สวัสดิ์เป็นพ่อค้าเหล็กมีโรงเหล็กที่สร้างจากเล็กมาสู่ใหญ่ด้วยทุนดำเนินการที่เริ่มจากติดลบ
200 ล้าน แต่ด้วยความเป็นนักสู้และมีสมองที่เปิดกว้างทำให้สวัสดิ์ฟื้นฟูธุรกิจโรงเหล็กขึ้นมาได้สำเร็จจากลูกค้าแบงก์
จากลูกค้าแบงก์ที่ไม่มีใครอยากปล่อยสินเชื่อด้วย กลายเป็นลูกค้าที่ทุกแบงก์อยากวิ่งเข้าหา(ไม่ใช่ตามทวงหนี้)เพื่อปล่อยสินเชื่อให้
เขาเป็นลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีไปเสียแล้ว
โรงเหล็กเส้นเตาหลอมมูลค่ากว่า 5,000 ล้านซึ่งตั้งอยู่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมเหมราช
ชลบุรี ที่มีแบงก์และสถาบันการเงินระดับนำของประเทศเกือบ 10 แห่งร่วมกันปล่อยกู้และเป็นประวัติศาสตร์ของสวัสดิ์ที่ไม่มีวันลืม
เป็นตัวอย่างที่สนับสนุนข้อนี้
4 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่สวัสดิ์มีความสุขที่สุด เหล็กเส้นที่ออกจากโรงงานมีไม่พอขายความต้องการเพื่อการก่อสร้างบูมขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผลมาจากการลงทุนขยายตัวในอัตรากว่า 10 %
แต่ความที่สวัสดิ์เป็นนักอุตสาหกรรมที่พกเอาวิญญาณพ่อค้ามาเต็มตัว เขารีบฉวยโอกาสลงทุนขยานกิจการออกไปยังที่ดิน
เพื่อรองรับการลงทุนของนักอุตสาหกรรมทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่กำลังเคลื่อนย้ายมาที่เขตอุตสาหกรรมใหม่ชายฝั่งทะเลตะวันออก
นิคมอุตสาหกรรมเหมราชจึงเกิดขึ้นมาภายใต้การสนับสนุนของกนอ.ก็ด้วยเหตุนี้
เมื่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเดินหน้าในการขายพื้นที่ได้ประมาณ 30 % สวัสดิ์ก็คิดไกลออกไปอีก
เขาต้องการท่าเรือน้ำลึกที่อยู่ห่างจากนิคมออกไป 30 กิโลเมตร "ที่แหลมฉบังก็มีท่าเรือแต่มันเป็นมันเป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์"
ชำนิ จันทร์ฉาย สตาฟ์ระดับกรรมการบริหารมือด้านการเงินของสวัสดิ์พูดถึงท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังของการท่าเรือที่อยู่ห่างจากนิคมเหมราช
35 กิโลเมตร
ท่าเรือที่สวัสดิ์ต้องการเป็นท่าเรือสินค้าทั่วไป สามารถรองรับเรือขนาด
40,000 ตัน ได้ 2 ลำ และ 10,000 ตัน ได้ 1 ลำ จุดหมายก็เพื่อใชเป็นท่าเรือขนถ่ายเศษเหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศปีละ
70,000-100,000 ตัน ป้อนเข้าโรงเหล็กเตาหลอมของเขาที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกกรมเหมราช
"มันจะอยู่ใกล้กว่าท่าเรือแหลมฉบัง 5 กิโลเมตรจากนิคมเหมราช" เขาพูดถึงตำแหน่งที่ตั้งท่าเรือของเขาที่อยู่ในพื้นที่อำเภอศรีราชา
ตรงบริเวณริมฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันออก
ท่าเรือจะใช้ชื่อเหมือนบริษัทคือ ศรีราชาฮาเบอร์ "เราเพิ่งได้ใบอณุญาตให้ก่อสร้างท่าเรือได้จากกระทรวงเมื่อมิถุนายนนี้เอง
หลังจากนั่งลุ้นมานานตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว" สวัสดิ์พูดให้ฟังอย่างตื่นเต้น
สวัสดิ์ซื้อที่ดินบริเวณที่ตั้งท่าเรือนี้เมื่อ 2 ปีก่อน ใกล้ ๆ ออกไปจากที่ดินของเขาเป็นฝั่งท่าเรือของมาบุญครองที่เปิดดำเนินการรับขนถ่ายสินค้ามันสำปะหลังและข้าวโพดลงเรือขนาด
700 ตันต่อชั่วโมงมาหลายปีแล้ว
พื้นที่ดินบนฝั่งท่าเรือของสวัสดิ์มีขนาดประมาณ 70 ไร่ มีคอริดอร์ยื่นออกสู่ทะเลจากฝั่งยาวประมาณ
3 กิโลเมตร กว้าง 10 เมตร ท่าเทียบเรือนอกฝั่งยาว 450 เมตร กว้าง 40 เมตรมีร่องน้ำลึก
13 เมตรใช้เงินลงทุนสร้างท่าเรือตกประมาณ 1,200 ล้านบาท
สวัสดิ์ต้องการมีท่าเรือของตัวเองไปทำไม ทั่งที่ห่างจากนิคมของเขามากออกไปก็มีท่าเอฟ
ถ้าเขาเปลี่ยนจุดท่าเรือส่งของจากกรุงเทพมาที่ศรีราชาฮาเบอร์ของเขาจะช่วยประหยัดค่าขนส่งลงได้ตันละ
15 เหรียญสหรัฐ ฯ หรือปีละ 10-15 ล้านเหรียญ เมื่อคิดคำนวณจากปริมาณการนำเข้า
พูดอีกแบบหนึ่ง สวัสดิ์ลงทุนท่าเรือไปก็เพื่อสร้างซินเนอร์ยี่ให้เกิดขึ้นกับธุรกิจหลักอุตสาหกรรมผลิตเหล็กเส้นของเขานั่นเอง
"เราวางแผนใช้ท่าเรือเพื่อขนถ่ายเศษเหล็กของเราประมาณ 55% อีก 45 %
จะเปิดเพื่อบริการขนถ่ายให้กับสินค้าอื่น ๆ ชำนิ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ถึงเหตุผลการลงทุนสร้างท่าเรือของสวัสดิ์
45 % ที่พูดถึงเป็นกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่มีโรงงานอยู่ในนิคมเหมราช"
เราคิดราคาค่าบริการขนถ่ายแบบ COST PLUS ไม่เกิน 30% ซึ่งเชื่อว่าราคาค่าบริการรวมจะถูกกว่าที่แหลมฉบังแน่นอน"
ชำนิพูดถึงจุดความได้เปรียบ
แหลมฉบังเปิดบริการ 4 ท่า 2 ท่าการท่าเรือเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนที่เหลืออีก
2 ท่าบริษัทกลุ่มไทยเครนอินเตอร์เนชั่นแนลและโหงวฮกได้ดำเนินการกันคนละท่า
ว่าไปแล้วทั้งไทยเครน และโหงวฮกคือคู่แข่งตัวจริงของสวัสดิ์ แม้นว่าทั้งสองจะเน้นสินค้าคอนเทนเนอร์ที่มีปริมาณการขนถ่ายสูงมากก็ตาม
แต่ด้วยเหตุผลการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ก็เป็นไปได้สูงที่จะมีการเปิดบริการขนถ่ายสินค้าทั่วไปด้วย
แต่ตรงนี้สวัสดิ์ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่โตอะไร เพราะเป้าหมายการทำท่าเรือของเขาอยู่ที่การช่วยเสริมให้ธุรกิจโรงเหล็กเตาหลอมเป็นหลัก"คุณคิดดูเราประหยัดปีละประมาณ
15 ล้านเหรียญหรือ 375 ล้านบาทขณะที่โรงเหล็กเตาหลอมเราเจอ COST OVERRUN
เกือบ 1,000 ล้าน ดังนั้น ถ้าเราประหยัดค่าขนส่งปีละ 375 ล้านเพียง 3 ปีเราก็สามารถชดเชยต้นทุนส่วนที่เพิ่มนี้ได้ทั้งหมด"
ชำนิยกตัวอย่างผลการมีท่าเรือของตัวเอง
ต้นทุนการสร้างโรงเหล็กเตาหลอมเกิดจากการลงทุนเพิ่มส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคเช่น
บ่อน้ำดิบ ไฟฟ้า บ้านพักคนงานซึ่งเกิดขึ้นเหนือความคาดหมายของสวัสดิ์เพราะเขาคิดว่าการลงทุน
สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นรัฐไม่ใช่เอกชน แต่ด้วยเหตุที่รัฐล่าช้าเกินไปเขาจึงต้องทำเอง
"เราไม่ซีเรียสส่วนนี้เท่าไร แม้ตอนแรกมันจะทำให้การคืนทุนของดรงเหล็กเตาหลอมล่าช้าออกไปจาก
6 ปี เป็น 7 ปี แต่พอมีท่าเรือของเราเองจะช่วยให้การคุ้มทุนของโรงเหล็กเตาหลอมของเราคืนทุนเร็วขึ้นจาก
7 ปีเหลือลงมา 6 ปีพอดี" สวัสดิ์พูดถึงซินเนอร์ยี่การมีท่าเรือที่โยงเข้ากับธุรกิจโรงเหล็ก
เวลานี้แผนการก่อสร้างท่าเรือได้เริ่มขึ้นแล้ว บริษัทคินสันจะเป็นผู้ก่อสร้างของคอริดอร์ที่ยื่นออกไปทะเล
ขณะที่บริษัทเคียร์และบีเซอร์จะร่วมกันสร้างคอริดอร์และท่าเทียบเรือในวงเงินค่าก่อสร้างทั้งหมด
760 ล้านบาท
"เราได้กำจร ประสิทธิ์กุศลมาเป็นผู้จัดการโครงการ" สวัสดิ์พูดถึงคีย์แมนอีกคนหนึ่งของเขา
กำจรเคยทำงานที่นิคมอุตสาหกรรมในประเทศซาอุดิอารเบียมาก่อน เขามีพื้นฐานเป็นวิศวกรโยธาและผ่านคอร์สเอ็มบีเอที่นิด้ามาแล้ว
โครงการสร้างท่าเรือจะสำเร็จลงในกลางปีหน้า พร้อมกับความคาดหวังของสวัสดิ์ว่ามันจะช่วยให้โรงเหล็กเตาหลอมของเขาคืนทุนเร็วขึ้น
ขณะเดียวกันตัวท่าเรือเองก็สามารถสร้างผลกำไรให้กับกลุ่มนครไทยของเขาอีกปีละกว่า
100 ล้านขึ้นไปในอีกสามปีข้างหน้า