
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาในวงสนทนาระหว่างเพื่อนฝูง อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และผู้ที่ให้ความสนใจเรื่องจีนคงต่างถกเถียงกันอย่างคร่ำเคร่งถึงสภาวะเศรษฐกิจจีนที่ดูเหมือนว่า "ฟองสบู่" ใกล้จะแตกเต็มทน หลายคนที่มีประสบการณ์ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจการเงินของเอเชีย ปี 2540 มา ถึงกับขนลุกซู่เมื่อเห็นตัวเลขเศรษฐกิจของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากราคาอสังหาริมทรัพย์และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของจีนที่ดีดตัวขึ้น (บางครั้งก็หล่นลง) อย่างรวดเร็ว
โดยส่วนตัวผมไม่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศจีนอย่างใกล้ชิดนัก ทราบแต่เพียงว่าในช่วง ไม่ถึง 18 เดือนที่ผ่านมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ บนแผ่นดินใหญ่นั้นพุ่งสูงขึ้นเกือบ 3,000 จุด ขณะที่เพื่อนฝูงรอบตัวหลายคนก็ร่ำรวยจากภาวะขาขึ้น บางคนลงทุนไปเพียงครึ่งปี ได้ผลตอบแทนกลับมาถึงร้อยละ 50-60
ไม่เพียงเท่านั้น บรรดาข้าราชการ-อาจารย์เกษียณอายุต่างก็เริ่มถอนเงินฝากในธนาคารมาลงทุน หันมาลงทุนกันในกองทุนหลักทรัพย์กันเป็นแถว ปรากฏการณ์ เหล่านี้สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ตามสาขาใหญ่ๆ ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศจีนเกือบทุกแห่ง ณ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์จีน ทุกแห่งต่างมีโฆษณากองทุนรวม เพื่อลงทุนในหุ้นและพันธบัตร บ้างก็เริ่มมีช่องให้บริการ สำหรับลูกค้าที่ต้องการจัดการหลักทรัพย์โดยเฉพาะอีกด้วย
ไม่น่าเชื่อว่าปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในประเทศที่เมื่อ 20 กว่าปีก่อนยังใช้คูปองเป็นมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนกับอาหารกับข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันกันอยู่เลย...
ด้านสื่อมวลชนจีนมีรายงานว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นจีนร้อนแรงถึงขีดสุดนั้นทุกๆ วันมีชาวจีนเดินเข้าสู่ตลาดหุ้นเพื่อ"เล่นหุ้น" กันถึงกว่า 200,000 ราย โดยในจำนวนนี้ต่างมีอาชีพที่หลากหลายตั้งแต่ข้าราชการเกษียณ พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ถูกเลย์ออฟ แม่บ้านที่เอาโฉนดบ้านไปค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารเพื่อนำเงินมาเล่นหุ้นจนถึงระดับนักศึกษามหาวิทยาลัย
ในส่วนของตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาราคาอสังหาริมทรัพย์ตามเมืองใหญ่ๆ ของจีนนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็น ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เซินเจิ้น, กวางเจา ฯลฯ
สำหรับในปี 2550 นี้ เรื่องที่กลายเป็นหัวข้อติดปากเกี่ยวกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตของคนในมหานครปักกิ่งก็คือ "ดัชนีความยากลำบากในการซื้อที่พักอาศัย"
"ดัชนีความยากลำบากในการซื้อที่พักอาศัย" คืออะไร?
ดัชนีตัวนี้นั้นสามารถคำนวณได้ไม่ยาก โดยนำราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตรของที่พักในเชิงพาณิชย์ในเมืองนั้นๆ มาหารด้วยรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อเดือนของประชากร ในเมืองนั้นๆ
ทั้งนี้ผลที่ได้จากการคำนวณดัชนีดังกล่าวอย่างคร่าวๆ โดยสื่อมวลชนจีนนั้นถือว่าน่าตกใจอย่างยิ่ง เพราะดัชนีความยากลำบากในการซื้อที่พักอาศัยของชาวปักกิ่งนั้นสูงกว่าเมืองใดๆ ในโลก ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงเมืองที่ขึ้นชื่อว่า ค่าครองชีพและราคาที่พักอาศัยแพงที่สุดในโลกอย่างโตเกียวและนิวยอร์กด้วย
ขณะที่ตัวเลขดัชนีความยากลำบากในการซื้อที่พักอาศัยของคนปักกิ่งนั้นอยู่ที่ประมาณ 5.00 (ราคาห้องพักโดยเฉลี่ยต่อ ตารางเมตร 9,397 หยวน หารด้วยรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของประชากร 1,878.32 = 5.00) ดัชนีของคนโตเกียวอยู่ที่ประมาณ 1.00 (23,000 หยวน/23,000 หยวน = 1.00) ส่วนดัชนีของชาวนิวยอร์กนั้นอยู่ที่ประมาณ 0.65 เท่านั้น (2,045 เหรียญสหรัฐ/3,134 เหรียญสหรัฐ = 0.65)*
ตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมานี้เป็นตัวอย่างคร่าวๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนในปัจจุบันนั้นแพงขนาดไหน โดยเฉพาะเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ของโลก
ทั้งนี้เมื่อนำเรื่องราคาอสังหาริมทรัพย์มาผนวกเข้ากับเรื่องฟองสบู่ในตลาดหุ้นหลายคนจึงมีความเห็นว่า ในไม่ช้ายุคสมัยของเศรษฐกิจจีนขาขึ้นที่อัตราการเติบโตในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จัดอยู่ในระดับสูงมากมาตลอดนั้นคงจะถึงคราต้องจบสิ้นกันแล้ว
กระนั้นในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์อีกฝ่ายหนึ่งกลับมองตรงกันข้าม...
เฉินจื้ออู่ ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยเยลและมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนจีนในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า การหยิบยกเอาเรื่องเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่องยาวนานถึง 25 ปีมาเป็นเหตุผลในการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะถดถอยในอนาคตอันใกล้นั้นเป็นการมองด้วยโลกทัศน์ที่ค่อนข้างแคบ โดย ศ.เฉินได้ยกการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของสหภาพโซเวียต ระหว่างทศวรรษ 30-50 ของศตวรรษที่แล้ว มาเป็นตัวอย่าง โดยระบุว่าในช่วงนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจโซเวียตในช่วงเวลานั้นอาจถือได้ว่าสูงกว่าประเทศจีนในช่วง 20 กว่าปีนี้เสียด้วยซ้ำ
ด้านไมเคิล สเปนซ์ (A. Michael Spence) ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐ-ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และกูรูด้านเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2544 จากการอุทิศให้กับทฤษฎีเกี่ยวกับตลาดที่ไม่มีความเท่าเทียมกันด้านข้อมูล (Asymmetric Information) กล่าวทำนายระหว่างการเดินทางมาสัมมนาทางเศรษฐกิจ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ณ นครเซี่ยงไฮ้ ว่า "เศรษฐกิจของจีนจะเติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่องไปอีก 2 ทศวรรษ!"
สเปนซ์ให้เหตุผลสั้นๆ แต่กินความมากไว้สองประการคือ หนึ่ง จีนยังมีแรงงาน ในภาคเกษตรอีกเหลือเฟือที่พร้อมจะถ่ายเท เข้ามาเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยแรงงานเหล่านี้ถือเป็นเครื่องยนต์หลักสำหรับการเติบโต และ สอง เศรษฐกิจจีนนั้นความหลากหลายมาก มีความยืดหยุ่นและมีความเป็นผู้ประกอบการสูง
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลท่านนี้กล่าวว่า จุดเด่นที่สำคัญของการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจอันรวดเร็วของจีนที่ดูเหมือนจะแตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ก็คือ ระดับของการออมและการลงทุนทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้แม้ระดับรายได้ของชาวจีนจะถือว่าอยู่ในระดับต่ำก็ตามแต่ระดับการออมในทั้งสองภาคนั้นสูงถึงร้อยละ 35 และ 45 ตามลำดับ ประกอบกับการเคลื่อนย้ายของแรงงานจากภาคชนบทเข้าสู่เมืองปีละ 15-20 ล้านคนทุกปี และการเติบโตอย่างรวดเร็วของเมือง
ทั้งนี้เหตุผลที่สำคัญที่สุดที่สเปนซ์กล่าวถึงก็คือ ปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนหยุดการเจริญเติบโตได้นั้นมีอยู่ปัจจัยเดียวนั่นก็คือ "การปิดประเทศ" ซึ่งนั่นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่อง "การออม" สำหรับการออมนั้นถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวจีนประการหนึ่งและเศรษฐกิจจีนก็ได้รับอานิสงส์จากเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมประการนี้ด้วย คือ ชาวจีนนอกจากจะทำงานหนักแล้ว ยังถือว่าเป็นชนชาติที่มีนิสัยประหยัดมัธยัสถ์อีกด้วย ส่งผลให้เม็ดเงินสำหรับลงทุนของจีนไม่เคยขาดตอน แม้เงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศจะไหลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจีนมากอยู่แล้วก็ตาม ซึ่งในประเด็นนี้จะเห็นได้ชัดว่าเป็นปัจจัยที่มีความแตกต่างกับสภาพของเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 อย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่ในระดับมหภาค ตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐของจีน อันถือว่าเป็นประเทศที่มีเงินทุนสำรองฯ มากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลทางการค้าอย่างมหาศาลของจีนอย่างต่อเนื่องหลายปียังบ่งชี้ให้เห็นว่าแม้ฟองสบู่ในตลาดทุนและตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนจะมีอยู่จริงและอาจจะใกล้แตกในเร็ววันนี้ แต่โดยพื้นฐานแล้วเศรษฐกิจ จีนยังถือว่าแข็งแกร่งอยู่มากและไม่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงมาก หรือกระทั่งถดถอยอย่างกะทันหัน
นอกเหนือจากมุมมองและคำอธิบายในเชิงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจากผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกแล้ว โดยทัศนะส่วนตัว เมื่อมองจากปัจจัยทางด้านการเมืองผมมองว่าพวกเราจะยังไม่เห็น "ขาลง" ของเศรษฐกิจจีนในช่วง 1-2 ปีนี้อย่างแน่นอน อย่างน้อยๆ ก็ก่อนมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่จะเริ่มขึ้นในปี 2551 (ค.ศ.2008) นี้ เพราะรัฐบาลจีนคงไม่ปล่อยให้ฟองสบู่เศรษฐกิจในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์แตกก่อนหน้างานใหญ่ที่มีการเตรียมงานกันมานับเป็นสิบปี
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในระดับจุลภาคในแง่มุมของประชาชนทั่วไปแล้ว ชีวิตของชาวจีนในปัจจุบันโดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆ นั้นถือว่าลำบากกว่าในช่วงหลายปีก่อนมาก ไม่เพียงแต่ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดเท่านั้นแต่ราคาค่าครองชีพของพวกเขาก็สูงขึ้นกว่าเดิมมากด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในรอบปี 2550 นี้ โดยล่าสุด ในเดือนพฤษภาคมดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนนั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.4 ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคในหมวดหมู่อาหาร โดยเฉพาะไข่ไก่ เนื้อสัตว์ ก็เพิ่มขึ้นในระดับสองหลัก
โดยสรุปแล้ว แม้เศรษฐกิจจีนในภาพรวมจะยังไม่ก้าวเข้าสู่ "ขาลง" ของวัฏจักรเศรษฐกิจในเร็ววันนี้ แต่รัฐบาลจีนก็มีปัญหาเศรษฐกิจให้ต้องแก้ไม่น้อยไปกว่ากันเท่าไรนัก โดยปัญหาในระยะสั้นที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เช่น การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชากร, การลดความร้อนแรงของการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนค่าเงินหยวนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่วนในระยะยาวนั้นนักเศรษฐศาสตร์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐบาลจีนจะต้องช่วงชิงโอกาสในเวลาที่เศรษฐกิจเติบโตเช่นนี้ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้ได้ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น, การพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการบริหารธุรกิจให้ดีขึ้น, การสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจเอกชน, การปรับพฤติกรรมของประชาชนให้ออมน้อยลง-บริโภคมากขึ้น รวมไปถึงการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจของคนรวยกับคนจนอันเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งต่อปัญหาสังคมและการเมืองของจีนในปัจจุบันและอนาคต
*หมายเหตุ : ตัวเลขที่นำมาคำนวณของปักกิ่งนั้นเป็นตัวเลขในเดือนตุลาคม 2549
ขณะที่ของโตเกียวและนิวยอร์กนั้นเป็นตัวเลขในปี 2548
|