คตส.สั่งอายัดทรัพย์รอบ 4 “บรรณพจน์”แจ๊กพอร์ตโดนแช่แข็ง 3 บัญชี 4.2 พันล้านบาท ยังมีอีก 5 พันล้าน ต้องตามอายัด แฉเงินบางส่วนถูกเคลื่อนย้ายไปแล้ว เป็นผลดีทำให้ คตส.รู้เส้นทางเงินเพิ่มขึ้น ด้านแบงก์ชาติ รอ คตส.สั่งสอบเงิน “แม้วซิตี้” ส่วนเอี่ยวทุจริตท่อร้อยสายฟัน 7 เอกชน “โอ๊ค-เอม” อ่วม สรรพากรสรุปแล้วภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีขายชินคอร์ปรวม 1.15 หมื่นล้าน ส่วนภาษีนิติบุคคลของ “แอมเพิลริช” ล่าสุด คตส.ชงให้ฟันอีกอย่างต่ำ 2 หมื่นล้าน
ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ (25 มิ.ย.) มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยมีนายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส. เป็นประธานในที่ประชุม
นายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส.แถลงหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติอายัดทรัพย์บัญชีเงินฝากธนาคารของ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม คุณหญิง พจมาน ชินวัตร เพิ่มเติมจากที่ได้อายัดไว้ก่อนหน้านี้ จำนวน 3 บัญชี วงเงิน 4,775 ล้านบาท ได้แก่ 1. บัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ เลขที่ 127-4-70928-4 ชื่อบัญชี บจ.บี.บี.ดี ดีเวลล็อปเมนท์ วงเงิน 2,775 ล้านบาท 2. บัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ เลขที่ 127-4-72472-1 ชื่อบัญชี บจ.บี.บี.ดี พร็อพเพอร์ตี้ วงเงิน 1 พันล้านบาท และ 3. บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารัชโยธิน เลขที่ 111-2-83421-0 ชื่อบัญชี บจ.บี.บี.ดี พร็อพเพอร์ตี้ วงเงิน 1 พันล้านบาท
ทั้งนี้ยังเหลือเงินในส่วนของนายบรรณพจน์ ที่ คตส.ต้องติดตามอายัดเพิ่มเติม อีกจำนวน 4,275 ล้านบาท โดยยอดเงินของนายบรรณพจน์ ที่ คตส.ต้องติดตามทั้งหมด 19,873 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ติดตามได้ประมาณ 14,925 ล้านบาท เหลืออีก 4,948 ล้านบาทที่ต้องติดตามอายัด
นายสัก กล่าวอีกว่า สำหรับบัญชีของนายพานทองแท้ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีบัญชีที่ต้องอายัดเพิ่มเติม อยู่ระหว่างการตรวจสอบยังไม่มีความคืบหน้า
อย่างไรก็ตามการอายัดที่ผ่านมาไม่สามารถบอกตัวเงินที่ชัดเจนได้ เนื่องจาก เมื่อ คตส.อายัดบัญชีไปแล้ว และส่งให้ทางธนาคาร ได้รับแจ้งว่าเงินในบัญชีดังกล่าวมีตัวเงินอยู่ไม่ถึงวงเงินที่ คตส.อายัด เพราะมีการเคลื่อนย้ายเงินไปแล้ว ทั้งนี้การเคลื่อนย้ายดังกล่าวมีทั้งผลดีและผลเสีย แต่จะทำให้ คตส. ได้เห็นเส้นทางแหล่งต่างๆ เพิ่มขึ้น
นายสัก กล่าวต่อว่า นอกจากนี้นาย อำนวย ธันธรา ประธานคณะอนุกรรมการ พิจารณาคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินเพื่อเพิกถอนการอายัดทรัพย์ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า บุคคลที่ คตส.อายัดทรัพย์ยังไม่ได้ติดต่อขอพิสูจน์ทรัพย์แต่อย่างใด ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกรอบเวลา 60 วัน หากพ้นระยะเวลาก็ขึ้นกับการตัดสินใจของอนุกรรมการฯ ว่าจะดำเนินการอย่างไร
โยนเงิน“แม้ว”ซื้อ“แมนฯซิตี้”ให้ ธปท.สอบ
นายสัก กล่าวถึงการตรวจสอบเส้นทางเงินที่พ.ต.ท.ทักษิณ จะนำไปซื้อทีม ฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ว่า คตส.ไม่ได้หารือกัน แต่ถือเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะมีอำนาจในการตรวจสอบและอนุมัติเงินเข้าออกกประเทศ
นายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ ธปท. กล่าวว่า หาก คตส.ต้องการให้ ธปท.ตรวจสอบเงินที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทางธปท.ก็พร้อมจะดำเนินการให้ เพราะมีข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี แต่หาก คตส.ไม่ร้องขอมา ธปท. ก็คงเข้าไปตรวจสอบเองไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีเพียงกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ยื่นขอนำเงินออกไปซื้อบ้านที่อังกฤษ 400 ล้านบาท นอกนั้นก็ไม่มีรายการการยื่นขออื่นๆ อีก
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท.ทีกำหนดนั้น ภาคเอกชนสามารถนำเงิน ออกนอกประเทศเพื่อไปลงทุนโดยตรงได้ไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก ธปท.ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็จะต้องรายงานให้ ธปท.ทราบ
ชงรีดภาษี “แอมเพิลริช” 2.09 หมื่นล้าน
นายสักกล่าวว่า นอกจากนี้นายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ กรรมการ คตส. ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบกรณีการซื้อขายหุ้นชิน คอปอร์เรชั่น จำกัด ( มหาชน) SHIN หรือชินคอร์ป รายงานว่า ได้ส่งเรื่องการคำนวณภาษีให้กับทางกรมสรรพากรประเมินภาษีเงินได้ นิติบุคคลของบริษัทแอมเพิล ริช อินเวสเมนต์ แล้วจำนวนกว่า 2.09 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ทางอนุกรรมการยังไม่ได้รับใบรับรองแพทย์ ของคุณหญิง พจมาน ชินวัตร ที่ใช้อ้างในการขอเลื่อนการเข้าชี้แจงเส้นทางการเงิน ของหุ้นดังกล่าวกับคณะอนุกรรมการ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 26 มิ.ย.นี้
ภาษี “โอ๊ค-เอม”บานหมื่นล้าน
นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้ตรวจสอบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ของนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร ในจำนวนที่ คตส.ระบุไว้ 5,600 ล้านบาท โดยได้มีการประชุมคณะกรรมการภาษีวานนี้ (25 มิ.ย.) เพื่อหาข้อสรุปในการประเมินภาษีว่าบุคคลทั้งสองจะต้องชำระภาษีทั้งหมดจำนวน 5,600 ล้านบาทหรือไม่ ปรากฏว่าที่ประชุมเห็นว่าทั้งสองคนต้องจ่ายเงินเพิ่ม เนื่องจากเลยระยะเวลาที่กำหนดมานาน
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีจากกรมสรรพากรคำนวณตัวเลขที่นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทาต้องจ่ายว่า ในกรณีที่ไม่มีการยื่นแบบภาษีในระยะเวลาที่กำหนดจะต้องจ่าย 2 เท่า แต่กรณีนี้ได้ยื่นแบบแล้ว จึงจ่ายเพิ่มอีกเพียง 1 เท่า ดังนั้นทั้งสองต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารวม 11,200 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 1.5 % ของเงินต้น ยอดรวมภาษีถึงปัจจุบันอยู่ที่ 11,500 ล้านบาท หากยังไม่จ่ายต้องคิดเงินเพิ่มทุกเดือน
ฟัน 7 เอกชนเอี่ยวทุจริตท่อร้อยสาย
นายสัก กล่าวอีกว่าว่า ที่ประชุม คตส.ได้มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลและนิติบุคคลในโครงการการจัดซื้อจัดจ้างการวางท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพิ่มอีก 7 รายประกอบด้วย 1.นายมงคล แน่งน้อย ผู้จัดการโครงการของบริษัท อิเล็คโทรวัตต์ คอลซัลติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือบริษัท เล็คโทรวัตต์ - เอ็กโคโน่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือบริษัท เพอรี่ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด 2.นายจำเนียร ฝั่นระหันต์ วิศวกรผู้ออกแบบของบริษัท อิเล็คโทรวัตต์ คอลซัลติ้ง เซอร์วิส (ประเทสไทย) จำกัด หรือบริษัท อิเล็ค โทรวัตต์-เอ็กโคโน่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือบริษัท เพอรี่ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด
3.นายประสงค์ เพิ่มอารยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ฟลูอิด โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท ไทยคอมโพสิท จำกัด บริษัท จี อาร์ อี คอมโพสิท จำกัด 4.บริษัท อิเล็ค โทรวัตต์ คอลซัลติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือบริษัท อิเล็ค โทรวัตต์-เอ็กโคโน่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือบริษัท เพอรี่ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารการประกวดราคา 5.บริษัทฟลูอิด โอลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายท่อยี่ห้อ FRE 6.บริษัทไทยคอมโพสิท จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตท่อยี่ห้อ GRE และ7.บริษัท จี อาร์ อี คอมโพสิท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายท่อยี่ห้อ GRE
นายสัก กล่าวว่า บุคคลและนิติบุคคลทั้งหมดได้ร่วมกันกำหนดสเปก และมีพฤติกรรมสมยอมหรือฮั้วกันในโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตามความผิดแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
|