงานของผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ ให้สามารถปฏิบัติงานอย่างสะดวกและรวดเร็ว
สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินที่มีจำนวนมากในขณะนี้
ท่าอากาศยานหาดใหญ่ในอนาคตจะได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศต่อจากสิงคโปร์
ในขณะที่ภูเก็ต ณ วันนี้ได้กลายเป็นท่าอากาศยานนานาชาติไปแล้ว ดังนั้นภาวะความจำเป็นในการควบคุมการจราจรทางอากาศที่มีความปลอดภัยสร้างความมั่นใจได้ถึง
100 % จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
หากจำกันได้เมื่อ 3 ปีก่อนเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่ภูเก็ตคือเครื่องของสายการบินไทยตกกลางทะเล
ขณะที่กำลังจะบินลงตามหลังสายการบินดรากอนร์แอร์อุบัติเหตุครั้งนั้นกล่าวกันว่าเกิดจากการให้สัญญาณผิดพลาด
และอ่อนภาษาของเจ้าหน้าที่ควบคุมหอบังคับการบิน ขณะนั้นการควบคุมการบินใช้วิทยุแทนที่จะเป็นการใช้เรดาร์ตามมาตรฐาน
เมื่อเครื่องบินไทยขาดการติดต่อและหายไปเฉย ๆ จึงไม่สามารถตรวจทิศทางได้ถูกต้องและเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ทำให้ทางศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ต
ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของกรมการบินพาณิชย์ได้ออกคำสั่งย้ายจงสวัสดิ์
ลีลาฤกษ์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หอบังคับการเข้ามาประจำศูนย์ที่หาดใหญ่ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่มีเที่ยวบินพาณิชย์มาลงน้อยกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับภูเก็ต
สถิติการจราจรทางอากาศล่าสุดของปีนี้มีเที่ยวบินขึ้นลงที่หาดใหญ่ จำนวน
6,646 เที่ยวบินส่วนภูเก็ตมีจำนวน 15,412 เที่ยวบิน
หลังจากมาประจำการที่หาดใหญ่ได้ประมาณ 2-3 เดือน จงสวัสดิ์ก็เสียชีวิตเนื่องจากประสบอุบัติเหตุขับรถชนเสาไฟฟ้า
"หลังเกิดเหตุการณ์เครื่องบินตกจนต้องถูกสั่งย้าย เขาก็กลายเป็นคิดมากเหมือนคนเป็นโรคประสาท"
แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดจงสวัสดิ์เปิดเผยสาเหตุการตายของเขา
ศูนย์ควบคุมการบินที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่และภูเก็ตเวลานี้อยู่ในสังกัดของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย
ซึ่งรับมอบโอนงานมาจากกรมการบินพาณิชย์ระบบเรดาร์ที่ใช้ควบคุมการบินทั้งหาดใหญ่
และภูเก็ตนี้เป็นระบบเรดาร์ปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมในระยะ 60
ไมล์ทะเล สามารถแสดงตำแหน่งความสูงและทิศทางของเครื่องที่กำลังบินอยู่ รวมไปถึงข้อมูลต่าง
ๆ ที่จำเป็นต่อการควบคุมเครื่องบิน ซึ่งจะเป็นการสะดวกและรวดเร็วต่อการรองรับปริมาณเที่ยวบินที่คับคั่งมาก
และระบบดังกล่าวนี้จะเชื่อมต่อกับเรดาร์ระบบทุติยภูมิที่ติดตั้งใช้งาน ณ
สนามบินสุราษฏร์ธานีที่ควบคุมได้ในระยะ 250 ไมล์ทะเล เมื่อทั้ง 2 ระบบเชื่อมต่อกันได้จะสามารถครอบคลุมได้ทั่วอาณาเขตทางภาคใต้และจะมีรัศมีเลยเข้าไปในประเทศมาเลเซียตอนบน
"ถึงแม้จะมีหรือไม่มีระบบเรดาร์ใช้ผมว่าความปลอดภัยก็ยังคงมีเท่ากัน
เพียงแต่ว่าเมื่อมีระบบเรดาร์ใช้แล้ว ความสามารถของระบบเรดาร์ จะทำให้การควบคุมการจราจรทางอากาศได้รวดเร็วขึ้น
และสามารถเห็นบนจอเรดาร์ได้ว่าขณะนี้เครื่องบินกำลังอยู่ในทิศทางใด"
อัมพร หงสไกร ผู้จัดการศูนย์ควบคุมการบินหาดใหญ่กล่าวถึงจุดดีของการใช้เรดาร์
อัมพรเพิ่งย้ายเข้ามาเป็นผู้จัดการศูนย์ควบคุมได้ประมาณ 2 ปี เดิมเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยบริหาร
3 ประจำอยู่ที่เชียงใหม่ ถึงแม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ในด้านอุบัติเหตุเครื่องบินตกมาก่อน
แต่เขาก็มั่นใจว่าที่หาดใหญ่นี้จะมีปัญหา และอุปสรรคน้อยกว่าที่อื่นเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง
3 ศูนย์ คือเชียงใหม่ หาดใหญ่และภูเก็ต
"ที่หาดใหญ่มีเครื่องบินพาณิชย์ขึ้นลงน้อย ส่วนใหญ่เที่ยวบินจะเป็นเครื่องบินของกองทัพอากาศและเครื่องบินขนส่งสินค้า"
อัมพรกล่าวถึงลักษณะของเที่ยวบินที่ขึ้นลงที่หาดใหญ่
ต่างกับภูเก็ตซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติ ลักษณะเที่ยวบินส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินพาณิชย์มากขณะที่เที่ยวบินขนส่งสินค้ากลับน้อย
ภูเก็ตมีผู้จัดการศูนย์ควบคุมการบินมาแล้ว 3 คน เรวัตร บุนนาคเป็นผู้จัดการศูนย์คนแรกหลังรับมอบโอนงานจากกรมการบินพาณิชย์ซึ่งเป็นปีที่เครื่องบินการบินไทยตก
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ส่วนผู้จัดการศูนย์ ฯ คนที่ 2 คือ อุดม
เผือกอำไพ ปัจจุบันย้ายเข้ามาบริหารงานที่ทุ่งมหาเมฆ และเรืองวุฒิ วุฒิเสน
ผู้จัดการศูนย์คนปัจจุบันเพิ่งรับตำแหน่งหมาด ๆเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี่เอง
เรืองวุฒิเล่าว่า เขาอยู่กับบริษัทวิทยุการบินมาประมาณ 31 ปี และเหลือเวลาอีก3
ปีก็จะปลดเกษียนแล้ว ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้พบเห็นประกอบกับเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยจะสามารถสร้างความมั่นใจต่อการสร้างภาพพจน์ของสนามบินภูเก็ตที่
ณ ปัจจุบันเป็นสนามบินนานาชาติมีความปลอดภัยอย่างมากมายโดยเฉพาะระบบเรดาร์ที่นำมาใช้
เป็นระบบที่ทันสมัยและสมบูรณ์แบบ
"ถึงแม้จะมีเรดาร์ใช้แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถควบคุมไม่ให้เครื่องตกได้
ระบบเรดาร์เป็นแต่เพียงเครื่องมือหรืออุปกรณ์ส่วนหนึ่ง ที่ช่วยในการปฏิบัติงานของผู้ควบคุมจราจรทางอากาศให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสะดวก
และรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมเท่านั้นแต่ก็สามารถทำให้รู้ตำแหน่งที่แน่นอน มีความแม่นยำ
สามารถแสดงความสูงและทิศทางของเครื่องบินที่กำลังบินอยู่รวมถึงข้อมูลต่าง
ๆ ที่จำเป็นต่อการควบคุมการบิน" เรืองวุฒิพูดถึงข้อดีของเรดาร์ซึ่งเขาเห็นว่ามันคนละประเด็นกับเครื่องบินตก
ระบบเรดาร์ใหม่ได้มีการติดตั้งและดำเนินการแล้ว ที่ศูนย์หาดใหญ่ใช้ของบริษัทอัลลีเนียจากอิตาลีในงบประมาณ
99 ล้านบาท ในขณะที่ภูเก็ตใช้ของบริษัท โตชิบา งบประมาณ 155 ล้านบาท ส่วนศูนย์
ฯ ที่สุราษฏร์ธานีกลับเป็นของบริษัทเอ็นอีซีในงบประมาณ 50 ล้านบาท
ทั้ง 3 ศูนย์ ฯ นี้จะมีการเชื่อมต่อระบบกัน หาดใหญ่และภูเก็ตเป็นเรดาร์ระบบปฐมภูมิส่วนสุราษฏร์ฯ
เป็นระบบทุติยภูมิสามารถควบคุมได้ในระยะ 250 ไมล์ทะเล
จำนวนเที่ยวบินจะมีปริมาณความคับคั่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตถูกคาดการณ์กันไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นอีก
3 เท่าตัวใน 5-10 ปีข้างหน้านี้ ดังนั้นถ้าหากไม่มีการใช้ระบบเรดาร์ที่ทันสมัยท่าอากาศยานของไทยก็จะถึงจุดแออัดและตกอยู่ในสภาพอันตรายต่อการขึ้นลงของเที่ยวบินอย่างมาก