|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2550
|
|
กว่าที่แบรนด์เสื้อผ้าไทยสักแบรนด์จะได้ขึ้นห้างหรูเทียบชั้นแบรนด์เนม เรื่องราวเบื้องหลังการปลุกปั้นของดีไซเนอร์แต่ละคนย่อมเป็นบทเรียนที่น่าสนใจ แต่สำหรับแบรนด์ที่ผู้ฟูมฟักไม่ใช่นักออกแบบชื่อดัง เป็นเพียงผู้รักและหลงใหลในแฟชั่นกลิ่นอายญี่ปุ่น เส้นทางเข้าห้างก็คงเป็นคนละสายที่ต้องฝ่าฟันไม่แพ้กัน
SHAKA London!?!
ถ้าคุณไม่ใช่ขาชอป หรือแฟชั่นมาเนียจัดสักหน่อย คุณอาจจะไม่คุ้นเคยว่า นั่นเป็นแบรนด์อะไร แบรนด์นี้สัญชาติใด หรือแม้แต่จะหาชมหาซื้อได้ที่ไหน
จากสำเนียงของชื่อแบรนด์ หลายคนคงเดาว่า เป็นแบรนด์จากแดนปลาดิบ หรือไม่ก็มาจากเมืองผู้ดี
อันที่จริง แบรนด์นี้เป็นแบรนด์สัญชาติไทย ออกแบบโดยดีไซเนอร์ไทย แต่ที่มีกลิ่นอาย ความเป็นญี่ปุ่นอบอวล ก็เพราะประสบการณ์การเรียนรู้ know-how ทางด้านแฟชั่นมาจากบริษัทญี่ปุ่นนานเกือบ 20 ปี ของสาวไทยคนหนึ่งที่ชื่อ อิชยา ขะมาลา
จากนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอกภาษาญี่ปุ่น ตอนอยู่ปี 3 เธอฝึกภาษาญี่ปุ่นด้วยการเป็นล่ามให้กับบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้รู้จักกับ มร.วาตานาเบ้ เจ้าของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแท้ที่ชื่อ YM. Fashion ผู้ผลิตแบรนด์ดังอย่าง Yacco Maricard
นอกจากแบรนด์ Yacco Maricard ที่กำลังจะมีอายุเข้าสู่วัย 30 ปี ปัจจุบัน YM. Fashion ยังมีแบรนด์ย่อยในเครือที่สร้างชื่อในยุโรปและญี่ปุ่นอีกถึง 4 แบรนด์
ปีที่อิชยาเรียนจบเป็นช่วงเดียวกับที่ มร.วาตานาเบ้กำลังจะมาตั้งโรงงานผลิตในเมืองไทย เธอจึงทำหน้าที่เป็นล่ามและประสานงานให้เขากับพาร์ตเนอร์ชาวจีนและชาวเยอรมัน แต่เมื่อสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง มร.วาตานาเบ้จึงเอ่ยปากชวนอิชยามาเป็นพาร์ตเนอร์แทน
"ปกติเป็นคนชอบเรื่องเสื้อผ้าอยู่แล้ว พอมาทำงานให้กับเขา เราก็เริ่มหลงรักแบรนด์นี้ไปเรื่อยๆ เพราะเป็นแบรนด์ที่มีความแปลก เป็นตัวของตัวเอง และเป็น garment-dye ที่ประณีตมีเอกลักษณ์มาก"
จากนักศึกษาศิลปศาสตร์ เอกภาษาญี่ปุ่น กลายมาเป็นพาร์ตเนอร์ในโรงงานผลิตเสื้อผ้า และรั้งตำแหน่ง M.D. ในบริษัท YMF International (Thailand) กลายเป็นจุดเปลี่ยนแรกในชีวิตของเธอ
หลังจากตั้งโรงงาน มร.วาตานาเบ้ในฐานะที่ควบตำแหน่งดีไซเนอร์แห่งแบรนด์ Yacco Maricard ก็บินตรงจากญี่ปุ่นเพื่อมาฝึกสอนเทคนิคการเย็บด้วยตัวเอง
"ถือเป็นงานฝีมือที่ยาก งานตีเกล็ดของเขาสวย เขาเย็บเรียบร้อย เพราะเขาเย็บเข้าถ้ำแทนที่จะโพ้งอย่างเดียว สีของเขา ก็ไม่ใช่แม่สีตรงๆ เขาทดลองวิจัยหาสีสวยแปลกตา ฯลฯ แม้เสื้อจะดูตัวใหญ่ตามสไตล์ loose-fit แต่ก็ออกมาสวยมาก ตอนนั้น เราก็ตื่นเต้นกันใหญ่ที่ได้เรียนรู้ know-how จากเขา"
ช่วง 10 ปีแรก YMF International ทำหน้าที่ตั้งแต่สรรหาผ้าและวัตถุดิบ ตัดเย็บ แล้วจึงส่งไปย้อมและฟินิช (finish) ที่ญี่ปุ่น แต่เมื่อ 7 ปีหลังที่มีการลงทุนสร้างโรงย้อมขึ้นในประเทศ ไทย อิชยาจึงมีโอกาสได้เรียนรู้เทคนิคการย้อม อันเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของแบรนด์ Yacco Maricard ด้วย
นอกจากสีย้อมที่สวยไม่เหมือนใคร เอกลักษณ์ของ Yacco Maricard ยังอยู่ที่ความประณีตในงานตีเกล็ด งานคัตติ้ง เสื้อผ้า สไตล์ Loose-fit ที่ดูเหมือนตัวใหญ่แต่พอใส่แล้วกลับดูดี ถึงขนาด ที่สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์ มงเซล ผู้คลุกคลีอยู่ในเมืองแฟชั่นอย่าง ปารีส ยังเคยแนะนำแฟนนักอ่านให้ไปลองหามาใส่
"แบรนด์นี้จะมีเกล็ดเยอะและสวยเรียบ ก็เคยมีคนมายืนดูยืนนับเกล็ดเลย เพื่อเอาไปก๊อบปี้" อิชยาเล่า
แบรนด์ Yacco Maricard ยังได้รับการยอมรับจากราชวงศ์ชั้นสูงและชาวเมืองผู้ดีอย่างมาก เห็นได้ชัดเจนจากการเปิดร้านอยู่บนถนน Kensington ทางไปเมือง Nothing Hill ย่านไฮโซของลอนดอน
รับจ้างเป็น OEM อยู่นานกว่า 10 ปี อิชยาเริ่มรู้จักและเข้าใจวิสัยของกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ Yacco Maricard มากขึ้น เธอจึงคุยกับพาร์ตเนอร์ในการเป็นผู้นำแบรนด์นี้เข้ามาจำหน่ายใน เมืองไทย เป็นเหตุให้เธอต้องเข้าไปติดต่อกับห้างหรู โดยเฉพาะเซ็นทรัล ชิดลม เซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน เอ็มโพเรี่ยม ฯลฯ
"อาจจะโชคดีที่เราเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นก็เข้าง่ายขึ้น แล้ว 7 ปีก่อน ห้างหรูก็ยังไม่ค่อยมีแบรนด์แฟชั่นฝั่งตะวันออกมาก แต่สิ่งที่ยากหลังจากนั้นก็คือ ทำอย่างไรให้ลูกค้ายอมรับ เพราะหลายคนจะบอกเสื้อตัวใหญ่ ญี่ปุ่นจ๋า ดูเหมือนจะใส่ยาก เราก็ต้องสื่อสารกับลูกค้ามากกว่าแบรนด์เนมจากฝั่งตะวันตก"
หลังจากทำการตลาดแบรนด์ Yacco Maricard ในเมืองไทยเองเพียงแค่ 1 ปี อิชยาเริ่มคิดถึงการมีแบรนด์เป็นของตัวเอง อันเป็นที่มาของแบรนด์ SHAKA London โดยร่วมกับลูกสาวของ มร.วาตานาเบ้ ซึ่งจบการศึกษาปริญญาตรีด้านแฟชั่น ดีไซน์จาก St.Martin และปริญญาโทจาก Royal College of Art จากกรุงลอนดอน อันเป็นที่มาของชื่อส่วนหลัง
อาจเรียกได้ว่า SHAKA London เป็นผลผลิตจากการต่อยอด know-how ที่อิชยาได้เรียนรู้และสั่งสมมาเป็นเวลากว่า 10 ปี จนวิชาสุกงอม ทั้งเทคนิคการตัดเย็บ การผลิตงานฝีมือ ปรัชญาและหลักคิดในการคาแรกเตอร์และแบรนด์ ตลอดจนการทำตลาดที่สายสัมพันธ์กับเหล่าห้างหรู กลายเป็นใบเบิกทางอย่างดีสำหรับแบรนด์ของเธอเอง ฯลฯ
ขณะเดียวกันการผลิตเสื้อผ้าและจำหน่ายให้กับแบรนด์ญี่ปุ่นอินเตอร์ฯ อย่าง Yacco Maricard ยังเป็นแบ็กอัพที่ดี เพราะหลายครั้งที่ดีไซเนอร์ของแบรนด์น้องใหม่ก็ได้รับแรงบันดาลใจดีๆ มาจากความประณีตในงานเสื้อผ้าของ "แบรนด์แม่"
จึงไม่น่าแปลกที่แบรนด์ SHAKA London จะมีกลิ่นอายของญี่ปุ่นอบอวล
"หลายแบรนด์ที่มีลูกค้าเป้าหมายกลุ่มเดียวกันกับเรา แต่เราพยายามฉีกไปตรงที่เรามี original มาจากญี่ปุ่น แต่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ไทย และการผลิตของเราก็เป็นงานประณีต เพราะใช้โรงงานผลิตเดียวกับแบรนด์ Yacco Maricard" อิชยาพูดถึงจุดเด่นที่ต่างจากแบรนด์ไทยอื่นอย่างชัดเจน
แม้กระทั่งกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ SHAKA London ก็ยังมีบุคลิกไม่ต่าง จากแบรนด์แม่ กล่าวคือเป็นตัวของตัวเอง มั่นใจในตัวเอง และอยากแสดงตัวตนผ่านแฟชั่น โดยไม่ตามเทรนด์ สิ่งที่ต่างกันก็แค่อายุ
"ลูกค้าของ SHAKA London จะมีอายุราว 18-30 ปี ส่วนลูกค้า Yacco Maricard ก็อายุ 30 ปีขึ้นไป เรียกว่าเป็นแม่ลูกกันได้ เพราะชอบอะไรคล้ายกันพอ "ลูก" โตขึ้น หรืออยากดูภูมิฐานก็เปลี่ยนมาใส่ "แบรนด์แม่" ได้" อิชยากล่าว พร้อมเสียงหัวเราะ
ปัจจุบันแบรนด์ Yacco Maricard มีสาขาในประเทศไทยทั้งสิ้น 6 สาขาคือ หลังสวน เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัล ชิดลม เซ็นทรัล ลาดพร้าว เซ็นทรัล ภูเก็ต เฟสติวัล และเอ็มโพเรี่ยม
ขณะที่แบรนด์ SHAKA London มีอยู่ 4 สาขาที่หลังสวน เซ็นทรัล ชิดลม เซน และสยามพารากอน
"การเข้าห้างของ "แบรนด์ลูก" ไม่ยาก เพราะ buyer ของห้างรู้จัก "แบรนด์แม่" อยู่แล้ว ก็เหมือนแม่ช่วยปูทางให้ลูกแล้ว แต่จะอยู่ได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับตัวของแบรนด์ลูกเอง"
ผ่านมา 6 ปีของ SHAKA London แม้ช่วงแรกจะถูกมองว่า เป็นแบรนด์ไทยที่มีกลิ่นปลาดิบจ๋ามากไปหน่อย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้บริโภคเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นและต้องการ แสดงตัวตนที่ไม่เหมือนใคร แบรนด์ไทยสไตล์ญี่ปุ่นอินเตอร์จึงเป็นอีกทางเลือกที่โดนใจคนรุ่นใหม่ได้ไม่ยาก
จาก OEM จนมาเป็น ODM และมีแบรนด์เป็นของตัวเอง อิชยายอมรับว่า คงมีวันนี้ไม่ได้ ถ้าวันนั้นเธอไม่ได้ตกลงรับจ้างผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ Yacco Maricard และคิดที่จะจัดจำหน่าย แบรนด์ในประเทศไทยเอง เพราะทั้งหมดนี้ถือเป็น know-how ที่เป็นฐานรากให้แก่แบรนด์ของเธอเอง
"การที่เราชอบเสื้อผ้าอย่างเดียว แต่ไม่มีความรู้ด้านดีไซน์หรือแฟชั่น แล้วอยู่ดีๆ จะมา ทำแบรนด์เองคงเป็นไปไม่ได้ หรือทำได้ก็ไม่ดี เพราะแบรนด์คงไม่แน่นพอที่จะยืนหยัดในตลาด ได้นาน" อิชยาสรุป
|
|
|
|
|