สุนทร สุนทรภูษิตนึกไม่ถึงว่ากิจการผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราที่เขาและเพื่อน
ๆ ร่วมกันบุกบั่นมา 5 ปีจะขยายตัวได้รวดเร็วถึงขนาด
อดีตนักลงทุนใน กทม.ที่หันมาเอาดีทางปักษ์ใต้รายนี้ปัจจุบันง่วนอยู่แต่การคิดเรื่องการบุกเบิกตลาดไปยังต่างประเทศ
การขยายโรงงาน MDF และการนำกิจการทั้งหมดที่มีมูลค่าการลงทุนเกือบ 100 ล้านบาทเข้าตลาดหลักทรัพย์
ฯ
กรรมการผู้จัดการ ซี.ดี.พาราวู้ด เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า
"แต่เดิมนั้นผมไปทำโรงงานที่ระยองก่อนโดยมีพรรคพวกมาชักชวนไป แต่ต่อมามีปัญหาเรื่องผู้ถือหุ้น
ผมก็เลยถอนตัวแล้วมางลใหม่ทางหาดใหญ่ซึ่งมีแหล่งวัตถุดิบที่ดีกว่ามากทางภาคใต้ที่มีพื้นที่ไม้ยางประมาณ
10 ล้านไร่ แต่ทางตะวันออกมีอยู่เพียง 1 ล้านไร่เท่านั้น"
นอกจากสุนทรจะทำโรงงานซี.ดี.พาราวู้ดที่เป็นโรงงานอบไม้ยางซึ่งถือเป็นโรงงานที่
1 แล้ว เขายังขยายไปทำซี.ดี.เฟอร์นิชชิ่ง ซึ่งเป็นโรงงานที่เอาผลิตภัณฑ์ไม้ยางแห้งจากโรงงานแรกมาทำการแปรรูปหรือกึ่งแปรสำเร็จรูป
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาส่วนมากเป็นพื้นที่หน้าโต๊ะ มีอายุการใช้งานมากกว่า
10 ปี
ส่วนที่จะขยายโรงงาน MDF หรือ MEDIUM DENSITY FIBER BORD หรือโรงงานเยื่อไม้อัดแผ่น
เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากโรงที่ 2 คือโรงงานเฟอร์นิชชิ่งโดยเอาเยื่อไม้ยางและไม้ยางส่วนที่เป็นกิ่งก้านมาทำการบดแตกหรือตีให้แตก
แล้วเอามาบดอีกครั้ง แยกเยื่อออกจากฝุ่น แล้วโรย 3 ชั้นเป็นเยื่อ ฝุ่น เยื่อและอัดแรงขนาดกลางจะได้ผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นไม้เทียมหรือไม้แข็งกลาง
นำไปประกอบเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่นิยมใช้อย่างมากในต่างประเทศ
นอกจากนี้สุนทรยังริเริ่มทำผลิตภัณฑ์ของเด็กเล่นจากไม้ยางโดยแยกออกมาตั้งเป็นอีกบริษัทหนึ่งชื่อยูเนี่ยนวู้ดโปรดัก
ซึ่งทำผลิตภัณฑ์เครื่องครัวชิ้นเล็กด้วย
โรงงานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินกู้จากบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(IFCT) โดยเฉพาะโรงงาน 1 และ 2นั้นได้รับเงินกู้ประมาณ 25 ล้านบาทและโรงงาน
2 นี่เอง บล.กองทุนรวมได้เข้ามาร่วมลงทุนหุ้นด้วยโดยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น
35 % และมีเงื่อนไขระบุว่าจะต้องนำกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ฯ ภายในปีนี้
จังหวะที่สุนทรเข้ามาจับงานผลิตภัณฑ์จากไม้ยางถือเป็นจังหวะที่ดีมาก โดยเฉพาะในด้านการตลาด
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์จากไม้ได้รับความนิยมใช้อย่างสูงในต่างประเทศ ทว่าป่าไม้ส่วนมากในโลกล้วนเป็นป่าอนุรักษ์
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตเครื่องเฟอร์นิเจอร์ไม้อันดับ 2 รองจากไต้หวัน
ขณะที่มาเลเซียหรืออินโดนีเซียยังหล้าหลังกว่าไทยในอุตสาหกรรมนี้นับ 10 ปี
แต่ในไต้หวันนั้นก็เริ่มมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบ และค่าแรงงานสูงมากประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ไต้หวันก็แข็งมากด้วย
ปัจจุบันไต้หวันเริ่มหนีไปทำเฟอร์นิเจอร์ที่สลับซับซ้อนมากกว่า เช่น งานสี
ส่วนงานหยาบๆ ประเภทงานพื้นโต๊ะจะซื้อสำเร็จรูปจากไทยไป ทั้งนี้เพราะไต้หวันเชี่ยวชาญเทคโนโลยีงานทำสีไม้มากกว่าไทยหลายเท่าตัว
สุนทรเปิดเผยว่า "ตลาดเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ใหญ่ที่สุดคือ สหรัฐ ฯ และวัฒนธรรมการใช้เครื่องเฟอร์นิเจอร์ไม้ก็มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยมากด้วยเปลี่ยนไปตามแฟชั่นหรือแนวความคิดใหม่
ๆ ของพวกมัณฑนาการ ว่าไปแล้วการทำตลาดเฟอร์นิเจอร์ในต่างประเทศค่อนข้างลำบาก
ผมเองยังทำได้แค่ครึ่งทางเท่านั้นเพราะมันมีปัญหาจุกจิกหลายอย่าง"
ปัญหาอันหนึ่งที่สุนทรสะท้อนให้ "ผู้จัดการ" ทราบคือ การขยายกิจการออกมามาก
ๆ อย่างที่เป็นอยู่นั้นเพราะทีความจำเป็นที่จะต้องทำการลงทุนอย่างต่อนื่อง
แม้ว่ารายได้ส่วนมากจะมาจากการขายไม้ยางพาราอบแห้งให้กับโรงงานเฟอร์นิเจอร์แถบชลบุรีและนครปฐม
ซึ่งปีหนึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาทแต่ ซี.ดี.พาราวู้ดก็ประสบปัญหาเรื่องการชำระเงิน
สุนทรจึงคิดทำโรงงานเฟอร์นิเจอร์โดยเอาวัตถุดิบจากโรงซี.ดี.พาราวู้ดมาทำ
ปัจจุบันซี.ดี.เฟอร์นิชชิ่งซื้อไม้ยางอบแห้งจากซี.ดี.พาราวู้ดประมาณ 35 %
ของยอดขายซึ่งปีนี้ สุนทรตั้งเป้าหมายยอดขายของซี.ดี.พาราวู้ดไว้ 70,000
คิวฟุต ซี.ดี.เฟอร์นิชชิ่งมียอดขายเดือนละ 5 ล้านบาทแล้ว ทั้งที่สุนทรเพิ่งทำโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้หน้าโต๊ะนี้เพียง
10 เดือนกว่าเท่านั้น คาดว่าปีนี้ยอดขายจะได้ประมาณ 60 ล้านบาท
ลูกค้าสำคัญที่ซื้อพื้นไม้หน้าโต๊ะจากสุนทรคือบริษัทเฟอร็นิเจอร์ญี่ปุ่นในไทยที่สำคัญคือ
นิจิแมน และไทยมารูเบนนิ ทั้งนี้เทคนิคการอัดน้ำยาและอบแห้งไม้ยางพาราของซี.ดี.พาราวู้ด
ก็ได้มาจากบริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้ โดยการจัดส่งช่างเทคนิคเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการผลิต
สุนทรเปิดเผยว่า "ในแง่ของตลาดนั้น ผมไม่ห่วงเลยแต่ปัญหาใหญ่ที่เราเผชิญอยู่ในเวลานี้คือเรื่องคนงาน
ผมมีแรงงานท้องถิ่นกับส่วนกลางในอัตราครึ่งต่อครึ่ง ต้องเป็นแรงงานที่มีฝีมือด้วย
ซึ่งแรงงานท้องถิ่นมักจะอยู่กับเราไม่ค่อยนาน พอฝึกงานจนเป็นกันแล้วก็มักจะลาออกไปทำอย่างอื่น
ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไรเหมือนกัน"
สำหรับเรื่องการขอเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ นั้น นอกจากมีเงื่อนไขไว้กับกองทุนรวมแล้ว
ยังมีเหตุผลในแง่ของการขยายโรงงาน MDF ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท
เพื่อที่จะให้ได้กำลังผลิตวันละ 100 ตัน
สุนทรบอกกับ "ผู้จัดการ" ในวันเข้าเยี่ยมชมโรงงานตามโครงการเยี่ยมเยียนลูกค้าในเขตภาคใต้ตอนล่างของบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่า
"ผู้เชี่ยวชาญกรมป่าไม้ให้ความเห็นกับผมว่าโครงการ MDF มีอนาคตที่ดีมากในระยะยาวเพราะการใช้ไม้เริ่มถูกอนุรักษ์มากขึ้น
ปัจจุบันมีโรงงาน MDF อยู่ 2 แห่งที่ขอนแก่นและฉะเชิงเทรา แต่คุณภาพยังอยู่ในระดับที่ไม่สามารถส่งออกได้
สำหรับโรงงานที่ผมจะทำนั้นตั้งเป้าหมายที่จะขายภายในส่วนหนึ่งและมีการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศด้วย"
แม้สุนทรจะมีประสบการณ์เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ สมัยทำไม้ที่ระยอง แต่ตอนนั้นเขาไม่ได้ใฝ่ฝันที่จะทำอะไรใหญ่โตมากมายเยงนี้
มันเป็นเรื่องของจังหวะโอกาสและการเลือกประเภทธุรกิจโดยแท้ ประกอบกับมีผู้ร่วมทุนทางธุรกิจที่เชี่ยวชาญพอ
สินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน ที่ดิน เครื่องจักร บัตรส่งเสริมการลงทุน วัตถุดิบ
ตลาดทั้งภายในและภายนอกการบริหารงานที่ไม่ใช่ธุรกิจแบบครอบครัว ฯลฯ คุณสมบัติเหล่านี้กลุ่มซี.ดี.พาราวู้ดมีอยู่ครบถ้วนแล้วสำหรับการยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ฯ
อีกไม่นานชื่อของกลุ่มซี.ดี.พาราวู้ด จะปรากฏอยู่ในกระดานค้าหลักทรัพย์ให้นักลงทุนได้ซื้อหุ้นร่วมลงทุนกับธุรกิจที่งดงามงอกเงยนี้กันบ้าง