Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2550
พระราชวังเอลีเซ (Palais de l'Elysée)             
โดย สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
 





ฝรั่งเศสปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ ปัจจุบันเป็นสาธารณรัฐที่ 5 (Veme Republique) มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ซึ่งมักเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า President de la Republique

franaise-ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ทำการเลือกตั้งทุก 5 ปี ประธานาธิบดีแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุนี้บางครั้งจึงเกิดสภาวะ "การอยู่ร่วม"-cohabitation เมื่อประธานาธิบดีอยู่พรรคฝ่ายขวา ส่วนนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคฝ่ายซ้าย ดังในกรณีประธานา ธิบดีฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ (Franois Mitterrand) จากพรรคสังคมนิยม และนายกรัฐมนตรีเอดูอารด์ บัลลาดูร์ (Edouard Balladur) จากพรรคฝ่ายขวา หรือประธานา ธิบดีฌาคส์ ชีรัก (Jacques Chirac) จากพรรคฝ่ายขวาและนายกรัฐมนตรีลีโอเนลโจสแปง (Lionel Jospin) จากพรรคสังคม นิยม

เมื่อประธานาธิบดีรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว จะเข้า Palais de l'Elysée พระราชวังเอลีเซ อันเป็นทำเนียบประธานาธิบดี เป็นทั้งที่พำนักและที่ทำงาน

พิธีมอบอำนาจประธานาธิบดีมีขึ้นที่พระราชวังเอลีเซ ประธานาธิบดีคนเก่าจะรอรับประธานาธิบดีคนใหม่และสนทนากันในโอกาสนี้จะทำการส่งมอบกุญแจและโค้ดลับในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แล้วประธานา ธิบดีคนใหม่เดินไปส่งประธานาธิบดีคนเก่าขึ้นรถจากไป เมื่อประธานาธิบดีคนใหม่กลับเข้ามาในห้องพิธี ประธานสภาที่ปรึกษารัฐธรรมนูญ (Conseil constitutionnel) เป็นผู้ประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นผู้บัญชาการ Legion d'honneur มอบ collier de la Grande Croix de la Legion d'honneur แก่ประธานาธิบดีคนใหม่ อันเป็นสร้อยที่เป็น สัญลักษณ์ของอำนาจสูงสุด ทหารยิงสลุต 21 นัดที่ลานหน้าโอเต็ล เดแซงวาลีดส์ (Hotel des Invalides) เป็นอันสิ้นสุดพิธี ช่วงบ่ายประธานาธิบดีคนใหม่จะนั่งรถเปิดประทุนไป ตามถนนชองป์เซลีเซส์ (Champs-Elysees) ตรงไปยังประตูชัย (Arc de triomphe) เพื่อจุดไฟที่อนุสาวรีย์ทหารนิรนาม แล้วจึงตรงไปวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์นายพลเดอโกล (Charles de Gaulle) ในกรณีที่เป็นประธานาธิบดีจากพรรคฝ่ายขวา ประธานา ธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกตั้ง นอกจากนายพลเดอ โกลแล้ว ยังวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์นายพลจอร์จส์ เคลมองโซ (Georges Clemenceau) ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันด้วย

ประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัก ดำรงตำแหน่งสองสมัย เป็นเวลา 12 ปี สมัยแรก 7 ปีและสมัยที่สอง 5 ปีหลังจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญลดวาระของประธานาธิบดี การลาจากทำเนียบเอลีเซจึงไม่เป็นเรื่องง่าย รวม ทั้งคณะทำงานด้วย เลขาธิการทำเนียบเอลีเซ ซึ่งเป็นตำแหน่งการเมืองจะส่งมอบกุญแจสำคัญทั้งปวงแก่ผู้มารับตำแหน่งต่อ เหลือเพียงเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบที่ต้องปรับตัวตามนายคนใหม่อยู่เสมอ แม้แต่พลเรือโทเอดูอารด์ กีโยด์ (Edouard Guillaud) ซึ่งเป็นหัวหน้าองครักษ์ประจำทำเนียบ ได้รับแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ ในปี 1981 และยังไม่มีการเปลี่ยนตัวนับแต่นั้น

ห้องทำงานประธานาธิบดีอยู่ชั้นสอง ตรงกลางพระราชวัง ซึ่งเรียกว่า salon dore ห้องสีทอง

ประธานาธิบดีวาเลรี จิสการด์ เดสแตง (Valery Giscard d'Estaing) เป็นคนเดียวที่ไม่ยอมใช้ห้องนี้ ซึ่งประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกล เคยใช้ แต่ย้ายไปยังห้องมุมตึกซึ่งมักเป็นห้องทำงานของเลขาธิการประธานาธิบดี มาถึงสมัยประธานาธิบดีฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ จึงกลับมาใช้ salon dore เพียงแต่เปลี่ยนเครื่องเรือนใหม่ ถึงกระนั้นเมื่อหมดวาระลง ฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ได้กล่าวแก่ฌาคส์ ชีรัก ประธานาธิบดี คนใหม่ว่า ขอมอบห้องทำงานในสภาพที่นายพลเดอ โกล ทิ้งไว้

ห้องสีเงิน-salon d'argent เป็นห้อง หนึ่งที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ด้วยว่าเป็นห้องที่นโปเลอง (Napoleon) ลงนามสละราชย์ครั้งที่สอง ก่อนถูกเนรเทศไปยังเกาะเซนต์เฮเลน ประธานาธิบดีเฟลิกซ์ โฟร์ (Felix Faure) เสียชีวิตในห้องนี้ และชาร์ลส์ เดอ โกล เดินผ่าน salon d'argent เมื่อเดินออกจากทำเนียบหลังจากประกาศลาออกจากตำแหน่งในปี 1969

กงต์ เอเวรอซ์ (Comte d'Evreux) เป็นผู้สร้าง Palais de l'Eysee ในครั้งนั้นเรียกว่า Hotel d'Evreux

ต่อมามาร์กีส เดอ ปงปาดูร์ (Mar-quise de Pompadour) สนมเอกกษัตริย์หลุยส์ 15 เป็นผู้ซื้อไว้และทำการตกแต่งใหม่ มาร์กีส เดอ ปงปาดูร์ ทำพินัยกรรมมอบ Hotel d'Evreux แก่หลุยส์ 15 แรกทีเดียวใช้เป็นที่พำนักทูตต่างชาติที่เดินทางมาเจริญ สัมพันธไมตรีตามพระราชโองการของหลุยส์ 15 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 1765 Hotel d'Evreux เป็นที่ประดับภาพเขียนของโจเซฟ แวร์เนต์ (Joseph Vernet) ในปี 1773 จึงขาย Hotel d'Evreux แก่นิโกลาส์ โบจง (Nicolas Beaujon) ซึ่งถวายคืนให้กษัตริย์หลุยส์ 16 ในปี 1786 ซึ่งขายต่อให้ดูแชสเดอ บูร์บง (Duchesse de Bourbon) ในปี 1787 ช่วงนี้ได้ชื่อว่า Hotel de Bourbon

ช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ดูแชส เดอ บูร์บงถูกจับและ Hotel de Bourbon ถูกยึด คณะปฏิวัติใช้เป็นโรงพิมพ์และเก็บเครื่องเรือนที่ยึดมาจากพวกที่ถูกประหารชีวิต ดูแชส เดอ บูร์บง ได้รับการปล่อยตัวในปี 1795 และได้ Hotel de Bourbon คืนในปี 1797 โดยให้พ่อค้าเช่าชั้นล่าง และอนุญาตให้จัดงานได้ด้วย ช่วงนี้เองที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น Palais de l'Elysée เมื่อไปลี้ภัยในสเปน ดูแชส เดอ บูร์บงนำ Palais de l'Elysée ออกขายทอดตลาด ตระกูล Hovyn ซื้อไว้ ทว่าจำเป็นต้องขายต่อ เพื่อใช้หนี้ จัวคิม มูราต์ จอมพลแห่งฝรั่งเศส (Joaquim Murat, marechal de France) ซื้อไว้และทำการบูรณะต่อเติม ภายหลังจัวคิม มูราต์ได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์แห่งเนเปิลส์ ในปี 1808 จึงมอบอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดที่ตนครอบครอง รวมทั้ง Palais de l'Elysée ให้แก่นโปเลอง ซึ่งพำนัก ณ ที่นี้ก่อนยาตราทัพไปออสเตรีย

ภายหลังมอบ Palais de l'Elysée ให้แก่โจเซฟีนเมื่อหย่า นโปเลองกลับมาใช้ Palais de l'Elysée อีกครั้งในปี 1812 และเป็นสถานที่ที่นโปเลองลงนามสละราชย์ก่อนถูกเนรเทศไปยังเกาะเซนต์เฮเลน ในปี 1815 ดุ๊คแห่งเวลลิงตัน (Duke of Wellington) ใช้ Palais de l'Elysée เป็นที่พำนัก

ในปี 1816 Palais de l'Elysée กลายเป็นสมบัติของพระคลังข้างที่ กษัตริย์หลุยส์ 18 มอบให้เป็นของขวัญแต่งงานแก่ดุ๊ก เดอ แบรี (duc de Berry) ต่อมาในปี 1820 หลุยส์-ฟิลิป (Louis-Philippe) ครอบครอง Palais de l'Elysée และใช้เป็นสถานที่รับรองแขกต่างประเทศที่มาเยือน ในปี 1948 สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ Palais de l'Elysée เป็นทำเนียบประธานาธิบดี

Palais de l'Elysée เป็นทั้งสถานที่บัญชาราชการและ "ค่าย" ทหารในเวลาเดียวกัน ด้วยว่าประธานาธิบดีวาเลรี จิสการด์ เดสแตง ให้สร้างศูนย์บัญชาการใต้ดินเพื่อเป็นที่หลบภัยและหลบเลี่ยงการจารกรรมโดยดาวเทียม นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หน่วยแพทย์ล้วนแต่เป็นทหาร ทั้งสิ้น การเสิร์ฟอาหารก็ใช้ทหารเรือซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะจากการที่ต้องปรุงอาหารและเสิร์ฟในเรือ อาหารทุกอย่างทำในทำเนียบยกเว้นขนมปัง

ของใช้บนโต๊ะอาหารล้วนแต่ชั้นเลิศ กล่าวคือ พอร์ซเลนจากแซฟวร์ (Sevres) ซึ่งเป็นโรงงานพอร์ซเลนของรัฐ เครื่องเงิน อีกทั้งผ้าปูโต๊ะและผ้าเช็ดปากเนื้อดี ของใช้บนโต๊ะอาหารจึงเป็นที่พิสมัยของแขกรับเชิญ ในบางครั้งที่แอบ "เม้ม" ช้อนคันเล็ก จนต้องมีการเจรจาขอคืนอยู่เนืองๆ

นอกจากเจ้าหน้าที่ทหารแล้ว ยังมีพลเรือนประมาณ 200 คนที่ทำงานด้านเลขานุการและตอบจดหมายที่มีถึงประธานาธิบดี เบ็ดเสร็จแล้วมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมดประมาณ 1,000 คน ใช้งบประมาณปีละ 31.78 ล้านยูโร ซึ่งใช้เป็นเงินเดือนข้าราชการ ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน นัยว่าเพิ่มขึ้น 700% ตั้งแต่ปี 1995 ทั้งนี้เพราะแต่เดิมนั้น กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงรับรอง กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของ gardes republicains กระทรวงวัฒนธรรมจ่ายค่าทำนุบำรุงสถานที่ ไปรษณีย์จ่ายค่าแสตมป์ คณะทำงานในทำเนียบส่วนหนึ่งรับเงินเดือนจากต้นสังกัด ประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัก เป็นผู้รวบรวมค่าใช้จ่ายของทำเนียบเอลีเซทั้งหมด และขอตั้งงบประมาณประจำปีต่อรัฐสภา กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางภายในประเทศของประธานาธิบดี ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศนั้นกระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบ

ชาร์ลส์ เดอโกล พำนักที่ทำเนียบเอลีเซ หากมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายดุจในกรมทหาร จอร์จส์ ปงปิดู วาเลรี จิสการด์ เดสแตง และฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ใช้ทำเนียบเอลีเซเป็นที่ทำงานเท่านั้น หากฌาคส์ ชีรัก เข้าพำนักอย่างเป็นทางการจวบจนสิ้นวาระในเดือนพฤษภาคม 2007 นิโกลาส์ ซาร์โกซี ประธานาธิบดีคนใหม่ประกาศล่วงหน้าแล้วว่าจะเข้าไปอยู่ในทำเนียบเอลีเซ พอถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2007 อันเป็นวันที่รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ครอบครัวอันที่ลูกเธอ ลูกฉัน และลูกเรา จึงเดินเข้าพระราชวังเอลีเซ   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us