Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2534
ได้น้ำเลี้ยงจากรัฐเต็มคราบ เครดิตลีอองแนส์ สยายปีกคลุมโลก             
 

 
Charts & Figures

Credit Lyonnais' Take-off


   
search resources

ธนาคารเครดิต ลีอองแนส์
Banking and Finance
France




ในรอบหลายปีที่ผ่านมา บรรดาธนาคารฝรั่งเศสต่างถูกบีบให้ต้องคิดหนัก เกี่ยวกับบทบาทของตัวเองในทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อปี 1992 ยิ่งใกล้เข้ามา และภาวะการแข่งขันก็เด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งกว่านั้น ในห้วงคำนึงของผู้นำทางการเงินฝรั่งเศสก็ยังต้องครุ่นคิดถึงวิธีหามาตรการเพิ่มฐานเงินทุนให้แข็งแกร่งขึ้นให้ได้ 8% ตามกฎของบีไอเอส (BANK FOR INTERNATIONAL SETTLEMENTS)

สำหรับฝรั่งเศสซึ่งสถาบันการเงินต่าง ๆ มักอยู่ในสภาพฐานเงินทุนต่ำอยู่แล้วนั้น ต้องถือว่าเรื่องนี้ "พูด" ง่ายกว่า "ทำ"

ฝรั่งเศสมีธนาคาร "สากล" ระดับยักษ์ใหญ่ชั้นแนวหน้า 3 แบงก์ด้วยกัน "เครดิต ลีอองแนส์" ได้ชื่อว่าเป็นยักษ์หมายเลขหนึ่ง และเป็นกิจการของรัฐเช่นเดียวกับ "แบงก์ เนชั่นแนล เดอ ปารีส์" (บีเอ็นพี) และโซซิเอเต้ เจเนอราล ซึ่งถูกแปรรูปไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 1987 ทั้ง 3 แบงก์ที่เบิ้มนี้ถูกโอนเข้าเป็นกิจการของรัฐในสมัยประธานาธิบดีเดอ โกลล์ และต่างอยู่ในสถานภาพเดียวกันคือ ต้องเร่งหาทางเพิ่มทุนให้ได้

สำหรับแบงก์ระดับสากลที่ดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศในทั่วโลก การเริ่มเพิ่มทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้ได้ 8% ตามกฎของบีไอเอสเป็นเรื่องที่ทำได้ยากแบบหืดขึ้นคออยู่แล้ว แต่สำหรับกิจการรัฐวิสาหกิจอย่างเครดิต ลีอองแนส์และบีเอ็นพีนั้น สถานการณ์ยิ่งลำบากหนักข้อขึ้นอีก ในเมื่อการยักย้ายถ่ายโอนสินทรัพย์ทุกอย่างไม่อาจทำได้โดยเสรี เพราะความเป็นแบงก์ของรัฐนั่นเอง

โซซิเอเต้ เจเนอราล ซึ่งถูกแปรรูปเมื่อปี 1987 นั้น กลายเป็นแบงก์ที่หายใจคล่องที่สุด สามารถเร่งแผนเพิ่มุทนได้ทันทีด้วยการออกหุ้นใหม่ขาย

เมื่อปี 1989 รัฐบาลสังคมนิยมของประธานาธิบดีฟรังซัวส์ มิตแตร์รองด์ประกาศนโยบาย "NI,NI" ที่ขึ้นชื่อลือชาเป็นนโยบายซึ่งสัญญาว่าจะไม่โอนอุตสาหกรรมที่แปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้วกลับมาเป็นของรัฐอีก และจะไม่สานต่อนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลชุดก่อนด้วย

จากนโยบายนี้หมายความว่า รัฐบาลต้องแสวงหามาตรการอื่น ในการเพิ่มฐานเงินทุนให้แบงก์ วิธีการที่ตัดสินใจไปแล้วมีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนหุ้นกัน และการโยกย้ายสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการรัฐวิสาหกิจด้วยกัน

นโยบายหนึ่งแบงก์หลายแห่งนิยมใช้กัน คือการเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทประกันภัน แล้วมีกิจการในลักษณ์ใหม่ออกมาที่นิยมเรียกกันติดปากเวลานี้ว่า BANCASSURANCE ซึ่งหมายถึงกิจการที่แบงก์และบริษัทประกันต่างให้ "SYNERGY" ระหว่างกันด้วยการที่ต่างฝ่ายต่างขายผลิตภัณฑ์ของกันและกัน ซึ่งสายสัมพันธ์ในลักษณ์นี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศยุโรปอื่น ๆ แต่ในฝรั่งเศสประเทศเดียวเท่านั้นที่มีการทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันจนเป็นของธรรมดา และเป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งในฝรั่งเศสคือ บริษัทประกันใหญ่ที่สุดทั้ง 3 แห่งก็ล้วนเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจเช่นกันไม่ว่าจะเป็น ASSURANCES GENERALES DE FRANCE(เอจีเอฟ), UNION DE ASSURANCES DE PARIS (ยูเอพี) และ GROUPE DE ASSURANCES NATIONALES (จีเอเอ็น)

ตอนนี้นักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่ยังอยุ่ในระหว่างรอดูผลนโยบายการขยายผลิตภัณฑ์ข้ามบริษัทระหว่างแบงก์และบริษัทประกันอยู่ เท่าที่ผ่านมามีเพียงแบงก์ "เครดิต อะกริโคล" แห่งเดียวเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการขายกรมธรรม์ประกันภัย โดยใช้วิธีตั้งบริษัทประกันขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง

ที่น่าเคลือบแคลงคือ จุดประสงค์ของการรวมเป็นพันธมิตรระหว่างกันนั้น เป็นไปเพื่อทำหให้งบดุลบัญชีของแบงก์รัฐวิสาหกิจแข็งขึ้นมากกว่าเพื่อเหตุผลในการประกอบธุรกิจโดยตรง

บีเอ็นพี และยูเอพีมีการแลกเปลี่ยนหุ้นระหว่างกันไปแล้ว โดยแต่ละฝ่ายถือหุ้นของอีกฝ่ายหนึ่ง 10% ต่อมาในปลายเดือนธันวาคม 1990 บีเอ็นพีก็ถือหุ้น เพิ่มอีก 10%

จีเอเอ็นเข้าถือหุ้นใหญ่ 53% ของ CREDIT INDUSTRIAL & COMMERCIAL (ซีไอซี) ในนามของรัฐบาล และยูเอพีถือหุ้น 100% ใน BANQUE WORMS แต่แบงก์ยักษ์ใหญ่ที่ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจอย่าง เช่น โซวิเอเต้ เจเนอราล, เครดิต คอมเมอร์เชียล เดอฟรานซ์ (ซีซีเอฟ) และปารีบาสต่างไม่สนใจเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจประกันภัยเลย

สำหรับเครดิต ลีอองแนส์นั้น ไม่ได้เข้าไปมีสายสัมพันธ์กับบริษัทประกันใด ๆ เลยแต่เพิ่มบทบาทของตัวเองในฐานะผู้ขายกรมธรรม์ประกันภัยหลายประเภทให้แก่ลูกค้าบรรดานักวิเคราะห์ต่างอ้างว่าเครดิต ลีอองแนส์นั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินทุนจากบริษัทประกัน เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสจะเพิ่มทุนเข้าไปให้ด้วยวิธีอื่น ๆ

กล่าวกันว่าการอัดฉีดเงินงวดแรกเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 1989 เมื่อ CAISSE DES DE POTS ลงทุน 1.3 พันล้านฟรังก์ฝรั่งเศสซื้อหุ้น 1.6 ล้านหุ้น

กรรมการผู้จัดการใหญ่ของเครดิต ลีอองแนส์คือ ฌอง-อีฟส์ ฮาเบอแรร์เล่าว่า CAISSE ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1816 เป็นองค์กรที่ค่อนข้างแปลกสำหรับชาวฝรั่งเศสเพราะไม่ถือว่าเป็นเอกชนหรือรับวิสาหกิจ แต่เจ้าของคือ "ประเทศชาติ" ตามคำบอกเล่าของฮาเบอแรร์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นผู้มีหน้าที่แต่งตั้งผู้บริการของ CAISSE ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดามากเพราะ "เครดิต เนชั่นแนล" สูงเช่นกัน

เป็นตัวกลาง

CAISSE ดำเนินงานในฐานะเป็นองค์กรของรัฐอาทิธนาคารกลางฝรั่งเศสกับตลาดเงินต่าง ๆ โดยเงินทุกส่วนใหญ่ได้รับจาก CAISSES D' EPARGNE ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินงานโดยรัฐบาลส่วนท้องถิ่น แต่มีสถาบันจากส่วนกลางเป็นผู้ควบคุมและมี CAISSE DESDEPOTS ดูแลกำกับ

CAISSE เป็นแขนขาของรัฐบาลที่มีฐานเงินสดมหาศาล และดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนักสังเกตการณ์ปักใจเชื่อว่า การอัดฉีดเงินสดในลักษณะนี้และการยักย้ายถ่ายโอนสินทรัพย์อื่น ๆ เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ เครดิตลีอองแนส์โดยตรงหรือไม่ก็โดยอ้อมเพื่อการเพิ่มฐานเงินทุนนั่นเอง

ฮาเบอแรร์ยอมรับว่า ทุนของเครดิต ลีอองแนส์ลดฮวบลงไปมาก เพราะภาวะเงินเฟ้อ และเพราะเป็นรัฐวิสาหกิจจึงไม่สามารถเพิ่มทุนจากตลาดทุนได้ เขาเล่าต่อไปว่าเมื่อถึงปี 1988 แล้ว ถ้าเครดิตลีอองแนส์ยังไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามกฎของบีไอเอสได้

และเพราะกฎของบีไอเอสนี้เองที่ทำให้บรรดาแบงก์รัฐวิสาหกิจทั้งหลายต้องเริ่มทำในสิ่งที่ฮาเบอแรร์เรียกว่า "วิศวกรรมการเงิน" คือการออกหุ้นเพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้กิจการรัฐวิสาหกิจ อื่น ๆ ซื้อไป "แต่มันไม่เป็นความจริงที่ว่า สิ่งนี้เกิด ขึ้นเพียงแค่การแลกเปลี่ยนเอกสาระหว่างกิจการรัฐ วิสาหกิจด้วยกัน"

ฮาเบอแรร์เพิ่มเติมว่า มันก็ไม่ใช่เรื่องของการแลกเปลี่ยนหุ้นกันเป็นระยะ ๆ เหมือนกรณีที่บีเอ็นพีประกาศเมื่อปลายเดือนธันวาคมว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะให้บีเอ็นพีเข้าถือหุ้น 10% ในเปอชินีย์ ซึ่งเป็นบริษัทอะลูมิเนียมและโลหะที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วย แต่มันก็มีการจัดการในรูปแบบอื่นกับองค์กรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มทุนของเครดิต ลีอองแนส์ ขณะที่สามารถคงไว้ซึ่งการควบคุมของรัฐได้เหมือนเดิม

การอัดฉีดเงินในลักษณ์ที่คล้ายกันเกี่ยวข้องกับ CAISSE DES DOPOTS เกิดขึ้นเมื่อ เครดิต ลีอองแนส์ประกาศว่า มีการนำหุ้นสามัญของเครดิต ลีออง แนส์ ที่ออกใหม่แลกกับหุ้นของโรน-ปูแลงก์ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ของรัฐวิสาหกิจ ทำให้เครดิต ลีอองแนส์มีหุ้นในโรน-ปูแลงก์เพิ่มขึ้นอีก 9.4%

การเคลื่อนไหวล่าสุดโดยรัฐบาลที่ทำในนามของเครดิต ลีอองแนส์คือ การเข้าไปมีสายสัมพันธ์กับทอมสัน-ซีเอสเอฟ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผลิตอาวุธและสินค้าอิเล็กทรอนิสก์ของรัฐ เป็นการทำโดยให้เครดิตลีอองแนส์เข้าไปซื้อกิจการของอัลตัส ไฟแนนซ์ซึ่งเป็นบริษัทโบรกเกอร์ที่แตก หน่อมาจากธุรกิจบริหารเงินของธอมสัน

บรรดานักสังเกตการณ์ให้ความเห็นว่า เพราะความไม่เชื่อมั่นในความสามารถของธอมสัน-ซีเอสเอฟที่จะควบคุมหรือบริหารอัลตัส ไฟแนนซ์ได้ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสต้องโอนอัลตัสให้เข้าไปอยู่ในร่มเงาของเครดิต ลีอองแนส์

ในช่วงปลายปี 1990 เครดิต ลีอองแนส์ถือหุ้นของอัลตัส 65% และจากข้อตกลงครั้งนี้จะทำให้เครดิต ลีอองแนส์ถือหุ้นในอัลตัสเพิ่มเป็น 80%

ธอมสัน-ซีเอสเอฟได้รับหุ้นสามัญชุดใหม่มูลค่า 4.9 พันล้านฟรังก์ฝรั่งเศสเป็นการตอบแทน

การแลกหุ้นครั้งนี้ทำผ่าน SOCIETE DE PARTICIPATION BANQUE-INDUSTRIE (เอสพีบีไอ), ซึ่งเป็นบริษัทแม่หรือโฮลดิงคัมปะนีที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ มีรัฐบาลถือหุ้น 50% และอี 50% ถือโดยธอมสัน-ซีเอสเอฟที่เป็นกิจการรัฐวิสาหกิจเช่นกัน

นักวิเคราะห์ของไอบีซีเอในลอนดอนชี้ว่า "หุ้นของธอมสัน-ซีเอสเอฟส่วนใหญ่ที่ถือในเครดิต ลีอองแนส์ และอีก 2 ล้านหุ้นที่อยู่ในมือรัฐนั้น ถูกโอนให้เข้าไปอยู่ในมือของเอสพีบีไอทั้งหมด

เมื่อพูดในแง่ของการถือครองหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงในเครดิต ลีอองแนส์แล้ว ตอนนี้รัฐบาลฝรั่งเศสถือโดยตรงถึง 72% และอีก 28% เป็นการถือโดยอ้อมผ่านทาง CAISSEDESDEPOTS (5%), ธอมสัน-ซีเอสเอฟ (4%) และเอสพีบีไอ (19%)

ในสายตาของนักวิเคราะห์หลายคนที่ประจำบริษัทเชียร์สัน เลห์แมน ต่างเชื่อว่าการถือหุ้นข้ามบริษัทกันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนเอกสารกันเท่านั้น อย่างน้อยที่สุดกับบริษัทธอมสัน-ซีเอสเอฟนั้น ถือเป็นการเพิ่มทุนโดยตรงด้วยการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์กันจริง ๆ

แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้นั้น ดูเหมือนจะได้รับผลประโยชน์ "วิศวกรรมการเงิน" ทั้งสิ้น โดยธอมสัน-ซีเอสเอฟ ได้ถือหุ้นอันแข็งแกร่งของแบงก์ ซึ่งเป็นช่องทางสร้างรายได้เข้าบริษัทในอนาคตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคที่กิจการที่เป็นธุรกิจหลักของตนกำลังฟุบเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ข่าวคราวล่าสุดที่เกี่ยวกับธอมสัน-ซีเอสเอฟคือการที่ยอดสั่งซื้อของลูกค้าหดหายไปเรื่อย ๆ และมีการประกาศปลดพนักงาน จึงทำให้มีเงินสดสำรองที่จะหนุนให้ "บาทีฟ แบงก์" ซึ่งเป็นแบงก์ภายในของตนเข้าไปมีบทบาทในตลาดเงิน และยังมีความจำเป็นน้อยลงในบริการด้านบริการเงินสดของแบงก์อื่น ๆ คือ SOCIETEDE BANQUE & DES TRANSACTIONS (เอสบีที) และธอมสัน เครดิต อินเตอร์เนชั่นแนล (ทีซีไอ)

ในส่วนของเครดิต ลีอองแนส์นั้น ได้ธุรกิจเพิ่มเข้ามามากมายบางแขนงก็มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะของผู้ริเริ่มนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่นทีซีไอ และบาทีฟ บางแขนงก็มีชื่อเสียงน้อยลงไปหน่อย อาทิ เอสบีที นอกจากนี้ เครดิต ลีอองแนส์ยังสามารถเพิ่มทุนได้มหาศาล ด้วยการออกหุ้นชุดใหม่ให้ธอมสัน-ซีเอสเอฟ ทำให้ปัจจุบันมีมูลค่าหุ้นรวม 6.3 พันล้านฟรังก์

ตอนนี้วงการได้แสดงความสงสัยเต็มที่ว่า ในลักษณะการเป็นพันธมิตรแบบนี้ฝ่ายไหนจะเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุด สภาพซบเซาของธุรกิจผลิตอาวุธและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้ความหมายว่าธอมสัน-ซีเอสเอฟได้ปล่อยมือส่วนหนึ่งของบริษัทไป ซึ่งเป็นส่วนที่ตนคิดว่าแทบจะทำอะไรกับมันไม่ได้แล้ว และบางคนก็อ้างว่า บาทีฟและทีซีไอนั้นสร้างชื่อเสียงขึ้นในช่วงก่อนอุตสาหกรรมการเงินของฝรั่งเศสจะได้รับการพัฒนาอย่างแท้จริงด้วยซ้ำ

เมื่อมองในภาพของภาวะการแข่งขัน บาทีฟและทีซีไออาจพบว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะพิมพ์เงินสร้างรายได้เข้าบริษัทเหมือนเมื่ออดีต และกิจการโบรกเกอร์เองก็มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างมาก

ปัจจุบันตลาดลูกค้าประเภทสถาบันของแบงก์ในฝรั่งเศสกำลังดำเนินไปด้วยความยากลำบากยิ่ง โดยแบงก์ส่วนใหญ่ต่างยอมรับความจำเป็นของการเพิ่มวงเงินสำรองเผื่อหนี้ที่สงสัยว่าจะสูญกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม อัลตัส ไฟแนนซ์สร้างชื่อให้ตัวเอง ด้วยการเข้าซื้อกิจการและสร้างสายสัมพันธ์ธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าก้าวร้าว ทะเยอทะยาน และเต็มไปด้วยการแข่งขัน

จากการที่ออกหุ้นใหม่ขายให้กับธอมสัน-ซีเอสเอฟ, CAISSE DES DEPOTS และโรน-ปูแลงก์ทำให้เครดิต ลีอองแนส์สามารถเพิ่มทุนได้ถึง 9.8 พันล้านฟรังก์เป็นอย่างน้อย ซึ่งถือเป็นการเพิ่มทุนแบบก้าวกระโดดครั้งใหญ่ทีเดียว โดยเฉพาะสำหรับแบงก์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นยักษ์หลับมากกว่า

แต่ตลอด 4 ปีที่ฮาเบอแรร์บริหารเครดิต ลีอองแนส์ เขาแก้ภาพพจน์นี้ได้อย่างสิ้นเชิง แต่จะแตกต่างจากบีเอ็นพีในแง่ บีเอ็นพีจำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อให้วิ่งตามแบงก์ทั่วโลกได้ทันขณะที่เครดิต ลีอองแนส์จำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อรองรับความทะเยอทะยานของตัวเองในแผนขยายงานทั่วโลก และมันแสนจะสะดวกสบายเสียนี่ซึ่งแสนจะเข้าใจแผนงานของตนอย่างนีร้

ยุทธวิธีพลิกฟื้นวิกฤตการณ์ของเครดิตลีอองแนส์

เมื่อ 4 ปีก่อน ขณะที่ฌอง-อีพส์ ฮาเบอแร์รเข้ากุมบังเหียนเครดิต ลีอองแนส์ที่กำลังฝ่อและห่อเหี่ยว ทั้งองค์กรไม่ได้ยินดียินร้ายต่อการเข้ารับตำแหน่งใหม่ของเขาด้วยซื้อ เพราะภูมิหลังที่ถูกแขวนอยู่ในแบงก์ปารีบาสมานานถึง 4 ปี ช่วงนั้นปารีบาสสามารถทำกำไรได้ร่วม 3 เท่าด้วยซ้ำแต่คนในวงการก็มองว่า ฮาเบอแรร์มีแต่ตำแหน่งหาได้มีบทบาทอะไรไม่

เมื่อปารีบาสถูกแปรรูปรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง จึงไม่มีที่ว่างให้เขาได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดอีกแล้วหลังจากนั้นฮาเบอแรร์ได้รับตำแหน่งทางการเมืองขององค์กรแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกโอนเป็นกิจการของรัฐอีกครั้ง

เมื่อฮาเบอแรร์ต้องเข้ากุมบังเหียนเครดิตลีอองแนส์ขณะที่อ่อนปวกเปียก ทำให้ความกลัวที่นักสังเกตการณ์มีมาแต่ต้นเริ่มดูเป็นจริงเป็นจังขึ้น แต่ในส่วนของฮาเบอแรร์แล้ว มีแผนบริหารแบงก์ไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเริ่มมีการปฏิบัติงานจริง

ตามปกติแล้วผู้บริหารสูงสุดของกิจการรัฐวิสาหกิจฝรั่งเศส จะได้รับอำนาจในขอบข่ายที่กว้างมากเขาสามารถยืดอกรับคำยกย่องชมเชยจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้เต็มที่ ขณะเดียวกับที่ต้องหาญรับคำตำหนิติเตียนจากความล้มเหลวได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ทำให้ฮาเบอแรร์ไม่ค่อยพอใจนัก กับการที่จะปล่อยหรือยอมให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของเครดิต ลีอองแนส์ คือรัฐบาล เป็นผู้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ทั้งหมด

เขายืนกรานในความเป็นตัวของตัวเองด้วยการชี้แจงแบบเรียบ ๆ ว่า "แผนงานบางอย่างก็มาจากมุมมองของเขาเอง" และเพิ่มเติมว่า "ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าให้เข้ามาบริหารตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ผมจะมีมุมมองแบบนี้หรือเปล่า"

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ของเครดิต ลีอองแนส์ก็สะท้อนการผสมผสานระหว่างความเป็นตัวตนของตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คือฮาเบอแรร์ บุคลิกของเขา และมันสมองของเขา และฮาเบอแรร์ก็ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนภาพพจน์ของเครดิต ลีอองแนส์โดยสิ้นเชิง

แฮร์เว สชริค ผู้จัดการทั่วไปของแบงก์ซีเอสไอเอ ซึ่งอยู่ในเครือกรุ๊ปเป้เครดิต เนชั่นแนลพูดถึงฮาเบอแรร์ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ว่า "คุณจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวสตาฟ มันเป็นบรรยากาศใหม่โดยสิ้นเชิง มีพลังใหม่ที่เกิดขึ้นในเครดิต ลีอองแนส์"

เครดิต ลีอองแนส์ทุกวันนี้แปรสภาพจากยักษ์หลับแสนจะอุ้ยอ้าย เป็นยักษ์ที่เต็มไปด้วยความก้าวร้าว และมีวิญญาณแห่งการแข่งขันสูงมาก มีแรงผลักดันคือกำไร มีเป้าหมายคือการผงาดขึ้นมาเป็น "แบงก์ระดับโลก" ที่มีผลิตภัณฑ์ไว้บริการหลากหลายมหาศาล และสามารถแข่งขันได้ในทุกแขนงธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแบงก์ลุกค้ารายย่อย ลูกค้าประเภทองค์กร และผลิตภัณฑ์ทางการเงินในตลาดทุนซึ่งไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยกันนัก

ฮาเบอแรร์เองมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าคือ "ทำให้ยุโรปทั้งทวีปเป็นตลาดในประเทศของเครดิตลีอองแนส์" เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ต้องเป็นแบงก์ยักษ์ใหญ่หมายเลขหนึ่งของยุโรป

ในเนเธอร์แลนด์นั้น เครดิต ลีอองแนส์เป็นเจ้าของแบงก์อันดับ 4 ของประเทศ ซึ่งมีสาขากว่า 100 แห่ง เครดิต ลีอองแนส์ขยายกิจการด้วยการตั้งสาขาขึ้นมาเอง และซื้อเครือข่ายของเชสแมนฮัตตันแบงก์สหรัฐเข้ามาบริการต่อ

ที่เบลเยียมนั้นเครดิต ลีอองแนส์ก็มีเครือข่ายค่อนข้างใหญ่ มีสาขา 30 แห่ง ในอิตาลีก็เข้าไปซื้อหุ้น 49% ในเครดิโต เบอร์กามาสโก ทำให้มีสาขาถึง 95 แห่ง

เครดิต ลีอองแนส์ยังเปิดสาขาเพิ่มในอังกฤษจนมีร่วม 40 สาขา ในสเปนก็เข้าซื้อแบงโก คอมเมอร์เชียล เอสปานอล (บีซีอี) เมื่อปลายปีที่แล้ว นักสังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่าเครดิต ลีอองแนส์ควักกระเป๋าจ่ายให้แบงโก เดอ แทนแซนเดอร์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบีซีอีสำหรับการซื้อสาขาทั้ง 110 แห่งทั่วสเปนเป็นเงินสูงกว่ารายได้ของแบงก์นี้ถึง 20 เท่านั่น คือเป็นมูลค่าถึง 400 โดยประมาณ

บีซีอีมีสาขาย่อยในทุกเมืองใหญ่ของสเปนอย่างน้อยเมืองละ 1 สาขา ซึ่งนักสังเกตการณ์ในลอนดอนกล่าวว่า เป็นตัวอย่างที่คลาสสิกมากสำหรับระบบธนาคารแบบ "ร้านรับพนัน" ของสเปน แต่ก็มีบางคนตั้งคำถามว่าเมื่อฝรั่งเศสเข้าไปเป็นเจ้าของแบงก์ของสเปนแล้ว จะมีลูกค้าเงินฝากหรือเงินกู้ชาวสเปนสักี่คนที่เดินเข้าไปใช้บริการของบีซีอี จนกระทั่งทำให้แบงก์นี้สร้างรายได้ขึ้นมามากพอจนใช้สำหรับจ่ายเป็นค่าซื้อกิจการได้

แต่ตัวฮาเบอแรร์นั้นมีแต่ความเชื่อมั่น เขากล่าวว่าเครดิต ลีอองแนส์มีชื่อเสียงเกียรติประวัติดีในสเปน และเมื่อผ่านไประยะหนึ่งแล้ว กิจการต่าง ๆ ที่ซื้อมาก็จะสามารถกลืนเข้ากับเครดิต ลีอองแนส์ได้

ปัจจุบันถ้าไม่นับฝรั่งเศสแล้ว เครดิต ลีอองแนส์ มีสาขาทั่วยุโรปร่วม 500 แห่ง

เกี่ยวกับตัวเลขผลประกอบการนั้น ยากแก่การประเมินได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมธนาคารในอิตาลี อังกฤษ และกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ ได้รับการพัฒนามาอย่างดี มีการแข่งขันสูงมาก และปัจจุบันไม่ค่อยทำกำไรมากนัก จึงเป็นเรื่องยากที่จะมองดูว่าเครดิตลีอองแนส์ต้องเสนออะไรไปบ้างในส่วนที่ยัไงม่มีในท้องถิ่นนั้น ๆ มีการพูดกันแต่เพียงว่า ผลตอบแทนสำหรับแบงก์ที่เพิ่งซื้อกิจการเข้ามานั้นพอไปได้ แต่จะดีพอที่จะถือว่าการทุ่มเงินซื้อเครือข่ายในราคาสูงขนาดนั้นคุ้มกันหรือไม่เป็นเรื่องที่ยังสงสัยกัน

เครดิต ลีอองแนส์ยังขยายธุรกิจสู่การเงินเฉพาะด้านอย่างรวดเร็วด้วยการซื้อกิจการหลายบริษัททั่วยุโรป แต่มาถึงจุดสะดุดเมื่อปี 1990 เมื่อเจอไม้แข็งของปีเตอร์ ลิลลีย์รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของอังกฤษ ซึ่งสั่งให้มีการสอบสวนให้แน่ใจว่าการซื้อกิจการวูสเตอร์ อินเวสต์เมนท์ ของเครดิต ลีอองแนส์นั้นเป็นไปด้วยความยุติธรรม

เรื่องของเรื่องมีว่าเมื่อวูสเตอร์ อินเวสต์เมนท์ ซึ่งเชี่ยวชาญในธุรกิจเช่าซื้อและการลงทุนเสนอตัวจะเข้าไปอยู่ในเครือเครดิต ลีอองแนส์ มันจะกลายเป็นการยอมเป็นกิจการของรัฐโดยทางอ้อมนั่งเอง ซึ่งในประเทศที่เดินนโยบายเน้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างอังกฤษ ถือว่าการทำอย่างนี้จะไม่เป็นผลดีต่อการแข่งขันในเชิงธุรกิจ

ฮาเบอแรร์ปฏิเสธไม่ยอมพูดถึงความเป็นไปได้ของผลการสอบสวน แต่อ้างว่ารู้สึกประหลาดใจกับการโยงเรื่องเข้าด้วยในลักษณะนี้ และเชื่อว่าเป็นการกระทำที่มีแรงผลักดันทางการเมือง ทำให้นายแบงก์บางคนวิเคราะห์ว่า มันจะส่งผลให้การอนุมัติโครงการ บาร์เคลย์ แบงก์ของอังกฤษเข้าซื้อกิจการ EUROPEENE DE BANQUE ของฝรั่งเศสจากบริษัทเครดิต คอมเมอร์เชียล เดอ ฟรานซ์ ต้องล่าช้าออกไปด้วย


การผจญภัยด้วยราคาแพง

การแข่งขันทำให้เครดิต ลีอองแนส์ประสบปัญหาในตลาดทุนของลอนดอนด้วย โดยเฉพาะการซื้อกิจการโบรกเกอร์ "อเล็กซานเดอร์, แลงก์แอนด์ คริคแชงค์" ในช่วงที่อังกฤษดำเนินนโยบายเปิดเสรีการเงินเต็มที่นั้น กลายเป็นบทเรียนการผจญภัยที่ต้องซื้อด้วยราคาแพง ส่งผลให้มีการปรับโครงสร้างหลายครั้งในเครดิต ลีอองแนส์แคปิตอล มาร์เก็ต ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในความดูแลของเครดิต ลีอองแนส์ แต่มีกิจกรรมทางธุรกิจในลอนดอนลดน้อยลงไปมาก

เมื่อมองภาพนอกเหนือทวีปยุโรปออกมา เครดิตลีอองแนส์กำลังรุกคืบเข้าตลาดเอเชียขนานใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อปีที่แล้ว มีการประกาศตั้งสำนักงานสาขาใหม่ ๆ อีกหลายแห่ง สำหรับที่เวียดนามนั้นมีการตั้งสำนักงานตัวแทนขึ้น 2 แห่ง เมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อนซึ่งอาจเป็นสัญญาเตือนให้รู้ว่าฝรั่งเศสเริ่มหวนกลับคืนสู่อินโดจีนอีกครั้งหนึ่งแล้ว

แต่ความเสี่ยงจากการขยายธุรกิจเข้าไปในตลาดใหม่ ๆ และห่างไกลนั้น ต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบด้วย ตัวอย่างก็มีให้เห็นแล้ว เมื่อเซอร์เกโบติสโซผู้จัดการของเครดิต ลีอองแนส์สาขาไต้หวัน ซึ่งมีความกระตือรือร้นเกินขนาด ตัดสินใจที่จะขยายกิจการและบทบาทของสาขาที่ตนคุมอยู่ เขาเน้นยุทธวิธีการเป็นแบงก์ระดับท้องถิ่น แล้วหันหลังให้กับธุรกิจที่แบงก์ชาติทั้งหลายให้ความสำคัญมาโดยตลอด

เขายังเดินหน้าการทำธุรกิจด้วยวิธีนี้ต่อไป ทำให้วงการต้องตั้งฉายาให้แบงก์ฝรั่งเศสแห่งนี้ว่า "ลีอองแนส์ผู้บ้าคลั่ง" นักสังเกตการณ์ก็มองนโยบายปล่อยสินเชื่อของโบติสโซว่า เริ่มไม่มีความมั่นคงเหมือนที่เคยเป็นมา เพราะเงินที่ปล่อยสินเชื่อออกไป ถูกนำไปลงในธุรกิจที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งแม้แต่แบงก์เจ้าถิ่นเองก็ยังต้องถอยห่างไม่ยอมเอาด้วย

อย่าไรก็ตาม วงการยังติดตามผลที่เกิดขึ้นจากการขยายกิจการสู่ต่างประเทศของเครดิต ลีอองแนส์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในแง่ของความยากลำบากหรืออุปสรรคที่ต้องเผชิญในธุรกิจธนาคารระดับโลกนอกจากนี้ การใช้วิธีซื้อกิจการข้ามพรมแดนซึ่งมีการพูดกันถึงเรื่อง SYNERGY เป็นหลัก ก็เห็นได้ชัดว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ซ้ำร้ายกว่านั้น เครดิต ลีอองแแนส์ยังตกที่นั่งเดียวกับแบงก์ฝรั่งเศสทั้งหลาย ซึ่งประจักษ์แล้วว่ายุคทองแห่งความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจในประเทศในช่วงปลายทศวรรษ 1980 นั้นมาถึงจุดจบแล้วสำหรับฝรั่งเศสนั้น เมื่อเริ่มปีแรกของทศวรรษ 1990 ก็ส่อสัญญาณไม่ค่อยดีออกมา ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวอย่างหนักเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ รวมทั้งเงินสกุลฟรังก์ฝรั่งเศส ทำให้เกิดเสียงระงมด้วยความเจ็บปวดกันถ้วนหน้า ฝรั่งเศสยังคาดหมายว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างมากตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นไป

ในส่วนของงบดุลบัญชีก็ยุ่งเหยิงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อแบงก์เติบโตขยายกิจการออกไปทุกทิศทาง ซึ่งก็ยิ่งทำให้ตัวเลขผลประกอบการสับสน เห็นได้จากตัวเลขรวมของกำไรในครึ่งแรกของปี 1990 เพิ่มขึ้น แต่กำไรที่แท้จริงจากธุรกิจธนาคารในประเทศกลับลดฮวบลงรวม 50 ฮาเบอแรร์ออกตัวเรื่องผลประกอบการรวมทั้งปีว่แต่ละแบงก์ต่างก็เผชิญกับเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป

ฮาเบอแรร์เล่าว่า เครดิต ลีอองแนส์เพิ่มพูดผลกำไรด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และซื้อกิจการใหม่ ๆ เข้าอยู่ในเครือ "เราทำเงินด้วยกิจกรรมทางธุรกิจแนวใหม่โดยสิ้นเชิง"

การชะลอตัวลงของผลประกอบการนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ที่ชะลอตัวลงด้วยแต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเริ่มใช้รูปแบบการออมแบบใหม่ด้วย ทำให้แบงก์ชั้นนำต่าง ๆ ดาหน้าแข่งกันก่อตั้งกองทุนตลาดเงิน ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในหมู่นักออมฝรั่งเศส

ดาบสองคม

อย่างไรก็ตาม มันกลายเป็นดาบสองคมสำหรับแบงก์เช่นกัน เมื่อนักออมพากันถอนเงินที่ได้จากการออมซึ่งมีต้นทุนต่ำ แล้วนำไปลงในเครื่องมือการลงทุนที่มีส่วนต่างกำไรต่ำ ทำให้แบงก์มีกำไรน้อยมาก
กองทุนตลาดเงินมีข้อดีข้อใหญ่ 2 อย่างคือ ทำให้สามารถเข้าถึงอัตราดอกเบี้ยสูงที่เกิดขึ้นจากผลของการที่ต่าเงินฟรังก์แข็งตัวและกำไรที่ได้ก็เสียภาษีเพียง 17% ประมาณครึ่งหนึ่งของภาษีเงินฝากเท่านั้น
นับจากปี 1986 จึงมีเงินไหลเข้าสู่กองทุนเหล่านี้อย่างรวดเร็ว และมีมูลค่าเกือบเท่ากองทุนในบัญชีเดินสะพัด
ซาซา เซาราฟิมอว์สกี้ แห่งมอร์แกน สแตเลย์ ย้ำว่า "เราต้องไม่ดูเบาผลกระทบที่เกิดขึ้น" และการเติบโตอย่างรวดเร็วย่อมหมายถึง การที่กำไรของธุรกิจธนาคารรายย่อยในประเทศจะต้องลดฮวลลงแน่
โซพี ชิลด์แห่งไอบีซีเอพูดถึงแรงหนุนเต็มที่ของรัฐบาลฝรั่งเศสที่มีต่อแบงก์ชั้นนำของประเทศ ด้วยการเปรียบเทียบเหมือนการที่รัฐบาลอังกฤษให้หลักประกันกับแบงก์เนชั่นแนล เวสต์มินสเตอร์ หรือบาร์เคลย์นั่นเอง ส่วนนักสังเกตการณ์อื่น ๆ ชี้ให้เห็นถึงสถานภาพพิเศษของเครดิต ลีอองแนส์ว่า เป็นแบงก์ที่รัฐบาลฝรั่งเศสคัดเลือกให้นำประเทศไปสู่ยุคยุโรปใหม่
ดังนั้น จึงมีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า การเข้าไปหนุนหลังของรัฐบาลฝรั่งเศสนั้น มีอะไรมากว่าหลักประกันในกรณีที่กิจการล้ม โดยเฉพาะการถือหุ้นข้ามบริษัทระหว่างกิจการรัฐวิสาหกิจด้วยกัน เป็นเครื่องชี้บทบาทที่มีควาหมายมากในการสนับสนุนและเป็นการให้เงินช่วยเหลือการขยายกิจการด้วย

มั่นคงแข็งแกร่ง

ไอบีซีเอยังคงจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้เครดิต ลีอองแนส์ในระดับสูงอยู่ ขณะที่บริษัทมูดี้ส์ของสหรัฐ ฯ กลับมีความเชื่อมั่นไม่มากเท่าสำหรับความแตกต่างที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งอาจอธิบายได้ว่าเป็นเพราะธรรมชาติของระบบการจัดอันดับไม่เหมือนกัน

บริษัทอเมริกันมีพื้นฐานการวิเคราะห์อยู่กับฐานะการเงินของสถาบันนั้น ๆ เป็นหลัก ส่วนไอบีซีเอเน้นที่ฐานสนับสนุนทางกฎหมายที่มีให้กับแบงก์ต่าง ๆ รวมทั้งฐานะการเงินของแบงก์นั้น ๆ ด้วย

นโยบายของไอบีซีเอเป็นอย่างนี้นั้น ส่วนหนึ่งเพราะอาจเกิดความเป็นไปได้ที่แบงก์จะดำเนินธุรกิจแบบประมาท นโยบายนี้เป็นการสะท้อนถึงข้อเท็จจริงที่ว่า แบงก์ในยุโรปเข้าไปผูกมัดกับรัฐมากกว่าในสหรัฐฯ

ดังนั้น มาตรการต่าง ๆ ในอันที่จะวัดผลประกอบการที่แท้จริงของเครดิต ลีอองแนส์ จึงมีแนวโน้มค่อยไปในทางที่ผิดพลาดในลักษณะเดียวกับตัวเลขสถิติต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแบงก์อยู่ในฐานะที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก หุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดล้วนมีรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงหรือไม่ก็โดยอ้อม นอกจากนี้ ยังมีหุ้นบุริมสิทธิ์ที่ไม่มีสิทธออกเสียงจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นปารีสด้วยแต่ปรากฏว่าไม่เป็นที่นิยมรัก และเป็นเครื่องฟ้องที่เด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ไม่น่าพอใจเอาเลย

ขณะนี้จึงคงมีข่าวลือหนาหูในแวดวงเครดิตลีอองแนส์ว่า ฮาเบอแรร์จะประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ในเดือนเมษายน จะอย่างไรก็แล้วแต่ สงครามและภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเป็นเครื่องทดสอบเครดิต ลีอองแนส์ "ยุคใหม่" ได้เป็นอย่างดี

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us