Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2550
สมฤดี ชัยมงคล กับโจทย์ที่ท้าทาย CFO             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 


   
www resources

โฮมเพจ บ้านปู

   
search resources

บ้านปู, บมจ.
สมฤดี ชัยมงคล
Mining
Electricity




เป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนที่เป็น CFO ของบริษัทอย่างบ้านปู ที่ตั้งเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากการหาเงินทุนต้นทุนต่ำเพื่อนำมาใช้ในการขยายงานแล้ว ยังต้องสร้างสมดุลให้ผู้ถือหุ้นระหว่างผู้ที่ต้องการรับเงินปันผลกับผู้ที่ต้องการเห็นการเติบโตของบริษัท ซึ่งมีผลต่อการเติบโตของราคาหุ้น

ตำแหน่งทางธุรกิจในปัจจุบัน บุคคลที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอันดับ 2 ในองค์กร รองลงมาจากผู้ที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer : CEO) แล้ว คงไม่พ้นคนที่ทำหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (Chief Finance Officer : CFO)

เพราะเปรียบเสมือนเป็นคนที่ถือกุญแจลิ้นชักเก็บเงินของบริษัท

บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง ตำแหน่ง CFO เป็นเหมือนด่านแรกของผู้ที่ถูกวางตัวไว้ให้เป็น CEO ในอนาคต จำเป็นต้องผ่านให้ได้ก่อน อาทิ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย เป็นต้น

ขณะที่อีกหลายบริษัท บุคคลที่ได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาดูเรื่องเงินๆ ทองๆ ต้องเป็นคนที่ประธานบริษัทเชื่อมั่น จึงต้องเอาลูกหลานหรือเครือญาติที่สนิทกันเข้ามารับตำแหน่ง

สำหรับบริษัทที่มีลักษณะการดำเนินธุรกิจที่ราบเรียบ บทบาทของ CFO อาจไม่โดดเด่นนัก แต่สำหรับบริษัทที่มีความจำเป็นต้องขยายตัวอย่างต่อเนื่อง บทบาทของ CFO ถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเป็นคนที่ต้องตัดสินใจว่าเงินลงทุนแต่ละบาท แต่ละสตางค์ที่บริษัทต้องใช้ มีวิธีการใดให้ได้มาด้วยต้นทุนต่ำที่สุด

บ้านปู (BANPU) เป็นบริษัทหนึ่งที่เข้าข่ายอยู่ในกรณีหลัง

เพราะนโยบายของบ้านปูได้ถูกกำหนดไว้ชัด ภายหลัง การจัดโครงสร้างใหม่ให้บริษัท focus ลงไปเฉพาะธุรกิจถ่านหินและพลังงาน ที่เสร็จสิ้นลงเมื่อปี 2001 โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าใน 2 ธุรกิจดังกล่าว บริษัทต้องมีการขยายตัว อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

ที่สำคัญการขยายตัวดังกล่าวต้องส่ง ผลให้บทบาทของบ้านปู ไม่ใช่เป็นเพียงบริษัท ที่ทำธุรกิจอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะต้องออกไปเป็น regional player ตาม วิสัยทัศน์ที่ถูกเขียนขึ้นมาให้บ้านปูเป็น "ผู้นำ ด้านธุรกิจพลังงานในภาคพื้นเอเชีย" (The Asian Face of Energy)

(อ่านเรื่อง "บ้านปู ดอกผลที่ใหญ่เกินคาด" ในนิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือน สิงหาคม 2549 หรือใน www.gotomanager. com ประกอบ)

การจัดสรรเงินให้เพียงพอสำหรับนำมาใช้เพื่อการลงทุนขยายงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเช่นนี้ จึงเป็นภารกิจสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สมฤดี ชัยมงคล เข้าใจถึงโจทย์ข้อนี้เป็นอย่างดีในฐานะที่เป็น CFO ของบ้านปู

"ในบ้านปูนี่เป็นระบบ เรามีคุณชนินทร์ (ว่องกุศลกิจ CEO) ซึ่งก็รับผิดชอบในการสร้างมูลค่าเพิ่ม รับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นผ่านบอร์ด คุณชนินทร์ก็จะมีเป้าหมายที่เขาจะกำหนดลงมาให้ชัดเจนว่า สมฤดีทำอะไรแล้วก็ยังมีหน่วยงานอื่น หน่วยงานที่เกี่ยวกับการวางแผน เกี่ยวกับการดูในเรื่องของการ operation ทั้งประเทศไทย อินโดนีเซีย จีน แล้วกลุ่มคนตรงนี้ก็จัดตั้งขึ้นมาเป็นคณะ เป็นcommitee ที่จะดูว่าแผนของเราที่จะไปข้างหน้า ในอนาคต ใน 5 ปีข้างหน้า เราจะเดินทางไหน แล้วเราก็จะเอาตรงนั้นมาดูว่าในส่วนของการเงิน เราจะต้องจัดการอะไรบ้าง ถ้าบริษัทเดินไปได้ตามนั้น เราจะต้องเตรียมเงินจำนวนเท่าไร เตรียมด้วยวิธีไหน พวกนี้เราก็จะเอาเข้ามาซอยย่อย เพื่อกำหนดเป็นบทบาท เป็นความรับผิดชอบที่เราต้องทำ"

สมฤดีอธิบายขั้นตอนการทำงานอย่าง ค่อนข้างถ่อมตัว ซึ่งตรงข้ามกับคนในบ้านปู ที่เล่ากับ "ผู้จัดการ" ถึงบทบาทของเธอ โดยยกตัวอย่างให้ฟังว่าโครงการต่างๆ ที่ชนินทร์เป็นผู้เริ่มนับหนึ่ง สมฤดีคือผู้ที่จะนับสอง-สาม-สี่ ต่อไปได้จนถึงโครงการจบ

สมฤดีเป็น CFO ประเภทที่ไม่จำเป็นต้องมีดีกรี MBA Finance จากเมืองนอกมาต่อท้ายในนามบัตร

เธอเริ่มงานกับบ้านปู ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น หลังเพิ่งจบปริญญาตรี ด้านบัญชี จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อปี 2526

"เริ่มเข้ามาทำบัญชี จากนั้นก็ปรับเปลี่ยนมาเรื่อย ทำบัญชี แล้วก็ไปดูในด้านระบบบัญชี แล้วก็มาดูด้าน internal audit แล้วก็มาทำการเงิน ตอนหลังก็มาดูทั้งบัญชี ทั้งการเงิน แล้วดูเรื่องแผนงานอยู่ช่วงหนึ่งก็จะหมุนอยู่ในส่วนงานที่เกี่ยวกับการสนับสนุนบริษัทในด้านวางแผน ด้านการเงิน ก็โตอยู่ในส่วนงานนี้"

บ้านปูในช่วงที่สมฤดีเข้ามา เป็นช่วงที่ เพิ่งจะเริ่มเข้าประมูลทำเหมืองถ่านหินที่บ้านปู อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จากกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน สำนักงานใหญ่ อยู่บนชั้น 3 ของตึกแถวไม่กี่คูหา ปากทางเข้าสยามสแควร์ ที่ด้านล่าง ถูกใช้เป็นสำนักงานใหญ่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ยูไนเต็ด

แต่ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ได้ย้ายมาอยู่ในอาคารธนภูมิ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ โดย ได้เช่าพื้นที่ไว้ไม่ต่ำกว่า 3 ชั้น

Operation ก็ขยายจากเหมืองที่จังหวัดลำพูน ซึ่งขุดถ่านหินขึ้นมาขายหมดไปแล้ว ออกไปมีเหมืองในต่างประเทศถึง 2 ประเทศและมีธุรกิจโรงไฟฟ้าเพิ่มเข้ามาอีก

แม้งานที่สมฤดีทำจะอยู่ในส่วนงานสนับสนุน แต่เธอก็ได้เดินทางไปดู operation ต่างๆ ของบ้านปูมาแล้วในทุกเหมือง ทั้งที่อยู่ในประเทศไทย อินโดนีเซีย และจีน

เธอจึงเป็นคนที่รับรู้เรื่องราวการทำธุรกิจของบ้านปูมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

"ในหน้าที่เราสามารถบริหารจากประเทศไทยก็ได้ แต่เราเลือกที่จะไม่ทำแบบนั้น คือเราเลือกที่จะไปที่ไซต์เลย ไซต์ของบ้านปูทุกไซต์ ทุกธุรกิจของบ้านปูนี่ ก็ไปมาหมดแล้ว อย่างน้อย 1 ปี ต้องไปครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะไปทำให้เรารู้สถานการณ์ที่ frontline ว่ามีปัญหาอะไร ขาดอะไรบ้าง จะได้เอาจุดนั้น กลับมาทำแผนงานให้มันสนับสนุนเขา"

ในบทบาท CFO สมฤดีจึงสามารถตอบข้อข้องใจของนักลงทุน รวมถึงสถาบันการเงินผู้ให้กู้ได้อย่างผู้รู้จริง

ในส่วนของสถาบันการเงิน สมฤดีได้สร้างสายสัมพันธ์ไว้กับสถาบันการเงินหลายแห่ง ทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่เมื่อครั้งที่บ้านปูเริ่มขยายออกไปทำธุรกิจโรงไฟฟ้า ในการร่วมทุนกับต่างประเทศเข้าประมูลโครงการ ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ในปี 2535

อีกส่วนหนึ่งมาจากเครือข่ายพันธมิตรที่เธอได้จากการถูกบ้านปูส่งไปเรียนหลักสูตร Program for Global Leadership จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ในปี 2543

ประกอบกับประวัติทางการเงินของบ้านปูที่ไม่เคยมีปัญหา แม้ในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับวิกฤติในปี 2540

ทำให้การระดมเงินเพื่อนำมาใช้ในการขยายงานของบ้านปู โดยอาศัยการกู้ไม่เคยสะดุด

ปัจจุบันสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบ้านปู อยู่ที่ 0.7 ต่อ 1 โดยคณะผู้บริหารได้กำหนดเพดานสัดส่วนนี้ไว้ไม่ให้เกิน 1.1 ต่อ 1

ในจำนวนหนี้สินที่บ้านปูมีอยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นเงินกู้จากสถาบัน การเงิน อีกส่วนเป็นการระดมเงินโดยการออก หุ้นกู้

ตามแผน 5 ปีของบ้านปูที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในสิ้นปี 2551 ภายใน เวลา 1 ปี 6 เดือนที่เหลือนี้ บ้านปูมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนอีกประมาณ 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในจำนวนนี้เป็นการใช้ในโครงการส่วนขยายของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่มาบตาพุด ประมาณ 93 ล้านดอลลาร์ และโครงการขยายงานในอินโดนีเซียและจีนอีกประเทศละ 180 ล้านดอลลาร์

ในอินโดนีเซียภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ บ้านปูจะนำกิจการที่อยู่ในประเทศนั้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จาการ์ตา โดยนำหุ้นเพิ่มทุนออกขายให้กับประชาชนทั่วไป และลดสัดส่วนการถือหุ้นลงจาก 95% เหลือประมาณ 80%

ทำให้การระดมเงินเพื่อใช้สำหรับโครงการขยายงานในประเทศอินโดนีเซีย จึงไม่น่ามีปัญหา

ส่วนที่เหลืออีกประมาณเกือบ 300 ล้าน ดอลลาร์ ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ของบริษัท ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจะเริ่มมีรายได้ จากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ที่เปิดเดินเครื่องแล้วตั้งแต่เมื่อต้นปีนี้และอีกส่วนหนึ่ง คาดว่าในสิ้นปี 2550 และ 2551 บ้านปูคงต้องใช้วิธีระดมเงินผ่านทางตลาดเงิน

ประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นที่จับตาคนในตลาดทุน ก็คือการตั้งเป้าสำหรับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นนี้จะกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นของบ้านปู ของนักลงทุนหรือไม่ เพราะบ้านปูมีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก จากโครงการขยายงานต่างๆ ทำให้อาจไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

สมฤดีเคยกล่าวกับนักข่าวสายตลาดทุนเอาไว้ว่าการลงทุนในหุ้นบ้านปูนั้น จะมองแต่เรื่องเงินปันผลเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองถึงการขยายตัวในอนาคตของบริษัทประกอบไปด้วย

"ในหลักการที่เราใช้อยู่ เราก็พยายาม ที่ว่าในส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต้องได้รับเงินปันผล ก็ให้เขาได้รับในระดับที่เหมาะสม ส่วนผู้ถือหุ้น ที่ต้องการให้บริษัทเติบโต คืออาจไม่ต้องจ่ายเงินปันผลก็ได้ แต่เอาเงินไปทำให้บริษัทโตขึ้น เราก็ต้องให้เขาเห็นความเติบโตที่เหมาะสม ก็เลยมาอยู่ที่การสร้างสมดุลของ 2 ส่วนนี้ ซึ่ง อันนี้ก็เป็นหลักการที่บ้านปูใช้มา เวลาที่เราจ่ายปันผล เราก็จะคำนึงถึงว่าถ้าเราจ่ายไปแล้ว การเติบโตของเราในอนาคต จะมีเงินพอไหม เราต้องคิดไปถึงตรงนั้นก่อน ถึงมาดูว่าความเหมาะสมในการจ่ายเงินปันผลอยู่ที่เท่าไร"

ปีที่แล้ว (2549) อัตราส่วนผลตอบแทน จากเงินปันผล (dividend yield) ของบ้านปู อยู่ที่ 6.87% เมื่อเทียบกับราคาหุ้น ณ วันสุดท้าย ของปี ซึ่งปิดที่ 182 บาท เพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อสิ้นปี 2548 ที่อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 4.20% จากราคาปิดของหุ้น ณ สิ้นปีที่ 131 บาท

ครึ่งแรกของปีนี้ บ้านปูมีการจ่ายเงินปันสำหรับผลการดำเนินงานส่วนที่เหลือของปีที่แล้วไปหุ้นละ 4.25 บาท ซึ่งหากเทียบกับราคาหุ้นที่ปิดในวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมาที่ 258 บาท อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 2.91%

ถ้ามองในเชิงการลงทุนที่ต้องการรับเฉพาะเงินปันผลอย่างเดียว dividend yield ที่บ้านปูจ่าย ก็ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูงไม่น้อยเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระบบของธนาคารพาณิชย์ในช่วงจังหวะเดียวกัน

แต่ dividend yield ในอัตรานี้ก็ยังไม่มีสีสันเท่ากับอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นชนิดที่เรียกได้ว่าแซงหน้า dividend yield ไปแล้ว มากกว่าหลายช่วงตัว

สะท้อนถึงความมั่นใจของนักลงทุนที่มีต่อหุ้นของบ้านปูอย่างแนบแน่น

สิ่งที่นักลงทุนรวมถึงผู้บริหารควรจะกังวลในช่วงเวลาหลังจากนี้ คงเหลือเพียงแค่วงจรขาขึ้นของราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ขึ้นมายาวถึงเกือบ 3 ปีแล้วในรอบนี้ จะมีสัญญาณของการสิ้นสุดลงเมื่อไหร่มากกว่า   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us