Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2550
AMAKUDARI             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 


   
search resources

Social




การเข้าดำรงตำแหน่งผู้บริหารในองค์กรธุรกิจเอกชน หรือแม้กระทั่งวิสาหกิจของรัฐ โดยบรรดาข้าราชการที่เกษียณอายุ อาจเป็นภาพที่ปรากฏให้เห็นได้ทั่วไปในหลายประเทศ แต่สำหรับญี่ปุ่นซึ่งพยายามปฏิรูประบบราชการ กรณีดังกล่าวกำลังกลายเป็นประเด็นแหลมคมที่กำลังส่งผลต่อวิถีปฏิบัติในอนาคต

กลไกของระบบที่เรียกว่า amakudari เกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่าระบบราชการของญี่ปุ่น มีลักษณะเป็นคอขวดที่ทำให้ข้าราชการระดับสูงจำนวนไม่น้อย ไม่สามารถขยับปีนขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในองค์กรได้

ข้าราชการระดับสูง ซึ่งพลาดหวังจาก การก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดเหล่านี้ต่างได้รับข้อเสนอ ให้เกษียณอายุจากราชการก่อนกำหนดและเข้ารับตำแหน่งในองค์กร หรือบรรษัทเอกชน ที่เกี่ยวเนื่องกับหน่วยงานที่พวกเขาคุ้นเคย

Amakudari ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า "descent from heaven" หรือ สืบสายมาจากสรวงสวรรค์ บ่งบอกนัยความเป็นไปของแบบวิถีปฏิบัติในกรณีดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

เพราะองค์กรธุรกิจเหล่านี้ต่างได้อาศัย และแสวงประโยชน์จากเครือข่ายความสัมพันธ์ ของเหล่า amakudari ในฐานะที่เป็นหลักประกันในการประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะในรูปของการสมยอมการประมูลในโครงการของรัฐ หรือการหลีกเลี่ยงข้อกำหนดและเงื่อนไขของทางราชการ

นอกจากนี้กรณีดังกล่าวยังเป็นประหนึ่ง กลไกที่หล่อเลี้ยงให้ระบบพรรคราชการ ดำเนินไปภายใต้ความเข้มแข็งของระบบอุปถัมภ์อย่างยากที่จะปฏิเสธ

ความฉ้อฉลที่สืบเนื่องมาจากผู้สืบสาย มาจากสรวงสวรรค์เหล่านี้ได้รับการเปิดเผยขึ้นออกสู่สาธารณะเป็นระยะ มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอื้อฉาวในแวดวงธุรกิจ ก่อสร้างในปี 1993 ที่นอกจากจะมีบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างและข้าราชการจำนวนมาก มีส่วนร่วมพัวพันการฉ้อฉลในการประมูลงานของรัฐแล้ว

กรณีดังกล่าวยังมีนักการเมืองระดับสูง ของ LDP ถูกตัดสินจำคุกด้วยความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษี จากเงินที่ได้รับจากบริษัทผู้รับเหมาเหล่านี้ด้วย

ขณะที่กรณีอื้อฉาวว่าด้วยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ในปี 1996 ส่งผลให้เกิดภาวะหนี้เสียในระบบการเงินมากถึง 6 ล้านล้านเยน

ผลสืบเนื่องจากความเลวร้ายที่เกิดขึ้น จากระบบและกลไกของพรรคราชการดังกล่าวนี้ได้เปิดโอกาสให้นักการเมืองที่มีแนวนโยบายปฏิรูปได้รับความนิยมและก้าวขึ้นสู่อำนาจในเวลาต่อมา

Junichiro Koizumi เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีธงนำอยู่ที่การปฏิรูประบบราชการ ถึงกับประกาศในช่วงกลางปี 2002 ว่าวิถีปฏิบัติแบบ amakudari จะต้องยุติและหมดไปจากสังคมญี่ปุ่น

พร้อมกับระบุว่า amakudari เป็นมูลเหตุและต้นตอของความฉ้อฉลที่แผ่ปกคลุม ทั้งในระบบธุรกิจและระบบการเมือง

แต่ดูเหมือนว่าภารกิจของ Junichiro Koizumi ที่จะขจัดช่องทางในการเอื้อประโยชน์ และฉ้อฉลของพรรคราชการดังกล่าวกลายเป็นเพียง "งานที่ยังทำไม่เสร็จ"

ขณะที่ปัญหาการฉ้อฉลในระบบราชการของญี่ปุ่นในห้วงเวลาปัจจุบัน กลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับสังคมการเมืองญี่ปุ่น ที่ส่งผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาล Shinzo Abe อย่างหนักด้วย

ความผิดพลาดของการจัดเก็บข้อมูล และความบกพร่องในการจ่ายเงินผลประโยชน์ ตอบแทนตามระบบเงินบำนาญ (pension) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ Social Insurance Agency (SIA) ถูกเปิดเผยออกมา โดยยังไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบได้อย่างจริงจัง

ทั้งที่กรณีดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับประชาชน ที่อาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ควรจะได้จากระบบบำนาญนี้ในจำนวนมากถึง 50 ล้านราย

แต่ผู้บริหารระดับสูงของ SIA ต่างผันตัวเข้าสู่องค์กรหรือบรรษัทที่เกี่ยวข้องพร้อมกับเก็บเกี่ยวผลตอบแทนทางการเงินขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นประเด็นคำถามว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการอย่างไม่อาจเลี่ยง

ขณะเดียวกันความฉ้อฉลของ Japan Green Resources Agency (J-Green) ซึ่งนำไปสู่การกระทำอัตวินิบาตกรรมของ Toshikatsu Matsuoka รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมงของญี่ปุ่น เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นที่ฉุดลากคะแนนนิยมของรัฐบาล Shinzo Abe ให้ดำดิ่งลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางกระแสความนิยมที่ตกต่ำดังกล่าว รวมถึงเงื่อนเวลาของกำหนดการเลือกตั้งวุฒิสภาที่กำลังเคลื่อนใกล้เข้ามา ส่งผลให้รัฐบาลของ Shinzo Abe พยายามเร่งนำเสนอมาตรการที่เป็นรูปธรรมและสอดรับกับแนวนโยบายหลักว่าด้วย Beautiful Japan ที่ได้ประกาศมาก่อนหน้านี้

กระนั้นก็ดี Beautiful Japan ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ภายใต้รายละเอียดปลีกย่อยของแนวนโยบายที่ครอบคลุม ถึง 155 โครงการ ใน 4 มิติ ยังเป็นเพียงนโยบายระยะยาวที่ไม่เอื้อต่อสถานการณ์และ ความรู้สึกของประชาชนในปัจจุบัน

Shinzo Abe พยายามที่จะเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูประบบการบริหารราชการฝ่ายพลเรือน โดยมีจุดเน้นอยู่ที่การจัด ตั้งคลังทรัพยากรบุคคล (human resources bank) ขึ้นเป็นองค์กรในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นกลไกในการแก้ปัญหา ความฉ้อฉลในระบบราชการที่เกิดจาก amakudari

ความพยายามของ Shinzo Abe ในกรณีดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในลักษณะที่เป็นเพียงมาตรการเพื่อแสวงหาแรงสนับสนุนจากประชาชน สำหรับการเลือกตั้งวุฒิสภาในเดือนกรกฎาคม นี้มากกว่าจะมุ่งแก้ปัญหาพื้นฐานอย่างจริงจัง

ขณะเดียวกันกรณีดังกล่าวยังเป็นประหนึ่งการถ่ายโอนความผิดทั้งปวงให้กับระบบราชการ โดยที่นักการเมืองไม่ต้องร่วมรับผิดชอบใดๆ

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่ ร่างกฎหมายปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นว่าด้วย amakudari ที่เสนอ โดยพรรคร่วมรัฐบาล (LDP และ New Komeito) มีแนวโน้มที่จะประนีประนอมกับกลไกของพรรคราชการมากกว่าร่างที่เสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน (DPJ : MINSHUTO) อย่างชัดเจน

เพราะในขณะที่ร่างกฎหมายของรัฐบาลมุ่งที่จะจัดตั้งคลังทรัพยากรบุคคล เพื่อเป็นประหนึ่งหน่วยงานนายหน้าในการคัดเลือกและจัดหาข้าราชการเข้าสู่องค์กรธุรกิจต่างๆ ภายใต้ช่องว่างของเงื่อนเวลาต้องห้ามหลังเกษียณเพียง 2-3 ปี

พรรคการเมืองฝ่ายค้านกลับไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งหน่วยงาน เพื่อให้รัฐทำหน้าที่ เป็นนายหน้าจัดหา amakudari เสียเอง

ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายของ DPJ ยังระบุให้ข้าราชการที่เกษียณอายุจะต้องมีช่วงห่างของเวลา ก่อนเข้ารับตำแหน่งในองค์กรธุรกิจหรือแม้กระทั่งองค์กรไม่แสวงผลกำไร (nonprofit organization : NPO) ที่เกี่ยวข้อง หรือสัมพันธ์กับหน่วยงานของข้าราชการเหล่านี้เป็นเวลานานไม่น้อยกว่า 5-10 ปี

เงื่อนเวลาต้องห้ามที่ทอดยาวตามร่างของ DPJ ดูจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสำแดงบทบาทและอิทธิพลสำหรับการฉ้อฉลของข้าราชการเหล่านี้เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

ท่วงทำนองของ LDP ที่มีลักษณะละล้าละลังในกรณีดังกล่าว ในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า พรรค LDP เอง เป็นพรรคการเมืองที่ครองอำนาจรัฐมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าพรรคการเมืองใดในญี่ปุ่น และมีส่วนเกี่ยวพันอย่างสำคัญต่อกรณีของความเป็นไปของระบบราชการญี่ปุ่นอย่างยากจะปฏิเสธ

บางทีกรณีว่าด้วย amakudari หรือ ผู้สืบสายจากสรวงสวรรค์นี้ อาจเป็นเพียงยอด ของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ ท่ามกลางหินโสโครกที่ซ่อนตัวและสั่งสมความอัปลักษณ์อยู่อย่างลับตา

ซึ่งความมุ่งหมายของ Shinzo Abe ที่จะสร้างเสริมให้เกิด Beautiful Japan อาจต้องอาศัยความกล้าหาญและเครื่องมือที่มีพลานุภาพในการรื้อสร้างมากกว่าร่างกฎหมายปฏิรูประบบราชการฉบับนี้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us