ขณะที่ผมไปเดินหลงวนเวียนอยู่ในกรุงโตเกียว คืนวันหนึ่งผมก็ได้พบเจอกับน้องที่ไม่เจอกันมานานมากกว่า 10 ปี ด้วยวิธีที่สภาวะของ "โลกกลม" สามารถทำให้เรามาเจอกันได้ บนรถไฟที่กำลังส่งผมกลับสู่ที่พัก น้องคนนั้นก็ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคตของวงการคอมพิวเตอร์ขึ้นมา มันทำให้ผมมาลองนั่งคิดดูว่า โลกของคอมพิวเตอร์กำลังจะก้าวไปสู่เส้นทางไหนบ้าง
ปกติแล้ว ทุกๆ ปี จริงๆ แล้วอาจจะกล่าวได้ว่าทุกไตรมาสหรือตามช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของตลาดหุ้น เรามักจะเห็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งก็มักจะเป็นการเพิ่ม ความเร็วของซีพียู, ขนาดของเมมโมรีที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับการลดลงอย่างฮวบฮาบ ของราคา หรือซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับการใช้งานได้มากขึ้น แม้จะมีความต้องการทรัพยากรของเครื่องเพิ่มขึ้นอย่างมากมายก็ตาม นอกจากนี้เส้นแบ่งระหว่างวงการบันเทิงกับวงการคอมพิวเตอร์ที่บางลงเรื่อยๆ ก็ทำให้คอมพิวเตอร์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความบันเทิงให้กับคนในบ้าน เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือก็ก้าวเข้ามาแทรกกลางระหว่างวงการคอมพิวเตอร์, สื่อสารโทรคมนาคม และวงการบันเทิงอย่างเนียนที่สุด
แต่เมื่อเราพยายามมองหาสิ่งที่เป็นความแปลกใหม่ชนิดหลุดไปจากที่เราเห็นๆ กันอยู่ โดยไม่ใช่เรื่องของการเพิ่มความเร็วหรือเพิ่มขนาด เรากลับหามันได้ยากเย็นแสนเข็ญเสียเหลือเกิน ในยุคที่ความเร็วของการออกผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องสำคัญกว่าความแตกต่าง เราจึงอาจจะต้องมาแข่งกันเพิ่มขนาดความจุฮาร์ดดิสก์หรือความเร็วของเครื่อง และทำซ้ำไปซ้ำมาแบบเดาอนาคตได้อย่างง่ายดาย
ผมคิดว่าในวงการคอมพิวเตอร์ต้องการคนอย่างสตีฟ จ็อบ เยอะๆ เช่นเดียวกับที่ต้องการบริษัทอย่างแอปเปิล แนวทางของพวกเขาค่อนข้าง น่าสนใจในแง่ว่าเป็นการพยายามฉีกตัวเองออกจากแนวทางของตลาด โดยอาศัยสิ่งที่ตลาดกำลังให้ความสนใจอยู่ ในอดีตที่ผ่านมา พวกเขาทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นมากกว่าการเป็นแค่เครื่องพิมพ์ดีดหรือ หน้าจอรับคำสั่งประเภทข้อความไปเรื่อยๆ แอปเปิลทำให้เมาส์กลายเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็น ไม่แพ้คีย์บอร์ดไปแล้วในปัจจุบัน และทำให้หน้าจอคอมพิวเตอร์สามารถเพิ่มลูกเล่นที่หลากหลายได้
สิ่งที่แอปเปิลขาดอยู่เพียงอย่างเดียวก็คือทำอย่างไรถึงจะหาเงินจากมันให้ได้มาก ที่สุดเพื่อที่จะอยู่ในตลาดได้นานที่สุด พูดง่ายๆ พวกเขาหน้าเงินน้อยเกินไปหน่อย ทำให้ถูก คู่แข่งหลายเจ้าแซงหน้าแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปได้ แต่สิ่งที่พวกเขาแย่งไปไม่ได้คือความสร้างสรรค์นั่นเอง
แม้ช่วงที่สตีฟ จ็อบ จะถูกกดดันให้ออกจากแอปเปิลไป แต่เขาก็ได้ก้าวเข้าไปมีส่วนในการทำให้วงการบันเทิงเข้ามาใกล้กับวงการคอมพิวเตอร์แบบที่อาจจะไม่มียุคสมัยไหนเคยเป็นมาก่อน การก่อตั้งบริษัทพิกซาร์สตูดิโอที่มีผลงานในช่วงที่ผ่านมากมายและทำให้ดิสนีย์ซึ่งเป็นเจ้าตลาดบันเทิงสำหรับเด็กต้องสั่นคลอนครั้งใหญ่ ด้วยผลงานอย่าง Toy Story, a Bug's Life, The Incredibles, Nemo, Cars และที่กำลังจะเผยแพร่ล่าสุดอย่าง Ratatouille ผลงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของพิกซาร์ได้ทำให้สัดส่วนของเค้กที่แบ่งกันในวงการฮอลลีวู้ด เริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ยักษ์ใหญ่หลายๆ รายต้องหันมามองการเคลื่อนไหวของยักษ์เล็กอย่างพิกซาร์ ซึ่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นก็มีหน้าใหม่ของวงการบันเทิงที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นเช่นกัน
การกลับไปสู่แอปเปิลของสตีฟ จ็อบนำมาสู่การถือกำเนิดของ iPod ซึ่งมาสร้างความสั่นสะเทือนครั้งสำคัญให้กับวงการเพลง และการเชื่อมโลกของเพลงให้เข้ากับวงการมือถือและคอมพิวเตอร์มีภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น iPod แทบจะทำให้โซนี่ต้องหายไปจากตลาดหลังจากเติบโตอย่างยิ่งใหญ่จากโซนี่วอล์กแมน กว่า 20 ปีที่ผ่านมา และในช่วงที่กำลังเขียนต้นฉบับนี้ต่อเนื่องถึงช่วงที่นิตยสารผู้จัดการเล่มนี้วางตลาดก็จะเป็นช่วงที่แอปเปิลจะได้ฤกษ์วางตลาด iPhone ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือ ของแอปเปิลที่กำลังจะมาเปลี่ยนแปลงวงการโทรศัพท์มือถือครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เพราะเพียงแค่การเปิดตัวเมื่อช่วงต้นปีก็เกิดการพยายามเลียนแบบ iPhone ของแอปเปิลกันบ้างแล้ว ในขณะที่แอปเปิลต้องรอวางตลาดอย่างเป็นทางการช่วงกลางปี
จุดเด่นของเครื่อง iPhone หลายๆ คนน่าจะเคยอ่านกันแล้วบ้าง โดยเฉพาะจากบทความก่อนหน้านี้ของผมที่เคยพูดถึงการเปิดตัวมือถือรุ่นนี้มาแล้ว ซึ่งจุดเด่นอันหนึ่งของ iPhone อยู่ที่หน้าจอที่มีเพียงปุ่มเดียวและอาศัยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของระบบสัมผัสหน้าจอ ซึ่งนิตยสารไทม์อธิบายว่าเป็น การทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกเสมือนเบาบางลงเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันไมโครซอฟท์ก็กำลังจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า มิลาน (Milan) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบสัมผัสหน้าจอเช่นกัน
ก่อนหน้านี้เราอาจจะรู้สึกหงุดหงิดรำคาญทุกครั้งเวลาต้องใช้อุปกรณ์ประเภทสัมผัสหน้าจอทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นตู้เอทีเอ็มหรือเครื่องช่วยค้นหาต่างๆ ตามออฟฟิศทันสมัยในปัจจุบันที่ความทันสมัยกลับสร้างความ หงุดหงิดขึ้นได้ แต่เทคโนโลยีที่ iPhone มานำเสนอจะมีการตอบสนองต่อระบบสัมผัสที่มากขึ้นแต่ไม่มากจนเกินไป โดยจะมีซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยกรองว่าสัมผัสที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการสัมผัสอย่างตั้งใจหรือไม่ และสร้างความฉลาดของซอฟต์แวร์ในการช่วยจัดการเกี่ยวกับการสัมผัสที่มากกว่าหนึ่งหน หรือ multiple touch
จริงๆ แล้วหลักการของหน้าจอใหม่ของแอปเปิลนี้เหมือนกับแนวคิดของการใช้เมาส์ของแอปเปิลสมัยแรกๆ โดยคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏบนหน้าจอเป็นสิ่งของหรือ object ที่มีจริงที่เราสามารถมองเห็นและจัดการมันได้ตามกฎของสิ่งของที่มีรูปร่างสัมผัสได้ทั่วไป
แม้จะมีข่าวลือหนาหูว่าเทคโนโลยีอันนี้ไม่ได้มาจากความคิดของแอปเปิลล้วนๆ โดยแอปเปิลไปขอซื้อมา แต่ในโลกโลกาภิวัตน์แล้ว นี่คงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่แอปเปิลก็คงหนีไม่พ้นเช่นกัน
ในขณะที่มิลานของไมโครซอฟท์เป็นทัชสกรีนขนาดใหญ่เท่าโต๊ะ โดยมิลานนี้สามารถรองรับการสัมผัสแบบ multiple touch เช่นกัน โดยมิลานอาศัยกล้องอินฟรา เรดในการจับการเคลื่อนไหวและสัมผัสของนิ้ว ในขณะที่ iPhone ของแอปเปิลใช้คุณสมบัติเกี่ยวกับไฟฟ้าในนิ้วมือของคนในการจับสัมผัส
เราอาจจะมองว่า มิลานน่าจะเหมือนของเล่นชิ้นใหม่ของไมโครซอฟท์ที่อาจจะไม่สามารถเอาไปทำอะไรได้มากมาย แต่ทีมการ ตลาดของไมโครซอฟท์ก็ได้มองถึงการนำมิลานไปใช้เป็นเรื่องเป็นราว อย่างเช่น สมมุติ เราอาจจะเอากล้องดิจิตอลที่มีบลูทูธไปวางไว้บนมิลาน มิลานจะสามารถคอนเน็กกับ กล้องนี้และนำภาพออกมาแสดงบนโต๊ะนี้ได้เลย โดยคนที่มาดูภาพก็สามารถจัดการกับภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นขยายขนาด, ปรับภาพหมุนไปมา เป็นต้น หรืออาจจะเอาไปใช้ในร้านอาหารโดยให้ลูกค้าสามารถดูเมนู, สั่งอาหาร และเปลี่ยนแปลงเมนูได้ตามต้องการ หรืออาจจะเพิ่มฟังก์ชันเกม หรืออะไรก็ตามให้ลูกค้าเล่นขณะรออาหารได้
นอกจากนี้อาจจะเอาไปใช้ที่บ้านซึ่งสามารถนำไปสร้างความบันเทิงในบ้านได้มากมาย ตั้งแต่เป็นที่เล่นเกมเศรษฐีไปจนถึงเอาไว้ดูหนัง หรือฉายการ์ตูนอินเตอร์แอ็คทีฟให้ลูกลองเล่น นี่น่าจะเป็นการพยายามโยงเรื่องบันเทิงภายในบ้านเข้ากับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ อีกครั้งหนึ่งของไมโครซอฟท์ตามแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปของวงการคอมพิวเตอร์โลกมิลานยังถูกมองว่าจะสามารถใช้ได้ในโรงแรม, ร้านขายปลีก และกาสิโนได้อีกด้วย
ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตสี่ข้อเกี่ยวกับแนวโน้มวงการคอมพิวเตอร์ ที่น่าจะเป็นไปในช่วงระยะเวลาอันสั้นนี้ ผมคงไม่อาจหาญไปมองภาพ อนาคตระยะยาวได้เพราะความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงกลายเป็น ปัจจัยสำคัญของวงการคอมพิวเตอร์ไปแล้ว ข้อสังเกตที่ว่าก็คือ
หนึ่ง วงการบันเทิง, สื่อสารโทรคมนาคม และคอมพิวเตอร์จะผูกโยงกันเป็นเรื่องเดียว นั่นหมายความว่า ความบันเทิงจะกลายเป็น ส่วนประกอบของการใช้ชีวิตในอนาคตไปด้วย เราสามารถทำงานไปด้วยและหาความสุขใส่ตัวเองไปด้วยได้
สอง เส้นกั้นระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวจะบางลง ทุกวันนี้บางทีเราแทบจะแยกไม่ออกว่าเราเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้กับงานอย่างเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ นั่นทำให้หลายๆ บริษัทต้อง ออกกฎหรือกำหนดสิทธิ์ในการใช้งานคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ในสำนักงานเพื่อป้องกันการนำไปใช้ที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิผลของบริษัท
สาม รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนจากองค์กรขนาดใหญ่ไปสู่การทำงานแบบอิสระมากขึ้น การที่เครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องหรือ โทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่องสามารถทำอะไรได้มากมายในตัวของมันเอง ในขณะที่ราคาก็ลดลง ทำให้การที่เราจะทำงานในลักษณะฟรีแลนซ์ก็มีมากขึ้นเช่นกัน นั่นหมายความว่า องค์กรจะมีขนาดเล็กลงแต่จะมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการผลักดันให้ธุรกิจแบบเอาท์ซอร์สเติบโตมากขึ้นด้วยเช่นกัน
สี่ โลกจะแคบลงแต่ผู้คนจะโดดเดี่ยวมากขึ้น ระบบคมนาคมสื่อสารและคอมพิวเตอร์ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันสามารถทำได้ง่ายดายขึ้น นั่นทำให้เราสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองกับอุปกรณ์ทาง ด้านเทคโนโลยีเพียงไม่กี่ชิ้นได้ ผู้คนจึงมีแนวโน้มจะอยู่คนเดียวในห้องแคบๆ มากขึ้น โลกส่วนตัวจะเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการร่วมมือกันทำงานในชุมชนเหมือนในอดีต
ข้อสังเกตที่ว่านี้ หลายๆ คนอาจจะเคยอ่านเจอกันมาบ้างแล้ว แต่ผมเห็นว่า เราจะสามารถเห็นภาพเหล่านี้ได้ชัดเจนมากขึ้นในชั่วระยะ 2-3 ปีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผมจากลาน้องคนนั้นโดยยังคงมีคำถามคาอยู่ในหัว เราต้อง การชีวิตแบบนี้จริงหรือเปล่า หรือนี่คือพัฒนาการของโลกที่ต้องเป็นไป ผมไม่รู้คำตอบที่แท้จริง
...แต่ผมยังคงฝันถึง วัด, ทางลากเกวียน และงานบุญประจำปีอยู่ แม้ผมจะจากมันมานานมากแล้วก็ตาม
อ่านเพิ่มเติม
1. Grossman, L. (2007), "Your Mouse Is a Dinosaur," Time, June 25-July 2, 2007, pp.81-82.
2. McCracken, H. (2007), "Microsoft's Touchy Feely Table," Slate Magazine, June 4, 2007, http://www.slate.com/ id/2167565
3. McCracken, H. (2007), "Gears of War," Slate Magazine, June 15, 2007, http:// www.slate.com/id/2168419
4. พิกซาร์ สตูดิโอ, http://www.pixar.com/
|