กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ค.2550 มีมูลค่า13,049.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.9% เป็นการขยายตัวที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากต้นปี และเป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบปี โดยมูลค่าต่ำกว่าการส่งออกในเดือนมี.ค.ที่ส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 13,103.9 ล้านเหรียญสหรัฐเพียงเล็กน้อย
ส่วนการนำเข้าก็เพิ่มขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าจะไม่มีการนำเข้า โดยมีมูลค่า 12,248.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.7% ทำให้ในเดือนพ.ค.ไทยเกินดุลการค้า 800.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ เมื่อรวมยอดการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่ารวม 58,747.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.8% คิดเป็น 40.25% ของเป้าหมายการส่งออก
ในช่วง 5 เดือนแรก สินค้าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกหมวด โดยหมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรสำคัญ เพิ่มขึ้น 20.8% เช่น ข้าวปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 8.7% และ 21.7% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 50% และ 47.3% สินค้าอาหาร ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 11.6% และ 16% น้ำตาล ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 21.4% และ 197.3% ส่วนยางพารา มูลค่าเพิ่มขึ้น 4.1% แต่ปริมาณลดลง 3.4%
สินค้าอุตสาหกรรม ส่งออกเพิ่มขึ้น 17.2% โดยมีสินค้าสำคัญที่ส่งออกสูงกว่า 15% เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์และกระดาษ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ และของเล่น สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นระหว่าง 10-15% เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้เดินทาง เครื่องหนังและรองเท้า สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 10% เช่น สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่งบ้าน
สินค้าอื่นๆ ส่งออกเพิ่มขึ้น 23.2% สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเลนส์ อากาศยานและอุปกรณ์การบิน และทองแดง เพิ่มขึ้น 25.2%,35.1%,32.4% และ 84.3% ตามลำดับ
เมื่อดูตลาดส่งออกพบว่า การส่งออกไปตลาดใหม่และตลาดหลักขยายตัวเพิ่มขึ้น 26.3% และ 13.3% ตามลำดับ ทำให้สัดส่วนการส่งออกไปตลาดใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 45.2% ขณะที่สัดส่วนการส่งออกไปตลาดหลักลดลงเป็น 54.8%
ตลาดใหม่ที่ขยายตัวในอัตราสูง ได้แก่ อินเดีย 60.5% ยุโรปตะวันออก 56.8% ออสเตรเลีย 41.5% ตะวันออกกลาง 35% ลาตินอเมริกา 31.9% แอฟริกา 31.8% จีน 27.4% อินโดจีนและพม่า 21.3% ไต้หวัน 18.1% เกาหลีใต้ 13.5% แคนาดา 7.5% และฮ่องกง 5.7%
ส่วนตลาดหลักที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูง ได้แก่ สหภาพยุโรป 23.2% ญี่ปุ่น 14.4% อาเซียน (5 ประเทศ) 15.3% และสหรัฐฯ 1.7% ซึ่งขยายตัวในอัตราต่ำ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง และภาวะแข่งขันในตลาดสูง การแข็งค่าของเงินบาท และการประกาศจะยกเลิกการให้ GSP สินค้าไทย
ในด้านการนำเข้า ที่แต่เดิมมีอัตราการขยายตัวลดลง จนเกิดความกังวลกันว่า จะไม่มีการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกในอนาคตนั้น ล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรก การนำเข้ามีมูลค่ารวม 53,420.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.4% โดยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป 15.5% สินค้าอุปโภคบริโภค 18.6% สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง 6.6% โดยสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าทุน และสินค้าอาวุธยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ ลดลง 11.4%, 4.1% และ 6.4% ตามลำดับ
โดยยอดการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการนำเข้าที่ยังคงขยายตัว แต่ไม่เกินไปกว่ายอดการส่งออก ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกนี้ ไทยเกินดุลการค้า 5,326.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขาดดุลการค้า 1,753 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับผู้ส่งออกเพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกล่าสุดเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาว่า ทุกฝ่ายมีความเชื่อมั่นว่าการส่งออกจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และจะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 12.5% แม้ว่าการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่การส่งออกไปยังตลาดหลักอื่นๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียน และยุโรปเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกไปยังตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา และจีน ก็เพิ่มขึ้น
“ยอดการส่งออกทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมาย 12.5% มูลค่า 145,000 ล้านเหรียญสหรัฐอย่างแน่นอน”
ส่วนในด้านการนำเข้าในเดือนมิ.ย. คาดว่า จะนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบเพิ่มขึ้น จากการส่งออกที่ขยายตัวขึ้นและจะมีการนำเข้าอุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตามความต้องการใช้ในประเทศ และการส่งออกที่ขยายตัวสูงในตลาดสหภาพยุโรป และเอเชีย
หากสถานการณ์ส่งออกยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปจนถึงสิ้นปี และไม่มีปัจจัยภายนอกที่คาดไม่ถึงมากระทบ เชื่อว่าการส่งออกจะเป็นไปตามเป้าหมาย 12.5% ที่สำคัญภาคการส่งออก จะเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ในระดับ 4% ซึ่งถือได้ว่าการส่งออกจะเข้ามาเล่นบทพระเอกในการกอบกู้เศรษฐกิจไทยในปีนี้อย่างเต็มตัว
|