Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2550
โอกาสของไทยจากวิกฤติโลกร้อน             
โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
 


   
search resources

Environment




วิกฤติโลกร้อน นอกจากจะสร้างความตื่นตัวต่อการป้องกันภยันตรายที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้แล้ว ยังเปิดโอกาสในการทบทวนแนวทางการดำเนินงานด้านต่างๆ ในอดีตให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น

ปัจจุบันได้มีการพูดกันอย่างกว้างขวางถึงปรากฏการณ์ ภาวะโลกร้อน ก๊าซเรือนกระจก การลดลงของชั้นบรรยากาศโอโซน และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งกำลังคุกคามพื้นที่ทุกหนทุกแห่งทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ ไม่มีที่ใดที่จะหลีกพ้นผลจากภาวะดังกล่าวไปได้ เพียงแต่มีพื้นที่บางแห่งที่จะได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้าง ต่างกันไปเท่านั้น ขณะนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มตระหนักและกำลังหาทางแก้ไขกันอย่างเร่งรัด

แต่ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้นนั้น มิใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเลวร้ายไปหมด ถ้าเรามองโลกในอีกแง่มุมหนึ่ง เราจะเห็นว่าในวิกฤตินั้นยังมีโอกาส และบทเรียนรู้แทรกอยู่ด้วย เพียงแต่เราจะเห็นโอกาสนั้นหรือไม่ และเราจะดึงโอกาสนั้นมาก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร

เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งโดยรอบแล้ว แม้ว่าภาวะโลกร้อนจะก่อให้เกิด ความเสียหายเป็นส่วนใหญ่ต่อมนุษยชาติ ตามที่นักวิทยาศาสตร์หลายชาติ ได้คาดการณ์ไว้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่บางแห่งมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยเฉพาะในเขตหนาวจัดและเขตทุนดรา ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นโอกาสหลายๆ อย่างเกิดขึ้น เช่น แผ่นน้ำแข็งที่กำลังละลายได้เปิดพื้นที่ที่เคยปกคลุมด้วยน้ำแข็ง เผยโอกาส ในการขุดเจาะแหล่งน้ำมันที่ซ่อนตัวอยู่ในบริเวณ อาร์กติกของประเทศรัสเซีย นอกจากนั้นโดยทั่วๆ ไปในเขตหนาว อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นยังทำให้ ค่าใช้จ่ายในการทำบ้านให้อบอุ่นลดลง และยังช่วยแปรสภาพพื้นที่ในเขตทุนดราซึ่งปกติไม่มีต้นไม้ขึ้นได้ ให้กลายเป็นพื้นที่กสิกรรมที่ปลูกพืชผลได้บ้าง ส่วนผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่คุกคามเราอยู่นั้น ก็ช่วยให้มนุษย์เริ่มรู้สึกตระหนักและปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติมากขึ้น แทนที่จะก้าวต่อไปในทางที่ฝืนธรรมชาติ ว่ากันตามจริง โลกก็ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายยุคน้ำแข็ง (Ice Age) นับว่าเป็นธรรมดาของโลก ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยไปตามหลักสัจธรรม และเราจะต้องยอมรับความจริงข้อนี้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีวิวัฒนาการกันอีกรอบหนึ่ง

อย่างไรจึงเรียกว่า "โอกาส"

ในสภาพการณ์ของประเทศไทย ไม่เลวร้ายเกินไปนักที่เราจะปรับตัวเองลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนกันอย่างจริงจัง โดยถือว่าเป็นโอกาสในทางสร้างสรรค์ที่เราจะได้ประโยชน์เกิดขึ้นหลายด้าน และเราควรจะรีบดำเนินการเป็นวาระเร่งด่วนเสียตั้งแต่บัดนี้ ก่อนที่จะสายเกินไป

ลดการนำเข้าน้ำมัน-ถ่านหิน

การลดการใช้น้ำมันและเชื้อเพลิงฟอสซิลต่างๆ ลง เป็นวิถีทางโดยตรงที่จะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เมื่อเรามาดูสถิติการนำเข้าน้ำมัน ของประเทศไทย จะเห็นว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงสิบปีที่ผ่านมา น้ำมันที่นำเข้าส่วนใหญ่เราใช้ไปในการผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง และการเดินทาง แม้ว่า ปัจจุบันจะมีความตระหนักถึงการใช้น้ำมันอย่างฟุ่มเฟือย แต่ก็ยังไม่มีมาตรการมาควบคุม ได้อย่างเป็นระบบที่ให้ผลอย่างเป็นรูปธรรม

หากเราเพียงลดการใช้น้ำมันลงเพียง 5% ก็หมายถึงโอกาสที่จะประหยัดเงินของชาติ ได้ถึงหลายพันล้านบาทต่อปี ความเป็นไปได้ที่จะลดปริมาณน้ำมันทำได้หลายแนวทาง ถ้าเราเพียงแต่ "เน้นการปฏิบัติที่ทำให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการจัดการที่ดี หรือด้วยวิธีการปฏิบัติที่ดี" เช่น การนำความร้อนสูญเสียในกระบวนการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเรียกว่า cogeneration การออกแบบอาคารประหยัดพลังงานที่ลดการใช้แอร์ ไฟฟ้าแสงสว่าง ปลูกต้นไม้บังแดด การเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของถ่านหินด้วยเทคโนโลยี clean coal technologies การบำรุงรักษาเครื่องจักรในการผลิตให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ เป็นต้น

และที่เราจะต้องทำควบคู่กันไปก็คือ เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน/พลังงานคืนรูป (renewable energy) เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานใต้พิภพ พลังงาน ชีวภาพ ให้มากขึ้น นั่นหมายถึง รัฐควรจะต้อง ส่งเสริมการวิจัยเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับประเทศไทยกันอย่างจริงจัง รวมทั้งส่งเสริมไปถึงการผลิตอุปกรณ์และเครื่องใช้ที่เกี่ยวเนื่องไปด้วย ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในด้านแสงอาทิตย์และชีวมวล จึงควรส่งเสริมการผลิตโซลาร์เซลล์ขึ้นในประเทศไทย รวมทั้ง การผลิตเครื่องใช้อุปกรณ์ที่ใช้ไฟด้วยโซลาร์เซลล์ การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพต่างๆ และเครื่องยนต์ ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นต้น

เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง

แน่นอนว่า เมื่อเราลดการใช้น้ำมันลง ก็จะลดมลภาวะลงได้เช่นเดียวกัน การเผาไหม้ เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันและถ่านหิน มิใช่ แต่จะก่อให้เกิดก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น ยังก่อให้เกิดก๊าซ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ เขม่า และไอระเหย ที่เป็นมลพิษต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การเผาไหม้ถ่านหินประเภทลิกไนต์ เช่นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ออกมาปริมาณสูง ก่อให้เกิดฝนกรด (acid rain) จำเป็นต้องกำจัดออก มิฉะนั้นจะกัดกร่อน ทำลายอาคารสิ่งก่อสร้าง เรือกสวนไร่นา ทำให้ ดินเสื่อมโทรมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพทำให้เกิดโรคภูมิแพ้และทางเดินหายใจ

ส่วนกรุงเทพฯ ของเรานั้น ใครๆ ก็รู้อยู่ว่ามีปัญหาจราจรหนักหนาสาหัสแค่ไหน ยานยนต์จำนวน 2-3 ล้านคัน ปล่อยมลภาวะออกมาอยู่ในขั้นที่ใกล้จะเกินระดับความปลอดภัย โชคดีที่รัฐยังมีการควบคุมที่ได้ผลอยู่ บ้าง เช่น การบังคับให้ใช้แต่น้ำมันไร้สารตะกั่ว กำหนดให้มีการตรวจสภาพรถยนต์ก่อนต่อใบอนุญาต และล่าสุดรัฐก็ได้ออกมาตรการลดภาษีให้กับ eco-car เหลือเพียง 17%

อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบันก็รู้สึกจะแข็งขันในการริเริ่มกิจกรรมร่วมมือกับการรณรงค์ภาวะโลกร้อนกับประชาคมโลกเป็นอย่างดี เมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้มีการรณรงค์ลดการใช้ไฟฟ้า เพิ่มพื้นที่สีเขียวปลูกต้นไม้ อย่างน้อยก็คงช่วยได้บ้าง แม้ อาจจะยังไม่เป็นรูปธรรม นัก นอกจากจะมีการดำเนินการในเรื่องแผน การใช้ประโยชน์ที่ดินและผังเมืองได้อย่างจริงจัง รวมทั้งการสร้าง ระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้า รถใต้ดิน ให้เป็นเครือข่ายครอบคลุม พื้นที่ทั่ว กทม. หากนโยบายทั้งสองด้านนี้ประสบผลสำเร็จ ผู้ว่าฯ คนนี้ก็สมควรที่จะได้รับการยกย่องเป็น "green governor" จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ลดการตัดไม้ทำลายป่า

การปลูกป่า เท่าที่ผ่านมาก็ไม่ได้ผลในการเพิ่มพื้นที่ป่าได้มากนัก อุปสรรคสำคัญคือขาดความร่วมมือจากชาวบ้านคอยดูแลรักษา ส่วนการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าก็ทำได้ผลเป็นครั้งคราว แล้วก็เหิมเกริม ขึ้นมาอีก ขึ้นลงตามอำนาจและอิทธิพลของนักการเมืองที่นิยมการสร้างผลประโยชน์ให้กับตนเอง

ไฟป่าอันเป็นผลพวงโดยตรงจากภาวะโลกร้อน ร่วมกับการตัดไม้ทำลายป่า ก็มีความรุนแรงขึ้นและเกิดถี่ขึ้นๆ ทุกๆ ปี เป็นปัญหาวิกฤติที่เผชิญหน้าเราอยู่ วิถีทางเดียวคือขอความร่วมมือจากชาวบ้านเริ่มการอนุรักษ์กันอย่างจริงจัง

เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการอภิปรายในเวทีโลก แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เสนอให้มีการซื้อขาย คาร์บอน (carbon credit, carbon trading) สนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยที่มีป่าฝน (tropical rainforest) ลงมือลดการตัดไม้ทำลายป่าลงได้ โดยได้รับเครดิตจากประเทศ ตะวันตกที่จะต้องออกมาให้เงินซื้อเป็นการแลก เปลี่ยน รายละเอียดของนโยบาย carbon credit เท่าที่ทราบ ยังตกลงกันไม่ลงตัวนักระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว

ทบทวนแผนการพัฒนาต่างๆ

เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาที่เน้นไปทางด้านการเติบโตเศรษฐกิจ การส่งออก การสร้างสาธารณูปโภคอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจในรัฐบาล ที่แล้ว ก็ยิ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือยและรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นการมองการเติบโตแต่เพียงด้านเดียว จนลืมความสมดุล ทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดระยะเวลา ทั้งหมดนี้ ก็ได้มีการเตือนจากภัยธรรมชาติเข้า มาเป็นระยะๆ และถี่ขึ้นเรื่อยๆ ถึงผลกระทบ อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนซึ่งเกิดจากการใช้เชื้อเพลิงมากเกินไป ผนวกกับการพัฒนาที่กำลังเดินผิดทิศทาง ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องตระหนัก และหันเหมาใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่จะปรับสมดุลให้เกิดขึ้น เปิดทางให้ธรรมชาติและวิถีชีวิตที่สมดุลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

แม้ว่าผลจากภาวะโลกร้อนนั้น ทุกประเทศย่อมหลีกเลี่ยงไปไม่ได้ เพียงแต่ว่า แต่ละประเทศจะได้รับผลมากน้อยต่างกันไปเท่านั้น แต่ปัจจัยอีกด้านหนึ่งที่มีผลให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้นั้น คือการจัดการและนโยบายการพัฒนาของแต่ละประเทศ ว่าจะปกป้องหรือทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ที่มีอยู่มากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมา นโยบายการพัฒนาที่ทำลายเช่นนี้มีอยู่หลายโครงการ เช่น

- การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณต่อเนื่องกับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำรอบนอกกรุงเทพมหานคร เหมาะสมกับการเป็นพื้นที่รับน้ำและพื้นที่สีเขียว ชานเมืองหลวง หรือที่เรียกว่า greenbelt ไม่เหมาะต่อการนำมาพัฒนาให้เป็นพื้นที่พาณิชย กรรมและการประกอบการที่มีสิ่งก่อสร้างและกิจกรรมพิเศษ หากมีการดำเนินการจริง กรุงเทพฯ จะขาดพื้นที่ระบายน้ำ ขาดพื้นที่โล่ง สีเขียว นอกเหนือจากการประกอบการที่จะต้องลงทุนสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม

- การท่องเที่ยวที่ทำลายระบบนิเวศ เช่น การสร้างสวนสัตว์ไนท์ซาฟารี บนพื้นที่ต้นน้ำของจังหวัดเชียงใหม่ การถมพื้นที่ลงไปในทะเลเพื่อทำรีสอร์ตที่เกาะช้าง การส่งเสริมการท่องเที่ยวลักษณะนี้เป็นการทำลายธรรมชาติ ลงอย่างไม่สามารถฟื้นกลับคืนได้ ในกรณีของไนท์ซาฟารี นอกจากจะทำลายแหล่งต้นน้ำลำธารแล้ว ต่อไปจะเกิดปัญหาความแห้งแล้ง ขาดแหล่งน้ำ ขาดความชุ่มชื้น นอกจากนั้นการนำสัตว์ต่างถิ่นเข้ามายังคุกคามสัตว์พื้นบ้าน ให้สูญพันธุ์ ทำให้ความสมดุลของระบบนิเวศสูญเสียไป ที่สำคัญคือชาวบ้านท้องถิ่นไม่ได้รับ ผลประโยชน์ใดๆ แต่เป็นผู้ที่จะต้องรับผลกระทบที่เลวร้ายตลอดไปอย่างหาทางออกไม่ได้

- การทำนากุ้งที่ตัดไม้ป่าชายเลน จำนวนมาก หวังผลทางปริมาณมากกว่าคุณภาพ อันเนื่องมาจากการเน้นการส่งออกของรัฐ เมื่อสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง การเลี้ยงไม่ได้คุณภาพดี ก็มีปัญหาในการส่งออกเกิดการขาดทุน มีการปล่อยทิ้งนากุ้งให้ร้าง เกิดดินเค็ม ดินแห้ง และผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลายอย่างพื้นที่ที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าชายเลน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์พืชและสัตว์ ได้กลายสภาพ เป็นพื้นที่แห้งแล้งไปแล้วหลายแห่ง เกิดความเสื่อมโทรมของพื้นที่ชายเลนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดระยอง จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร เรื่อยไปถึงสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและสงขลา

- และที่เห็นกันได้ทั่วไปทุกหนทุกแห่งทั่วประเทศ คือ การสร้างถนน สะพานที่ขวาง ทางน้ำไหล อันเป็นผลมาจากการขาดความรู้และความรอบคอบในการวางแผนและออกแบบ ก่อสร้าง เราเห็นได้จากอุทกภัยที่ผ่านหลายครั้ง หลายหน ที่น้ำท่วมรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นเพราะมีสะพานและถนนขวางอยู่

ปัญหาวิกฤติและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงเป็นสัญญาณเตือนภัยให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มตระหนัก และเริ่มหันมาแก้ไข เป็นโอกาสที่จะปรับตัวไปพร้อมๆ กับการลดวิกฤติผลกระทบภาวะโลกร้อนที่จะเกิดขึ้นต่อไป ในอนาคตให้บรรเทาเบาบางลง เราเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยของเรานั้นจะอยู่รอดได้เสมอ เห็นได้จากประวัติศาสตร์ที่เราผ่านมาได้หลายยุคหลายสมัย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us