|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2550
|
|
สินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวัน เป็นสินค้าที่ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าโชคดี หรือโชคร้าย เพราะถูกผูกเข้ากับภาวะเศรษฐกิจอย่างแยกกันไม่ออก ช่วงไหนเศรษฐกิจดี เจ้าของสินค้าก็ไม่ต้องเหนื่อย ทำสินค้าออกมาก็ขายได้
แต่หากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี เจ้าของสินค้าก็ต้องออกแรงมากขึ้น เพราะผู้บริโภคอาจเลิกซื้อเอาง่ายๆ หรือหันไปหาสินค้าอื่นแทนได้ง่ายๆ
ช่วงนี้เช่นกัน ปริญดา หัศฎางค์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ประเทศ ไทย ยอมรับว่า ไตรมาสแรกที่ผ่านมายอดขายสินค้า ของบริษัทตกลงไปเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่เธอก็ยังไม่เป็นห่วงมากนัก เพราะถึงจะลดลงก็ไม่มากหรือ สาหัสเท่าวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 และคาดว่าปีนี้ตลาดรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคจะลดลง 3-4%
"วิกฤติครั้งที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่า ยิ่งวิกฤติมากเท่าไร เราต้องเร่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่คุ้มค่า กับเงินของผู้บริโภคให้มากขึ้นเท่านั้น" เธออธิบายวิธีการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจทุกกรณีไม่ว่ามากหรือน้อย ในปีนี้พีแอนด์จีจะมีการพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ประมาณ 25 ตัว
สิ่งที่ผู้บริหารของพีแอนด์จีอธิบายสามารถมองได้ว่า
ประการแรก ไม่ต้องกระทบกับสินค้าเดิมที่มีอยู่ในตลาด ในแง่ของราคาที่จะปรับขึ้นหรือลงเพราะสินค้าบางตัว การกระทำเช่นนั้นส่งผลกระทบต่อยอดขายและพฤติกรรมของผู้บริโภค ปล่อยให้สินค้าเดิมอยู่ในตลาดต่อไปทั้งในแง่ของราคา ขนาด และคุณภาพ ส่วนจะผลิตเพิ่มหรือลดการผลิต ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง
ประการที่สอง สินค้านวัตกรรมใหม่ หรือเพิ่มคุณค่าให้สินค้า ก็น่าจะตีความหมายได้ว่า เป็นสินค้าใหม่แต่แบรนด์เดิม ก็ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ โดยเฉพาะราคาขาย ขนาดบรรจุ แต่หากต้องปรับราคา ขึ้น ก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะยกขึ้นมาอธิบายได้ว่า เป็นสินค้าใหม่ คุณสมบัติใหม่ๆ
และนี่!! ไม่ใช่การปรับราคา
ปริญดาบอกว่า การที่จะปรับราคาขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสินค้า และปัจจัยอื่นๆ ในแต่ละช่วง แต่เธอเชื่อว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงนี้เปลี่ยนไปโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ก็ต้องสวยไว้ก่อน
แต่สิ่งที่พีแอนด์จีกำลังให้ความสำคัญมากในช่วงนี้คือการสร้างทีมและบุคลากร ซึ่งปริญดาบอกว่า บริษัทใช้เงินในการฝึกอบรม บุคลากรเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉลี่ยบริษัทมีโปรแกรมอบรม พนักงานถึง 92 ครั้งต่อปี และพนักงานใหม่สามารถใช้เวลามากว่า 40% ของการทำงานเพื่อเข้าคอร์สอบรมและร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาให้เป็นมืออาชีพได้และที่สำคัญพนักงานของบริษัท มีอายุเฉลี่ย ที่ 28 ปี เพราะบริษัทต้องการคนในรุ่นเจเนอเรชั่นวายซึ่งมีอายุระหว่าง 18-29 ปี มาร่วมงาน
เมื่อมีพนักงานรุ่นหนุ่มสาว การทำงานในบริษัทก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะในการทำงาน 1 สัปดาห์ พนักงานสามารถเลือกทำงานที่บ้านได้ 1 วัน ซึ่งตัวปริญดาเองเลือกทำงานที่บ้านทุกวันพุธ
นี่ขนาดมีคอร์สอบรมกว่า 40% ของการทำงาน และสามารถ ทำงานที่บ้านได้อีก 1 วัน ยังเติบโตในอัตราตัวเลข 2 หลักทุกปี ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเพิ่มเวลาอบรมและทำงานที่บ้านมากขึ้นกว่าเดิม ยอดขาย อัตราการเติบโตก็อาจจะมากกว่าเดิมเท่าตัวก็ได้
|
|
|
|
|